มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันพุธที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2477 ห้องสมุดมหาวิทยาลัยก็พลันก่อตั้งขึ้นเช่นกัน เริ่มต้นด้วยการเป็นแผนกตำราและห้องสมุด สังกัดฝ่ายธุรการ รับโอนหนังสือและตำราจำนวนหนึ่งมาจากหอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่มิแคล้วหนังสือกฎหมายและตำราการปกครอง
แม้ระยะแรกๆ ห้องสมุดยังไม่เปิดบริการ แต่ดำเนินงานจัดแจงและตระเตรียมความพร้อมภายในให้สำเร็จสมบูรณ์ โดยบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง ‘หัวหน้าแผนก’ หรือจะเรียกว่า ‘บรรณารักษ์’ คนแรกสุด นั่นคือ พระศรีสยามกิจ (เพิ่มศักดิ์ วิรยศิริ)
จวบจนวันที่ 1 กันยายน พุทธศักราช 2479 ห้องสมุดจึงเปิดบริการครั้งแรก ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของตึกอำนวยการ หรือ ‘ตึกโดม’ พื้นที่กว้างสำหรับนั่งอ่านประมาณ 65 ที่นั่ง รายรอบตู้หนังสือใส่กุญแจ ข้างในตู้เต็มไปด้วยหนังสือกฎหมาย ตำราการปกครอง คำบรรยายวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ด้านชื่อแผนกเปลี่ยนเสียใหม่เป็น “แผนกแปลและห้องสมุด” มอบหมายให้ หลวงพิรัชพิสดาร เป็นหัวหน้าแผนก นายสวาท อินทรสุขศรี เป็นเจ้าหน้าที่ และ ศาสตราจารย์ เอช. เอกูต์ เป็นพนักงานแปลประจำห้องสมุด
อย่างไรก็ดี ผู้ใช้บริการห้องสมุดยุคนั้นมักเป็นอาจารย์ หาใช่นักศึกษา ต่อมาได้ยกฐานะเป็นกองห้องสมุด สังกัดสำนักงานเลขาธิการ ในปีพุทธศักราช 2504 และปรับเปลี่ยนฐานะเป็นสำนักหอสมุด ในปีพุทธศักราช 2519 จัดเป็นสำนักหอสมุดแห่งแรกของประเทศไทย
รูปโฉมการดำเนินงานของหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ถือว่าพัฒนาการยิ่งยวดมาจากวันวาน และนับวันกำลังทวีความก้าวล้ำทันสมัย ช่วงทศวรรษ 2560 เพจต่างๆ ของหอสมุด เฉกเช่น Thammasat University Library เป็นที่เกรียวกราวกับการพยายามหยิบฉวยสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในกระแสมาสร้าง ‘คอนเทนต์’ (Content) แนวหยิกแกมหยอกบ่อยๆ
เอาเป็นว่า ผมใคร่ขอ ‘ตามเทรนด์’ ของหอสมุดแห่งนี้ ด้วยการเชื้อเชิญคุณผู้อ่านร่วมย้อนรำลึกไปทำความรู้จัก ‘บรรณารักษ์’ คนแรกสุดอย่างเพลิดเพลินอารมณ์
เพิ่มศักดิ์ วิริยศิริ ลืมตายลโลกหนแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2440 เขาเป็นบุตรชายคนใหญ่ของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยที่เกิดจากคุณหญิงทองอยู่ เรียนหนังสือในเมืองไทย ก่อนเดินทางไปศึกษาปริญญาทางด้านกฎหมาย จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ พอหวนคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนจึงเข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พุทธศักราช 2463 เป็น ‘หลวงเศรษฐสัตย์ญาณ’ (บางเอกสารเขียน ‘หลวงเศรษต์สัตย์ญาณ’) ต่อมาย้ายไปรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ และในวันที่ 27 มีนาคม พุทธศักราช 2464 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 27 มีนาคม พุทธศักราช 2465) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงศรีสยามกิจ’
ปลายทศวรรษ 2460 คุณหลวงศรีสยามกิจเดินทางไปรับตำแหน่ง ณ สถานกงสุลเยเนราลสยามประจำสิงคโปร์ ครั้นวันที่ 27 กันยายน พุทธศักราช 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จไปประทับที่นั่น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 4 ว.ป.ร. ทองกรอบลงยา แก่หลวงศรีสยามกิจขณะเป็นรองกงสุล งานราชการก้าวหน้าตามลำดับ กระทั่งเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ‘พระศรีสยามกิจ’ และต่อมารั้งตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสิงคโปร์
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 และล่วงเลยมาอีกสองปีอันตรงกับพุทธศักราช 2477 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ก่อรูปร่างความเป็นสถาบันการศึกษาในท่วงทำนองระบอบประชาธิปไตย พระศรีสยามกิจเข้ามาเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย พร้อมทั้งสวมบทบาทหัวหน้าแผนกตำราและห้องสมุด หรือจะนับให้เป็น ‘บรรณารักษ์’ คนแรกสุดของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ไม่ผิดเพี้ยน
