Generative AI (GenAI) เป็นปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่งที่สร้างสรรค์ผลงานใหม่ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ เสียง ข้อความ และโมเดล 3 มิติ ความฉลาดของซอฟต์แวร์ที่มีกระบวนการเรียนรู้ และการประมวลผลชุดข้อมูลขนาดใหญ่อย่างไม่สิ้นสุด ทำให้ GenAI ผลิตเนื้อหาได้อย่างสมจริงและซับซ้อนใกล้เคียงความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ มีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปัจจุบัน
เมื่อไม่นานนี้ GenAI ได้ทำให้โลกต้องตกตะลึงพร้อมทั้งตระหนักว่าวิธีที่เราสื่อสาร ทำงาน และสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ กำลังถูกปฏิวัติ ด้วยการเปิดตัวของ ChatGPT แชตบอตซึ่งทำได้สารพัดสิ่ง ทั้งเขียนโค้ดดิ้ง เขียนบทความ ถามอะไรมาตอบให้ สื่อสารผ่านข้อความได้อย่างฉลาดล้ำ จำนวนผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านคนน่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความตื่นตัวและความนิยมในวงกว้างของเทคโนโลยีดังกล่าว
ความก้าวหน้าของ GenAI ในด้านงานภาพก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน ตัวอย่างโปรแกรมที่ได้รับความสนใจ เช่น DALL-E และ MidJourney ซึ่งมีอัลกอริทึมการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) สามารถวาดภาพและดีไซน์กราฟิกได้อย่างสวยงามประหนึ่งศิลปินมืออาชีพด้วยการป้อนคำสั่งไม่กี่คำ ในด้านงานวิดีโอ มีตัวอย่างโปรแกรมที่น่าสนใจซึ่งสามารถผลิตภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริงพร้อมแปลงสคริปต์ให้เป็นเสียงพากย์ เหมือนมีบุคคลกำลังพูดอยู่หน้ากล้องจริงๆ เช่น DeepBrain และ Synthesia
นอกเหนือจากนี้ ความสามารถของ GenAI ยังสนับสนุนการทำงานด้านอื่นๆ เช่น วงการเพลง การพัฒนาเกม รวมถึงสังเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์และให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของความเป็นไปได้มากมายที่เกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยีดังกล่าว
การใช้ GenAI ในแวดวงการศึกษา
สถาบันการศึกษาหลายแห่งวิตกกังวลว่าการเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ที่ง่ายดายขึ้นจะทำให้นักเรียน หรือนักศึกษาใช้โปรแกรมเหล่านั้นช่วยทำการบ้านหรือทำข้อสอบมาส่ง เช่น โรงเรียนในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ปิดกั้นการเข้าถึง ChatGPT บนเครือข่ายและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของนักเรียน
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ChatGPT คือจุดเปลี่ยนในการพัฒนาด้าน AI และน่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการเรียนรู้เช่นเดียวกับ Google ที่เกิดขึ้นในปี 1998 ดังนั้นหากมองอีกมุม แทนที่จะกลัวการใช้งาน AI สิ่งที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาควรทำคือการรวบรวมข้อมูล สำรวจความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยคำถามว่า ‘สิ่งนี้คืออะไร และเราจะใช้มันได้อย่างไร’ เพื่อหาวิธีนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้อย่างเหมาะสม เช่น สำหรับครูสอนคณิตศาสตร์ ChatGPT จะช่วยแก้ไขสูตรคำนวณ หรือออกแบบโจทย์ได้หรือไม่ ครูสอนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อาจใช้ช่วยแนะนำและปรับแก้การเขียนโค้ดดิ้งของนักเรียน หรือครูอาจถามแชตบอตถึงข้อดีข้อเสียของทฤษฎีเปรียบเทียบกัน จากนั้นให้นักเรียนอภิปรายความคิด วิธีการนี้จะช่วยให้ผู้เรียนรู้จักทฤษฎีที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการถกเถียง
ขณะที่อาจารย์สาขาจิตวิทยาหลายคนกำลังทดลองใช้ปัญญาประดิษฐ์ในฐานะเครื่องมือช่วยเตรียมพร้อมผู้เรียนให้เผชิญโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งการคิดเชิงวิพากษ์สำคัญกว่าการท่องจำ แกรี ลูเปียน (Gary Lupyan) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน (University of Wisconsin–Madison) กล่าวว่า แชตบอตนี้อาจเหมาะที่สุดในการช่วยให้นักเรียนพัฒนาการคิดวิเคราะห์ “ChatGPT สามารถเป็นคู่หูช่วยโต้ตอบทางความคิด เช่นเดียวกับการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน และคุณสามารถประเมินข้อเสนอแนะเหล่านั้นอย่างมีวิจารณญาณ”
ChatGPT ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานสอน เช่น รายการหนังสือต้องอ่าน คู่มือการศึกษา คำถามอภิปรายในชั้นเรียน บัตรคำศัพท์ บทสรุป สคริปต์สำหรับวิดีโอบรรยายหรือพอดแคสต์
ฝั่งผู้เรียนก็อาจใช้สิ่งนี้ช่วยตรวจคำตอบการบ้าน หรือปรับแต่งเรียงความ นอกจากนี้ โปรแกรมยังสามารถปรับแก้ลักษณะการเขียน จัดระเบียบย่อหน้าและข้อความต่างๆ ให้เข้ารูปแบบผลงานวิชาการได้ ซึ่งมีประโยชน์มากในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง
อย่างไรก็ดี การผสานเครื่องมือใหม่ๆ เข้ากับชั้นเรียนควรเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ แอชลีย์ เอบรามสัน (Ashley Abramson) นักเขียนด้านจิตวิทยาระบุว่า “ผู้สอนควรถามตัวเองก่อนว่า กำลังพยายามสอนอะไร และคาดหวังจะวัดความสามารถอะไรจากผู้เรียน” โดยเปรียบเทียบ ChatGPT เหมือนเครื่องคิดเลข ดังนั้น หากครูกำลังสอนการบวกอย่างง่าย เครื่องคิดเลขก็อาจเป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้ แต่ในการเรียนแคลคูลัส เครื่องมือเดียวกันนี้สามารถช่วยพัฒนาทักษะขั้นสูงที่จำเป็นในการเรียนรู้ได้
ยังมีตัวอย่างของ GenAI อื่นๆ ที่น่าสนใจซึ่งช่วยสนับสนุนการสอนและการเรียนรู้ เช่น โปรแกรม NOLEJ ช่วยให้ผู้สอนสร้างอีเลิร์นนิง (E-learning) ในเวลาเพียง 3 นาที แบบเรียนดังกล่าวประกอบด้วยวิดีโอ อภิธานศัพท์ แบบฝึกหัด และบทสรุป
ในชั้นเรียนศิลปะ และงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ อาจประยุกต์ใช้ GAN (Generative Adversarial Networks) ช่วยเพิ่มความคมชัดให้ภาพ กู้คืนไฟล์ภาพคุณภาพต่ำ และตรวจสอบรายละเอียดสำคัญในผลงานหรือเอกสารโบราณ สื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูงขึ้นช่วยให้ผู้เรียนขยายขอบเขตการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ได้ก้าวไกลกว่าเดิม
นอกจากการใช้งาน GenAI ของผู้เรียนและผู้สอน บางบริษัทมีการนำซอฟต์แวร์มาต่อยอดเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพสื่อการเรียนรู้ของตน อาทิ Duolingo แพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ใช้ GPT-3 แก้ไขไวยากรณ์และสร้างแบบทดสอบทางภาษา บริษัทสรุปว่าสิ่งนี้ช่วยเพิ่มทักษะการเขียนของผู้เรียน แพลตฟอร์มนี้ยังนำ GPT-4 โมเดลเวอร์ชันล่าสุดมาปรับใช้ในการเรียนของผู้ใช้บริการระดับใหม่ที่เรียกว่า Duolingo Max สามารถอธิบายไวยากรณ์เชิงลึก และทำหน้าที่เป็นตัวละครสมมติ ช่วยสร้างบทสนทนากับผู้เรียนในบริบทที่สมจริง เช่น ในสนามบินหรือร้านกาแฟ รูปแบบการเรียนรู้นี้จะช่วยพัฒนาการเรียนภาษาแก่ผู้เรียนได้ดีกว่าการคุยกับโปรแกรมที่ถูกตั้งค่าคำตอบไว้ล่วงหน้า
ขณะที่ Khanmigo แชตบอตซึ่งพัฒนามาจาก GPT-4 โดย Open AI และ Khan Academy ถูกนำไปทดลองใช้ในโรงเรียน Khan Lab เมืองพาโลอัลโต แคลิฟอร์เนีย และมีโครงการว่าจะขยายผลการใช้งานโปรแกรมนี้ไปยังโรงเรียนอื่นๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม โปรแกรมไม่ได้ให้คำตอบสมบูรณ์ เพราะไม่มีใครเรียนรู้จากการได้รับคำตอบในทันที แต่ Khanmigo จะทำหน้าที่โสเครตีสเสมือนจริง ที่นำทางพวกเขาให้เดินบนเส้นทางเรียนรู้ด้วยตนเอง กระบวนการนี้เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสนทนาโต้ตอบซึ่งกระตุ้นให้พวกเขาได้ฝึกคิด และตั้งคำถามอย่างเป็นระบบ ความสามารถดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนการเรียนรู้แบบไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยียังช่วยลดช่องว่างทางการศึกษา เพราะนักเรียนอาจไม่สามารถมีครูมาช่วยสอนส่วนตัวได้ทุกคน
ความท้าทายของ GenAI ในการศึกษา
ผลสำรวจจากสหราชอาณาจักรพบว่า เด็กอายุ 14-16 ปี จำนวน 6 ใน 10 คน (58%) มีความเห็นว่า ภายใน 5 ปี โรงเรียนควรนำ AI มาช่วยส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน (Adaptive Learning) แต่มีเด็กเพียง 6% เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขากำลังเรียนรู้สิ่งนี้ในโรงเรียน นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ปกครองเพียง 25% ที่เข้าใจวิธีการใช้งาน AI เป็นอย่างดี
การใช้ GenAI มีประโยชน์ต่อการเรียน การสอน และการบริหารจัดการต่างๆ ทางการศึกษา แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว ความถูกต้องของผลลัพธ์ที่เกิดจากการประมวลผลอัลกอริทึม รวมไปถึงลิขสิทธิ์ในผลงานที่เกิดจากผลผลิตของปัญญาประดิษฐ์
แม้จะมีความท้าทายและข้อกังวลทั้งหมดเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ผลสำรวจของ EDUCAUSE QuickPoll พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (54%) มีความรู้สึกเชิงบวกในระดับดีหรือดีมากเกี่ยวกับ GenAI โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อช่วยย่นเวลาการทำงาน มีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีความรู้สึกในแง่ลบ
นักการศึกษาคนหนึ่งในเขตการศึกษา Baldwin-Whitehall สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือนักเรียนจะต้องใช้เครื่องมือนี้เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจแนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่คัดลอกและวางคำตอบเท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า GenAI เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ของผู้สอน ผู้เรียน และนักการศึกษาเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ คนในแวดวงการศึกษาจึงต้องเข้าใจ และรู้จักวิธีใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ นักการศึกษาบางส่วนมีข้อเสนอแนะว่า ทักษะด้านดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้มีอำนาจควรพิจารณาถึงแนวทางการสอนของสถาบันการศึกษา เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้เทคโนโลยีนี้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
GenAI ก็เป็นเช่นเดียวกับเครื่องมืออื่นๆ ที่มี 2 ด้าน โจทย์ที่ท้าทายคือ เราจะใช้งานเครื่องมือนี้อย่างไรให้เหมาะสมและไม่หลงลืมจริยธรรม ดังความเห็นจากมหาวิทยาลัย UCL (University College London) ถึงประเด็นการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในการศึกษา “คุณต้องตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างการใช้เครื่องมือดังกล่าวอย่างสมเหตุสมผล และจุดใดที่การใช้เครื่องมือเหล่านั้นอาจถูกมองว่าทำให้คุณได้เปรียบอย่างไม่ยุติธรรม”
ที่มา
บทความ “Chat GPT, artificial intelligence challenging education sector” จาก 1news.co.nz (Online)
บทความ “ChatGPT in Education: The Pros, Cons and Unknowns of Generative AI” จาก edtechmagazine.com (Online)
บทความ “ChatGPT is going to change education, not destroy it” จาก technologyreview.com (Online)
บทความ “Generation AI is here: Children are already using AI technology to learn at home but just 6% say they are being taught about it in schools” จาก fenews.co.uk (Online)
บทความ “Generative AI for educators” จาก economictimes.indiatimes.com (Online)
บทความ “Generative AI: Education In The Age Of Innovation” จาก forbes.com (Online)
บทความ “Introducing Duolingo Max, a learning experience powered by GPT-4” blog.duolingo.com (Online)
บทความ “Khanmigo, your AI guide: Get a glimpse of the future of learning” จาก khanacademy.org (Online)
บทความ “Say hello to your new tutor: It’s ChatGPT” จาก washingtonpost.com (Online)
บทความ “Top 6 Use Cases of Generative AI in Education” จาก research.aimultiple.com (Online)
บทความ “Which London universities ban ChatGPT and AI chatbots?” จาก standard.co.uk (Online)
บทความ ChatGPT (We need to talk) จาก cam.ac.uk (Online)
บทความ How to use ChatGPT as a learning tool จาก apa.org (Online)
เว็บไซต์ Generative AI (Online)