“Eqppur si muove – เอปปูร์ ซิ มูโอเว” (และมันยังคงเคลื่อนที่)
มีตำนานเล่าลือว่าปี 1633 ณ กรุงโรม กาลิเลโอ กาลิเลอี ยักษ์ใหญ่แห่งวิทยาศาสตร์ ชาวฟลอเรนซ์ กระซิบกระซาบคำนี้ขณะลุกขึ้นยืนหลังจากถูกศาลศาสนาพิพากษาว่าเขามีความผิดฐานฝ่าฝืนบทบัญญัติพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และเชื่อถือกฎอันเป็นเท็จ
กฎที่ว่าหมายถึงการค้นพบของโคเปอร์นิคัสที่ว่าพระอาทิตย์ปักหลักเป็นศูนย์กลางจักรวาลและโลกต่างหากที่เคลื่อนที่รอบพระอาทิตย์ มิใช่ในทางกลับกัน แต่ที่ประชุมใหญ่คณะนักเทววิทยา 11 คน ซึ่งแต่งตั้งจากพระผู้ใหญ่โดยพระสันตะปาปาพอลที่ 5 ลงความเห็นไว้เมื่อปี 1616 ว่าประเด็นพระอาทิตย์นั้นฝ่าฝืนบทบัญญัติในพระคัมภีร์ไบเบิล “นอกรีตอย่างเป็นทางการ” ส่วนประเด็นเกี่ยวกับโลกไม่ถึงขั้นฝ่าฝืน แต่ก็ “ย่อหย่อนศรัทธา”
ชื่อของกาลิเลโอถูกจดจำในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลองปล่อยวัตถุลงมาจากหอเอนเมืองปิซาและพื้นที่ลาดเอียง ผู้คิดค้นกล้องโทรทรรศน์ ผู้คนพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งฟิสิกส์เชิงทดลอง ยักษ์ใหญ่ที่ไอแซก นิวตันใช้เหยียบยืนบนบ่าเพื่อมองเห็นได้ไกลขึ้น คงเป็นความบังเอิญ นิวตันเกิดในปีเดียวกันกับปีที่กาลิเลโอเสียชีวิต ซึ่งก็คือปี 1642 และเรายังรู้อีกว่าในช่วงบั้นปลายชีวิต กาลิเลโอถูกกักบริเวณในบ้านจนถึงวาระสุดท้าย
‘ธิดากาลิเลโอ บันทึกประวัติศาสตร์แห่งวิทยาศาสตร์ ศรัทธา และความรัก’ (Galileo’s Daughter: A Historical Memoir of Science, Faith and Love) เขียนโดย Dava Sobel หนังสือเก่าที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี 2546 สารคดีเรื่องนี้ร้อยเรียงชีวประวัติของกาลิเลโอ ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างเขากับลูกสาวคนโตนาม เวอร์จิเนีย ผู้คอยเป็นกำลังใจให้แก่บิดาอย่างไม่เคยขาดสาย
คุณอาจคิดว่ากาลิเลโอเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาคริสต์ ไม่เลย ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เขาเป็นคาทอลิกที่เปี่ยมศรัทธา เขาเชื่อในพระเจ้า เขาเชื่อว่าพระเจ้าสร้างสรรค์ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ พร้อมกับสร้างมนุษย์มาให้ค้นหาปริศนาในธรรมชาติ จุดนี้มิใช่สิ่งที่เหล่านักบวชผู้มีอำนาจยอมรับได้
กาลิเลโอมีชีวิตในยุคอันปั่นป่วนของความเชื่อ ก่อนเขาเกิด 47 ปี หรือในปี 1517 มาร์ติน ลูเทอร์ นำ The 95 Theses ปิดประกาศที่หน้าโบสถ์เมืองวิตเทนเบิร์กทำให้ลูเทอร์ถูกประกาศตัดขาดจากศาสนา (Excommunication) ในอีก 3 ปีต่อมา นิกายโปรเตสแตนต์ถือกำเนิด ชักพายุโรปเข้าสู่ความขัดแย้งและเข่นฆ่าต่อเนื่องยาวนาน สงครามสามสิบปีระหว่างคาทอลิกและโปรเตสแตนต์เริ่มต้นในปี 1618 คร่าชีวิตผู้คนนับล้าน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่คริสตจักรไม่ยินยอมให้มีผู้ท้าทายความเชื่อเพิ่มขึ้นอีกแม้แต่คนเดียวหากทำได้
