ใครว่าการสอนเพศศึกษาต้องเกิดขึ้นที่โรงเรียนเท่านั้น หรือใครว่าเพศศึกษาจะนำมาสอนให้ ‘สนุก!’ นอกห้องเรียนไม่ได้
ผลงานของศิลปินสองคนที่เริ่มต้นในงาน Edinburgh Festival Fringe เทศกาลบนท้องถนนและพื้นที่สาธารณะใจกลางกรุงเอดินบะระ เมืองหลวงแห่งสกอตแลนด์ เป็นหลักฐานยืนยันว่า การสอนประเด็นเกี่ยวกับเพศศึกษาแบบนี้ทำให้เด็กๆ มองเห็นภาพและเข้าใจเรื่องเหล่านั้นได้ดีกว่าการบรรยายในห้องเรียนเป็นไหนๆ
มาโมรุ อิริกุชิ (Mamoru Iriguchi) นักออกแบบเพื่อการแสดง ที่จบการศึกษาด้านสัตววิทยาผู้เดินสายไปแสดงมาแล้วหลายประเทศในยุโรป และ อัฟตัน โมแรน (Afton Moran) ศิลปินคู่หู และนักแสดงที่เชี่ยวชาญประเด็นเควียร์ (Queer Theatre) ร่วมกันออกแบบ Sex Education Xplorers (S.E.X.) ที่เราจะเรียกว่าเป็นศิลปะการแสดงในเทศกาลศิลปะครั้งใหญ่ หรือห้องเรียนเพศศึกษาเคลื่อนที่ ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของเพศสัมพันธ์ ไปจนถึงการถูกกดขี่ทางเพศ การต่อสู้ดิ้นรน การมีตัวตนของกลุ่มคนข้ามเพศ หรือนิยามของความหลากหลายทางเพศในยุคโมเดิร์น
“อะไรๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์มีแต่ความสับสนและซับซ้อน ภารกิจของเราคือการทำให้มันสับสนน้อยลง” อิริกุชิในชุดสีไข่ไก่พร้อมกับขนขยุกขยุยสีนีออน ประกาศขณะแสดงบนเวที
S.E.X. เริ่มต้นขึ้นจากการที่อิริกุชิซึ่งเป็นศิลปินในพำนักที่เอดินบะระต้องการนำเสนอและค้นหาประเด็นต้องห้ามในการพูดเรื่องเพศ ตอนแรกเขาจะลุยเดี่ยว แต่สุดท้ายก็ดึงโมแรนเข้ามาร่วมด้วยเพราะเป้าหมายในการรวมกลุ่มชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
พวกเขาฟอร์มทีมเป็นรูปเป็นร่าง และได้รอบจัดแสดงในงานเทศกาล Edinburgh Festival Fringe ปี 2021 ในฐานะหนึ่งในโปรเจกต์ของ Independent Arts Projects (IAP) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สนับสนุนศิลปะและการแสดงบนเวทีของสกอตแลนด์
Edinburgh Festival Fringe คือเทศกาลศิลปวัฒนธรรม ที่รวบรวมศิลปินและนักแสดงทั่วโลกให้มาร่วมระเบิดความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดใหม่ๆ มีสตรีทอาร์ทิสต์รอบโลกที่จะมาครองถนน อีกทั้งคนในวงการศิลปะที่จะมาเป็นแมวมองหาศิลปินและเครือข่ายที่มาเข้าร่วมเทศกาล เรียกได้ว่าในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ถนนหนทางและพื้นที่ใจกลางเมืองเอดินบะระ จะเต็มไปด้วยการแสดงที่หลากหลาย ตั้งแต่ศิลปินระดับโลกไปจนถึงศิลปินไร้นาม
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ Edinburgh Festival Fringe ให้ความสำคัญกับการจัดหาพื้นที่สาธารณะให้ศิลปินอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ ปี เห็นได้จากการมี venue (พร้อมคู่มือ) หรือพื้นที่จัดแสดงให้บริการ กฎหมายในการใช้พื้นที่ ความปลอดภัย ไฟฟ้า ตัวเลือกของรูปแบบสถานที่ หรือแม้กระทั่ง special effect และแนวทางเบื้องต้นที่ศิลปินต้องการจะออกแบบงานของตัวเองในพื้นที่เหล่านั้น
เด็กๆ และชาวเมืองเอดินบะระจึงได้มีโอกาสได้ชมโชว์ S.E.X. ที่มาเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะให้เป็นห้องเรียนขนาดย่อมๆ ให้รู้กันไปเลยว่าเพศศึกษาก็สามารถสื่อสารผ่านงานศิลปะได้
ศิลปะสื่อการแสดงสดในแบบ S.E.X. ย้อนเวลากลับไปยังประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของเซ็กซ์ ที่นำการแบ่งเพศมากะเทาะเปลือกออกเลยเป็นอันดับแรกโดยการแทน ‘ผู้ชาย’ และ ‘ผู้หญิง’ ด้วย ‘ผู้ผลิตไข่’ (Eggers) และ ‘ผู้ผลิตสเปิร์ม’ (Spermers) แล้วค่อยเจาะลึกเข้าไปในประวัติศาสตร์ว่าการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศมีที่มาที่ไปอย่างไร บรรพบุรุษของเด็กๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อนาคตของรุ่นต่อไปจะเป็นแบบไหน เราเป็นใคร แล้วทำไมกันนะ สังคมถึงทำให้เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องที่ห่างไกลความบวกไปเสียอย่างนั้น
