โตโย อิโตะ (Toyo Ito) สถาปนิกชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ประจำปี 2013 ผู้ซึ่งฝากผลงานการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่นำยุคสมัย อย่างเช่นเซ็นไดมีเดียเทค (Sendai Mediatheque) จนโด่งดังเป็นที่รู้จัก แนวคิดการออกแบบ ‘สถาปัตยกรรมแห่งอนาคต’ ของเขา คือการท้าทายและทำให้นิยามการจัดแบ่งพื้นที่ตามแบบแผนเกิดความพร่าเลือน เมื่อผสานเข้ากับความพิถีพิถันในการเลือกใช้วัสดุและแหล่งพลังงานที่เหมาะสม รวมถึงนำเสนอรูปลักษณ์อาคารและการออกแบบตกแต่งภายในที่แตกต่างไปจากขนบดั้งเดิม ผลงานของโตโย อิโตะ จึงโดดเด่นมีเอกลักษณ์ ชวนให้หลงใหลและประทับใจ ทั้งหมดนี้พบเห็นได้เช่นเดียวกันที่ ‘กิฟุมีเดียคอสมอส’ (Gifu Media Cosmos) ซึ่งสะท้อนถึงลายเซ็นการออกแบบของเขาอย่างชัดเจน
กิฟุมีเดียคอสมอส ตั้งอยู่ในเมืองกิฟุ จังหวัดใจกลางประเทศญี่ปุ่น รายล้อมด้วยภูเขาและธรรมชาติที่งดงาม สามารถเดินทางได้สะดวกเนื่องจากอยู่ระหว่างสถานีรถไฟฟ้า 2 แห่ง ในวันแรกของการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2015 ลูกค้ากว่า 300 คนยืนกลางสายฝนเพื่อรอชื่นชมความงดงามสร้างสรรค์ของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้
กิฟุมีเดียคอสมอสเป็นที่รู้จักในนาม “minna no mori” ซึ่งมีความหมายว่า “ป่าของทุกคน” เป็นสถาปัตยกรรมที่ปรากฏตัวอย่างอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ ลักษณะเหมือนกล่องไม้ผสมกระจก ขนาดไม่ใหญ่หรือสูงจนเกินไป เรียบง่ายไม่ฉูดฉาด หลังคามีรูปทรงคดโค้งยั่วล้อกับภูเขาคินกะ มโนทัศน์ในการออกแบบภาพรวมของโครงการนี้คือ ‘จากรากสู่กิ่งก้าน’ ประดุจการปลูกเมล็ดพันธุ์ใหม่สำหรับอนาคต เพื่อให้ความรู้งอกงามและผลิดอกออกผล
ที่นี่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งจะเรียกว่าเป็นห้องสมุดก็ไม่เชิง เพราะมีทั้งทรัพยากรหนังสือ คาเฟ่ แกลเลอรี่ นิทรรศการ และพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ อิโตะตั้งใจออกแบบให้กิฟุมีเดียคอสมอสเป็นพื้นที่สำหรับ “ความวุ่นวายแบบเงียบๆ” ซึ่งผู้คนในชุมชนสามารถมารวมตัวกัน หล่อหลอมความสัมพันธ์ ทำงาน และเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นชาวเมืองกิฟุหรือนักท่องเที่ยวก็ไม่ควรมองข้ามสถานที่แห่งนี้
ตัวอาคารมีจุดเด่นที่เป็นไฮไลต์คือ หลังคาซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็งสานกันคล้ายตาข่าย และโดมผ้าใบทรงครึ่งวงกลมขนาดยักษ์ภายในอาคาร ซึ่งถูกเรียกขานว่า globes หรือลูกโลก เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานศิลปะจากไม้ กิฟุมีเดียคอสมอสจึงมีส่วนในการสานต่อภูมิปัญญานี้ ช่างไม้ท้องถิ่นกว่า 150 คนเป็นผู้ร่วมกันถักถอชิ้นไม้ขนาด 120× 20 มิลลิเมตรจนกลายเป็นผืนหลังคา ส่วน ‘ลูกโลก’ หรือโดมทรงครึ่งวงกลมขนาดมหึมาจำนวน 11 ใบทำจากผ้าสังเคราะห์พิมพ์เป็นลวดลายเรขาคณิต ใจกลางมีดวงไฟให้แสงสว่าง หากเปิดด้านบนของ ‘ลูกโลก’ ออก จะช่วยนำอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาในอาคาร ความแข็งแกร่งของไม้ผนวกกับความนุ่มนวลของ ‘ลูกโลก’ สอดประสานกันอย่างลงตัวก่อเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่เงียบสงบ มีพลัง เปิดเผย เปี่ยมด้วยอรรถประโยชน์ และมีอัตลักษณ์
พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่ต่างกัน ได้แก่ ฟูมุฟูมุ (Fumu Fumu) เป็นเสมือนห้องสมุดเมือง โดกิโดกิ (Doki Doki) เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและนิทรรศการ วาอิวาอิ (Wai Wai) เป็นศูนย์กลางชุมชนสำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนและการส่งเสริมเรื่องพหุวัฒนธรรม สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลายทั้งห้องเรียนสอนภาษา (ตากาล็อก โปรตุกีส จีน อังกฤษ และญี่ปุ่น) และกิจกรรมอื่นๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละเดือน นอกจากนี้ยังมีบริการให้คำปรึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่วนนอกระเบียงเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟและร้านสะดวกซื้อ ซึ่งผู้ใช้บริการนิยมมานั่งชมวิวปราสาทกิฟุที่ตั้งอยู่บนภูเขา
ชั้นบนของอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 15,200 ตารางเมตร ออกแบบให้เป็นห้องสมุดในโถงเปิดโล่ง เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างอิสระ เส้นทางสัญจร (circulation route) สามารถเข้าถึงได้จากหลายทาง ไม่จำกัดเพียงแค่เส้นทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง และไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงมุมไหนก็มองเห็น ‘ลูกโลก’ ใบยักษ์ส่องแสงสว่างสบายตา ช่วยสร้างความรื่นรมย์ให้กับการพักผ่อน การศึกษาค้นคว้า และการเล่น
เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ถูกจัดไว้หลวมๆ ชั้นหนังสือตั้งวางเรียงเป็นแนวโค้งบนพรมวงกลมซึ่งอยู่ภายใต้ลูกโลกยักษ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยสร้างขอบเขตและแบ่งพื้นที่กิจกรรมออกเป็นส่วนๆ อย่างนุ่มนวลและชาญฉลาด ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกราวกับอยู่บนเกาะที่มีความเป็นส่วนตัวโดยไม่จำเป็นต้องมีผนังกั้น
กลยุทธ์ในการออกแบบที่ทำให้พื้นส่วนต่างๆ ภายในอาคารดูเหมือนแยกจากกันแต่ยังคงเชื่อมโยงถึงกันช่วยสรรค์สร้างจิตวิญญาณแห่งการเปิดรับ ที่น่าสนใจก็คือกิฟุมีเดียคอสมอสไม่มีการแบ่งแยกโซนเด็กเหมือนห้องสมุดอื่นๆ อิโตะให้เหตุผลว่า “เวลาอยู่ในสวนสาธารณะแล้วมีเด็กๆ วิ่งเล่นอยู่ที่นั่น คุณยังไม่เห็นว่าอะไร แล้วทำไมถึงจะไปแบ่งแยกเด็กๆ ที่เข้ามาอ่านหนังสือในห้องสมุดล่ะ?”
ที่มา
บทความ “‘I never want to be satisfied’ Japanese architect Toyo Ito on building for people, living with nature, and never giving up” จาก indianexpress.com (Online)
บทความ “engifu media cosmos” จาก dac.dk (Online)
บทความ “toyo ito’s gifu media cosmos opens in japan” จาก designboom.com (Online)