การศึกษานับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ทุกประเทศต่างเน้นย้ำและให้ความสนใจ ปัจจุบันนี้เยาวชนจึงได้มีโอกาสเข้าเรียนในสถานศึกษามากกว่ายุคไหนๆ ในประวัติศาสตร์ การประเมินวิเคราะห์ข้อมูลรวม 164 ประเทศทั่วโลกชี้ให้เห็นว่าผู้ใหญ่ที่สำเร็จการศึกษาแล้วในปี 2010 ได้ใช้เวลาไปกับการศึกษาในโรงเรียนโดยเฉลี่ยถึง 7.6 ปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในปี 1950 เกิน 2 เท่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้คล้ายจะแสดงให้เห็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งของมนุษยชาติ และเป็นตัวบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนาที่ส่งผลต่อจำนวนผู้เข้ารับการศึกษา ใครๆ ต่างพูดกันว่าอัตราการเข้ารับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นนี้เองที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจทั้งยังช่วยเสริมคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นด้วยทักษะและความรู้ที่ได้จากการศึกษา
แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่?
งานศึกษาของ Noam Angrist, Simeon Djankov, Pinelopi Goldberg และHarry Patrinos ให้คำตอบที่อาจไม่ตรงกับความคาดหวัง และยังแสดงถึงความน่าเป็นห่วง เมื่อข้อมูลที่ศึกษานั้นชี้ให้เห็นว่าแม้อัตราการเข้าเรียนในโรงเรียนของทุกภูมิภาคจะสูงขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ช่วงปี 2010 แต่ระดับการเรียนรู้นั้นกลับยังต่ำและไม่มีท่าทีจะเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมานี้
“วิกฤตการณ์ทางการเรียนรู้” (Learning Crisis) กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศที่ร่ำรวยก็ยังไม่ทันได้ระแวดระวังถึงปัญหานี้ เพราะถึงแม้ว่าการเข้าถึงการศึกษาที่มากขึ้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ และอาจมีประโยชน์อื่นๆ แต่หากสังคมไม่ได้ตระหนักว่าการเข้าเรียนนั้นไม่ได้การันตีว่าผู้เข้าเรียนจะเกิดการเรียนรู้ และความสัมพันธ์ระหว่างการเข้ารับการศึกษากับผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcome) นั้นไม่ได้แปรผันตรงตามกันเสมอไป มนุษย์คงสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้อย่างมหาศาล เช่นเดียวกับคุณภาพของชีวิตตนเองและสังคมที่อาจพัฒนาไปไม่ถึงเป้าหมายที่คาดหวังเช่นกัน
ฐานข้อมูลใหม่กับช่องว่างที่ค่อยๆ หายไป
ในการศึกษาครั้งนี้ทีมผู้ศึกษาได้สร้างฐานข้อมูลใหม่ที่เรียกว่า Harmonized Learning Outcomes ด้วยการเทียบหัวข้อทางวิชาการในประเทศที่กำลังพัฒนา กับการสอบประเมินผลระดับนานาชาติที่ใช้ทั่วไปในประเทศที่มั่งคั่งของโลก อย่าง PISA (โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล) หรือ TIMMS (แนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นานาชาติ) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถวัดระดับเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางการศึกษาได้อย่างเป็นมาตรฐานและครอบคลุม เพราะการประเมินผลสัมฤทธิ์ระดับสากลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนี้ ยังไม่สามารถนำไปประยุกต์กับประเทศรายได้ต่ำ และปานกลางอีกจำนวนมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์รูปแบบการเรียนรู้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่สมควรจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา
เพื่อลดช่องโหว่เกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าว ทีมผู้ศึกษาจึงได้เริ่มสร้างฐานข้อมูลที่ครอบคลุมการวัดผลการเรียนรู้ของประชากร 98 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และเก็บข้อมูลผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนตั้งแต่ช่วงปี 2000-2017 โดย 164 ประเทศในฐานข้อมูลนี้เป็นประเทศกำลังพัฒนาถึงกว่า 2 ใน 3 ผู้สร้างฐานข้อมูลใช้วิธีการเทียบการประเมินผลระดับนานาชาติกับการประเมินผลระดับภูมิภาคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มประเทศเหล่านั้น เช่น การสอบ Laboratorio Latinoamericano de Evaluación de la Calidad de la Educación ซึ่งเป็นที่นิยมในแถบละตินอเมริกามากกว่า PISA หรือ TIMMS ที่เป็นการวัดผลแบบสากล
