Fun Palaces ต้นแบบพื้นที่การเรียนรู้ของสตรีผู้มาก่อนกาล

787 views
7 mins
May 17, 2021

          ในเดือนตุลาคมของทุกปี ชุมชนหลายแห่งในหลายประเทศพร้อมใจกันเนรมิตพื้นที่สาธารณะ ให้กลายเป็น ‘Fun Palaces’ มหกรรมการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความสนุกและมีชีวิตชีวา เปิดให้คนทุกเพศทุกวัยได้สัมผัสประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ซึ่งสามารถสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับผู้เข้าร่วมงานปีละนับแสนคน

          ต้นกำเนิดไอเดียนี้มาจาก โจน ลิตเติลวูด (Joan Littlewood) ผู้กำกับละครเวทีชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘มารดาแห่งการละครยุคใหม่’

          ความคิดที่ก้าวหน้าของ โจน ด้านการสร้างพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ มีอิทธิพลสำคัญต่อการทำงานของนักกิจกรรมเพื่อสังคมและการออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคหลัง ราวกับหยั่งรู้ถึงการเกิดขึ้นของเมือง ‘อัจฉริยะ’ ‘ยั่งยืน’ ‘สนุก’ และ ‘มีส่วนร่วม’ ที่แพร่หลายในศตวรรษที่ 21

Joan Littlewood and the Theatre Royal
โจน ลิตเติลวูด (Joan Littlewood)

ความฝันบนกระดาษสเก็ตช์

          โจน ลิตเติลวูด เกิดเมื่อปี 1914 คณะละครของเธอกินอยู่และทำงานใน ‘Theatre Royal’ ด้านทิศตะวันตกของกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นย่านยากจนและเป็นจุดทิ้งระเบิดช่วงสงคราม

          เธอวาดฝันถึงสถานที่ในอุดมคติซึ่งผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรากหญ้า สามารถรวมตัวกันและมีส่วนร่วมอย่างอิสระในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ แบ่งปันไอเดีย เพิ่มพูนทักษะ ทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือสร้างผลงานศิลปะของตนเอง สถานที่แห่งนั้นมีชื่อว่า ‘Fun Palaces’

          แรงบันดาลใจของ โจน มาจาก ‘สวนรื่นรมย์’ (Vauxhall Pleasure Gardens) ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ ที่เคยมีอยู่ในสมัยศตวรรษที่ 18 และการลงแรงร่วมกันทำงานของผู้ชายที่พบเห็นได้ในสังคมชนบท เธอให้ เซดริก ไพรซ์ (Cedric Price) เป็นผู้แปลงความฝันให้ออกมาเป็นแบบร่างอาคาร มีการระบุการใช้งานพื้นที่ส่วนต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน

          เธออธิบายลักษณะของพื้นที่นี้ไว้ว่า

“เลือกสิ่งที่คุณต้องการจะทำ หรือเฝ้าดูผู้อื่นทำ เรียนรู้วิธีจัดการเครื่องมือ ภาพวาด เครื่องจักร ฯลฯ คุณอาจจะเต้นรำ พบปะพูดคุย ขึ้นไปชั้นบนเพื่อดูผู้คนลงมือทำสิ่งต่างๆ หรือนั่งด้านนอกเพื่อจิบเครื่องดื่ม หรือฟังวิทยุว่ามีอะไรเกิดขึ้นในเมือง ลองฝึกฝนศิลปะการแสดง วาดรูป หรือแค่เอกเขนกมองท้องฟ้า”

          ระหว่างทศวรรษที่ 1960-1970 โจนพยายามทุกวิถีทางเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ Fun Palaces ทั้งการปราศรัยต่อสาธารณชน แสดงละคร ทำภาพยนตร์ เขียนบทความ ทำงานร่วมกับเยาวชน รวมทั้งเดินทางไปแสดงวิสัยทัศน์ในต่างประเทศ ทำให้ผู้คนสนใจเริ่มในแนวคิดนี้ ตั้งแต่เมืองกลาสโกว์ เมืองนิวยอร์ก ประเทศตูนิเซีย ไปจนถึงประเทศอินเดีย

          สำหรับลอนดอน เมืองที่เป็นต้นกำเนิดไอเดีย โจนได้เสนอโครงการไปยังสภาเมืองเพื่อสร้างอาคารบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ แต่กลับไม่ได้รับอนุมัติพื้นที่และงบประมาณ Fun Palace จึงเป็นเพียงความฝันที่ไม่เคยเป็นจริง มีแค่แบบร่างอยู่ในกระดาษสเก็ตช์จวบจนเธอเสียชีวิตในปี 2002

แบบอาคาร Fun Palace ในโบรชัวร์ประชาสัมพันธ์โครงการที่ผลิตในปี 1964
แบบอาคาร Fun Palaces ในโบรชัวร์ประชาสัมพันธ์โครงการที่ผลิตในปี 1964 Photo: www.cca.qc.ca

การฟื้นคืนชีพของ Fun Palaces

          กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2013 ณ โรงละครแห่งหนึ่ง สเตลลา ดัฟฟี (Stella Duffy) นักแต่งนวนิยายและผู้เขียนบทละคร ได้สนทนากับเพื่อนๆ ศิลปินถึงความสนใจที่จะทำอะไรบางอย่างในโอกาส 100 ปีชาตกาล ของ โจน ลิตเติลวูด การกลับไปศึกษาค้นคว้าความคิดของโจน เรื่อง Fun Palaces ที่ถูกพับเก็บไว้ครึ่งศตวรรษ จึงเริ่มต้นขึ้น