คุณพระมักอยู่ในการจับตามองของนักศึกษา และถูกนำไปพาดพิงถึงผ่านหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ เฉกเช่น ผู้ใช้นามแฝง ‘นายเวน’ ซึ่งน่าจะเป็นนักศึกษาสำนักนี้ ทั้งยังเขียนในคอลัมน์ ‘นึกได้ก็พูดมา’ ของหนังสือพิมพ์ ธัมมาธิปไตยได้เอ่ยอ้างนามพระศรีสยามกิจผ่านฉบับประจำวันพุธที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2478 ดังตอนหนึ่งว่า
“คุณพระศรีสยามกิจท่านบรรณารักษ์แห่งมหาวิทยาลัย ท่านเปนบุรุษตัวอย่างแบบสากลแท้ทีเดียว เพราะร่างอันใหญ่โตของท่านปรากฏอยู่ภายในเครื่องแบบสากลเสมอ เสียแต่ท่านประธานหมากเสียหน่อย ถ้าหาไม่แล้วจะเหมือนฝารั่งแท้ๆ ทีเดียว วันหนึ่งข้าฯเห็นท่านแต่ไกลภายในเครื่องแบบสากล ข้าฯ ตกกะใจนึกว่าท่านใช้ลิปสติ๊ก แต่ครั้นเข้าใกล้จึงรู้ว่า อ้อ! ท่านทานหมากน่ะ ถ้าจะติดมาเมื่อคราวที่ท่านเปนกงสุลซึ่งต้องสมาคมกับฝรั่งที่กินหมากเปนแน่!”
โลกหนังสือพิมพ์เป็นอีกแหล่งหนึ่งซึ่งพระศรีสยามกิจเข้าไปโลดแล่นชีวิตชีวา โดยคลุกคลีกับคณะหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ และถึงจะครองยศศักดิ์สูงส่ง แต่หาได้ถือตัว อดีตท่านกงสุลชอบเหลือเกินที่จะแสดงความเป็นกันเองกับนักหนังสือพิมพ์หนุ่มๆ ออกปากอนุญาตให้เรียกขานตนว่า “พี่พระ” รสนิยมทางสุราเมรัยก็ระดับคอทองแดง มักไปดื่มด่ำด้วยกันกับรุ่นน้องรุ่นลูกอยู่เนืองๆ
กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ คือน้องรักสนิทสนมคนหนึ่งของ “พี่พระ”
กุหลาบนั่งตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ อันมีเจ้าของคือหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ หรือ “ท่านวรรณ” และหม่อมพร้อย มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งและพิมพ์ออกเผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อต้นเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2475 พอหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นปีที่ 2 พุทธศักราช 2477 “พี่พระ” ได้ชวน “น้องกุหลาบ” ไปเรียนปริญญา ‘ธรรมศาสตรบัณฑิต’ (ธ.บ.)ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทั้งยังนำไปสมัครเข้าเป็นนักศึกษาด้วยตนเอง
ช่วงระยะที่กำลังเรียนธรรมศาสตร์ ราวพุทธศักราช 2479 กุหลาบได้สบโอกาสไปทัศนาจรกิจการหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลิแรงบันดาลใจให้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพ เขามอบหมายหน้าที่บรรณาธิการแก่มาลัย ชูพินิจ หลังเดินทางกลับมาจากแดนปลาดิบ กุหลาบมิได้เข้าทำงาน ณ สำนัก ประชาชาติ อีกเลย ส่งเพียงข้อเขียนมาลงตีพิมพ์บ้าง
ล่วงเข้าทศวรรษ 2480 เพียงครึ่งปี มาลัย ชูพินิจตัดสินใจไม่ไปต่อกับ ประชาชาติ และทำหน้าที่บรรณาธิการฉบับสุดท้ายคือหนังสือพิมพ์ปีที่ 5 ฉบับที่ 2031 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480 ซึ่งบรรณาธิการผู้รับทอดหน้าที่คนต่อมาก็คือ พระศรีสยามกิจ เริ่มจากหนังสือพิมพ์ปีที่ 5 ฉบับที่ 2032 ประจำวันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480 ช่วงแรกไม่มีผู้ช่วยบรรณาธิการ ต่อมาจึงมีนายธนวนต์ จาตุประยูร เจ้าของนามปากกา ‘ธนาลัย’ ผู้เชี่ยวชาญข่าวสารต่างประเทศมาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ
ใช่แค่จัดทำหนังสือพิมพ์ ในปีเดียวกัน คุณพระยังเจียดเวลามาแต่งเรียบเรียงหนังสือ โอวาทสอนบุตร ออกเผยแพร่
พระศรีสยามกิจเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ มาจวบจนปีที่ 6 ฉบับที่ 2127 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2480 พอขึ้นปีที่ 6 ฉบับที่ 2128 ประจำวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พบการลงนามบรรณาธิการคนใหม่คือ หม่อมเจ้าทองต่อ ทองแถม
การเป็นทั้ง ‘บรรณารักษ์’ และ ‘บรรณาธิการ’ ของหนังสือพิมพ์ ย่อมสะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า พระศรีสยามกิจเป็นผู้หลงรักและหลงใหลในหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อย่างมากล้น
มรณกรรมมาเยี่ยมเยือนพระศรีสยามกิจในวันพุธที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2480 ราว 6 วันหลังยุติบทบาทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ผมยังตามสืบได้ไม่กระจ่าง อะไรคือมูลเหตุการสูญสิ้นลมหายใจ แต่คาดว่าคงเป็นความป่วยไข้ด้วยโรคกะทันหัน งานพระราชทานเพลิงศพพระศรีสยามกิจ จัดขึ้น ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ในวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2480 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2481)
ความที่เคยเป็นบรรณาธิการครั้นคุณพระอำลาโลก หนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ปีที่ 6 ฉบับที่ 2296 ประจำวันพุธที่ 23 มีนาคม จึงพาดหัว ‘เจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่เสด็จและไปในงานพระราชทานเพลิงพระศรีสยามกิจ’ โดยรายงานเนื้อหาบางส่วนว่า
“งานพระราชทานเพลิงศพพระศรีสยามกิจ (เพิ่มศักดิ์ วิรยศิริ) บรรณาธิการคนก่อนของหนังสือพิมพ์นี้ได้ผ่านไปในท่ามกลางเกียรติยศสมแก่คุณงามความดีของผู้มรณ เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ ๒๐ เดือนนี้ ณ สุสานวัดเทพศิรินทราวาส พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งในนอกประจำการทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย และญาติมิตรศิษยานุศิษย์ได้เสด็จและไปชุมนุมเปนเกียรติแก่พระศรีสยามกิจเปนครั้งสุดท้าย”
ลูกศิษย์ที่ไปร่วมในงานประมาณเกินกว่า 100 คนก็คือ “…ทั้งนักศึกษาและผู้ผ่านมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง…”
ในงานนี้ ทางเจ้าภาพยังได้จัดการพิมพ์หนังสือ โอวาทสอนบุตร ซึ่งผู้วายชนม์แต่งเอง และหนังสือ สาธุกถาแลนาวาอุปมากถา ที่เรียบเรียงโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม แจกเป็นบรรณาการแก่ผู้ไปร่วมพิธี
พระศรีสยามกิจ อาจมิใช่บุคคลที่ชาวธรรมศาสตร์ยุคนี้รู้สึกคุ้นเคยชื่อเสียงเรียงนามสักเท่าไหร่ แต่ด้วยบทบาท ‘บรรณารักษ์’ คนแรกสุดแห่งห้องสมุดมหาวิทยาลัย เขาก็มิควรจะถูกลืมเลือน
อ้างอิง
คันธะลีมาศ. บทละครพูด สามองก์จบ เรื่อง กันเกินแก้. พระนางเธอพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ทรงพิมพ์ แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ หม่อมเจ้าทองต่อ ทองแถม. พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2503
ประชาชาติ. ปีที่ 5 ฉะบับที่ 2031 (1 กรกฎาคม 2480)
ประชาชาติ. ปีที่ 5 ฉะบับที่ 2032 (กรกฎาคม 2480)
ประชาชาติ. ปีที่ 6 ฉะบับที่ 2127 (21 ตุลาคม 2480)
ประชาชาติ. ปีที่ 6 ฉะบับที่ 2128 (22 ตุลาคม 2480)
ประชาชาติ. ปีที่ 6 ฉะบับที่ 2296 (23 มีนาคม 2480)
พระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ณาณวร), สมเด็จ. สาธุกถา แล นาวาอุปมากถา. อัฏฐังคิกมรรค คุณหญิง มหาอำมาตย์ฯ ทองอยู่ วิรยศิริ มารดา พิมพ์ 500 ฉบับ อุทิศในการพระราชทานเพลิงศพ พระศรีสยามกิจ เพิ่มศักดิ์ วิรยศิริ ผู้บุตร ที่สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2480. พระนคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2480
“พระราชทานบรรดาศักดิ์.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 37 (26 ธันวาคม 2463). หน้า 3133-3145
“พระราชทานบรรดาศักดิ์.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 39 (2 เมษายน 2465). หน้า 11-15
“พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์.” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 41 (2 พฤศจิกายน 2467). หน้า 2420-2422
มหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ), พระยา. เรื่องกำเนิดกรมแผนที่. พิมพ์แจกในการพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2499. พระนคร : ส. พยุงพงศ์ จำกัด, 2499
ยศ วัชรเสถียร. กุหลาบ สายประดิษฐ์ ศรีบูรพา ที่ข้าพเจ้ารู้จัก. กรุงเทพฯ: อาร์ต แอนด์ ซายน์, 2525
ศรีสยามกิจ, พระ. โอวาทสอนบุตร. พระนคร : โรงพิมพ์ช่างพิมพ์, 2480 สุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์. “ประวัติและพัฒนาการของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.” จดหมายเหตุสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (สืบค้นจาก เว็บไซต์การจัดการความรู้ของหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TULIBS’ KM)