ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการดำเนินชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเจริญรุดหน้าได้กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ที่ทำให้เราต้องแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงมากขึ้น จนกลายเป็นสาเหตุหลักของความเคร่งเครียดกดดัน ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่อาการป่วยทางใจที่ยากแก่การเยียวยารักษา การดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรงและเสริมภูมิคุ้มกันทางใจให้พร้อมรับมือกับปัจจัยลบเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นไม่น้อยสำหรับคนทุกช่วงวัย
เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพและผ่อนคลายความเครียด แนวทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกก็คือ Forest Bathing หรือ การอาบป่า ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของแดนอาทิตย์อุทัย ได้นำเสนอคำว่า ‘ชินรินโยกุ’ (Shinrin-Yoku) ที่แปลว่าการอาบป่าขึ้น เพื่อใช้อธิบายถึงแนวทางธรรมชาติบำบัดที่มุ่งเน้นการเปิดประสาทสัมผัสรอบด้านให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ
ในเวลาต่อมาก็มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นทั้งจากโลกฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่ยืนยันว่าการออกไปใช้ชีวิตท่ามกลางพื้นที่สีเขียว ไม่ว่าจะเป็นป่าหรือสวนสาธารณะใกล้บ้าน ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพและให้ประโยชน์แก่มนุษย์ในหลายแง่มุม ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘Forest Bathing’ และ ‘Forest Therapy’ เกิดขึ้น และนำเอาแนวคิดของการอาบป่าไปต่อยอดใช้ประโยชน์เพื่อส่งเสริมสุขภาวะ และพัฒนาตนเอง โดยผสมผสานกับศาสตร์ที่หลากหลาย ดังตัวอย่างต่างๆ ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้
การอาบป่าส่งผลดีต่อสุขภาพกาย
ในปี 2018 มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) สหราชอาณาจักร ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Environmental Research ระบุว่าการออกไปใกล้ชิดธรรมชาติและผ่อนคลายในพื้นที่สีเขียวอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดในคุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากนี้เมื่อลองตรวจวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์ชี้วัดความเครียด ก็พบว่าการสัมผัสกับพื้นที่สีเขียวช่วยลดระดับความเครียดได้อย่างแท้จริง
ทีมวิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพของผู้คนจำนวน 290 ล้านคนจากเมืองต่างๆ ทั่วโลก และพบสิ่งที่น่าสนใจว่าประชากรในเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากกว่า มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพโดยรวมดีกว่าประชากรในเขตที่มีพื้นที่สีเขียวต่ำ โดยพื้นที่สีเขียวในที่นี้ไม่ได้หมายถึงป่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง สวนสาธารณะ และสองข้างทางของถนนที่เขียวขจี
คนที่ใช้ชีวิตอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวมีแนวโน้มที่จะออกกำลังกายและออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเพื่อเข้าสังคมมากขึ้น นอกจากนี้การสัมผัสกับแบคทีเรียในพื้นที่ธรรมชาติ ยังมีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบภายในร่างกายได้ด้วย โดยมีงานวิจัยจากญี่ปุ่นที่ระบุว่าต้นไม้จะปล่อยสารพฤกษเคมีที่เรียกว่า ไฟทอนไซด์ (Phytoncide) ออกมาเพื่อต่อต้านเชื้อโรคและป้องกันตัวเองจากแมลง ซึ่งสารตัวนี้ก็มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์เช่นกัน
ทักษะทางปัญญาผู้สูงวัยเพิ่มพูนได้ด้วยการอาบป่า
นอกจากการอาบป่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพกายแล้ว ยังมีผลต่อการพัฒนาทักษะทางปัญญาด้วย ผลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ไซมอน อวี๋ (Simon Yu) หรือ อวี๋เจียปิน ผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘การบำบัดด้วยป่า’ ชาวไต้หวัน บ่งบอกเช่นนั้น
ดร.อวี๋ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยป่า หรือ Forest Therapy เขาดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่า มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) และอุทิศตนเพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ ป่า เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และความทรงจำในผู้สูงอายุ
เขาเติบโตขึ้นมาในเขตที่อุดมไปด้วยป่าไม้ สัมผัสกับความสงบและผ่อนคลายที่ได้จากการสัมผัสกับป่ามาตั้งแต่ยังเด็ก จึงมองเห็นโอกาสที่จะใช้ ป่า ในกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ดร.อวี๋ เปิดเผยเรื่องราวของตนเองว่า ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเขาเคยป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและได้รับการชักชวนจากเพื่อนให้ลองเล่นกระดานโต้คลื่น จากนั้นเขาก็พบว่าการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ได้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับธรรมชาตินั้น ช่วยบำบัดจิตใจของมนุษย์และทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น
เขาจึงตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาเอกในสาขาวิชา Recreation, Park and Tourism Studies ที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา วิทยาเขตบลูมมิงตัน (Indiana University Bloomington) สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาทำงานวิจัยในไต้หวัน โดยมุ่งเน้นที่หัวข้อเกี่ยวกับการส่งเสริมสมรรถภาพทางปัญญาและสุขภาพด้วยธรรมชาติและกิจกรรมสันทนาการ รวมถึงให้ความสนใจกับการใช้เทคโนโลยี VR สร้างป่าเสมือนจริงในการบำบัดผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว เช่น ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก
ดร.อวี๋ ทดสอบสมมติฐานด้วยการเชิญผู้เข้าร่วมวิจัย 24 คนมาเข้าร่วมกิจกรรมบำบัดด้วยป่า (Forest Therapy) เป็นเวลา 3 วัน ในเดือนมีนาคม 2018 ที่เขตต้าอัน เมืองไทเป โดยก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม ผู้เข้าร่วมวิจัยกลุ่มนี้จะต้องทำ Chinese Word Remote Associates Test (CWRAT) ซึ่งเป็นแบบทดสอบการคิดเชื่อมโยงเพื่อใช้วัดศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์
ผลการทดสอบพบว่าหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมบำบัดด้วยป่า ผู้เข้าร่วมวิจัยมีคะแนนเฉลี่ยในการทำแบบทดสอบสูงขึ้นถึง 27.74 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าการบำบัดด้วยป่าส่งผลเชิงบวกต่อการทำงานด้านความรู้ความเข้าใจของสมอง และมีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ในด้านความคิดสร้างสรรค์
เวิร์กชอปบำบัดด้วยป่าออกแบบมาเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้เข้าร่วมวิจัย ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ได้เชื่อมโยงประสาทสัมผัสเข้ากับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งชมความงามของป่า การทำสมาธิกลางแจ้ง การฟังเสียงน้ำไหล การชมดอกไม้ และการบำบัดด้วยกลิ่นหอมในป่า ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางจิตใจและร่างกาย โดยผู้เข้าร่วมวิจัยส่วนใหญ่มีอารมณ์เชิงลบลดลง มีอารมณ์เชิงบวกเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีค่าความดันโลหิตที่สมดุลมากยิ่งขึ้น
Forest Therapy Hub – ศูนย์รวมนักบำบัดด้วยป่า
เมื่อกล่าวถึงการบำบัดด้วยป่า ดร.อวี๋ เป็นนักวิชาการซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่หากพูดถึงนักบำบัดด้วยป่า (forest therapy practitioner) ก็คงจะไม่สามารถมองข้าม Forest Therapy Hub หรือ FTHub ไปได้ องค์กรนี้ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการอาบป่าและการบำบัดด้วยป่าในระดับนานาชาติ โดยได้รับทุนส่วนหนึ่งจาก Horizon Europe มีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับการพัฒนาสุขภาวะกายและใจของมนุษย์ โดยใช้หลักการและเทคนิคที่ได้รับการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผ่านการทดลองใช้จนเกิดผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
บุคลากรที่ให้ความรู้ในหลักสูตรของ FTHub มาจากหลากหลายประเทศ และมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความรักในผืนป่า และต้องการนำเอาศาสตร์แห่งการอาบป่าไปประยุกต์รวมกับความเชี่ยวชาญเฉพาะของตนเอง ที่ผ่านมาองค์กรได้อบรม ‘มัคคุเทศก์อาบป่า’ (Forest Bathing Guide) และ ‘นักบำบัดด้วยป่า’ (Forest Therapy Practitioner) จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
นิยามคำว่า การอาบป่า ของ FTHub คือ การสัมผัสกับป่าเพื่อลดความเครียด พัฒนาสุขภาวะกายและใจ ในขณะที่ การบำบัดด้วยป่า มีความหมายที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยส่วนมากผู้ที่มารับการบำบัดด้วยป่ามักจะมีความต้องการเฉพาะ และนักบำบัดด้วยป่าต้องมีความเชี่ยวชาญพิเศษที่สามารถวิเคราะห์ความต้องการ และรักษาอาการของผู้ที่ต้องการการบำบัดได้ ศาสตร์ของการบำบัดด้วยป่า จึงเป็นส่วนผสมของหลายศาสตร์ เช่น ชีววิทยา นิเวศวิทยา วนศาสตร์ จิตวิทยา สังคมศาสตร์ และศิลปะแขนงต่างๆ
ผู้สนใจสามารถสมัครคอร์สอบรมแบบออนไลน์ ซึ่งมีทั้งแบบมาตรฐาน และแบบเข้มข้น โดยหลักสูตรใช้เวลาขั้นต่ำคือ 12 สัปดาห์ เจาะลึกตั้งแต่หลักการของการอาบป่า องค์ความรู้ที่ต้องใช้ในการออกแบบประสบการณ์กิจกรรมในป่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ไปจนถึงการออกแบบกิจกรรมตามความต้องการ เมื่อลงทะเบียนเรียนแล้ว ผู้เรียนสามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ เช่น ผลงานวิจัยต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ป่าบำบัด และวิดีโออัปเดตความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แบบไม่มีวันหมดอายุ
เมื่อผู้อบรมสำเร็จหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองอย่างเป็นทางการ หากอบรมแล้วต้องการพบปะกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน พบกับผู้สอน หรืออยากได้ประสบการณ์ในป่าแบบของจริง FTHub ก็มีคอร์สแบบออนไซต์ 3 วัน ที่เรียกว่า ‘Immersive training’ ในหลากหลายพื้นที่ป่าทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร โปแลนด์ สเปน โปรตุเกส อินเดีย ฮ่องกง ฯลฯ แน่นอนว่าหลักสูตรเหล่านี้มีค่าใช้จ่าย แต่ FTHub ก็มีทุนการศึกษาให้สำหรับผู้ที่ต้องการองค์ความรู้ไปปรับใช้ แต่มีข้อจำกัดด้านการเงินจริงๆ
นอกจากเทรนเนอร์ของ FTHub จะมาจากหลากหลายประเทศแล้ว ประวัติของแต่ละคนก็ล้วนน่าสนใจ หลายคนจบปริญญาเอกด้านชีววิทยา หลายๆ คนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา บางคนทำงานในสายสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นนักกายภาพบำบัด หรือพยาบาล บางคนมีอาชีพหลักเป็นผู้ประกอบการสาย wellness นอกจากนั้นยังมีมีศิลปิน และนักวิชาการสายสังคมศึกษาด้วยเช่นกัน
หากยังไม่แน่ใจว่าตนเองชื่นชอบ หรือเหมาะสมกับหลักสูตรที่เข้มข้นและใช้เวลาอบรมค่อนข้างมากอย่างการอาบป่าและการบำบัดด้วยป่าหรือไม่ FTHub ก็มีส่วนที่เรียกว่า มินิคอร์ส ซึ่งเป็นคอร์สระยะสั้นๆ ให้ทดลองเรียนดูก่อน ราคาแต่ละคอร์สไม่เกิน 50 ยูโร โดยส่วนมากเป็นคอร์สสำหรับให้ความรู้พื้นฐานในการนำแนวคิดการอาบป่าไปปรับใช้กับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การออกแบบกิจกรรมสำหรับองค์กรสัมพันธ์ในป่า การออกแบบสวนที่ช่วยฟื้นฟูรักษาสุขภาวะทางใจ การออกแบบกิจกรรมศิลปะในพื้นที่ธรรมชาติ การออกแบบเวิร์กชอปการเขียนในป่า
ด้วยหลักสูตรและทรัพยากรการเรียนรู้ทั้งหมดนี้ เป้าหมายปลายทางของ FTHub คือ การผลิตมัคคุเทศก์และนักบำบัดที่ผ่านการอบรมและหลักสูตรที่เข้มข้น นำศาสตร์ของการอาบป่าและแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติไปผสมผสานกับหลากหลายสาขาที่ตนเชี่ยวชาญเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ (จิตวิทยา เวชศาสตร์) ด้านการศึกษา ด้านสังคม หรือด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
การอาบป่ากับการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้วัยทำงาน
หนึ่งในผลิตผลของคอร์สอาบป่าของ FTHUb คือ โดเมเนก โรเมรา (Domenec Romera) เขาจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นคนที่มีชีวิตชีวา มีความกระตือรือร้น เปี่ยมไปด้วยพลัง และสามารถเข้าสังคมได้อย่างดีเยี่ยม คุณสมบัติเหล่านี้เอื้อให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในทีมได้เป็นอย่างดี หลังจากผ่านการอบรมจาก FTHub เขาก็ประยุกต์ความรู้ที่ได้กับการทำกิจกรรมประเภท Team Building ซึ่งเป็นงานที่เขาถนัด
โรเมราออกแบบกิจกรรมที่ผสมผสานศาสตร์ของการบำบัดด้วยป่า กับกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้กิจกรรมกลางแจ้งกระตุ้นให้ผู้ร่วมกิจกรรมรู้สึกกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนความคิด ร่วมสร้างสรรค์ และทำงานร่วมกัน เพื่อค้นพบพรสวรรค์ใหม่ๆ หลังจากเข้าอบรมออนไลน์ และเข้าร่วม Immersive Training ที่ป่าแห่งหนึ่งในประเทศสเปน เขาค้นพบว่า “เราคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทำไมเราถึงไม่กลับคืนสู่ต้นกำเนิดของเรา” เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกโอบกอดไปด้วยป่าไม้สีเขียว ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของมนุษย์เพิ่มขึ้นมาก
ทุกๆ ครั้งที่เข้าไปทำกิจกรรมในป่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะรู้สึกเปิดเผย มีส่วนร่วม และมักจะเกิดความคิดดีๆ ขึ้นมาอย่างน่าประหลาด ในกิจกรรมที่ผ่านมามีคนเลือกใช้ถ้อยคำที่ลึกซึ้งอย่างคำว่า “เห็นแสงสว่าง” และ “ได้รับการปลดปล่อย” เพื่อบรรยายความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรม หลายคนสามารถแก้ไขปัญหายากๆ ที่ไม่สามารถทำได้ในสิ่งแวดล้อมปกติทั่วไป
โรเมรา กล่าวว่า การอาบป่าทำให้คนในทีมมองเห็นข้อจำกัดของกันและกัน ฝึกฝนให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ที่ไม่ใช่ความสงสาร (Sympathy) การยอมรับในจุดอ่อนของตนเอง ยอมรับในสิ่งที่ทำไม่ได้ โดยเขาจะคอยสังเกตการณ์ และนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบกิจกรรมที่ทำให้การทำงานเป็นทีมของแต่ละกลุ่มที่มาเข้ารับการบำบัดด้วยป่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โรเมราใช้ความรู้ด้านการอาบป่า เป็นองค์ประกอบของกิจกรรม Business Coaching ของเขาอยู่เสมอ
ที่เล่ามาในบทความนี้ เป็นตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของ ‘การอาบป่า’ หรือ ‘การบำบัดด้วยป่า’ เท่านั้น ในอีกหลากหลายพื้นที่ ยังมีสถาบัน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ นำหลักการและแนวคิดการอาบป่ามาต่อยอดเป็นกิจกรรมที่ให้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งส่งเสริม ฟื้นฟู และพัฒนาสุขภาพกายใจ เอื้อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของกลุ่มเป้าหมาย มีทั้งการอาบป่าเพื่อส่งเสริมพัฒนาทักษะทางศิลปะ, การบำบัดด้วยป่าเพื่อพัฒนาฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กออทิสติก และ การบำบัดด้วยป่าเพื่อส่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้พิการกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากภายใน
กิจกรรมเหล่านี้ ล้วนออกแบบมาจากความเข้าใจ และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ธรรมชาติ กับ มนุษย์’ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์ กับ มนุษย์’ โดยแท้จริง
ที่มา
บทความ “We gotta get out of here! Spending time outside is good for you.” จาก cedar.iph.cam.ac.uk (Online)
บทความ “Beyond restorative benefits: Evaluating the effect of forest therapy on creativity” จาก Sciencedirect.com (Online)
บทความ “Forest Therapy research in Taiwan’s nature and urban parks: benefits on brain activity and cognition” จาก foresttherapyhub.com (Online)
บทความ “Chatting with the world’s leading experts in Green Care” จาก greenforcare.com (Online)
เว็บไซต์ Forest Therapy Hub (Online)