หากกล่าวถึงรูปลักษณ์ของโรงเรียนโดยทั่วไป หลายคนคงคุ้นเคยกับห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่มีครูยืนสอนอยู่หน้าชั้น มีโต๊ะเรียนเรียงรายเป็นแถว นักเรียนห้ามเล่น ห้ามส่งเสียงดัง บรรยากาศที่แสนน่าเบื่อและจำเจเหล่านี้อาจทำให้เด็กหลายคนไม่อยากมาโรงเรียน แต่ที่โรงเรียนเออร์มาน เครสต์ (Ehrman Crest) ได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เป็นมิตร กระตุ้นการคิด ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาผ่านการเล่นสนุกและลงมือทำ คล้ายกับการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็ก
ที่นี่ เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นของรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในปี 2022 อาคารถูกสร้างขึ้นใหม่บนพื้นที่โรงเรียนเก่าที่มีอายุกว่า 80 ปี ไมเคิล คอร์บ (Michael Corb) สถาปนิกของสตูดิโอ CannonDesign ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวว่า “โรงเรียนและพิพิธภัณฑ์เด็กนั้นมีเป้าหมายเดียวกัน คือเพื่อให้ความรู้แก่เด็กๆ แต่วิธีการและสิ่งที่พวกเขาทำนั้นแตกต่างกันอย่างมาก แล้วทำไมโรงเรียนถึงไม่ทำอย่างที่พิพิธภัณฑ์เด็กทำล่ะ”
จากความคิดนี้เอง นำไปสู่ความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งพิตต์สเบิร์ก ซึ่งโดดเด่นด้านการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่หลากหลาย เพื่อค้นหาคำตอบว่าโรงเรียนที่สนุกสนานและเป็นที่ต้องการของเด็กๆ นั้นมีหน้าตาอย่างไร นี่อาจเป็นกรณีแรกๆ ที่พิพิธภัณฑ์จับมือกับโรงเรียนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แนวใหม่
“แนวทางดีไซน์โรงเรียนแบบดั้งเดิมมักคิดว่านักเรียนจะเริ่มเรียนรู้ก็ต่อเมื่อพวกเขาก้าวเข้าสู่ห้องเรียน ในขณะที่การออกแบบพิพิธภัณฑ์ใช้ทั้งอาคารเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประสบการณ์ และเกิดเป็นเส้นทางการเรียนรู้ แนวทางนี้มีข้อดีมากมาย และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นโรงเรียนนำไปปรับใช้” ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งพิตต์สเบิร์กกล่าว
หลังจากที่พวกผู้ใหญ่กำหนดปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นของโรงเรียน เช่น ขนาดพื้นที่ จำนวนสาธารณูปโภคที่จำเป็น เด็กจำนวนหนึ่งได้รับเชิญมาทำเวิร์กชอปร่วมกัน พวกเขาจะได้รับการสุ่มแจกวัสดุ เช่น ลูกสน ตุ๊กตุ่นพลาสติก หรือการ์ดสีต่างๆ เพื่อใช้สิ่งของเหล่านั้นสร้างสตอรีบอร์ดนำเสนอเกี่ยวกับโรงเรียนในฝันของตน กระบวนการดังกล่าวเป็นที่มาของโรงเรียนที่มีความสดใส ขี้เล่น และตรงใจเด็กมากที่สุด ตัวอย่างไอเดียสุดน่ารักของเด็กๆ ที่นำมาปรับใช้จริง เช่น เก้าอี้ทรงลูกข่าง หรือที่นั่งโยกได้ “พวกเขาชอบสีโทนฟ้า สีเขียว วัสดุหลักคือไม้ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ผลลัพธ์ที่ได้คือสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความสนุกและน่าตื่นเต้น” สถาปนิกกล่าว
ทุกพื้นที่ภายในอาคารเรียนมีไว้เพื่อการเรียนรู้ บรรยากาศของโถงกลางสะดุดตาด้วยทางลาดโค้งขนาดยักษ์ซึ่งสามารถเดินเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ต่างๆ ในอาคาร แต่ละโซนสามารถมองเห็นถึงกันได้ ลบภาพจำของห้องเรียนโบราณออกไป ที่นี่ไม่มีกระดานข่าว กระดานดำ โต๊ะเรียนแบบเรียงแถว หรือการแบ่งพื้นที่ตายตัว ครูและเด็กๆ จะนั่ง เดิน ยืน หรือนอนเรียนที่ไหนก็ได้ เฟอร์นิเจอร์สามารถเคลื่อนย้ายและปรับใช้งานอย่างยืดหยุ่น ฉากกั้นห้องและผนังอาจเปลี่ยนเป็นกระดานเรียนรู้เรื่องต่างๆ หรือจัดแสดงนิทรรศการผลงาน
นอกจากนี้ โรงเรียนยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น สนามเด็กเล่น สนามกีฬาขนาดใหญ่ รวมถึงการคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลัก ห้องศิลปะพร้อมปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์พักพิงได้ทันที เพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในจุดที่เคยเกิดเหตุการณ์พายุทอร์นาโดถล่ม
โรงเรียนเออร์มาน เครสต์ เป็นตัวอย่างนวัตกรรมโรงเรียนแนวใหม่ที่ใช้กระบวนการออกแบบมาใช้ส่งเสริมและพัฒนาวิธีเรียนรู้ของเด็กๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น แนวคิดและการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ก้าวล้ำ ส่งผลให้ที่นี่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2022 โดยนิตยสาร TIME
ผู้อำนวยการเขตการศึกษาฯ กล่าวว่า “เราสร้างโรงเรียนในฝันของเรา… ฉันคิดว่าบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากที่นี่คือ จงมีความคิดสร้างสรรค์ในฐานะผู้ใหญ่ และรับฟังเด็กๆ”
ที่มา
บทความ “Is This Elementary School Near Pittsburgh the Future of Education?” จาก smithsonianmag.com (Online)
บทความ “Ehrman Crest Named one of TIME’s Best Inventions of 2022” จาก cannondesign.com (Online)
บทความ “Ehrman Crest Elementary/Middle School – Seneca Valley School District – Children’s Museum of Pittsburgh Design & Consulting” จาก pittsburghkidsdesign.org (Online)
บทความ “School of the Future” จาก timeforkids.com (Online)
บทความ “SV looking at financing for Ehrman elementary school” จาก cranberryeagle.com (Online)