Zoom เป็นแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ที่แจ้งเกิดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีตัวเลขผู้ใช้งานนับร้อยล้านคนต่อวัน สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความนิยมของ Zoom คือการใช้ศัพท์สแลง ‘Zooming’ แทนคำว่า videoconferencing อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี การใช้ Zoom เป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้ ศาสตราจารย์ เจเรมี เบเลนสัน ผู้อำนวยการ Virtual Human Interaction Lab จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า “วิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการสื่อสารทางไกล แต่เราต้องนึกถึงเรื่องการใช้สื่ออย่างเหมาะสมด้วย เพียงแค่เราสามารถใช้วิดีโอได้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องใช้มันตลอด”
เจเรมีแนะนำว่า ผู้ใช้หรือองค์กรต่างๆ ควรปรับปรุงแนวทางการใช้งานวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อลดความเหนื่อยล้า และแพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ เช่น Zoom ควรมีการปรับอินเทอร์เฟซให้เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น เขาสรุป 4 สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ใช้วิดีโอแชตนานๆ เกิดอาการเหนื่อยล้า พร้อมแนะวิธีแก้ดังนี้
1) มีการสบตาในระยะประชิดมากไปจนทำให้เกิดความตึงเครียด
ทั้งผู้พูดและผู้ฟังต้องจ้องหน้ากันตลอดเวลา มีปริมาณการสบตาเพิ่มขึ้นสูงแบบผิดปกติ และขนาดใบหน้าของบุคคลที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอก็ดูใหญ่ผิดธรรมชาติ ในชีวิตจริง เมื่อคนเราเผชิญหน้ากันในระยะประชิด สมองจะตีความว่าเราตกอยู่ในความขัดแย้ง หรือไม่ก็กำลังจะพลอดรักกับอีกฝ่าย การใช้ Zoom นานเกินไปจึงกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียด
วิธีแก้: พยายามอย่าใช้โหมดเต็มหน้าจอ ให้ปรับขนาดวินโดว์ Zoom ตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับหน้าจอเพื่อลดขนาดใบหน้าให้เล็กลง และใช้คีย์บอร์ดปรับช่อง Personal Space กับ Grid ให้มีขนาดกำลังดี
2) การมองเห็นตัวเองออกกล้องแบบเรียลไทม์นานๆ ทำให้เรารู้สึกอ่อนล้า
หน้าจอของแพลตฟอร์มการประชุมออนไลน์ส่วนใหญ่ จะมีช่องสี่เหลี่ยมที่แสดงใบหน้าของผู้ใช้ คล้ายกับการส่องกระจกมองตัวเองตลอดเวลา ทำให้เกิดการจับผิดเพ่งเล็งตัวเองโดยไม่รู้ตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ
วิธีแก้: แพลตฟอร์มต่างๆ ควรปรับปรุงอินเทอร์เฟซให้ภาพวิดีโอของผู้พูดและผู้ฟังปรากฏเฉพาะเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ ผู้ใช้ควรจะใช้ปุ่ม hide self-view (ปิดการแสดงภาพ) โดยการคลิกขวาที่ภาพของตัวเองและกดปุ่ม Hide Myself
3) วิดีโอแชตเป็นรูปแบบการสนทนาที่จำกัดการเคลื่อนไหว
การพูดคุยปกติหรือคุยโทรศัพท์คนเราสามารถเดินไปมาหรือขยับเขยื้อนได้ง่ายกว่า แต่ในการสนทนาบนวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กล้องส่วนใหญ่มีทัศนวิสัยจำกัด ทำให้ผู้ใช้ต้องอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ การที่ร่างกายถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ทำให้การรับรู้ของสมองมีประสิทธิภาพลดลง
วิธีแก้: เลือกห้องที่เหมาะสมสำหรับการประชุมออนไลน์ ปรับตำแหน่งกล้องและอุปกรณ์เพื่อเพิ่มระยะห่างและความคล่องตัว การใช้กล้องแยก (external camera) จะช่วยให้ผู้ใช้ขยับขยายพื้นที่ได้ง่ายขึ้น เอื้อต่อการเคลื่อนที่ไปมาในระหว่างการประชุม นอกจากนี้ ในกลุ่มควรจะมีกฎให้ผู้ใช้ได้สลับกันปิดวิดีโอเป็นระยะ เพื่อหยุดพักจากการใช้อวัจนภาษา
4) มีการใช้ประสาทการรับรู้มากกว่าปกติ
การสื่อสารกันผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ สมองต้องทำงานหนักขึ้นในการประมวลผลข้อมูลอวัจนภาษา ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ต้องคอยตรวจดูว่าตำแหน่งศีรษะของตัวเองอยู่ตรงกลางเฟรมภาพหรือไม่ มีการใช้พลังงานสมองอย่างหนักจากการอ่านอากัปกิริยาของผู้ร่วมสนทนา การโต้ตอบด้วยการพยักหน้าหรือการยกนิ้ว ก็ต้องออกแรงมากกว่าปกติ
วิธีแก้: ในการประชุมออนไลน์ที่ยืดเยื้อยาวนาน ให้ผู้ใช้พักเบรกด้วยการใช้โหมด Audio Only (เปิดเฉพาะเสียง) เพื่อหยุดพักจากการใช้อวัจนภาษา และผละออกจากหน้าจอสัก 2-3 นาที
ผู้อ่านที่สนใจ สามารถทำแบบทดสอบวัดระดับความเหนื่อยล้าจากการใช้แอป Zoom จัดทำโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ที่ stanforduniversity.qualtrics.com
ที่มา
บทความ “Stanford researchers identify four causes for ‘Zoom fatigue’ and their simple fixes” จาก news.stanford.edu (Online)