ฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก มีการศึกษาที่มีคุณภาพ เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังมีห้องสมุดชั้นเยี่ยม กว่าจะเป็นเช่นทุกวันนี้ ประเทศฟินแลนด์ใช้เวลากว่าร้อยปี ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าบนพื้นฐานความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนรู้ที่เป็นรากทางวัฒนธรรมที่ฝังลึก ระบบการศึกษา โรงเรียน และห้องสมุด ต่างก็เป็นเสมือนลำต้น กิ่งก้านใบและดอกผล ที่ผลิออกมางอกงามดังที่ปรากฏ เป็นความงดงามอันน่าทึ่งซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งจึงค่อยลอกเลียนแบบหรือประยุกต์ปรับใช้
ฟินแลนด์ ดินแดนห้องสมุด
ประเทศฟินแลนด์มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีกรุงเฮลซิงกิเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ตอนใต้ รัฐบาลท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ สามารถริเริ่มการพัฒนาท้องถิ่นได้เองตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องรอสั่งการจากกระทรวง ดังนั้นเมืองต่างๆ จึงสามารถพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดของตนเอง
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฟินแลนด์ใช้งบประมาณลงทุนเรื่องระบบห้องสมุดถึง 320 ล้านยูโร คิดเป็นเงินประมาณ 58 ยูโรต่อคนต่อปี ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เพราะเชื่อว่าการศึกษาและห้องสมุดเป็นทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคม ผลสำเร็จคือฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุด มีผู้ใช้บริการห้องสมุดมากที่สุด และห้องสมุดเป็นหนึ่งในบริการที่ชาวฟินแลนด์ชื่นชอบมากที่สุด
งบประมาณที่ห้องสมุดได้รับจากรัฐบาลถูกนำไปใช้ด้านการให้บริการและงานอื่นๆ ตามความจำเป็น เช่น การพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ การเพิ่มอัตราการรู้หนังสือ การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน การพัฒนาพื้นที่ห้องสมุดให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีงบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่มาจากองค์กรส่วนท้องถิ่น
ฟินแลนด์มีห้องสมุดสาธารณะ 720 แห่ง มีรถห้องสมุดที่ 135 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกล แต่ละปีมีการยืมหนังสือจากห้องสมุดราว 85 ล้านครั้ง คิดเป็นประมาณ 15 เล่มต่อคน มีผู้ใช้บริการห้องสมุดเฉลี่ยคนละ 9 ครั้งต่อปี
ทรัพยากรของห้องสมุดประมาณ 1 ใน 3 เป็นหนังสือสำหรับเด็ก และเกือบครึ่งหนึ่งของหนังสือที่มีการยืมออกก็เป็นหนังสือเด็ก หมายความว่ากลุ่มลูกค้าสำคัญที่สุดคือเด็กและวัยรุ่น ด้วยเหตุนี้โรงเรียนจึงเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่งของห้องสมุด ห้องสมุดประชาชนพยายามจัดหาสื่อที่หลากหลายและเพียงพอ เพื่อให้โรงเรียนหลายแห่งสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องสร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ไว้ในโรงเรียน
ห้องสมุดกับวิถีการเรียนรู้แบบฟินแลนด์
สำหรับชาวฟินแลนด์การอ่านและการแสวงหาความรู้เป็นเรื่องปกติสามัญดังเนื้อหาตอนหนึ่งในวรรณกรรมท้องถิ่นชื่อดัง ‘7 ภราดร’ (Seven Brothers) เล่าถึงพี่น้องกำพร้า 7 คนไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน ต่อมาตัดสินใจหนีเข้าป่า ได้หัดเรียนรู้การอ่านเขียนด้วยตัวเอง จนในที่สุดสามารถกลับเข้าหมู่บ้านได้อย่างภาคภูมิ
การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งแม้จะอยู่นอกรั้วโรงเรียน โรงเรียนในฟินแลนด์ไม่จำเป็นต้องมีห้องสมุดเป็นของตัวเอง แต่สามารถให้เด็กๆ อ่านหนังสือที่สอดคล้องกับการเรียนการสอนได้ที่ห้องสมุดในชุมชน โดยห้องสมุดกับโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและมองภาพการเรียนรู้ไปในทิศทางเดียวกัน
ห้องสมุดฟินแลนด์จึงเป็นมากกว่าสถานที่อ่านหนังสือ แต่ให้บริการพื้นที่พบปะพูดคุย พื้นที่จัดกิจกรรม เมกเกอร์สเปซ รวมถึงทรัพยากรต่างๆ โดยนัยนี้ห้องสมุดจึงเป็นทั้งบริการและสถานที่ ซึ่งทั้งสองด้านนี้จำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน
“จุดเริ่มต้นของห้องสมุดฟินแลนด์คือ ‘ความเป็นสาธารณะอย่างแท้จริง’ เราเชื่อว่าสิทธิด้านการศึกษา การมีความรู้ และการพัฒนาศักยภาพตนเอง เป็นโอกาสซึ่งทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน หากเราไม่มีแนวคิดร่วมกันเช่นนี้ เราจะไม่สามารถสร้างมุมมองด้านการศึกษาและห้องสมุดให้เป็นแบบนี้ได้เลย” แอนนา คอร์ปิ ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ ประจำสถานทูตฟินแลนด์ในสิงคโปร์ กล่าวไว้ในการบรรยาย TK Forum 2020
ชาวฟินแลนด์เชื่อว่าห้องสมุดเป็นรากฐานที่แท้ของการศึกษาและประชาธิปไตยในอุดมคติ ในภาษาฟินนิชมีคำว่า Sivistys (อ่านว่า ซี-วิส-ตุส) รากศัพท์หมายถึงความดีงามหรือความบริสุทธิ์ เมื่อนำมาใช้ก็ครอบคลุมความหมายกว้างขวางรวมไปถึงเรื่องการศึกษา การแสวงหาความรู้ ความมีอารยะ ปัญญา และการรู้แจ้ง ส่วนแนวคิดที่ว่าทุกคนต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษาและการพัฒนาตัวเอง มาจากคำศัพท์ในภาษาเยอรมันว่า belo จากรากฐานความคิดดังกล่าว รัฐจึงทุ่มเททรัพยากรและความสามารถให้ชาวฟินแลนด์ทุกคน รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฟินแลนด์ ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
ชาวฟินแลนด์มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต รู้สึกว่าตนมีความจำเป็นต้องพัฒนาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ห้องสมุดจึงมีบทบาทสำคัญช่วยให้ประชาชนสามารถหาและใช้ข้อมูล สอนทักษะด้านเทคโนโลยี เป็นหนึ่งในพื้นที่และบริการของรัฐที่ฝึกทักษะให้ทุกคน แม้ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และหนึ่งในภารกิจที่มีความสำคัญมาโดยตลอดคือการส่งเสริมการอ่านและการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน
แม้แต่ประเด็นท้าทายในบริบทปัจจุบัน เช่น ข่าวปลอม ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการเรียนรู้อย่างมีอารยะ ก่อให้เกิดการแบ่งแยกในโลกเสมือน การไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง พลเมืองจึงจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันข่าวสารและสื่อดิจิทัล และต้องใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างระมัดระวัง ในกรณีนี้ห้องสมุดก็ยังเข้าไปมีบทบาทเป็นพื้นที่อุดมคติในการเปิดกว้างเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการถกเถียงเรื่องอ่อนไหว ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการเมือง
“เราไม่เชื่อเรื่องการเซ็นเซอร์ หรือให้รัฐบาลออกมาบอกว่าข้อมูลนี้เป็นจริงหรือเท็จ เราเชื่อว่าการศึกษาเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เราสามารถจัดการปัญหาได้หลายวิธี หมายความว่าเราจำเป็นต้องลงทุนเรื่องขีดความสามารถและทักษะตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ในโรงเรียน” แอนนากล่าว
ห้องสมุดเพื่อทุกคน
รัฐธรรมนูญของฟินแลนด์ระบุไว้ว่า “ทุกคนต้องได้รับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งศาสตร์ ศิลป์ และการศึกษา” มีการบัญญัติกฎหมายด้านวัฒนธรรมเพื่อสนับสนุนศิลปะทุกแขนง มรดกทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุด โดยกำหนดเป็นแผนแม่บทและจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลตามรอบการเลือกตั้งทุก 4 ปี รัฐบาลชุดใหม่ก็จะดำเนินงานตามแผนแม่บทที่วางไว้
ฟินแลนด์มีกฎหมายว่าด้วยห้องสมุดประชาชนตั้งแต่เมื่อร้อยปีที่แล้ว (พ.ศ. 2463) ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้องสมุดต้องให้บริการแก่ประชาชนทุกคนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ดังนั้นคนฟินแลนด์จึงสามารถยืมคืนหนังสือ ใช้บริการพื้นที่ทำงาน (working space) และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ฟรี อีกทั้งยังครอบคลุมไปถึงคนต่างชาติและผู้อพยพจำนวนมากที่หลั่งไหลไปยังฟินแลนด์ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ห้องสมุดบางแห่งให้บริการรถห้องสมุดไปยังย่านที่พักผู้ลี้ภัย จัดเสวนารับฟังความต้องการซึ่งส่วนใหญ่บอกว่า อยากเรียนรู้ภาษาฟินิชและการใช้ชีวิตประจำวันนอกแหล่งพักพิงผู้อพยพ ห้องสมุดจึงเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือให้ผู้อพยพสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนแห่งนี้ รวมทั้งให้คำแนะนำช่วยเหลือแม้แต่เรื่องของการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ และบริการสาธารณสุข
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาฟินแลนด์ บอกว่า “เมื่อพื้นที่ห้องสมุดถูกผสานเข้ากับการให้บริการของภาครัฐ เช่น ศูนย์อนามัย หรือศูนย์บริการให้คำปรึกษาผู้อพยพ ก่อให้เกิดประโยชน์หลายทาง ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่ผ่อนคลายระหว่างที่พ่อแม่และเด็กๆ มารอพบหมอหรือเจ้าหน้าที่ เด็กๆ ได้เล่นและหยิบหนังสือมาอ่าน เป็นที่ที่ผู้อพยพรู้สึกว่าน่าเข้าไปใช้บริการมากกว่าสถานที่ราชการ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำงานกับผู้อพยพได้ง่ายขึ้น”
นี่แหละ! มาตรฐานห้องสมุดฟินแลนด์
ห้องสมุดโอดิ (Helsinki Central Library Oodi) คือหนึ่งในนวัตกรรมการเรียนรู้ที่โดดเด่น เปิดตัวในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการประกาศอิสรภาพของฟินแลนด์ในปี 2560 (ค.ศ. 2017) และเปิดใช้งานเมื่อปี 2561 (ค.ศ. 2018)1 ในฐานะของขวัญจากรัฐบาลและกรุงเฮลซิงกิ ชื่อ Oodi แปลว่า ‘บทกวี’ ในที่นี้หมายความถึงบทกวีแห่งวัฒนธรรม ความเท่าเทียม และเสรีภาพในการแสดงออก
การสร้างห้องสมุดโอดิใช้งบประมาณเกือบ 100 ล้านยูโร ซึ่งชาวฟินแลนด์ถือว่าเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนมาลงทุนอย่างเหมาะสม กระบวนการออกแบบอาคารเปรียบเหมือนการสร้างบ้านให้ผู้คนมาอยู่อาศัย จึงใช้หลักการมีส่วนร่วม มีการอภิปรายหลายครั้งกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนบอกเล่าถึงภาพห้องสมุดในฝันกับนักออกแบบและสถาปนิก ให้ประชาชนออกความเห็นว่างบประมาณที่ได้มาควรนำไปใช้ทำอะไรบ้าง รวมทั้งชื่อห้องสมุดก็มาจากความเห็นของประชาชน
“ห้องสมุดโอดิใช้เวลาสร้างนานนับสิบปี ไม่ใช่เพราะความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการของภาครัฐ แต่โอดิใช้กระบวนการรับฟังความต้องการของประชาชนตั้งแต่วันแรก ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าพวกเขาคือเจ้าของห้องสมุดนี้” กุลธิดากล่าวและเล่าต่อว่า
“ห้องสมุดตั้งอยู่ในทำเลแพงระยับ รัฐบาลจัดสรรพื้นที่กลางเมืองที่ดีที่สุด การให้บริการมีความหลากหลายไม่ใช่เพียงแค่หนังสือ ยังมีสนามเด็กเล่น เกม สื่อเสมือนจริง เครื่องพิมพ์สามมิติ คนฟินแลนด์ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องพริ้นเตอร์ไว้ที่บ้าน บอกได้เลยว่าธุรกิจที่อาจไม่มีในประเทศนี้เลยก็คือ co-working space เพราะคุณไม่จำเป็นต้องไปหาเช่าพื้นที่ในการคิดหรือทำงานสร้างสรรค์ เนื่องจากห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์มีพื้นที่ลักษณะนี้ให้ใช้ฟรี ดังนั้น ทุกๆ อย่างที่มีในห้องสมุดจึงช่วยลดต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน
“ห้องสมุดโอดิยังมีพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นว่าอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นในเมืองเฮลซิงกิ คล้ายกับศาลาประชาคมขนาดย่อมๆ รวมทั้งการถกเถียงประเด็นทางสังคมอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน… มักจะมีคนตั้งคำถามว่า นี่คือห้องสมุด ทำไมไม่เอาเงินไปซื้อหนังสือ มาทำเรื่องที่เกี่ยวกับบริการภาครัฐอื่นๆ ทำไม รวมทั้งมาคุยเรื่องการเมืองและศาสนาในห้องสมุดทำไม ห้องสมุดควรทำหน้าที่เหล่านี้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมาก แต่ห้องสมุดก็ยังเดินหน้าทำเรื่องแบบนี้ต่อไป เป็นเรื่องปกติเมื่อมีการทำอะไรใหม่ๆ ย่อมเกิดคำถามและเสียงวิจารณ์เป็นธรรมดา” กุลธิดาให้ความเห็น
หลักคิดสำคัญของห้องสมุดในประเทศฟินแลนด์ คือการพาความรู้ไปหาคน ห้องสมุดเมืองเอสโป (Espoo City Library) เป็นห้องสมุดแห่งแรกๆ ของฟินแลนด์ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า เพราะคนจำนวนมากนิยมไปที่นั่น ห้องสมุดสาขาจำนวน 3 ใน 4 แห่งของเมืองก็ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าเช่นกัน ส่วนในพื้นที่ห่างไกลจะมีบริการรถห้องสมุดเคลื่อนที่และเรือห้องสมุดเคลื่อนที่
เงื่อนไขเรื่องเวลาเปิดปิดห้องสมุดก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนผู้ใช้บริการ โครงการ ‘Open Library’ ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อปรับขยายเวลาให้สามารถนำบัตรสมาชิกมาใช้บริการที่ห้องสมุดได้ด้วยตนเองนอกเวลาทำการแม้ไม่มีบรรณารักษ์คอยดูแล ตั้งแต่เช้าตรู่ 7.00 น. ไปจนถึง 22.00 น. ใครว่างเวลาไหนก็สามารถเดินเข้าไปในห้องสมุดได้เสมอ
ยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโป เล่าว่า “ก่อนหน้านี้มีการตั้งคำถามถึงการปิดห้องสมุดขนาดเล็กในท้องถิ่น เนื่องจากการเปิดให้บริการห้องสมุดแห่งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ Open Library ทำให้เห็นว่า แค่ห้องสมุดปรับเปลี่ยนเพียงนิดเดียว จำนวนคนเข้าห้องสมุดก็เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ทุกวันนี้ประเด็นเรื่องการปิดห้องสมุดก็ไม่ถูกพูดถึงอีกแล้ว”
ห้องสมุดเมืองเอสโปมีบทบาทสำคัญยิ่งในด้านการเรียนรู้ โดยทำงานอย่างหนักร่วมกับครูเพื่อสร้างกิจกรรมที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ เรียกว่า ‘Library Service Path’ ปัจจุบันมีหลักสูตรตามโครงการนี้ 5 หลักสูตร เช่น การเรียนโค้ดดิ้ง และเกม Treasure Hunt
“การออกแบบพื้นที่ห้องสมุดคำนึงถึงความต้องการที่หลากหลาย …เด็กๆ มีวิธีเรียนรู้ไม่เหมือนกัน บางคนเรียนรู้ด้วยการฟัง บางคนเรียนรู้ด้วยการอ่าน บางคนเรียนรู้ด้วยประสบการณ์และการลงมือทำ บางคนเรียนรู้ด้วยการเขียน” ยาน่ากล่าว
ห้องสมุดเมืองเอสโปได้รับรางวัล Library of the Year 20192 จากงานมหกรรมหนังสือลอนดอน (London Book Fair) นอกจากจะการันตีคุณภาพของห้องสมุดแห่งนี้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานห้องสมุดฟินแลนด์ที่มีรากเหง้าความคิดเรื่องความเท่าเทียม การเข้าถึงความรู้ และการปรับตัวของห้องสมุดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คน
บริการแบบนี้ก็มีด้วย
หลายบริการที่เกิดขึ้นในห้องสมุดฟินแลนด์เป็นเรื่องแหวกแนว แต่สร้างเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนอยากเข้าห้องสมุดอย่างเหนือความคาดหมาย เช่น เรื่องราวของเจ้าเบอริเย สุนัขที่ครั้งหนึ่งเคยถูกทิ้งในโรงแรมที่สหรัฐอเมริกา มันถูกฝึกให้เป็นผู้ช่วยอ่านของเด็กๆ ในห้องสมุดเมืองเอสโป
“การฝึกอ่านกับน้องหมา คือการที่เด็กมีใครสักคนมาคอยนั่งฟัง แล้วก็ทำหน้าตาตื่นอินไปกับเรื่องที่อ่าน โดยไม่ตัดสินว่าเด็กอ่านถูกหรืออ่านผิด นั่นคือการเสริมแรง ทำให้เด็กๆ มีกำลังใจในการอ่าน” กุลธิดาเผยถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังโครงการ
ปัจจุบัน ฟินแลนด์มีสุนัขช่วยในการอ่านกว่า 500 ตัว และมีการนำสุนัขไปช่วยพัฒนาเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ในโรงเรียนด้วย
อีกกิจกรรมหนึ่งที่มีสีสันไม่แพ้กันคือกิจกรรมที่ให้เด็กๆ อุ้มตุ๊กตาหมีไปเที่ยวห้องสมุดตอนกลางคืน ส่องไฟฉายดูตามซอกมุมต่างๆ แล้วนำไปเล่าผ่านโซเชียลมีเดียว่าพบเห็นอะไรและมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง
ห้องสมุดฟินแลนด์ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยน้ำจิตน้ำใจของบรรดาผู้สูงอายุที่ร่วมเป็นอาสาสมัครห้องสมุด ทั้งสอนอ่าน สอนทำการบ้าน สอนร้องเพลง ฯลฯ แม้แต่นายอเล็กซานเดอร์ สตุบบ์ (Alexander Stubb) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็มาเป็นอาสาสมัครในห้องสมุดเช่นกัน
“ห้องสมุดมิได้สร้างบริการพิเศษเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการทำให้คนทุกคนไม่ว่าจะมีความต้องการแบบใดรู้สึกว่า ได้รับการต้อนรับและใช้พื้นที่ได้อย่างสบายใจ” ยาน่ากล่าวเน้น
การศึกษา โรงเรียน ห้องสมุด สุดท้ายคือเรื่องเดียวกัน
การเรียนรู้ในระบบโรงเรียนของฟินแลนด์เกิดจากการนำแนวคิดและหลักสูตรการศึกษาหลายๆ แนวทาง เช่น มอนเตสซอรี่ (Montessori) เรจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia) และการศึกษาแนวดั้งเดิม นำมาทดลองวิจัยและปฏิบัติจนกลายเป็นระบบการศึกษาที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว
รัชนก วงศ์วัฒนกิจ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน Rainbow Trout Creativity, The Harbour School ผู้นำเอาแนวคิดการศึกษาแบบฟินแลนด์มาใช้กับโรงเรียนของเธอ บอกเล่าให้ฟังว่า “การศึกษาของฟินแลนด์เน้นเรื่องความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีประกายในความรักการเรียนรู้โดยธรรมชาติ เด็กแต่ละคนมีความต้องการแตกต่างกัน มีจุดอ่อนจุดแข็งไม่เหมือนกัน การสอนเด็กทุกคนเหมือนๆ กันจึงเป็นสิ่งจำกัดขีดความสามารถของพวกเขา”
สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ของฟินแลนด์เป็นการเรียนรู้เชิงบวก (Positive Learning) เน้นการให้กำลังใจ ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและกล้าแสดงตัวตนของตัวเองออกมา ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลระยะยาวต่อความพึงพอใจในชีวิตและการประสบความสำเร็จในชีวิต การเรียนรู้ยังเน้นความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างและการพึ่งพากัน แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และความละเอียดอ่อนที่แฝงอยู่ในวิถีการเรียนรู้แบบฟินแลนด์
“ฟินแลนด์เอาจริงเอาจังกับการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 (twenty-first century skill) ทั้งเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ การมีความคิดสร้างสรรค์ การมีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง มีไหวพริบทันคน มีความอดทนไม่ย่อท้อ เน้นความเห็นอกเห็นใจและความร่วมมือกัน นิยามความสำเร็จจึงไม่ใช่เรื่องความฉลาดอย่างเดียว แต่ฉลาดแล้วมีสันติสุขด้วย”
กล่าวได้ว่าความสำเร็จของฟินแลนด์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ไม่เพียงแต่เรื่องการศึกษาเท่านั้น การพัฒนาห้องสมุดก็เป็นงานระยะยาวซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นทำงานร่วมกันมาหลายสิบปี ภายใต้เงื่อนไขทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
ปัจจัยความสำเร็จมาจากบุคลากรห้องสมุดที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ประการสำคัญคือภูมิปัญญาในการพัฒนาห้องสมุดมิได้มาจากกระทรวง แต่มาจากกลุ่มคนในท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์และเป็นนวัตกรในการลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างมีส่วนร่วม
แอนนา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ฟินแลนด์ลงทุนมากมายด้านอาคารห้องสมุด แต่แทนที่จะคิดถึงเพียงเรื่องการมีพื้นที่สวยๆ สิ่งที่ควรตระหนักไว้ก็คือ จะต้องดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้การศึกษามีคุณภาพและเท่าเทียมกันด้วย สิ่งนี้แหละที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าและสร้างความยั่งยืนให้กับห้องสมุด”
ชมวีดิทัศน์การบรรยาย
เชิงอรรถ
[1] ห้องสมุดโอดิ ได้รับเลือกให้เป็นห้องสมุดประชาชนยอดเยี่ยมประจำปี 2562 หรือ Public Library of the Year 2019 จากสหพันธ์สมาคมห้องสมุดนานาชาติ (IFLA) และรางวัลอื่นอีกมากมายทั้งด้านงานออกแบบอาคาร การก่อสร้าง สถาปัตยกรรม และการให้บริการ ผู้สนใจโปรดดู https://www.tkpark.or.th/tha/articles_detail/1580440965609/ห้องสมุดกลางเฮลซิงกิ-‘โอดิ’-ขวบปีแรกแห่งความสำเร็จ
[2] ชมหนังสั้นรางวัลยอดเยี่ยม IFLA Metropolitan Libraries Short Film Award 2019 เรื่อง “Why these Finnish Libraries are the Best in the World” ซึ่งเล่าถึงห้องสมุดเมืองเอสโปได้ที่เว็บไซต์ https://www.youtube.com/watch?v=rVz82UMWR_E
ที่มา
การบรรยาย เรื่อง How Library Can Promote the Quality of Education: The Experiences from Finland โดย แอนนา คอร์ปิ (Anna Korpi) ในการประชุม TK Forum 2020 “Finland Library and Education in the Age of Disruption” วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมเอส 31
การบรรยายเรื่อง “ห้องสมุดกับการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ประสบการณ์ของฟินแลนด์” โดย แอนนา คอร์ปิ (Anna Korpi) ยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) และกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ณ รัฐสภา
การบรรยาย เรื่อง “เล่าเรื่องห้องสมุดฟินแลนด์: ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีห้องสมุดเป็นฐาน” โดย ยาน่า เตือร์นิ (Jaana Tyrni) กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ และรัชนก วงศ์วัฒนกิจ วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ณ มิวเซียมสยาม
หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความ 2 ชิ้น ได้แก่ “ห้องสมุดเป็นรากฐานที่แท้ของการศึกษาและประชาธิปไตย” และ “เล่าเรื่องห้องสมุดและการเรียนรู้แบบฟินแลนด์” เผยแพร่ครั้งแรก ธันวาคม 2563