ฐานข้อมูลใหม่นี้เก็บรวบรวมข้อมูลการประเมินผลการเรียนรู้ทั้งสิ้น 7 รูปแบบ เป็นการทดสอบในระดับสากล 3 รูปแบบ การทดสอบในระดับภูมิภาค 3 รูปแบบ และแบบสุดท้ายคือแบบประเมินการอ่านก่อนวัยเรียน โดยข้อมูลชุดหลังนี้ทำให้ทีมวิจัยได้ข้อมูลเพิ่มเติมชุดใหม่จาก 48 ประเทศในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การทดสอบแต่ละรูปแบบที่กล่าวมานั้น มีประเทศที่ใช้งานอยู่ตั้งแต่ 10 จนถึง 72 ประเทศ
เพื่อให้ข้อมูลคะแนนในแต่ละรูปแบบการประเมินผลนั้นสามารถเทียบแทนกันได้ ทีมผู้ศึกษาได้ใช้วิธีการแปลงคะแนนสอบระดับภูมิภาคให้กลายเป็นคะแนนสอบในระดับสากล ซึ่งสามารถทำได้ในวิชาเดียวกัน เช่น วิชาคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ และในระดับการศึกษาเดียวกัน เช่น ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น เกณฑ์ในการแปลงคะแนนนั้นได้มาจากการเทียบคะแนนในกลุ่มประเทศที่จัดการสอบทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับสากลในช่วงปีที่ใกล้กัน และในระหว่างช่วงเวลาที่ทีมงานดำเนินการเก็บข้อมูล (ค.ศ 2000 – 2017) เกณฑ์ในการแปลงผลการสอบนี้ได้ถูกนำไปใช้กับประเทศที่มีการจัดสอบวัดระดับในระดับภูมิภาคแต่เพียงอย่างเดียวอีกด้วย คะแนนที่แปลงออกมาเป็นหน่วยเดียวกัน และสามารถเทียบแทนกันได้นี้คือ Harmonized Learning Outcome นั่นเอง ในฐานข้อมูลนี้คะแนนการเรียนรู้ในระดับตั้งแต่ 625 คะแนนขึ้นไปจะถูกจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ “สูง” ตัวอย่างคะแนนหลังจากแปลงให้เทียบแทนกันได้แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และยูกันดา มีคะแนนอยู่ที่ 545 และ 391 ตามลำดับ
เช็คชื่อทุกคาบ แต่ไม่ทราบสักสิ่ง
เมื่อเกณฑ์การวัดคะแนนมีมาตรฐานตรงกันแล้ว ข้อมูลที่ได้ก็ทำให้ทีมผู้ศึกษาได้พบข้อเท็จจริงอันน่าตกใจ เมื่อคะแนนที่แปลงออกมาแสดงให้เห็นว่าผลการเรียนรู้ของเด็กนั้นไม่ได้ก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่นักในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ จากข้อมูลโรงเรียนในระดับประถมศึกษาใน 72 ประเทศ ทีมศึกษาค้นพบข้อมูลที่สำคัญ 2 ชุด คือข้อมูลการเข้าศึกษา (enrollment) และการเรียนรู้ (learning) ข้อมูลอัตราการลงทะเบียนเข้าเรียนที่ Jong-Wah Lee และ Hanol Lee ได้รวบรวมเผยให้เห็นถึงจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2010 แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับแนวโน้มการเรียนรู้ของนักเรียนที่ประมาณการได้จากฐานข้อมูล ข้อมูลคะแนนการเรียนรู้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่มีเพียงเล็กน้อยหรือแทบจะไม่มีเลยในทุกภูมิภาคของโลก
ยกตัวอย่างเช่น ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีอัตราการลงทะเบียนเรียนอย่างก้าวกระโดดไปถึง 99 เปอร์เซ็นต์ในปี 2010 แต่ระดับการเรียนรู้ในช่วงปี 2000-2015 กลับยังอยู่คงที่ที่ช่วง 380 คะแนน ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับผลการศึกษาในระดับ “ต่ำ” ซึ่งถูกกำหนดไว้ที่ 300 คะแนน เมื่อพิจารณาข้อมูลรายประเทศก็พบว่าประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากยังเผชิญกับปัญหาเรื่องอัตราการเรียนรู้ที่ยังไม่สูงเท่าที่คาดหวัง แม้ระยะเวลาที่ประชากรใช้ไปกับการศึกษาจะอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจเช่น ในประเทศกานา ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาโดยประมาณอยู่ที่ 11.6 ปี แต่อัตราการเรียนรู้กลับอยู่ที่ 229 คะแนนเท่านั้น
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงความไม่สอดคล้องของระยะเวลาการเข้าเรียนกับอัตราการเรียนรู้ที่ได้รับ การศึกษาครั้งนี้ย้ำชัดถึงข้อความในรายงานของธนาคารโลกในปี 2018 ที่ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ที่สาหัสระหว่างการเข้ารับศึกษาและระดับการเรียนรู้ในประเทศกำลังพัฒนาเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เด็กๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (อายุประมาณ 8-9 ปี) กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ในเคนยา แทนซาเนีย และยูกันดายังไม่สามารถอ่านประโยคง่ายๆ อย่าง “the name of the dog is Puppy” ได้ อีกทั้งยังมีเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ในชนบทของอินเดีย และยูกันดามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่สามารถลบเลขสองหลักที่มีค่ามากกว่า 10 อย่างเช่น 46 – 17 ได้เสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาก็มองเห็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้อัตราการเรียนรู้ค่อนข้างคงที่ ในบางภูมิภาค นโยบายส่งเสริมการศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาภาคบังคับหรือการยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนาทำให้มีจำนวนนักเรียนใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลในเวลาอันสั้น เด็กนักเรียนที่สอบได้คะแนนน้อยลงและมีอัตราการเรียนรู้ต่ำกว่าเข้ามาอยู่ในกลุ่มตัวอย่างการคำนวณคะแนนเฉลี่ยมากขึ้น จึงส่งผลต่อคะแนนอัตราการเรียนรู้ในภาพรวม ดังที่เรียกว่า Selection Effect (กลุ่มตัวอย่างไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด)
ถึงแม้ว่าข้อสันนิษฐานนั้นอาจเป็นไปได้ แต่โลกก็ยังหนีความจริงไม่ได้ว่าแม้ในภูมิภาคที่มีอัตราการเข้าเรียนที่ค่อนข้างคงที่และสูง ก็ยังเห็นความก้าวหน้าของอัตราการเรียนรู้ที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็นอยู่ดี ข้อสังเกตตรงนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุจากปัจจัยอื่นด้วย นอกเหนือไปจากความคลาดเคลื่อนของกลุ่มตัวอย่าง หรือ Selection Effect
ผู้ศึกษายังได้วิเคราะห์ค่าเฉลี่ยระดับการเรียนรู้ในวิชาพื้นฐานอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านของ 164 ประเทศในฐานข้อมูล และพบว่าระดับการเรียนรู้โดยเฉลี่ยของประเทศที่มีรายได้สูงล้ำหน้าไปกว่าประเทศกำลังพัฒนา หากประเมินเป็นภูมิภาคแล้วอเมริกาเหนือมีระดับการเรียนรู้โดยเฉลี่ยสูงที่สุด ตามมาด้วยยุโรปและเอเชียกลาง ส่วนพื้นที่แถบแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) และเอเชียใต้มีระดับการเรียนรู้โดยเฉลี่ยต่ำที่สุด ถึงกระนั้นระดับการเรียนรู้ของแต่ละประเทศในแต่ละภูมิภาคก็มีความแตกต่างหลากหลาย บ้างก็สวนทางกับภาพรวมภูมิภาคด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น เคนยา และแทนซาเนีย สองประเทศในแอฟริกาใต้สะฮาราที่มีระดับการเรียนรู้โดยเฉลี่ยสูงเทียบเท่าแถบละตินอเมริกา หรือประเทศอย่างสิงคโปร์ที่มีคะแนนสูงกว่าอเมริกาเหนือหรือยุโรปเสียอีก
หรือระดับการเรียนรู้จะคู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ
อัตราการเรียนรู้ หรือ Rates of Learning ที่แตกต่างกันดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม แต่ยังไม่เคยมีการนำตัวแปรนี้ไปวัดผลในเครื่องมือสากลที่ใช้วัดระดับการพัฒนาของประเทศอย่างเป็นทางการ ยกตัวอย่างเช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (the Human Development Index) ที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งถูกนำมาใช้วัดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยพิจารณาจากอายุขัยเฉลี่ย การศึกษา และมาตรฐานการครองชีพ ในส่วนของการศึกษานั้น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ใช้ข้อมูลจำนวนปีที่ประชากรเข้ารับการศึกษาเป็นตัวชี้วัดกำหนดคุณค่าทุนมนุษย์ เครื่องมือวัดระดับความเป็นอยู่หลายชุดเลือกที่จะใช้การเข้าถึงการศึกษาหรือระยะเวลาที่ใช้ไปกับการศึกษาเป็นตัวชี้วัด ทั้งที่งานวิจัยที่ผ่านมาได้บ่งบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้ไปกับการศึกษากับการเติบโตของเศรษฐกิจมีน้อยมาก แต่ความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้กับการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นกลับมองเห็นได้ชัดเจนกว่า
