From Collection to Connection ห้องสมุดที่ออกแบบโดยให้ความสำคัญกับคน และเน้นความสัมพันธ์ของผู้คน

963 views
8 mins
November 11, 2021

          เมคานู (Mecanoo) เป็นบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม การออกแบบภายใน ภูมิทัศน์ วางผังเมือง ฯลฯ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเดลฟท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีสาขาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและไต้หวัน สำนักงานใหญ่ประกอบด้วยพนักงานหลากหลายสาขาวิชาชีพ เช่น ช่างเทคนิค คนทำโมเดล และสถาปนิก รวมประมาณ 120 คน จาก 25 เชื้อชาติ

          ตัวอย่างโครงการห้องสมุด 6 แห่งที่เป็นผลงานการออกแบบอันโดดเด่นของบริษัทเมคานู สะท้อนถึงแนวทางการทำงานที่ยึดหลักการ 3P ได้แก่ ‘ผู้คน’ (People) คือหัวใจหลักที่มีความสำคัญที่สุดในการออกแบบ ‘สถานที่’ (Place) เป็นเรื่องจำเพาะซึ่งปรับไปตามบริบทของสังคม และ ‘วัตถุประสงค์’ (Purpose) คือสามารถใช้งานได้ตามหน้าที่ อีกทั้งต้องพร้อมรับมือสภาพการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

วีดิทัศน์แนะนำบริษัทเมคานู

ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดลฟท์ (Library Delft University of Technology) เดลฟท์, เนเธอร์แลนด์

          ห้องสมุดเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้ใช้บริการห้องสมุดมีตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือน ไปจนถึงผู้สูงอายุ อาคารห้องสมุดจึงมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากสถาบันประเภทอื่น เพราะมีทั้งพื้นที่ที่ทุกวัยใช้งานร่วมกันและพื้นที่ที่เน้นผู้ใช้งานเฉพาะวัย รวมทั้งผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย การออกแบบห้องสมุดจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทุกคน

          กลุ่มอาคารของมหาวิทยาลัยในช่วงทศวรรษที่ 1960 มีโครงสร้างเป็นคอนกรีตที่ดูเคร่งขรึม การออกแบบห้องสมุดไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับตัวอาคาร แต่ยังขยายไปสู่เรื่องภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตร โปร่งเบา และเพิ่มโอกาสให้ผู้คนได้พบปะมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น รถยนต์ถูกจำกัดอยู่ด้านนอก และเก็บพื้นที่ใจกลางไว้สำหรับผู้คนเท่านั้น 

          ห้องสมุดที่เดลฟท์สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1996 ปัจจุบันมีอายุมากกว่า 20 ปี ห้องสมุดเป็นมากกว่าสถานที่สำหรับยืมหนังสือ แต่ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งผู้คนมาเล่นสกีในฤดูหนาว นั่งอาบแดดในฤดูร้อน และมาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดกัน

          กลุ่มผู้ใช้บริการหลักของห้องสมุดยังคงเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย แต่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นก็สามารถมาใช้ได้เช่นกัน ปัจจุบันนักศึกษาไม่นิยมอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน ห้องสมุดจึงต้องปรับเปลี่ยนให้มีที่นั่งเพิ่มขึ้นและลดจำนวนหนังสือลง โดยคัดเลือกหนังสือที่มีผู้ใช้บ่อยให้บริการบนชั้นเพียงร้อยละ 10 แต่กระนั้นบางเล่มก็มีผู้ใช้บริการเพียงปีละ 3 ครั้งเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 ย้ายไปเก็บไว้ที่ชั้นใต้ดิน เมื่อนักศึกษาต้องการใช้งานสามารถแจ้งบรรณารักษ์นำหนังสือขึ้นมาให้ภายในครึ่งชั่วโมง

          หนังสือไม่ใช่สิ่งที่นักศึกษาใช้งานบ่อยอีกต่อไป เพราะเนื้อหาจำนวนมากถูกแปลงเป็นอิเล็กทรอนิกส์ แต่สิ่งที่พวกเขาใช้งานอยู่เสมอคือพื้นที่สำหรับการศึกษา ซึ่งต้องมีโต๊ะเก้าอี้และปลั๊กไฟเพื่อชาร์จโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์พกพา การปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานสามารถทำได้ง่ายเพราะผู้ออกแบบคิดและตั้งใจไว้เช่นนี้แล้วตั้งแต่ต้น แผนผังห้องสมุดเมื่อ 20 ปีก่อน กับเมื่อ 5 ปีที่แล้วไม่ต่างกันมากนัก เพียงนำชั้นวางนิตยสารออกก็สามารถเพิ่มจำนวนที่นั่งได้จาก 600 เป็นเกือบ 1,000 ที่นั่ง