อิริกุชิและโมแรนเล่าอย่างร่าเริงด้วยอารมณ์ขบขัน บันเทิง และข้อมูลแน่นพร้อมพร็อพและการแต่งกายที่สนุกสนาน กราฟิกบนหน้าจอที่ย่อยง่าย เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัยที่จะทำความเข้าใจ สอดแทรกเนื้อหาเรื่องความเลื่อนไหลทางเพศเข้าไปในตอนท้ายของโชว์ อธิบายเรื่องสวรรค์ของการสืบพันธุ์ในยุคใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดไว้ด้วยเพศชายหรือหญิงเพียงเท่านั้น แต่ก็ไม่ลืมตั้งคำถามให้คนดูคิดด้วยว่าภาวะการต่อต้านตัวเองนั้นก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่พิสูจน์ว่าเรายังเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน
“เรื่องจริงของผมก็คือการตามหาอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถี (sexuality) ไปเรื่อยๆ ผมออกมาเปิดเผยตัวเอง ในฐานะนอน-ไบนารีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเริ่มจะเทคฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเมื่อ 10 สัปดาห์ที่แล้ว”
หลังจากที่โมแรนพูดประโยคนี้บนเวทีก็มีเสียงปรบมือ และเขาก็กล่าวขอบคุณ
“ผม come out ค่อนข้างช้า เพราะวัฒนธรรมหรือสถานการณ์ที่อยู่ล้อมรอบ homosexuality ในญี่ปุ่น แทบจะไม่มีคาบเพศศึกษาที่สอนผมเรื่องนี้เลย ผมไม่รู้จักโลกและคิดว่าเป็นแค่คนแปลกๆ และไม่ควรจะพูดเรื่องนี้ออกไป” อิริกุชิเผย
ถ้าในห้องเรียนมีคุณครูที่สอนเรื่องผู้ที่มีรสนิยมการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน (Homosexuality) หรืออัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) คืออะไร มันอาจจะทำให้การเดินทางของผู้ที่กำลังตั้งคำถามว่าตัวเองเป็น LGBTQ+ หรือไม่ง่ายขึ้นอย่างมหาศาล
การที่ศิลปินทั้งสองผลิต ‘สื่อการสอน’ ในรูปแบบของงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ และได้รับรางวัล Infallibles Award 2021 – Best Show for Young Audiences (โชว์ที่เยี่ยมที่สุดสำหรับผู้ชมเยาวชน) จึงเป็นฐานคิดที่ดีมากสำหรับคุณครูหรือโรงเรียนที่อยากนำไอเดียนี้ไปทำงานต่อกับนักเรียนของตนเอง ซึ่งก่อนที่จะผลิตโชว์นี้ออกมา อิริกุชิก็ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนกับโรงเรียนในเอดินบะระเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงหรือใส่ไว้ในโชว์ด้วย เพราะสุดท้ายผู้ฟังหรือกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้ที่ตัดสินว่าควรมีคอนเทนต์แบบใดบ้าง
S.E.X. ได้รับการการันตีจากผู้ชมและสื่อต่างๆ อีกมากมาย เช่น
“ที่โรงเรียนไม่ได้สอนแบบนี้เลย”
“รัก รัก รัก Sex Education Xplorers มันโง่เง่าอย่างโจ่งแจ้ง ตลกด้วย แต่ก็จริงจังเวลาเล่าถึงประเด็นเรื่องเซ็กซ์และเพศแบบสุดๆ” หรือ
“นี่คือฝันมหัศจรรย์ที่น่าผลุบเข้าไปเพราะมันจะเต็มไปด้วยภาพต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในสมองของคุณ” จาก Financial Times
“ผู้ใหญ่ทุกคนควรจะได้ดูโชว์นี้” นักเรียนวัย 14 ปีจากเอดินบะระถึงกับเอ่ยปากชม และถือเป็นรีวิวทรงพลังที่ให้แรงบันดาลใจกับผู้ใหญ่ หรือตัวผู้จัดเทศกาล ซึ่งอาจจะมีไอเดียใหม่ๆ ในการเชื่อมร้อยประเด็นทางการศึกษากับงานศิลปะทุกรูปแบบ และหาวิธีไม่ให้ชิ้นงานเกิดขึ้นแล้วจบไปในแต่ละปี
สำหรับ S.E.X. ศิลปะการแสดงนี้ไม่ได้จบลงแค่ในปีแรก เพราะโปรเจกต์มีโปรแกรมต่อในปีนี้ (2023) เรียบร้อยแล้ว และทีมงานก็ได้ติดต่อกับโรงเรียนต่างๆ เพื่อไปจัดเวิร์กชอปและนำการแสดงชุดนี้ไปแสดงทั่วเอดินบะระเป็นการขยายผล
“สิ่งสำคัญสำหรับผมคือโชว์นี้จะเป็นตัวเริ่มบทสนทนามากกว่าการบอกว่านี่คือสิ่งที่พวกคุณต้องเชื่อนะ มันตลก มันสนุก และไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่าคุณจะรักใคร มันก็เป็นเรื่องที่ดีไม่ใช่เหรอ” อิริกุชิเอ่ย
ที่มา
บทความ “The Wee Review” จาก theweereview.com (Online)
บทความ “Edinburgh Fringe 2021 review: Sex Education Xplorers (S.E.X.) @ Summerhall” จาก theskinny.co.uk (Online)
บทความ “Sex Education Xplorers (S.E.X.) by Mamoru Iriguchi – Independent Arts Projects” จาก independentartsprojects.com (Online)
บทความ “EdFringeReview” จาก edfringereview.com (Online)
วิดีโอ “Injecting Comedy Into Sex Education | Loop – Edinburgh Special | BBC Scotland” จาก (Online)
เว็บไซต์ Edinburgh (Online)