ข้อมูลจาก Harmonized Learning Outcomes ช่วยให้ทีมผู้ศึกษาได้บันทึกรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มดังกล่าวได้ทั่วโลก เมื่อนำผลคะแนนการสอบมาใช้วัดระดับทุนมนุษย์ พบว่าสามารถอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างรายได้ประชากรในประเทศต่างๆ ได้อย่างชัดเจนมากกว่าใช้ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาในการวัดผลถึง 2 เท่า ระดับการเรียนรู้ของเด็กที่วัดผ่านคะแนนสอบจึงมีความสัมพันธ์ที่แปรผันตามกันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าระยะเวลาที่เด็กเข้าเรียน
รายได้ที่มากกว่าอาจจะไม่ได้ช่วยสร้างสังคมแห่งการศึกษาหรือเปี่ยมไปด้วยทักษะเสมอไป เมื่อพิจารณารายได้เฉลี่ยต่อหัวเทียบกับอัตราการเรียนรู้เฉลี่ยในฐานข้อมูล พบว่าแม้ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันนั้นก็ยังมีระดับการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป บางประเทศนั้นรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลมีความสอดคล้องกับระดับการเรียนรู้เฉลี่ยเป็นปกติ เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับบางประเทศอย่างโปแลนด์ และเวียดนาม แม้ว่าจะมีระดับการพัฒนาที่น้อยกว่าแต่กลับมีค่าอัตราการเรียนรู้ที่สูงทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกา หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางก็มีระดับการเรียนรู้ที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวที่สูงลิ่ว ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ประเทศจึงมิได้ลงทุนกับการศึกษามากเท่ากับประเทศอื่นๆ และแรงงานที่มีทักษะสูงหรือมีทุนมนุษย์สูงก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในสังคมนั้นมากนัก
ถึงเวลาโฟกัสกับอัตราการเรียนรู้
การศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวกระโดดของระบบการศึกษาในการเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม แต่กระนั้นเองพัฒนาการเรื่องการเรียนรู้กลับมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย และวิกฤตการณ์การศึกษาที่ทั่วโลกกำลังต้องเผชิญอยู่นี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ตอกย้ำด้วยผลจากการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้ผลลัพธ์การเรียนรู้มาประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ผลดีกว่าการประเมินจากจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน หรือระยะเวลาที่ใช้ไปกับการศึกษา
ดังนั้นจึงอาจถึงเวลาที่เราจะย้ายความสนใจของเราไปที่การพัฒนา “การเรียนรู้” และรณรงค์ให้การเรียนรู้กลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญทั่วโลก เช่นเดียวกับที่เราเคยให้ความสำคัญกับการให้เด็กๆ ทุกคนสามารถเข้าเรียนในระบบมาตลอด 50 ปีนี้ นอกจากนี้ความสำเร็จของการส่งเด็กเข้าเรียน ณ สถานศึกษาส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการวัดผลสัมฤทธิ์อย่างรอบคอบและสม่ำเสมอ ฉะนั้นการวัดระดับการเรียนรู้ก็ควรจะได้รับความเอาใจใส่ในแบบเดียวกัน
การพัฒนาฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลนำไปสู่การพัฒนาในอนาคต แบบทดสอบที่เป็นมาตรฐานเดียว วัดผลได้ทั่วทุกประเทศในโลกทำให้สามารถวัดผลการเรียนรู้ได้อย่างแม่นยำและสมบูรณ์มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ข้อมูลชุดนี้ได้จุดประกายและบอกให้โลกได้รู้ว่าก้าวต่อไปที่สำคัญคืออะไรกันแน่ เพราะประชากรทั่วโลกต่างไม่ได้ต้องการแค่เพียงการเข้าถึงโอกาสในการศึกษา แต่ต้องการประสบการณ์ทางการศึกษาที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้เพิ่มพูนมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าโลกในศตวรรษที่ 21 และอนาคตข้างหน้าจะยังคงวิวัฒน์ต่อไปอย่างยั่งยืน
ที่มา
บทความ “Human Capital” จาก investopedia.com (Online)
บทความ “Mapping the Global Learning Crisis” จาก educationnext.org (Online)