ในวัยหนุ่ม กาลิเลโอมิได้เรียนจบมหาวิทยาลัย ถึงกระนั้น ด้วยความเฉลียวฉลาดและขวนขวายหาความรู้ก็ทำให้เขาได้เป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ถึงปี 1610 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักคณิตศาสตร์อาวุโสและนักปรัชญาประจำราชสำนักแกรนด์ดยุคแห่งทัสคานี โคสิโมที่ 2
ความโดดเด่นสร้างความริษยา ความริษยาก่อเกิดศัตรู ยามชีวิตรุ่งโรจน์ภัยพาลจากศัตรูเปรียบเหมือนหยดน้ำกระทบภูผาใหญ่ กาลิเลโอไม่เคยใส่ใจเพราะเชื่อมั่นในสติปัญญา ความรู้ การค้นพบของตนซึ่งมีหลักฐานรองรับ และความสัมพันธ์อันดีกับพระผู้ใหญ่ซึ่งรวมถึงพระคาร์ดินัล มาฟเฟโอ บาร์เบรินี ที่จะขึ้นเป็นพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 ในปี 1623 มันเป็นช่วงเวลาที่เขาทุ่มเทให้กับการค้นคว้า ทดลอง ประดิษฐ์คิดสร้าง เขียนหนังสือ และโต้ตอบกับผู้คนที่ยังยึดถือความเชื่อเก่าๆ อย่างเผ็ดร้อน
ในยุคนั้น คำสอนของอริสโตเติลและปโตเลมี ยังมีอิทธิพล โลกคือศูนย์กลางจักรวาล พระอาทิตย์และดวงดาวน้อยใหญ่โคจรโดยรอบ ใต้โค้งฟ้าอันเป็นทรงกลมสมบูรณ์ สูงขึ้นไปจากนั้นคือสรวงสวรรค์ แต่การค้นพบของโคเปอร์นิคัสและตัวกาลิเลโอเองยืนยันว่าผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตทั้งสองเป็นฝ่ายผิด
จุดอันตรายอยู่ที่ความเชื่อแบบเก่านี้ถูกยอมรับโดยคริสตจักรที่ทรงอำนาจมาหลายร้อยปี การประกาศข้อค้นพบใหม่ไม่เพียงจู่โจมสรวงสวรรค์ของอริสโตเติล ปโตเลมี และพระเจ้า หากยังสั่นคลอนอำนาจของเหล่านักบวช
กาลิเลโอใช่ว่าไม่รู้ หนังสือของเขา ‘บทสนทนา’ ว่าด้วยการพูดคุยถกเถียงของเพื่อนสามคนเกี่ยวกับความเชื่อเก่าและความเชื่อใหม่จึงพยายามไม่ฟันธง วางสถานะการค้นพบของโคเปอร์นิคัสเป็นเพียงสมมติฐานหนึ่งตามคำแนะนำของพระผู้ใหญ่ผู้ดูแลการพิมพ์หนังสือ แม้ว่าจะปกปิดความคิดของตัวเขาไม่ได้แนบเนียนนัก
ถึงที่สุดหนังสือ ‘บทสนทนา’ ก็ได้รับอนุญาตให้จัดพิมพ์ได้ในปี 1632 นี่คือจุดเริ่มต้นของความร่วงโรยในชีวิตของกาลิเลโอ
พระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 ปล่อยให้เหล่าที่ปรึกษาเป็นผู้อ่าน ‘บทสนทนา’ และลงความเห็น เปิดช่องให้ศัตรูผู้ริษยากาลิเลโอเป่าหู บวกกับสงครามสามสิบปียังไม่มอดดับซึ่งทำให้ “พระสันตะปาปาได้รับการชี้นิ้วกล่าวโทษว่า ไม่มีความสามารถในการปกป้องโลกคาทอลิก พระองค์ก็ไม่อาจปล่อยให้ผู้หยามหมิ่นคาทอลิกรายใหม่รอดชีวิตไปได้อย่างลอยนวล” กาลิเลโอถูกเรียกตัวเข้ากรุงโรมโดยไม่ได้รับการผ่อนปรนเพื่อไต่สวน
Dava Sobel เขียนว่า
“การกดขี่ของศรัทธาศาสนาต่อแนวคิดวิทยาศาสตร์ การข่มเหงของรัฐที่กระทำต่อราษฎร การปะทะกันระหว่างคนที่มีแนวคิดแปลกใหม่เฉพาะกับสถาบันโบราณ การท้าทายของแนวคิดใหม่เบิกยุคกับความเชื่องมงายที่สั่งสอนกันสืบมา และการดิ้นรนต่อสู้เพียงเพื่อต้องการเสรีภาพในการใช้ความคิดเสรี และการแสดงความเห็นโดยไม่ถูกปิดปากกดหัว ไม่เคยมีกระบวนการพิจารณาคดีใดๆ ในบันทึกประวัติศาสตร์ สารบบของพระคัมภีร์หรือกฎหมายจารีตประเพณีที่จะส่งเสียงดังกึกก้อง สะท้อนกังวานผ่านกาลเวลา แสดงความหมายปรากฏชัดเจน ผลกระทบใหญ่หลวง บันทึกอวิชชาและอคติให้ปรากฏชัดเจน จนกลายเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ชวนให้หดหู่ยิ่งนักเช่นนี้”
ผู้เขียนนำบันทึกคำพิพากษาของศาลศาสนามาแสดง
‘ด้วยเหตุผลพิจารณาจากเนื้อความโดยละเอียดในการพิจารณาคดีและคำสารภาพของท่าน ท่านยินยอมมอบตัวไว้ใต้การพิพากษาตัดสินของสมณสำนักในข้อหาอุกฉกรรจ์ ต้องสงสัยว่าฝ่าฝืนบทบัญญัติพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ หลงเชื่อถือกฎบัตรอันเป็นเท็จ และขัดแย้งกับพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์…ท่านได้จงใจหาโทษภัยและทัณฑ์ทรมานที่ประกาศจดแจ้งไว้ชัดเจนแล้วโดยสารบบศักดิ์สิทธิ์และกฎหมายบัญญัติหรือพระราชกำหนดเฉพาะกรณี เราเต็มใจจะอภัยโทษให้ หากท่านมีหัวใจเปี่ยมด้วยความจริงใจและศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน ตั้งใจเป็นปฐมต่อหน้าพวกเรา พร้อมสละทิ้ง สาปแช่ง ประณามความผิดพลาด และการฝ่าฝืนบทบัญญัติพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งความผิดพลาดกับการฝ่าฝืนบทบัญญัติพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในทุกเรื่องที่ขัดแย้งกับศาสนจักรคาทอลิกและเทวทูตศักดิ์สิทธิ์ ด้วยวิธีและรูปแบบที่เราจะเป็นผู้กำหนดแก่ท่าน’
สุดท้าย กาลิเลโอในวัยชราต้องยอมรับสารภาพและโกหกตนเองเพื่อเอาชีวิตรอด เขาสารภาพว่า
‘ข้าฯ ต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดฐานเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะฝ่าฝืนบทบัญญัติของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ โดยยึดถือและเชื่อว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล ปักหลักนิ่งกับที่ และโลกมิใช่ศูนย์กลางของจักรวาล หากแต่เคลื่อนที่โคจร
‘ด้วยเหตุนี้ เพื่อปลดความกังวลจากจิตใจของพระคุณเจ้าทั้งหลาย และปวงชนคริสเตียนผู้เปี่ยมด้วยศรัทธา ถึงโทษต้องสงสัยอุกฉกรรจ์ที่ลงทัณฑ์ต่อข้าฯ อย่างเป็นธรรมแล้ว ข้าฯ ขอประกาศด้วยหัวใจเปี่ยมด้วยความจริงใจและศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน พร้อมสละทิ้ง สาปแช่ง ประณามความผิดพลาดของการฝ่าฝืนบทบัญญัติพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องดังกล่าว…
‘ข้าฯ ขอสาบานว่าในอนาคต ข้าฯ จะไม่พูดหรือร่วมในการสนทนาหรือเขียนเรื่องราวที่จะชวนให้ข้าฯ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยเช่นในคราวนี้’
แล้วเวอร์จิเนียหรือแม่ชี มาเรีย เซเลสต์ ลูกสาวของกาลิเลโอผู้บวชในสำนักชีซานมัตเตโอเกี่ยวข้องอย่างไร?
Dava Sobel เผยให้เห็นว่าความรักของเธอช่วยปลอบประโลมกาลิเลโอทั้งในยามรุ่งโรจน์และร่วงโรย มันทำให้เขามีเรี่ยวแรงค้นคว้าหาความรู้และขีดเขียนหนังสือ มันทำให้โลกของเขาดำรงคงอยู่และเคลื่อนที่ต่อไปได้ท่ามกลางความอยุติธรรมที่ได้รับ จดหมายที่มาเรีย เซเลสต์เขียนโต้ตอบกับบิดาซึ่งสอดแทรกอยู่ตลอดเล่มเป็นสิ่งยืนยัน
มันคงคล้ายคลึงกับความรักในการเสาะแสวงหาความรู้อันไม่สิ้นสุดของกาลิเลโอที่ได้รับการพิสูจน์ในกาลต่อมาว่าโคเปอร์นิคัสและเขาเป็นฝ่ายถูก และศาสนจักรต่างหากที่ผิด
ความรักชนิดนี้เองที่ทำให้โลกเคลื่อนที่ซึ่งไม่ว่าใครหรืออำนาจใดก็ไม่อาจทำให้มันหยุดนิ่งอยู่ได้