          ไม่มีคู่มือใดๆ ให้เดินตาม มีเพียงความเชื่ออย่างแรงกล้าของโจน ที่ว่า “ทุกคนล้วนเป็นศิลปิน หรือไม่ก็นักวิทยาศาสตร์” ปราสาทแห่งความสนุกในศตวรรษที่ 21 ได้ถูกตีความขึ้นใหม่ ไม่ต้องซื้อที่ดิน ไม่ต้องก่อสร้างอาคาร ไม่ต้องจ้างพนักงาน ไม่มีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่จัดงาน

          ในปีนั้น ชุมชน 138 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร ได้ลุกขึ้นมาลงขันความคิด ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมในท้องถิ่นของตนซึ่งแต่ละแห่งมีเนื้อหาแตกต่างกันไป บางแห่งมีจุดแข็งด้านศิลปะ บางแห่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ บางแห่งถนัดด้านการละคร บางแห่งมีบรรยากาศจริงจัง บางแห่งจัดแบบมืออาชีพ บางแห่งจัดแบบบ้านๆ

          จุดร่วมสำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คน ซึ่งสถาบันทางวัฒนธรรมส่วนใหญ่มักล้มเหลวในด้านนี้ แม้จะมีความพยายามมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม

“เราเชื่อว่าในตัวทุกคนมีความอัจฉริยะ …ความสร้างสรรค์ในชุมชนเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ เราเชื่อว่าท้องถิ่นสามารถจัดกิจกรรมที่สนุกสุดเหวี่ยง และทุกๆ ที่สามารถเป็น Fun Palaces”

สเตลลา ดัฟฟี กล่าว

          ปัจจุบัน แคมเปญ Fun Palaces ที่เกิดมาจากความตั้งใจที่จะจัดขึ้นเฉพาะกิจ ได้วิวัฒนาการไปไกลจากจุดเริ่มต้น จากงานที่จัดขึ้นในสหราชอาณาจักร กลายเป็นงานระดับนานาชาติ จัดขึ้นที่แคนาดา ออสเตรเลีย เดนมาร์ก กรีซ นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ จากผู้เข้าร่วมปีละหลักหมื่นคน เพิ่มเป็นหลักแสนคนในแต่ละปี  

          เนื้อหาของงาน ขยายจากเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม ไปสู่ประเด็นสำคัญทางสังคม เช่น มาตรการรัดเข็มขัดของรัฐ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเสมอภาคทางสังคม สงครามและผู้อพยพ ความยั่งยืน ความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ

          สถานที่ในท้องถิ่นที่ถูกประยุกต์เป็นพื้นที่จัดงาน มีทั้งห้องสมุด ศูนย์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร โรงภาพยนตร์ แกลเลอรี หอประชุมเมือง สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า คาเฟ่ ป่า ตลาด มหาวิทยาลัย สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ทุ่งนา ผับ ทางเดินริมคลอง co-working space แม้กระทั่งคุก และสนามซ้อมรบ

          Fun Palaces ช่วยให้ผู้คนเรียนรู้และค้นพบความหลงใหล ทักษะ และความรู้ซึ่งตนสามารถแบ่งปันให้กับชุมชน เช่น การเต้นรำ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การร้องเพลง การเรียนภาษา การเขียนโค้ด งานช่างไม้ ฯลฯ ผู้เข้าร่วมงานหลายคนกลายเป็น ‘Fun Palace Makers’ ซึ่งมีบทบาทช่วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้สนุกๆ ให้ผู้อื่นในปีถัดไป

Photo Roswitha Chesher
Photo Roswitha Chesher
Photo Roswitha Chesher
Photo Roswitha Chesher

Fun Palaces ในยุคโรคระบาด

          การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก รวมถึงการจัดกิจกรรม Fun Palaces ที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์ นำมาสู่การสร้างแพลตฟอร์ม ‘1000 Tiny Fun Palaces’ เพื่อให้ผู้คนกลุ่มเล็กๆ ได้แบ่งปันประสบการณ์เรียนรู้ระหว่างกัน

          กิจกรรมต่างๆ ยังคงมีความหลากหลายและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสนุก ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พืชกับบ้านใกล้เรือนเคียง การเรียนตีกลองที่ระเบียงบ้าน หรือการฝึกโยคะในสวนสาธารณะแบบเว้นระยะทางสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจัด Digital Fun Palaces ในโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

          ฟรังซัวร์ มาตาราสโซ (François Matarasso) ศิลปินและนักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่กับการทำงานศิลปะที่มีส่วนขับเคลื่อนสังคม ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ Fun Palaces ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“มีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ Fun Palaces ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น เพราะมิได้มุ่งสร้างทางออกในการแก้ปัญหาใด ต่างจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักจัดการทางวัฒนธรรมซึ่งมักใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางความคิดว่าสังคมต้องการอะไร Fun Palaces ไม่ใช่องค์กร แต่เป็นแคมเปญหรือไอเดียที่ดีกว่าเดิม เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนทำสิ่งที่มีความหมายต่อพวกเขาเอง โดยใช้วัฒนธรรมเป็นศูนย์กลาง”


ที่มา

Fun Palaces [online]

Fun Palaces Campaign 2019 [online]

Joan Littlewood’s vision for making London life more fun [online]

Cover Photo The Fun Palace illustration, designed by Emily Medley

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก