ผมเคยคิดและยังคงคิดว่า เมื่อร่างกายนี้สิ้นลม ผมยินดีให้ศพของตัวเอง (ถ้ายังใช้คำว่า ของตัวเอง ได้) นอนเน่าอยู่ข้างทาง ในป่า หรือทิ้งลงทะเล แม่น้ำ เป็นอาหารของสัตว์อื่นๆ เพราะเวลานั้นผมคงไม่สนใจไยดีแล้วว่าร่างกายผมจะอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร หรือผ่านพิธีกรรมอะไร
แน่นอน เงื่อนไขจากความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติ วัฒนธรรม ทัศนะอุจาด และสาธารณสุข เจตนารมณ์ของผมย่อมไม่ได้รับการตอบสนอง
ไม่รู้คนส่วนใหญ่จินตนาการหรือวางแผนงานศพของตนอย่างไร เป็นไปได้ว่าเรามักไม่ค่อยมีโอกาสได้เลือกวิธีจัดการกับศพตนเอง ญาติพี่น้องต่างหากที่เป็นคนตัดสินใจแทน แม้บางกรณีผู้ตายจะระบุเจตนารมณ์ไว้แล้ว ก็ใช่ว่าจะถูกปฏิบัติตาม เพราะถึงเวลานั้นร่างกายของเราก็เป็นเพียงทรัพย์สินที่ไม่มีค่าอะไรของเหล่าเครือญาติ แถมยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการเสียอีก
ความตายเรียบง่ายเสมอ แค่ชีวิตหนึ่งปลิดปลิวไปจากสารพัดสาเหตุ ทว่าวิธีจัดการกับศพมักยุ่งยาก ซับซ้อน และราคาแพง ที่ดูแย่ยิ่งกว่าคือมันพรากความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย ตัดขาดชีวิตกับประสบการณ์ว่าด้วยความตายอันเป็นสิ่งสามัญของชีวิต อย่างน้อยก็ในบริบทของประเทศสหรัฐฯ ในความคิดของ Caitlin Doughty
จุดมุ่งหมายของ ‘จากดับสูญสู่นิรันดร์: ส่องวิถีหลังความตายจากหลากหลายวัฒนธรรม’ Caitlin Doughty ต้องการตีแผ่ธุรกิจงานศพในสหรัฐฯ ที่ทั้งแสนแพง หยุมหยิมด้วยกฎระเบียบ และแข็งกระด้าง ผ่านการสำรวจวัฒนธรรมความตายของผู้คนจากหลากหลายมุมโลก
“หากจะยกให้เราเป็นเลิศที่สุดในโลกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรื่องนั้นคงหนีไม่พ้นการแยกครอบครัวที่กำลังโศกเศร้าออกจากผู้ล่วงลับ” เธอประชด
Doughty พาคนอ่านไปดูการเผาศพกลางแจ้งในโคโลราโด โครงการทดลองให้ศพเน่าเปื่อยผุพังตามธรรมชาติในนอร์ท แคโรไลนา (แสดงว่าผมไม่ได้คิดอยู่คนเดียว) การที่ครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับศพของญาติในบ้านที่สุลาเวสีใต้ อินโดนีเซีย การหยิบยื่นพลังอำนาจของคนตายมาช่วยคนเป็นในโบลีเวีย วิธีเก็บเถ้ากระดูกแบบกิ๊บเก๋ในญี่ปุ่น หรือแม้แต่การจัดการศพแบบสมัยใหม่และเป็นธุรกิจในสเปน
มันแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมว่าด้วยความตายช่างหลากหลาย ยากจะหากฎเกณฑ์บอกได้ว่าอันไหนดี-ไม่ดี การกินเนื้อกับการเผาศพผู้ล่วงลับเป็นได้ทั้งความดีงามและน่าสยดสยองหากมันอยู่กันคนละวัฒนธรรม
Doughty ไม่ได้ตัดสินวัฒนธรรมในแต่ละมุมโลกในลักษณะนั้น แต่ใช่ว่าเธอไม่ตัดสิน
ดังที่เกริ่นไปบ้าง เธอต้องการกระตุ้นเตือน ประชดประชัน และตีแผ่ธุรกิจงานศพในสังคมอเมริกันที่ทำให้คนตายกลายเป็นภาระของคนเป็นด้วยค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว พิธีการ (ไม่ใช่พิธีกรรม) จุกจิก ยุ่งยาก แต่เหี่ยวแห้ง ไร้หัวจิตหัวใจ แยกขาดความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย การจัดการศพที่เคยเป็นหน้าที่ของญาติ ความละเอียดอ่อนของการดูแลคนที่เป็นรักเป็นครั้งสุดท้าย ถูกพรากไปอยู่ในมือของใครก็ไม่รู้ ซ้ำยังทำให้ศพเป็นพื้นที่หวงห้ามของญาติ
ในเม็กซิโก โบลิเวีย อินโดนีเซีย โลกของคนเป็นและโลกของคนตายประหนึ่งถูกขีดคั่นด้วยประตูที่ไม่หนาไม่บางจนเกินไป และพร้อมเปิดให้คนในโลกทั้งสองได้สื่อสารกันเมื่อถึงเวลา
ขณะที่สังคมอเมริกัน การพูดถึงความตายเป็นเรื่องต้องห้าม ไร้มารยาทชนิดร้ายแรง Doughty ยกคำพูดของ Octavio Paz กวีนามอุโฆษชาวเม็กซิโกว่า “แต่ในทางกลับกัน ชาวเม็กซิกันทั้งล้อเลียน โอบกอด หลับใหล และสนุกไปกับความตาย ความตายคือของเล่นชิ้นโปรดและรักนิรันดร์ของพวกเขา”
อีกซีกโลก ญี่ปุ่นซึ่งมีวัฒนธรรมการตายเฉพาะตนเช่นกัน กำลังแปรเปลี่ยนจากการฝังศพที่สิ้นเปลืองทั้งเงินทองและที่ดินสู่การเผาศพ เป็นประเทศที่มีการเผาศพสูงที่สุดในโลก 99.9 เปอร์เซ็นต์ ยาจิมะ เจ้าอาวาสวัดโคโคะคูจิ จึงตัดสินใจปรับปรุงพื้นที่วัด สร้างอาคารบรรจุอัฐิที่ใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกและความสงบ “ชีวิตหลังความตายของชาวพุทธเต็มไปด้วยสมบัติล้ำค่าและแสงสว่าง”
หากมองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย สังคมไทยน่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ Doughty บอกเล่า เรายังมีพื้นที่ให้ญาติพี่น้องกับศพได้ใกล้ชิด (ตอนที่ยายผมเสีย ผมยังต้องนอนเฝ้าศพ 1 คืน) อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าราคาของการจัดการศพสูงขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่เริ่มมีความคิดต่อศพตนเองเปลี่ยนไป และ (น่าจะ) หวาดกลัวความตายน้อยลง
มีประโยคหนึ่งในหนังสือที่ผมชอบเป็นพิเศษ
“การหลีกหนีความตายไม่ใช่ความผิดพลาดส่วนบุคคล แต่เป็นความล้มเหลวทางวัฒนธรรม”
การกลัวตายเป็นเรื่องปกติ ส่วนการหลบเลี่ยงไม่คิดถึง ไม่พูดถึง คือการปฏิเสธความจริง ซึ่งอาจเท่ากับการปฏิเสธชีวิต
มีคำถามเชิงปรัชญาว่า ถ้าชีวิตเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย การดำรงอยู่จะยังคงมีความหมายอยู่หรือไม่ ไม่มีคำตอบถูกหรือผิด หลายคนคงตอบก่อนว่าอยากเป็นอมตะ แล้วค่อยไปหาวิธีตายทีหลัง หรือใครจะรู้ ในอนาคตมนุษย์อาจหาวิธียืดชีวิตออกไปหรือถ่ายเทความทรงจำสู่ร่างใหม่ ความตายถูกตัดทิ้งออกจากพจนานุกรม
แต่ตอนนี้เรายังต้องตาย เราจะอยู่กับชีวิตของตนและคนรอบข้าง กระทั่งกับความตายของเราและคนรอบข้างอย่างไร คำตอบอาจอยู่ในวัฒนธรรมที่รุ่มรวยบนโลกใบนี้