          มหาวิทยาลัยต้องการส่งเสริมให้นักศึกษาทำกิจกรรมต่างๆ ในห้องสมุดที่มีชีวิต ไม่ใช่ห้องสมุดแบบเงียบๆ  นักศึกษาสามารถนำอาหารและเครื่องดื่มมารับประทานในห้องสมุด เลือกรูปแบบที่นั่งที่มีอยู่ไม่เหมือนกันตามใจชอบ ห้องสมุดควรเป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกสบาย โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในนั้นนานๆ  ประเด็นเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเรื่องเสียง อากาศ แสงสว่าง เสาที่อยู่ภายในห้องสมุดเดลฟท์ติดตั้งเครื่องถ่ายเทอากาศให้หมุนเวียนจากด้านล่างขึ้นไปด้านบนอย่างสม่ำเสมอ ออกแบบให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาในอาคารอย่างทั่วถึง รวมทั้งปลูกหญ้าหนาๆ ด้านบนเพื่อดูดซับเสียงรบกวน

การออกแบบห้องสมุดเป็นมากกว่าเรื่องอาคาร แต่ยังเกี่ยวข้องกับการออกแบบภูมิทัศน์
การออกแบบห้องสมุดเป็นมากกว่าเรื่องอาคาร แต่ยังเกี่ยวข้องกับการออกแบบภูมิทัศน์
Photo : MecanooCC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons
วีดิทัศน์บรรยากาศ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดลฟท์ (Library Delft University of Technology)

ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม (Library of Birmingham) เบอร์มิงแฮม, สหราชอาณาจักร

          เบอร์มิงแฮมเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่รองจากลอนดอน มีความซับซ้อน มีประชากรหลากหลายทั้งชาวต่างชาติและผู้อพยพจำนวนมาก รวมถึงประชากรรุ่นหนุ่มสาว ที่ตั้งของห้องสมุดอยู่ในใจกลางเมืองติดกับอาคารแสดงดนตรีและอยู่ใกล้โรงละคร องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนปัจจัยที่จำเป็นต้องนำมาวิเคราะห์ในการออกแบบห้องสมุด

          อาคารมีรูปทรงคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ การตกแต่งภายนอกอาคารได้แรงบันดาลใจมาจากความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเครื่องประดับของเบอร์มิงแฮม บริเวณที่มองเห็นเป็นสีทองเด่นชัดเป็นที่ตั้งของหอจดหมายเหตุ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความภาคภูมิใจของชาวเมืองที่มีต่อความเป็นมาในอดีต เอกสารในหอจดหมายเหตุต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี จึงเลี่ยงที่จะนำไปไว้ที่ชั้นใต้ดินซึ่งเสี่ยงต่อน้ำท่วม ความชื้น หรือเหตุอื่นๆ ส่วนห้องทรงกลมสีทองด้านบนสุดเป็นที่ตั้งของห้องอนุสรณ์เชคสเปียร์

ภายนอกอาคารรูปทรงคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ 
Photo : mecanoo 

          แนวทางในการออกแบบคือ ห้องสมุดไม่ควรแยกออกเป็นชั้นๆ เพราะต้องการให้ผู้ใช้บริการเข้าไปยังอาคารแล้วได้รับประสบการณ์เหมือนเป็นการเดินทาง มีการนำแนวคิดเรื่องเส้นนำสายตามาใช้เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถมองเห็นคร่าวๆ ว่า ชั้นบนและชั้นล่างมีอะไรบ้าง

