ร้านหนังสือ Fathom Bookspace พื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของนักอ่านเพื่อขยับเพดานความคิดของสังคม

1,126 views
8 mins
February 25, 2022

          นับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2559 ที่ ‘Fathom Bookspace’ ร้านหนังสือเล็กๆ ในซอยสวนพลู เปิดตัวอย่างเป็นทางการ นอกจากการขายหนังสือ จุดมุ่งหมายของสองผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง ป่าน – ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ และ กุ๊กไก่ – ขนิษฐา ธรรมปัญญา ตั้งไว้ คือการเปิดพื้นที่ให้คนได้มาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนตัวเป็นๆ จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม

          ทว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีสถานการณ์โรคระบาด จากที่เคยจัดกิจกรรม-เวิร์กชอปอย่างน้อยเดือนละครั้ง แพลนต่างๆ ที่วางไว้ต้องถูกพับทิ้งไปโดยปริยาย เหลือเพียงการขายหนังสือเป็นหลัก พร้อมขยับไปสู่การขายแบบออนไลน์มากขึ้น

          ในแง่หนึ่ง นี่คือปัญหาใหญ่ที่คนทำธุรกิจร้านหนังสือทั่วโลกต้องเผชิญ โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระที่ขับเคลื่อนด้วยการไหลเวียนและปฏิสัมพันธ์ของผู้คน คำถามที่สนใจคือ แล้วร้านหนังสือมีวิธีรับมือกับสภาวะนี้อย่างไร ต้องปรับตัวในแง่ไหนบ้าง

          The KOMMON ชวนเจ้าของร้าน Fathom Bookspace มาพูดคุยถึงแนวทางการปรับตัวในยามวิกฤต เจาะลึกสารพัดปัญหาที่คนทำร้านหนังสือต้องเผชิญ หลายคำตอบสะท้อนมุมมองใหม่ๆ ที่ผู้อ่านหรือลูกค้าอาจไม่เคยรับรู้ และบางคำตอบก็ช่วยชุบชูใจให้รู้สึกมีความหวัง—ทั้งต่อแวดวงหนังสือและสังคมไทย 

ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา เข้าใจว่าร้านต้องปรับมาขายออนไลน์มากขึ้น อยากรู้ว่าทุกวันนี้สัดส่วนระหว่างการขายหน้าร้าน กับขายออนไลน์เป็นยังไง

          ถ้าตั้งแต่มีโควิด เราขายออนไลน์ได้มากกว่า แต่ถ้าเป็นช่วงก่อนโควิด หน้าร้านจะเยอะกว่า ด้วยความที่เราจัดกิจกรรมบ่อย คนที่มาก็จะเลือกซื้อหนังสือด้วยไปโดยปริยาย แต่ตอนนี้สัดส่วนจะอยู่ที่ออนไลน์ประมาณ 70%

แล้วยอดขายโดยรวม เพิ่มหรือลดลงจากก่อนโควิด

          ถ้าโดยรวม ยอดถือว่าเพิ่มขึ้น แต่ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ช่วงไหนที่มีความตึงเครียดบางอย่างในสังคม ไม่ว่าเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจ หรือโรคระบาด ช่วงนั้นยอดจะดรอป ไม่รู้ว่าคิดไปเองไหม แต่รู้สึกแบบนั้น เหมือนสภาวะสังคมมันส่งผลต่อการใช้จ่ายเหมือนกัน อีกแบบคือหลังช่วงเทศกาลที่คนเพิ่งใช้เงินกันอย่างหนักหน่วง เช่นช่วงหลังตรุษจีน หลังปีใหม่ ยอดจะหายไปเหมือนกัน

หนังสือแนวไหนที่คนสนใจเป็นพิเศษในช่วงที่ผ่านมา

          สังเกตว่าตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา คนเริ่มหันมาอ่านพวกวรรณกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะวรรณกรรมคลาสสิค หรือวรรณกรรมเล่มหนาๆ เห็นชัดเลยว่าขายดีขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะคนมีเวลาในการละเลียดอ่านมากขึ้น หรืออีกแง่คืออยากหลุดเข้าไปในโลกบางอย่างเพื่อหลีกหนีเรื่องเครียดๆ ในชีวิตจริง

          อีกประเภทที่ขายดี คือนิยายที่อ่านแล้วสบายใจ อาจเพราะเมื่อคนเจอโควิด เจอสภาพบ้านเมืองแบบนี้ คงรู้สึกว่าชีวิตมีเรื่องเครียดมากพอแล้ว ขอเสพอะไรที่จรรโลงใจ มีช่วงเวลาที่ผ่อนคลายบ้าง แต่ไม่ได้แปลว่าหนังสือแนวนี้จะขายดีทุกเล่มนะ แค่เราเห็นแนวโน้มว่าคนสนใจเยอะขึ้น ขณะเดียวกันฝั่งผู้ผลิต สำนักพิมพ์เอง ก็ทำหนังสือแนวนี้ออกมามากขึ้นเช่นกัน

‘Fathom Bookspace’ ร้านหนังสืออิสระที่ขับเคลื่อนด้วยปฏิสัมพันธ์ของคนตัวเป็นๆ

ตอนนี้ถือว่าโฟกัสที่ออนไลน์เป็นหลักเลยไหม หรือยังโฟกัสที่หน้าร้านอยู่

          โฟกัสเรายังอยู่ที่หน้าร้าน ส่วนออนไลน์เป็นแค่อีกช่องทางที่ลูกค้าสามารถสั่งหนังสือได้ จุดประสงค์เราไม่ได้อยากเป็นร้านหนังสือออนไลน์ เรายังแฮปปี้กับการที่คนมาเลือกหนังสือหน้าร้าน มาเดินเลือก เจอเล่มถูกใจ จ่ายเงินซื้อ จบ

          แล้วถ้าพูดในแง่บริหารจัดการ การขายหน้าร้านจัดการง่ายกว่าออนไลน์เยอะ เพราะการขายออนไลน์ กระบวนการมันจุกจิกมาก เอาแค่ว่า เมื่อหนังสือจากสำนักพิมพ์มาส่งที่ร้าน เราต้องคีย์ข้อมูลเข้าระบบสามที่ คือในโปรแกรมหลัก ในเว็บไซต์ และในช็อปปี้ แค่นี้ก็ใช้เวลาครึ่งวันแล้ว ยังไม่นับการแพคของ การขนส่งต่างๆ แล้วเราขายเกือบทุกช่องทางที่มีอยู่ในออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ตอนนี้กำลังเริ่มทำ TikTok

          โดยสรุปคือแม้จะขายออนไลน์ได้เยอะขึ้น แต่งานก็เพิ่มขึ้นเยอะด้วยเหมือนกัน ถ้านิยามง่ายๆ ตอนนี้เราเป็นร้านหนังสือและพื้นที่การเรียนรู้ที่สามารถสั่งหนังสือออนไลน์ได้

ช่องทางไหนขายได้เยอะสุด

          ช้อปปี้ อาจเพราะในแอปมีโค้ดส่วนลดด้วย รองลงมาก็จะเป็นหน้าเว็บ กับอินบ็อกซ์ทางเพจเฟซบุ๊ก

ทุกวันนี้ ส่วนแบ่งที่ร้านหนังสือได้จากราคาปก ตกอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์

          โดยเฉลี่ย 30% คือมีทั้งเจ้าที่ให้เยอะกว่า 30 และให้น้อยกว่า 30 อันนี้คือที่รับจากสำนักพิมพ์ บางสำนักพิมพ์ถ้าเป็นเงื่อนไขซื้อขาด ก็จะให้ถึง 40-45% ส่วนที่รับจากสายส่ง โดยเฉลี่ยแล้วจะได้ 25%

แล้ว 30% ที่ได้มา ถือว่าสมเหตุสมผลไหมในมุมของร้านหนังสือ

          ถ้าเป็นการค้าขายอย่างปกติสุขโดยที่ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง เราโอเคกับ 30% ตัวอย่างเช่น ถ้าบางสำนักพิมพ์ไม่ขายเองโดยลด 20% ตลอดเวลา เราไม่มีปัญหา เพราะเราจะได้ไม่ต้องมาต่อสู้กันเรื่องราคา สมมติเราได้ส่วนแบ่งมา 30% ให้เราไปลดราคาแข่ง เราทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะลดแล้วก็แทบไม่เหลือกำไร

แสดงว่าหนังสือที่ร้านส่วนใหญ่ ขายราคาเต็ม

          ก็มีลดบ้าง แต่ไม่เยอะ อาจมีโปรโมชั่นว่าถ้าครบเท่านี้ จะได้ส่วนลดเท่านี้ ใช้โปรเดียวกันทั้งหน้าร้านและออนไลน์ แล้วเราจะมีระบบสมาชิก เป็นสมาชิกแบบรายปี ลูกค้าจะได้ลด 10% ต่อบิล ตลอดทั้งปี

แล้วพอจะทำความเข้าใจได้ไหมว่า ทำไมบางสำนักพิมพ์ถึงต้องลดราคาถึง 20%   

          ส่วนตัวคิดว่าเขามองระยะสั้นเกินไป คือการลดราคาแบบนี้ อาจทำให้เขาขายได้ในช่วงแรกๆ โดยไม่ต้องเสียส่วนแบ่งให้ร้านหนังสือ แต่ปัญหาที่ตามมาในระยะยาว ที่เราชอบคุยกันเองบ่อยๆ คือ แล้วราคาที่คุณตั้งไว้บนปก คุณตั้งไว้เพื่ออะไร เพราะมันแทบไม่เคยขายในราคานี้จริงๆ เลย มีแค่ลดมากลดน้อยเท่านั้น ถ้าเป็นช่วงเวลาทั่วไป อาจลด 10% ถ้าเป็นงานหนังสือก็ลดมากกว่านั้น ยิ่งบางปกที่ออกมานานแล้วยิ่งลดเยอะ แต่เวลาสำนักพิมพ์ส่งมาขายที่ร้าน เปอร์เซ็นต์ที่แบ่งให้เรา คือเปอร์เซ็นต์จากราคาปก

          แล้วถ้ามองในมุมลูกค้าหรือคนอ่าน วิธีการลดราคาแบบนี้ สร้างความเคยชินให้คนรู้สึกว่าราคาหนังสือที่อยู่บนปกเป็นราคาที่ไม่จริง กลายเป็นว่าถ้าร้านไหนขายราคาปก หมายความว่าคุณกำลังค้ากำไรเกินควร เพราะใครๆ เขาก็ลดกันหมด แต่ความจริงคือคุณตั้งราคานี้ไง นี่คือราคาที่ควรจะเป็นหรือเปล่า

          ถ้าลองคิดแบบละเอียดหน่อย เอาเข้าจริงแล้ว การที่สำนักพิมพ์คิดว่าฉันสามารถขายออนไลน์ได้เอง ไม่ต้องเสียส่วนแบ่งให้ร้านหนังสือ จริงๆ ก็มีต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มเหมือนกัน แต่เขาอาจไม่ทันคิด ตั้งแต่การจัดการหลังบ้าน การแพ็คของ การจัดส่ง ต้องคิดดีๆ ว่ากำไรที่ได้เพิ่มมา มันคุ้มกับแรงงานและเวลาที่เสียไปมั้ย แทนที่จะเอาเวลาไปนั่งทำต้นฉบับ กลับต้องมานั่งตอบแชทลูกค้า นั่งแพ็คของ ส่งของ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่ของร้านหนังสือ

ถ้ามองในมุมกลับกัน การที่สำนักพิมพ์ตัดสินใจขายเองส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะยังไม่ค่อยไว้วางใจร้านหนังสือหรือเปล่า ทั้งในแง่การจัดการ รวมถึงยอดขายที่จะขายได้

          ก็น่าจะมีส่วน แต่อย่างที่เราบอกไป การที่สำนักพิมพ์อยากขายเอง เราไม่มีปัญหา ปัญหาคือไม่ควรลดราคาแบบนี้ เพราะมันจะทำให้ระบบล่มสลาย ตลกร้ายอย่างหนึ่งคือ บางเล่มเราตั้งใจเขียนรีวิวมาก คนแชร์จากเพจเราไปเยอะมาก แต่แทนที่เขาจะซื้อกับเรา เขากลับไปซื้อที่สำนักพิมพ์ เพราะสำนักพิมพ์ลดเยอะกว่า

          อีกปัญหาที่เห็นคือ ช่วงหลังมานี้ สังเกตว่ามีร้านหนังสือออนไลน์หลายร้านที่ตัวเจ้าของอาจทำเป็นอาชีพเสริม ใช้วิธีขายแบบลดราคาเยอะๆ อันนี้ก็มีส่วนทำลายระบบเหมือนกัน หนังสือปกเดียวกัน เรารู้ว่าเขาได้ส่วนแบ่ง 30% เหมือนกัน แต่เขาเลือกที่จะลดราคา 20-25% พูดง่ายๆ คือเอากำไรน้อยหน่อย แต่อาจเน้นขายปริมาณเยอะๆ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สำนักพิมพ์ต้องตั้งกำแพงสูงเหมือนกัน กลายเป็นปัญหาที่วนไปวนมา

          จริงๆ เรารู้สึกว่า เรื่องนี้น่าจะคุยหรือตกลงกันได้ เช่น หนังสือที่ออกใหม่ปีแรก ถ้าจะลด ลดได้ไม่เกิน 5% หรืออาจลดได้ถึง 10% ในช่วงสั้นๆ แต่ถ้าเป็นหนังสือที่เริ่มเก่า 2-3 ปี ก็ค่อยลดเยอะขึ้น แบบนี้เราว่าโอเค

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกยกมาพูดคุยและหาทางออกกันมานาน คำถามคือการจะสร้างข้อตกลงอย่างที่ว่ามา ต้องมีใครเป็นตัวกลางในการเจรจาไหม หรือใครควรจะเป็นกำหนดมาตรฐาน

          วิธีที่ง่ายสุดคือสำนักพิมพ์เป็นคนกำหนดเลย ส่วนตัวมองว่าสำนักพิมพ์มีอำนาจที่จะทำสิ่งนี้ คุณกำหนดได้เลยว่าหนังสือปกนี้ ไม่ว่าจะขายที่ไหน ลดราคาได้เท่านี้ ในระยะเวลาเท่านี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีบางสำนักพิมพ์ที่ใช้วิธีนี้แล้ว คือบอกกับร้านเลยว่า ลดได้ไม่เกิน 10% แล้วถ้าคุณไปเจอว่ามีร้านไหนที่ลดเกินกว่านี้ ให้แจ้งเขาเลย เขาจะไม่ส่งหนังสือให้

          ช่วงแรกๆ ลูกค้าอาจจะช็อกนิดหน่อย เพราะเคยซื้อแบบมีส่วนลดมาตลอด แต่ถ้าทุกคนทำเหมือนกัน ใช้มาตรฐานเดียวกัน สักพักเขาก็ชิน อย่างร้านเราที่ขายหนังสือราคาเต็ม ส่วนใหญ่ลูกค้าก็เข้าใจ เรื่องนี้ต้องช่วยกันปรับ เพื่อที่ผลสุดท้ายราคาหนังสือจะได้เป็นไปตามราคาที่มันควรเป็นจริงๆ

          ส่วนการลดราคา ค่อยเก็บไว้ใช้กับหนังสือที่ค้างสต็อก จำเป็นต้องเคลียร์แล้วค่อยลด แบบนั้นลดเยอะๆ ได้ ไม่มีปัญหา ถ้าตั้งมาตรฐานนี้ได้ และทุกคนทำเหมือนกัน มันจะช่วยยืดอายุการขายหนังสือทุกเล่มไปโดยปริยาย ทุกร้านจะขายได้นานขึ้น ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงราคา ไม่ต้องรู้สึกว่าถ้าลดราคาแล้วค่อยซื้อ หรือรอเฉพาะช่วงเทศกาลหนังสือเท่านั้น

จุดเด่นของร้านฟาธอม คือการจัดกิจกรรม-เวิร์กชอปอยู่เป็นประจำ พอเจอสถานการณ์โควิด มีผลกระทบยังไงบ้าง แล้วปรับตัวอย่างไร

          หลักๆ คือกระทบกับการทำกิจกรรม เพราะคนมาเจอกันที่ร้านไม่ได้ กิจกรรมที่แพลนไว้ว่าจะจัดก็ต้องยกเลิกไปทั้งหมด ซึ่งเอาเข้าจริง เราเองก็ไม่สบายใจที่จะจัดเหมือนกัน เพราะมันควบคุมยาก ยิ่งร้านเราเป็นร้านเล็กๆ ถ้ามีใครสักคนติด ก็คงติดกันหมด จึงตัดสินใจว่าไม่จัดดีกว่า

          แต่พอคิดว่าจะเปลี่ยนไปจัดออนไลน์ดีมั้ย ก็ยังรู้สึกก้ำกึ่งอยู่ดี เพราะการเจอกันแบบตัวเป็นๆ มันให้พลังงานที่ดีกว่า ยิ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนกัน ทำความรู้จักกัน มันต้องอาศัยการมาเจอกันจริงๆ ออนไลน์ยังไม่ได้ตอบโจทย์ขนาดนั้น ตั้งแต่มีโควิดมาเลยได้จัดแบบออนไลน์ไปแค่หนเดียว อันนั้นคือผลกระทบเชิงกายภาพ

          แต่ผลกระทบอีกด้านที่เห็นชัด คือผลกระทบทางความรู้สึก การที่เราเปิดร้านนี้ขึ้นมา ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อขายของอย่างเดียว แต่เราอยากชวนคนมาทำกิจกรรม อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่คนได้มาเรียนรู้บางอย่างร่วมกัน พอมันทำไม่ได้ นอกจากเราเองจะไม่สนุกแล้ว เรายังรู้สึกว่าตัวเองเป็นประโยชน์น้อยลงด้วย

          มันทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า แล้วในความเป็นร้านหนังสือ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ เราจะมีประโยชน์ในมิติไหนอีกได้บ้าง แน่นอนว่าพาร์ทการขายหนังสือ เรายังตั้งใจเหมือนเดิม พยายามหาหนังสือดีๆ มาขาย พยายามแนะนำหนังสือเล่มละเล่มให้ดีที่สุด แต่ลึกๆ ก็เกิดคำถามเหมือนกันว่า เรายังทำอะไรได้อีกมั้ย แค่นี้มันพอแล้วเหรอ

แล้ว ณ ตอนนี้วางแผนยังไงต่อ

          เบื้องต้นคงลองจัดกิจกรรมออนไลน์ไปก่อน แต่คงต้องลองวิธีใหม่ๆ ส่วนการขาย เราก็ยังอยากทำให้สนุกขึ้น พยายามหาอะไรใหม่ๆ มาเติม ล่าสุดเราขายหนังสือภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งเป้าหมายคือคนไทย ไม่ใช่ต่างชาติ อันนี้เริ่มขายมาสักระยะหนึ่งแล้ว ผลตอบรับถือว่าค่อนข้างดีเลย เหมือนมันช่วยให้คนได้เห็นสิ่งใหม่ เห็นโลกใหม่ๆ พ้นไปจากประเทศนี้ หนังสือต่างประเทศดีๆ บางเล่ม เมื่อเปิดขึ้นมา เอาแค่เปิดผ่านๆ เหมือนมันพาเราไปสู่อีกโลกหนึ่ง เรารู้สึกว่าการมีหนังสือแบบนี้มานำเสนอบ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์ บางทีมันอาจเป็นเครื่องช่วยชีวิตโดยที่เราไม่คาดคิดก็ได้

ที่เล่าว่า จุดประสงค์ในการทำร้านไม่ได้มุ่งไปที่การขายหนังสืออย่างเดียว อยากให้ขยายความหน่อยว่าความตั้งใจจริงๆ แล้วคืออะไร

          เราอยากทำให้คนเข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น และใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างแฮปปี้

          งานของเราอาจเป็นงานที่เย็นสุดๆ คือเริ่มต้นจากการเปลี่ยนคน ทำยังไงให้ไม่โตไปเป็นคนจุดจุดจุด (หัวเราะ) เช่น ไม่เป็นคนที่ทำร้ายคนอื่น ไม่เป็นคนที่เห็นคนไม่เท่ากัน ถ้าทุกคนรู้จักตัวเองมากพอ รู้ว่าตัวเองกำลังกลัว รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธ ขณะเดียวกันก็เข้าใจคนอื่นมากพอ มันจะทำให้เรามี empathy ต่อกันมากขึ้น มีโลกที่น่าอยู่มากขึ้น

           เมื่อเป้าหมายเป็นแบบนั้น เราก็ย้อนกลับมามองว่าเราทำอะไรได้บ้าง หนึ่งคือเราชอบหนังสือ คิดว่ามันเป็นเครื่องมือที่ดี สองคือเรารู้สึกว่าการพูดคุยกัน มันช่วยได้ สาม เรารู้จักเรื่องกระบวนการเรียนรู้ เราชอบทำเวิร์กชอป อันนี้ก็ช่วยได้นะ โดยเฉพาะศิลปะ ช่วยให้เข้าใจตัวเอง ช่วยให้เข้าถึงคนอื่นได้

          เมื่อแตกออกมาได้แบบนี้ เราก็ค่อยๆ เอามาใส่ในร้าน พยายามใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อไปให้ถึงจุดที่เราตั้งไว้ เช่น เวลารีวิวหนังสือ เราจะพูดว่ามันกระทบความรู้สึกของคนยังไง มันแสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่งยังไง เวลาทำเวิร์กชอป ก็พูดเรื่องเดียวกัน ทำยังไงให้เขาเห็นตัวเองมากขึ้น เห็นคนอื่นมากขึ้น เข้าใจสังคมนี้มากขึ้น ทุกอย่างจะมีแก่นเดียวกันหมด

แล้วช่วงที่เจอสถานการณ์โควิด จัดกิจกรรมไม่ได้ ต้องขายหนังสืออย่างเดียว คุณดีลกับตัวเองยังไง

          (นิ่งคิด) ดีลว่าเป็นจังหวะชีวิต เราตั้งคำถามกันบ่อยมากว่า ทำยังไงร้านของเรา หรือตัวเราเองจะเป็นประโยชน์ได้มากกว่านี้ในภาวะที่ทุกคนลำบาก เราทำอะไรได้มากกว่าแค่ขายหนังสือไหม

          สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พอตกอยู่ในภาวะแบบนี้ มวลอารมณ์ของสังคมเป็นแบบนี้ มันส่งผลให้เราทำงานได้น้อยลงไปโดยปริยาย ยิ่งเมื่อมีพาร์ทการขายออนไลน์เพิ่มเข้ามา งานเยอะขึ้น แต่คนเท่าเดิม เวลาและพลังงานที่จะเอาไปคิดทำอย่างอื่นก็น้อยลงไปด้วย แต่ถ้าย้อนมองช่วงสองปีที่ผ่านมา เราก็จัดการกับมันได้ดีขึ้นเรื่อยๆ นะ ถัดจากนี้คงค่อยๆ ขยับไป

          อีกความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกผิด รู้สึกผิดที่เราดันขายหนังสือได้ดีขึ้นในขณะที่คนอื่นต้องดิ้นรน คนส่วนใหญ่ยังลำบากกันอยู่ ถามว่าดีลกับภาวะนี้ยังไง ก็ดีลว่ามันเป็นจังหวะชีวิตแค่ช่วงหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แล้วเมื่อมีโอกาสช่วยอะไรใครได้ เราช่วยหมด เช่น ช่วงที่โควิดเริ่มแพร่รุนแรงในกลุ่มเด็ก เพื่อนๆ ที่รู้จักกันก็ชวนเราไปหาซื้อของ ส่งให้เด็กกลุ่มนี้ เป็นเด็กที่ต้องถูกกักตัวแยกจากพ่อแม่ ก็พยายามช่วยทุกทางเท่าที่ช่วยได้ รวมถึงการบริจาคสมทบทุนต่างๆ ในเมื่อเรามีรายได้เพิ่มขึ้น เราก็พยายามแบ่งรายได้เราไปช่วยคนที่เขายังต้องการความช่วยเหลือ

          แต่ต้องบอกก่อนว่า การที่เราขายดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเรารวยนะ มันแค่ดีขึ้นมานิดนึง ยังไม่นับว่าค่าใช้จ่ายๆ ต่างในช่วงโควิดมันสูงขึ้นจากสภาวะปกติด้วย

มีข้อสังเกตอื่นๆ อีกไหมที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดที่ผ่านมา

          ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นในช่วงโควิดคือ คนซื้อหนังสือสะสมเยอะขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผู้ผลิตที่ผลิตหนังสือแบบลิมิเต็ดขึ้น

          พูดง่ายๆ คือคนซื้อหนังสือด้วยเซนส์ของการสะสมมากขึ้น เฮ้ย เล่มนี้ต้องมี ถ้าไม่รีบซื้อเดี๋ยวจะกลายเป็นแรร์ไอเท็ม กลายเป็นว่า จากเดิมที่ซื้อหนังสือเพราะอยากอ่านเป็นหลัก ทุกวันนี้หลายคนซื้อเพราะอยากมีไว้ในครอบครองด้วย บางคนซื้อเพราะอยากได้ของแถม เช่นบางเล่มแถมสติ๊กเกอร์ และมีจำนวนจำกัด ลูกค้าจะถามเลยว่า ถ้าซื้อตอนนี้ยังได้สติ๊กเกอร์อยู่ไหมคะ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เอา (หัวเราะ) แต่คนที่อยากอ่านเฉยๆ ไม่ได้แคร์ของแถม ไม่ได้อยากสะสม ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่เท่าที่สังเกตมา สายสะสมเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อน

แล้วคุณมองว่าสิ่งนี้ดีหรือไม่ดียังไง

          โดยส่วนตัว เราไม่ติดใจกับการสะสม สิ่งที่ติดใจคืออยากให้คนมองหนังสือว่าเป็นหนังสืออยู่ หมายความว่า หนังสือมันเป็นกระดาษ ซึ่งธรรมชาติของมันอาจมีริ้วรอย หรือมีพื้นผิวบางแบบ แต่ลูกค้าบางคนที่ซื้อแบบสะสม จะซีเรียสมากว่าหนังสือที่ฉันได้มาต้องสมบูรณ์แบบ ขอเล่มที่สันคมกริบได้มั้ยคะ (หัวเราะ) ซึ่งเราอยากบอกว่า เล่มที่คมกริบๆ มันไม่มีอยู่จริงค่ะ เพราะอะไร เพราะมันทำจากกระดาษ อยากให้ทุกคนเข้าใจว่ามันเกิดมาเป็นแบบนี้ เกิดมาเพื่อถูกพับ ม้วนงอ จดบันทึก นี่คือธรรมชาติของมัน

ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหนังสือที่มีตำหนิถูกไหม

          ใช่ มีตำหนิก็คือมีตำหนิ เช่น ฉีกขาด หรือสันยุบเพราะโดนกระแทก แต่กับบางเล่ม โดยเฉพาะเล่มที่เป็นปกแข็ง มีสัน มันจะมีรอยที่เป็นขอบของมัน ซึ่งบางคนไม่เข้าใจ อยากได้แบบเรียบๆ กริบๆ ซึ่งมันไม่มี ทุกเล่มเป็นแบบนี้หมด เราเคยคุยกันขำๆ ว่าที่เป็นแบบนี้ เพราะเขาจำภาพที่เห็นจาก mock-up ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นภาพที่ใช้โปรโมต แต่ของจริงมันไม่มีทางเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว อันนี้บางคนอาจต้องทำความเข้าใจใหม่ คุณสะสมได้ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่คุณสะสมมันตั้งอยู่บนฐานของกระดาษ

          อาจเพราะเหตุนี้ ช่วงหลังเลยมีคนที่ซีเรียสกับการแพ็คหนังสือมากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า สำหรับลูกค้าบางคน ถ้าไม่ห่อบับเบิ้ล หรือห่อไม่หนาพอ ถือเป็นความผิดมหันต์ ตามด่ากันแบบข้ามปีเลย (หัวเราะ) ทั้งที่เราก็ค่อนข้างชัวร์แล้วว่ามันแข็งแรง

          ยิ่งช่วงที่ขายออนไลน์มากขึ้น เราพยายามหานวัตกรรมที่ช่วยให้หนังสือคงสภาพเดิมไว้ เช่น ใช้กล่องที่แข็งแรง ป้องกันการกระแทกได้ ในอนาคตเราแพลนไว้ว่าจะไม่ใช้บับเบิ้ล เพราะเราทดลองแล้วว่ากล่องของเราแข็งแรงพอ ฉะนั้นบับเบิ้ลไม่จำเป็น เราไม่อยากให้อุตสาหกรรมนี้ทำร้ายโลกมากไปกว่านี้ ซึ่งก็คงมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ จากลูกค้าที่เราเคยเจอก็มีทั้งสองแบบ บางคนก็บอกเลยว่า ไม่ต้องห่อบับเบิ้ลมา ถ้ามันจะบุบนิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไร เข้าใจได้ เดี๋ยวเปิดอ่านก็ยับอยู่ดี ซึ่งในมุมคนขาย แน่นอนว่าเราไม่ส่งหนังสือที่บุบๆ บี้ๆ ให้ลูกค้าอยู่แล้ว ยังไงหนังสือที่เขารับไปต้องอยู่ในสภาพดีที่สุด

นอกจากฟังก์ชั่นของการขายหนังสือเป็นหลัก คุณมองว่าร้านหนังสือมีบทบาทอะไรอีกบ้างในสังคม

          ร้านหนังสือมีความเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมในตัวมันเองอยู่แล้ว แม้จะขายหนังสืออย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นแล้ว แล้วถ้าในภาพกว้างขึ้นมา ถ้าประเทศนี้มีร้านหนังสือ มีห้องสมุดเยอะๆ มันจะช่วยให้วัฒนธรรมการอ่านแข็งแรง ซึ่งนำไปสู่อะไรอีกมากมาย

          แต่ถ้าถามในความเป็นร้านหนังสืออิสระ ส่วนใหญ่จะไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อขายหนังสืออย่างเดียวอยู่แล้ว อย่างน้อยต้องมีกิจกรรม จัดวงคุย เปิดตัวหนังสือ มีดนตรี มีศิลปะ ซึ่งมีส่วนช่วยให้มิติทางวัฒนธรรมแข็งแรงขึ้นทุกด้าน โดยเฉพาะในมิติของชุมชน เรามองว่าถ้าแต่ละชุมชนมีร้านหนังสือ และคนในชุมชนเห็นร้านหนังสือเป็นเพื่อน เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เข้าไปใช้สอย ทำกิจกรรมร่วมกัน มันจะเป็นอะไรที่ดีมาก นอกจากความรื่นรมย์ มันยังช่วยให้เกิดความเข้าใจในมิติอื่นๆ ของชีวิต นี่คือบทบาทที่ร้านหนังสือและห้องสมุดทำได้

แสดงว่าการปฏิสัมพันธ์ การได้มาสัมผัสพื้นที่จริง ก็สำคัญเหมือนกัน ซึ่งร้านออนไลน์อาจให้ไม่ได้

          ใช่ บางอย่างโลกออนไลน์ก็ยังทดแทนไม่ได้ เอาแค่การได้เดินเข้าไปในสถานที่ใหม่ๆ เช่น ร้านหนังสือสักร้านหนึ่ง แล้วรู้สึกใจเต้น ลังเลว่าเราทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ เอ๊ะ มุมนี้คืออะไร ถามเจ้าของร้านได้มั้ยนะ แค่นี้ก็ต่างกันมากแล้ว ความซับซ้อนของความรู้สึกและประสบการณ์ที่ได้รับมันต่างกัน

          ลูกค้าที่เราเจอก็มีหลายแบบ ทั้งแบบที่ชัดเจนมากๆ คือเดินเข้ามาแล้วบอกเลยว่าต้องการเล่มไหน พอได้สิ่งที่ต้องการปุ๊บก็กลับเลย ส่วนบางคน จะเอ็นจอยกับการเดินสำรวจไปเรื่อยๆ ไม่ได้อยากรู้อะไร ไม่ได้อยากถามอะไรด้วย เราก็แค่ยืนอยู่ตรงนั้น สแตนบายไว้ ให้เวลาเขาได้สำรวจ กับอีกประเภทที่มีเยอะเหมือนกัน คือไม่รู้ว่าจะอ่านอะไรดี ช่วยแนะนำหน่อย

          ในมุมของคนขาย เราสนุกนะ เหมือนได้ทายว่าลูกค้าคนนี้จะมาแนวไหน ถ้าคนไหนดูแล้วยังก้ำกึ่ง เราอาจแค่บอกหรือแสดงตัวให้เขารู้ว่าเรารับรู้การมีอยู่ของคุณแล้วนะ เราพร้อมจะช่วยเหลือถ้าต้องการ บางทีแค่ยิ้มให้ แล้วก็ปล่อยให้เขาใช้เวลาตามสบาย

ในแง่ธุรกิจ สมมติว่าถ้าขายหนังสืออย่างเดียว คิดว่าไปรอดไหม หรือสุดท้ายก็ต้องอาศัยรายได้จากส่วนอื่นมาเสริมอยู่ดี

          ขายหนังสืออย่างเดียวรอดไหม รอด มันเลี้ยงตัวเองได้ แต่ที่ไม่รอดคงเป็นพวกเราเอง คงเบื่อตายกันไปก่อน (หัวเราะ)

          อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้เปิดร้านนี้มาเพื่อขายหนังสืออย่างเดียว แล้วตัวเราเองก็ไม่ได้อยากยืนอยู่หลังเคานเตอร์แล้วรอคิดเงินเฉยๆ มันน่าเบื่อ ไม่มีพลังงานใหม่ๆ ไม่มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น แต่ถามว่ารอดไหม รอด กาแฟเรามี แต่ก็แทบไม่ได้ขายเลย ชงกินกันเองทั้งนั้น รายได้มาจากหนังสือเป็นหลัก ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดแล้ว

          มีช่วงหนึ่งที่เราจัดเวิร์กชอปถี่มาก แล้วเราก็คิดเอาเองว่า รายได้ที่เข้ามาเยอะๆ น่าจะมาจากเวิร์กชอป ปรากฏว่าไม่ใช่ รายได้หลักยังคงมาจากหนังสือ สุดท้ายแล้วเรามองว่าทุกอย่างมันมีส่วนเกื้อหนุนกัน ลองนึกภาพว่าถ้าฟาธอมเป็นร้านขายหนังสืออย่างเดียว ก็คงมีหน้าตาอีกแบบ ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ ไม่ใช่แบบที่ลูกค้าจำเราได้ว่า อ๋อ เดี๋ยวเขามีเวิร์กชอปนะ เขามีกาแฟดริปนะ เขามีเปียโนให้นั่งเล่นได้นะ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาอยากซื้อหนังสือกับเรา

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก