ประสบการณ์เรียนรู้ของเด็กนักเรียนในบทความนี้ เกิดขึ้นในโครงงานบูรณาการ ‘ข้าวไทยภูมิปัญญาไทย’ ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2566 โรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพมหานคร โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบประสบการณ์ตรง (Experiential Learning) เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำนาในทุกๆ ขั้นตอน ผ่านการลงมือปฏิบัติ การตั้งคำถาม การสังเกต การวางแผนทดลอง การติดตาม และการดูแลการเจริญเติบโตของต้นข้าวด้วยตนเอง
ในกระบวนการทั้งหมดนี้นักเรียนต้องเผชิญสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ที่คาดไม่ถึง ส่งผลให้เกิดกระบวนการคิด การตัดสินใจ และปรับตัวเพื่อที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วจึงหาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับดูแลข้าวให้เติบโตได้ผลผลิตตามที่ตั้งเป้าหมาย กระทั่งเกิดความเข้าใจในระบบความสัมพันธ์ของธรรมชาติที่เป็นแบบองค์รวม เห็นวิธีการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์สิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยความสมดุล สะท้อนถึงภูมิปัญญาสำคัญของวิถีชีวิตชาวนาในอดีตที่เข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง
โลกการเรียนรู้ของเด็กๆ เป็นโลกแห่งจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โลกทั้งใบของพวกเขาเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความตื่นเต้น และความท้าทาย ทุกสิ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับการเรียนรู้เพื่อค้นหาความเป็นจริง วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการให้เด็กๆ เข้าใจธรรมชาติรอบตัว และค่อยๆ ค้นพบความจริงของชีวิตในประเด็นต่างๆ จากการลงมือทำและเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์เหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา ผ่านการเล่น การสังเกตและการมีปฏิสัมพันธ์
นอกจากความสนุก ความตื่นเต้นกับเรื่องราวแปลกใหม่ เด็กๆ ยังได้ฝึกรับรู้กระบวนการภายในจิตใจของตนเองอยู่เสมอ เพราะบางครั้งต้องเผชิญกับความยากลำบากที่กระทบกับร่างกายและจิตใจ ต้องเรียนรู้ที่จะอดทนกับเรื่องที่ตัวเองไม่ชอบ และต้องอยู่กับสิ่งนั้นให้ได้จนสำเร็จ ซึ่งข้อดีที่ทำให้แต่ละเรื่องไม่ใช่ปัญหาของเด็กๆ ก็คือ ความสามารถด้านการปรับตัวและยืดหยุ่น เด็กทำได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ พวกเขากล้ายอมรับความรู้สึกต่างๆ ได้ง่าย พวกเขาไม่ปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่กล้าที่จะเผชิญอย่างตรงๆ และพร้อมที่จะเข้าอกเข้าใจทุกเรื่องราวเพื่อเดินทางไปต่อในวันรุ่งขึ้น ในความหมายของเด็กๆ ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้นได้ และมีทางออก
ระหว่างดำเนินโครงการ นักเรียนชาวนา ชั้น ป.5 ได้เกิดเหตุการณ์สะท้อนถึงการเรียนรู้ที่น่าจดจำ เมื่อเด็กๆ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการไล่ฝูงนกที่กำลังรุมกินเมล็ดข้าวที่เขาปลูกขึ้น ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เด็กๆ ต้องผ่านความอดทน และความเหนื่อยยาก จนต้นข้าวที่กำลังตั้งท้องเริ่มผลิดอกออกผลสวยงามเต็มทุ่ง และอีกส่วนหนึ่งเริ่มออกเมล็ดสีเขียวอ่อนเต็มรวง ในช่วงระยะที่มีน้ำนมข้าวเต็มเมล็ด เด็กๆ ต่างดีใจที่ได้เห็นการเจริญเติบโตจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง และรอวันที่เมล็ดข้าวจะสุกพอดีในอีกไม่กี่เดือน พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว
แต่บางสิ่งเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด เด็กๆ เริ่มสังเกตเห็นฝูงนกอย่างน้อย 10 ตัว บินลงมากินเมล็ดข้าวอย่างเอร็ดอร่อยต่อหน้าต่อตา พวกเขาทุกคนรู้สึกตกใจและไม่พอใจ เพราะกลัวว่าจะไม่มีเมล็ดข้าวเหลือให้เก็บเกี่ยวในช่วงปลายปี ทุกคนร้อนใจว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ปัญหาเรื่องนกกินเมล็ดข้าวกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกคนต่างขบคิดค้นหาหนทางขับไล่นก รวมทั้งวางแผนเรียกประชุมทั้งห้องเรียนเพื่อหารือและรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมของนกจากแหล่งข้อมูลร่วมกับการเข้าไปสังเกตพฤติกรรมของนกอย่างจริงจัง ซึ่งการทำงานเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเร่งรีบ เพราะเวลาไม่รอให้ทุกคนเอาแต่คิด แต่ทุกคนต้องลงมือทำอะไรสักอย่างทันที
เด็กๆ เริ่มจับกลุ่มช่วยกันออกแบบอุปกรณ์ไล่นกในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้แสงสะท้อนเข้าตานก การทำภาพน่ากลัวให้นกตกใจ การทำหุ่นไล่กาเพื่อให้นกคิดว่ามีคนอยู่ตรงหน้า ปล่อยถุงพลาสติกให้พลิ้วไหวตามสายลมเพื่อให้นกรู้สึกว่ามีบางอย่างซ่อนอยู่ หรือการจำลองเสียงที่นกอาจรู้สึกกลัว แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามกับที่คาดการณ์ไว้ นกในเมืองคุ้นชินกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นอย่างดี พวกมันไม่รู้สึกกลัวแม้แต่น้อยแถมยังโฉบบินไปมากินเมล็ดข้าวอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทุกคนเริ่มกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น เริ่มหมดวิธีการที่จะแก้ปัญหา และเริ่มตั้งคำถามว่า “ชาวนาตัวจริงจะแก้ปัญหาอย่างไร” หากประสบปัญหานี้ ถึงแม้เด็กๆ จะเห็นมาบ้างว่าการกางตาข่ายคลุมแปลงทั้งหมดจะแก้ปัญหาได้ทันที แต่ก็มีคำถามว่า “หากต้องซื้อตาข่ายมาแก้ปัญหา จะใช่วิธีการที่ถูกต้องจริงหรือไม่” เพราะในความเป็นจริงตาข่ายมีราคาค่อนข้างสูง
เด็กทุกคนตระหนักดีว่าการใช้เงินไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากชาวนาจริงๆ ไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าตาข่ายในราคาอย่างน้อย 20,000 บาท และเมื่อเทียบกับผลผลิตภาพรวมที่จะเกิดขึ้น โดยลองคำนวณราคาข้าวเปลือกตามราคากลางยิ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะถือว่าแพงเกินไปสำหรับการลงทุน ความรู้สึก “ย้อนแย้ง” ภายในจิตใจเด็กนักเรียนเริ่มเกิดทางเลือกขึ้นระหว่างความเป็นจริงของชีวิต กับปัญหาที่ต้องแก้ไข เด็กเริ่มคุยกันอย่างจริงจังที่จะหาข้อยุติกับเรื่องนี้ จนถึงขั้นยอมรับความเป็นจริงที่ว่า “คงต้องปล่อยให้นกกินข้าวจนหมดแปลงก็ไม่เสียหายเท่าซื้อตาข่าย” หรือ “แบ่งเวลายอมเสียช่วงการเรียนเพื่อมาเฝ้าดูนกในนา” เด็กๆ เริ่มเข้าใจความยุ่งยากในชีวิตจริงของอาชีพชาวนา ซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย ต้องดิ้นรนด้วยตนเองเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาปากท้องโดยที่ก่อนหน้านี้เด็กๆ แทบไม่เคยเข้าใจมาก่อน รวมถึงการตัดสินใจเพื่อจะรักษาสิ่งที่สำคัญบางอย่างไว้ พร้อมกับการยินยอมที่จะสูญเสียบางอย่าง เป็นสิ่งที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจ ถือเป็นอีกเรื่องที่ทุกคนได้เรียนรู้
“ยอมให้นกกินทั้งทุ่ง หรือต้องมุ่งหาเงินหมื่น”
แม้ปัญหาจะใหญ่มากสำหรับเด็ก แต่สิ่งที่เห็นคือทุกคนไม่ยอมทิ้งปัญหาให้ผ่านไปง่ายๆ เด็กๆ รับรู้ว่าสุดท้ายคำตอบคงเป็นการเสียสละอะไรสักอย่างเพื่อให้ปัญหาคลี่คลาย และมีหัวใจที่พร้อมจะยอมรับได้เนื่องจากในทุกกระบวนการทุกคนรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจถ่องแท้ด้วยตนเอง เพราะการเรียนรู้เช่นนี้ผลลัพธ์ที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่คำตอบอันสวยงาม แต่เป็นความเติบโตของเด็กๆ ที่เริ่มเข้าใจความจริงของชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น
ด้วยความพยายามในการเรียนรู้ของเด็กๆ ครูได้แจ้งข่าวดีว่า ผู้ใหญ่ใจดีหลายคนมองเห็นและซาบซึ้งกับความพยายาม จึงมอบตาข่ายขนาดใหญ่ไว้กันนกให้กับนาของทุกคน ความหวังเริ่มกลับมา ทุกคนมีความสุขกับข่าวดีนี้ เหมือนกับได้ของขวัญล้ำค่าที่ช่วยให้ต้นข้าวของเด็กๆ ได้เติบโตเพื่อเก็บเกี่ยวอีกครั้ง ในวันที่รับตาข่าย สายตาทุกคนแสดงถึงความรู้สึกยินดี ต่างช่วยกันถือตาข่ายและช่วยกันกางอย่างตั้งใจแม้แสงแดดจะร้อนเพียงใด
เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน มีอุปสรรคให้พิสูจน์ตัวเองอยู่เสมอ แต่สิ่งสำคัญคือการยอมรับความเป็นจริงและเรียนรู้ที่จะเผชิญกับมันอย่างมีสติ มีความยืดหยุ่น และต้องก้าวไปข้างหน้า แม้จะต้องเจอความยากลำบากก็ตาม.