          ห้องสมุดมีลานชั้นใต้ดินด้านหน้าอาคาร เพื่อสร้างความดึงดูดใจให้ผู้ที่ผ่านไปมา อังกฤษมีฝนตกบ่อย ผู้คนที่เดินอยู่ใต้ชายคาจะเข้ามาในอาคารโดยอัตโนมัติ เส้นทางเดินในห้องสมุดถูกออกแบบเป็นแนววงกลม เพื่อให้คนอยากเดินต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้ามาในห้องสมุดสามารถเดินสำรวจได้ง่ายๆ แทบไม่ต้องอาศัยป้ายบอกทางใดๆ เพราะทุกอย่างถูกจัดวางอย่างเป็นเหตุเป็นผลในตัวของมันเอง ห้องสมุดยังได้รับการออกแบบไว้เพื่อรองรับการใช้งานอื่นๆ เช่น การจัดงานเลี้ยง แฟชั่นโชว์ หรือคอนเสิร์ต

          ห้องสมุดพยายามทำที่นั่งให้มีหลายแบบ ให้ทุกคนรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ที่บ้าน สามารถเลือกนั่งตรงที่ตัวเองชอบ เช่น นั่งในห้องอ่านหนังสือ นั่งทำงานเป็นกลุ่ม หรือนั่งริมหน้าต่างมองออกไปข้างนอก มีทั้งโต๊ะตัวใหญ่ หรือเก้าอี้แบบเลาจน์ ตอบสนองความต้องการของทุกคน

          นอกจากนี้ในอาคารยังมีพื้นที่พิเศษอื่นๆ เช่น หอศิลป์ พื้นที่จัดนิทรรศการ และห้องบรรยายขนาดเล็กไปจนถึงขนาด 300 ที่นั่ง ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมได้หลายรูปแบบ รวมทั้งห้องสำหรับเด็กเล็กอยู่ใกล้เคาน์เตอร์กาแฟ เพื่อให้พ่อแม่ได้ดื่มกาแฟพร้อมกับคอยมองดูลูกๆ ไปพร้อมกัน  ส่วนพื้นที่บนดาดฟ้าที่กว้างขวางถูกเปลี่ยนให้เป็นสวนสมุนไพร ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนรู้วิธีปลูกและการเพาะกล้า โดยมีอาสาสมัครจำนวนมากคอยดูแลและจัดกิจกรรม

วีดิทัศน์บรรยากาศ ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม (Library of Birmingham)

ห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก (New York Public Library) นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา

          ห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก มีโครงการบูรณะห้องสมุด 2 แห่ง โดยเชื่อมต่อทั้งสองอาคารเข้าด้วยกัน ได้แก่อาคารสตีเฟน เอ. ชวาร์ซมัน (Stephen A. Schwarzman Building) ซึ่งเป็นสมุดหลัก และห้องสมุดมิดแมนฮัตตัน (Mid-Manhattan Library) ซึ่งเป็นห้องสมุดสาขาที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด อาคารทั้งสองแห่งมีอายุร่วมร้อยปี

          อาคารสตีเฟน เอ. ชวาร์ซมัน เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1911 เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมแบบโบซาร์ (Beaux Arts) ที่อลังการ และเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ประชาธิปไตยในการเข้าถึงความรู้ที่เปิดกว้างเสรี ที่นี่เป็นห้องสมุดการวิจัยที่มีชื่อเสียงมาก มีผู้ใช้บริการหลายล้านคนต่อปี ระหว่างการปรับปรุงห้องสมุดไม่สามารถหยุดให้บริการ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาบูรณะอย่างรอบคอบมากกว่า 10 ปี

อาคารสตีเฟน เอ. ชวาร์ซมัน
Photo : Mecanoo

          การบูรณะจำเป็นต้องรักษาองค์ประกอบของงานศิลปะแบบดั้งเดิม โดยออกแบบให้พื้นที่สาธารณะอยู่บริเวณชั้นล่าง ส่วนพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือและงานวิจัยอยู่ชั้นบน ซึ่งมีบรรยากาศเงียบสงบกว่า ภายหลังปรับปรุงห้องสมุดส่งผลให้อัตราการยืมทรัพยากรต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

          มีการสร้างทางเข้าใหม่จากถนนสายที่ 40 สร้างลิฟต์และบันไดใหม่เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงอาคารได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งมีพื้นที่กว้างสามารถรองรับกลุ่มนักเรียนที่มาเยี่ยมชมห้องสมุด จากถนนสายที่ 5 ทางเข้าจะพาผู้เข้าชมไปสำรวจคอลเลกชันที่น่าสนใจของห้องสมุดซึ่งจัดแสดงอยู่ในหอนิทรรศการที่สร้างใหม่ มีคาเฟ่และเลาจน์ และมีทางเดินขึ้นไปยังห้องค้นคว้าวิจัยที่ปรับปรุงใหม่ ส่วนคนที่เดินเข้ามาทางถนนสายที่ 42 จะพบกับพื้นที่สาธารณะที่ออกแบบไว้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ

          อีกฝั่งถนนหนึ่งเป็นที่ตั้งของห้องสมุดมิดแมนฮัตตัน เดิมเป็นห้างสรรพสินค้า ต่อมาในยุค 70 ได้กลายมาเป็นสาขาของห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก สี่สิบปีที่ผ่านมาห้องสมุดแห่งนี้ได้รับงบประมาณน้อยจึงอยู่ในสภาพทรุดโทรมกว่าที่ควรจะเป็น พื้นที่แต่ละชั้นแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ผู้ใช้จึงรู้สึกถูกตัดขาดออกจากชั้นอื่นๆ

         การบูรณะห้องสมุดมิดแมนฮัตตันจึงนับเป็นการผ่าตัดครั้งใหญ่ องค์ประกอบภายในถูกรื้อออกทั้งหมด มีการเพิ่มช่องว่างขนาดใหญ่กลางอาคาร เปลี่ยนห้องสมุดที่เคยอัดแน่นไปด้วยชั้นหนังสือ ให้ปลอดโปร่งและเพิ่มจำนวนที่นั่งให้มากขึ้น โดยย้ายชั้นหนังสือรวมไปไว้ในพื้นที่เดียวกัน แก้ไขระบบปรับอากาศที่ส่งเสียงดังน่ารำคาญ รวมทั้งเปลี่ยนดาดฟ้าร้างให้กลายเป็นจุดชมวิว

วีดิทัศน์การบูรณะอาคารสตีเฟน เอ. ชวาร์ซมัน

ห้องสมุดมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Dr. Martin Luther King, Jr. Library) วอชิงตัน, สหรัฐอเมริกา

          วอชิงตันมีผังเมืองเป็นมุมฉากและตึกที่เป็นมุมจำนวนมาก เช่นเดียวกับห้องสมุดมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของมีส ฟาน แดร์ โรห์ (Mies Van Der Rohe) สถาปนิกชาวเยอรมัน อาคารสร้างขึ้นในปี 1972 มีสีดำแบบสมัยใหม่และสามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพ ทว่ามีความแปลกตรงที่ออกแบบชั้นวางหนังสือไว้รอบผนัง แทนที่จะนำหนังสือไว้ตรงกลางแล้วให้คนที่นั่งอ่านหนังสือสามารถมองออกไปภายนอก

          ทั้งวอชิงตันและนิวยอร์กมีปัญหาเกี่ยวกับคนไร้บ้านซึ่งมักเข้ามายึดพื้นที่ในห้องสมุด  สถานการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ของผู้ใช้บริการทั่วไป ดังนั้นหากห้องสมุดเลือกที่จะไม่ผลักคนไร้บ้านออกไป ก็จำเป็นต้องหาอย่างอื่นให้พวกเขาทำ ส่วนการออกแบบกายภาพห้องสมุด สามารถเปลี่ยนชั้นหนังสือสูงๆ ซึ่งบดบังการมองเห็น แล้วแทนที่ด้วยชั้นหนังสือที่เตี้ยลง แม้จะทำให้เก็บหนังสือได้น้อยลง แต่ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่น่าใช้บริการมากขึ้น

          เดิมทีห้องสมุดมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มีบทบาทเป็นสถานที่เก็บสะสมรักษาหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนจากแหล่งสะสมความรู้ไปสู่แหล่งเชื่อมโยงความรู้ การปรับปรุงอาคารทำโดยสลับการใช้งานพื้นที่ให้ด้านหน้ากลายเป็นด้านหลัง และด้านหลังกลายเป็นด้านหน้า เพราะก่อนหน้านี้เมื่อคนเข้ามาในห้องสมุดจะต้องเดินผ่านส่วนที่มืดและไม่น่าเชิญชวนเพื่อไปยังพื้นที่หลักที่อยู่อีกด้านหนึ่ง

          ภายในอาคารไม่มีช่องว่างที่ทำให้สามารถมองเห็นบริเวณชั้นอื่น ห้องสมุดจึงถูกออกแบบใหม่ให้โล่งขึ้น โดยรื้อพื้นบางชั้นออกเพื่อเพิ่มความสูงของเพดานและทำให้เกิดความรู้สึกว่าห้องอ่านหนังสือโอ่โถงขึ้น มีการเปลี่ยนบันไดให้เป็นบันไดเวียนสำหรับขึ้นลง 5 ชั้น และเพิ่มสไลเดอร์สำหรับเด็ก รวมทั้งสร้างสวนหย่อม ศาลานั่งเล่น และห้องสำหรับจัดกิจกรรมไว้บนดาดฟ้า กำแพงทางเข้าลานจอดรถเก่าถูกรื้อออกแล้วสร้างเป็นคาเฟ่ บางจุดก็เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่นบริเวณทางเข้าหลัก เพื่อแสดงถึงความเคารพต่อสถานที่แห่งนี้

วิดีทัศน์การบูรณะห้องสมุดมาร์ติน ลูเธอร์ คิง

ห้องสมุดลอคฮาล (LocHal library) ทิลเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์

          เมืองทิลเบิร์กมีโครงการดัดแปลงโรงงานซ่อมหัวรถจักรซึ่งถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งด้านวัฒนธรรม ศิลปะ ห้องสมุด และสถานที่สำหรับพบปะ อาคารแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องความยั่งยืน ในแง่ของการบูรณะโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้มีหน้าที่การใช้งานที่แตกต่างไปจากเดิม โดยปรับเปลี่ยนแบบไม่ยุ่งยากซับซ้อน

          การออกแบบเน้นใช้องค์ประกอบที่มีอยู่เดิมของตัวอาคาร เช่น รางรถไฟ และเสาเหล็กแบบยุคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นสื่อกลางบอกเล่าประวัติศาสตร์ของอาคาร ล้อรถไฟถูกนำมาประยุกต์กลายเป็นโต๊ะขนาดใหญ่ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามรางรถไฟจริงๆ ที่ยังเหลืออยู่ ชั้นหนังสือเล็กๆ นำมาจากห้องสมุดเก่าอีกแห่งหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องทิ้ง

          บริเวณบ่ออัดจาระบี ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำนักงานและจัดเวิร์คช็อป ห้องสมุดได้ทำร้านกาแฟรสเลิศเพื่อสร้างรายได้ โดยไม่ต้องซื้อแฟรนไชส์จากร้านกาแฟที่มีชื่อเสียง เมื่อคอกาแฟได้ลิ้มรสกาแฟดีๆ ก็อาจจะยืมหนังสือสักเล่มหรือเข้าร่วมกิจกรรมของห้องสมุด ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นจุดนัดพบของผู้คนในเมืองทิลเบิร์กไปแล้ว

          อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจซึ่งสถาปนิกได้ออกแบบร่วมกับศิลปิน คือการจัดแบ่งพื้นที่ง่ายๆ โดยใช้ม่านขนาดใหญ่ เมื่อปิดม่านจะแยกพื้นที่ออกเป็นสัดเป็นส่วนสำหรับทำกิจกรรม แต่หากเปิดม่านออกทั้งหมดก็จะกลายเป็นพื้นที่เปิด (open space) ขนาดใหญ่

           ส่วนห้องสมุดสำหรับเด็กได้ร่วมกับสวนสนุกในการออกแบบให้เป็นดินแดนแห่งเทพนิยาย โดยสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ที่ช่วยให้เด็กรักการอ่านและได้จินตนาการ เช่น โต๊ะที่มีรูปร่างเหมือนเครื่องพิมพ์ดีดยักษ์ ตู้หนังสือที่มีรูปร่างเหมือนดินสอ พู่กัน และปากกา เบาะที่มีรูปร่างเหมือนหนังสือ

          มีการออกแบบห้องสำหรับเรียนรู้และทำกิจกรรมที่มีลักษณะแตกต่างกันไปแต่ละห้อง เช่น DigiLab, FoodLab, FutureLab, KennisMekerij หรือห้องเสวนาด้านภาพยนตร์, TijdLab (time lab), StemmingMekerij (DialogueLab), WoordLab (word lab) หรือห้องสำหรับเรียนรู้ด้านภาษา และพื้นที่สำหรับเวิร์คช็อป 

Photography: Ossip Architectuurfotografie.
กายภาพของห้องสมุดลอคฮาลเต็มไปด้วยขั้นบันได ซึ่งมีทั้งส่วนที่กั้นเป็นทางเดินและพื้นที่อ่านหนังสือ โดยมีโต๊ะเล็กๆ ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้
Photo : Ossip Architectuurfotografie.
วีดิทัศน์แนวคิดการออกแบบห้องสมุดลอคฮาล (LocHal library)

ห้องสมุดประชาชนไถหนาน (Tainan Public Library) ไถหนาน, ไต้หวัน

          เป็นผลงานออกแบบที่ชนะการแข่งเมื่อปี 2016 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทำเลของห้องสมุดประชาชนไถหนานตั้งอยู่ด้านหน้าสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในบริเวณที่เคยเป็นเขตทหาร แต่ปัจจุบันพื้นที่ส่วนนี้กลายเป็นเมืองใหม่ที่กำลังเติบโต

         การออกแบบอาคารเน้นความกลมกลืนและเป็นมิตรกับภูมิทัศน์โดยรวม เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เรียนรู้การเติบโตของต้นไม้และความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล นอกจากนี้ยังได้แรงบันดาลในการตกแต่งมาจากวัด ซึ่งสูงโปร่งสบายและเรียงรายไปด้วยระแนงไม้เป็นระเบียบ

อาคารห้องสมุดด้านนอกที่ชายคาแต่ละชั้นลดหลั่นกัน ช่วยกันแดดที่ส่องเข้าไปในอาคาร
Photo : Ethan Lee

          อาคารมีลักษณะเรียบและสมมาตร รูปทรงสี่เหลี่ยมทำให้ปรับเปลี่ยนได้ง่ายเมื่อกาลเวลาผ่านไป พื้นของแต่ละชั้นมีขนาดลดหลั่นกัน เพื่อให้ชั้นที่อยู่สูงถัดไปเป็นชายคายื่นให้ร่มเงาแก่ชั้นที่อยู่ข้างล่าง และทำให้ภายในอาคารไม่โดนแดดโดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องมีม่าน คนที่นั่งใกล้หน้าต่างสามารถชื่นชมธรรมชาติที่งดงามได้ระหว่างอ่านหนังสือ สำหรับชั้นบนสุดซึ่งไม่มีชายคากันแดด ถูกออกแบบคลุมด้วยบานเกล็ดและตกแต่งด้วยเหล็กดัดลวดลายงดงามแบบพื้นถิ่น ทั้งบานเกล็ดและเหล็กดัดจะทำหน้าที่กรองแสงเพื่อช่วยลดความร้อน

          ภายในอาคารมีพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ เมื่อผู้ใช้บริการเดินผ่านทางเข้าหลักจะสามารถมองเห็นภาพรวมของแต่ละชั้น เป็นการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาโดยแทบไม่ต้องอาศัยป้ายบอกทาง ไต้หวันมีอากาศแบบร้อนชื้นพื้นที่ลานกลางแจ้งสำหรับอ่านหนังสือจึงต้องมีหลังคากันแดดกันฝน ลานสำหรับเด็กต้องมีขอบเขตปลอดภัยและอยู่ติดกับพื้นที่อ่านสำหรับพ่อแม่ในห้องสมุดเพื่อให้สามารถนั่งมองดูลูกของตนได้ ส่วนชั้นบนสุดออกแบบให้มีระเบียงสำหรับอ่านหนังสือกลางแจ้งได้เช่นกัน

Image copyright by Ethan Lee
โถงขนาดใหญ่ภายในอาคารที่สามารถมองเห็นถึงกันได้หมด
Photo : Ethan Lee


ที่มา

สรุปประเด็นจากการบรรยายเรื่อง “From Collection to Connection” โดย ฟริโซ ฟาน แดร์ สทีน (Friso van der Steen) ผู้อำนวยการด้านเทคนิคและผู้อำนวยการโครงการระหว่างประเทศ บริษัท เมคานู (Mecanoo) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในงานประชุมวิชาการ TK Forum 2019 “Design Library, Engage Community”

Cover Photo : Ossip Architectuurfotografie.


เผยแพร่ครั้งแรก  กรกฎาคม 2562

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก