บรรณารักษ์มักตั้งคำถามว่าห้องสมุดจะมีบทบาทอย่างไรเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งๆ ที่ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างไม่มีขีดจำกัดผ่านทางคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน พวกเขาอาจไม่ต้องการห้องสมุดอีกก็เป็นได้ แท้จริงแล้ว การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะไม่มีความหมายใดเลย ถ้าคนเราปราศจากทักษะการรู้สารสนเทศและสื่อ (Information and media literacy) หรือไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและสิ่งหลอกลวง เพราะสารสนเทศที่ผิดพลาดย่อมไม่มีวันตอบโจทย์ได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ในจุดนี้ ห้องสมุดสามารถเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการเรียนรู้การใช้งานสารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณและเป็นนักอ่านที่มีคุณภาพ
ข่าวปลอมคืออะไร
ข่าวปลอม (fake news) คือข่าวที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดและไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง แตกต่างจากข่าวเสียดสี (satire news) ซึ่งดัดแปลงข้อมูลเพื่อมุ่งสร้างอารมณ์ขันให้กับผู้อ่าน ข่าวปลอมจงใจให้สารสนเทศที่ผิดพลาด ไม่ใช่เพื่อความชวนหัว แต่หวังผลประโยชน์จากความเข้าใจผิดนั้น ผู้ขาดทักษะในการจำแนกข้อเท็จจริง มีโอกาสถูกยั่วยุให้หลงเชื่อข่าวปลอมได้ง่ายๆ
ข่าวปลอมไม่ได้เป็นประเด็นใหม่สำหรับสังคม มันถูกใช้มายาวนานในสงครามหรือเกมความขัดแย้งในแต่ละยุคสมัย ทว่านับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นต้นทางสำคัญของสารสนเทศ ทำให้คนทั่วไปสามารถสร้าง บริโภค และแชร์ข้อมูล งานผลิตเนื้อหาจึงไม่ได้ถูกจำกัดจำเพาะหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวที่เป็นทางการอีกต่อไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่ทุกคนต่างก็สามารถเป็นผู้สร้างข่าวไวรัลทางทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กได้ ผลก็คือข่าวสารนั้นอาจจะจริงหรือเท็จก็ได้
นิวยอร์กไทมส์ได้นำเสนอกรณีศึกษาถึงข่าวปลอมชิ้นหนึ่งที่ถูกทำให้เตลิดไปไกลได้ง่ายๆ ข่าวชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ปี 2016) เพียงหนึ่งวัน เมื่อ อีริค ทัคเกอร์ (Eric Tucker) ชายซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์เพียง 40 คนได้ทวีตภาพรถบัสซึ่งเขาเป็นคนขับ โดยระบุว่ารถคันนี้กำลังพาผู้ต่อต้าน โดนัลด์ ทรัมป์ นับร้อยคนไปยังเมืองออสติน ทวีตนี้ถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วและถูกหยิบไปนำเสนอในสื่อกระแสหลัก ต่อมาทัคเกอร์ให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่ได้ยืนยันอย่างชัดเจนจริงจังว่าผู้โดยสารรถคันนี้เป็นผู้ที่ต่อต้านทรัมป์ เพียงแค่คิดไปเองว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ความจริงก็คือคนในรถกำลังเดินทางไปประชุมที่ออสตินเท่านั้นเอง ต่อมาทัคเกอร์ได้ลบทวีตของเขา แต่มันได้ก่อให้เกิดความแตกตื่นกับผู้คนวงกว้างเสียแล้ว
เป็นเรื่องง่ายมากที่ใครสักคนหนึ่งจะสร้างและแชร์ข่าวปลอมออกไป แต่การสร้างความตระหนักว่าเรื่องราวเหล่านั้นถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง กลับเป็นเรื่องยากเย็นกว่าหลายเท่า เพราะผู้คนมากมายยังคงเดินหน้าแชร์เรื่องราวลวงๆ ออกไป แม้ว่ามันจะไม่มีการระบุถึงแหล่งที่มาอันน่าเชื่อถือก็ตาม
แรงจูงใจให้คนสร้างข่าวปลอม
ข่าวปลอมหลายแหล่งมีความเชื่อมโยงกับเรื่องผลประโยชน์ทางการเงิน สิ่งพิมพ์สมัยก่อนอาจเขียนข่าวพาดหัวให้หวือหวาเพื่อเพิ่มยอดขาย เว็บไซต์สมัยนี้ใช้วิธีออกแบบหัวเรื่องให้เร้าความรู้สึกเพื่อเพิ่มยอดคลิกหรือที่เรียกว่าคลิกเบต (clickbait) ยิ่งมียอดคลิกมากเท่าไหร่ เนื้อหาถูกแชร์ออกไปมากเท่าไหร่ ล้วนหมายถึงค่าลงโฆษณาที่เพิ่มสูงขึ้น
วอชิงตันโพสต์รายงานว่าเว็บไซต์ข่าวปลอมบางแห่งสามารถสร้างรายได้กว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยการใช้ Google AdSense มีการสัมภาษณ์คนหนุ่มสาวในมาเซโดเนียที่เคยทำงานให้แหล่งข่าวเท็จ พวกเขาให้ข้อมูลว่ามันช่วยสร้างรายได้ไม่น้อยในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
ข่าวที่พาดหัวให้คนตื่นตระหนกเข้ากันได้ดีกับโซเชียลมีเดีย เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เนื้อหาถูกแชร์และไลค์แล้วมีผู้ดูจำนวนมาก Pew Research Center สำรวจเมื่อปี 2016 พบว่า 79% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ซึ่ง 76% มักใช้งานทุกวัน และ 55% โพสต์เนื้อหาวันละหลายครั้ง คนในวัยผู้ใหญ่มากกว่าครึ่งหนึ่งใช้โซเชียลมีเดียมากกว่า 1 ช่องทาง เช่น อินสตาแกรม พินเทอเรส และลิงก์อิน
โซเชียลมีเดียในฐานะแหล่งข่าว
ผู้คนไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแชร์รูปภาพส่วนตัวและอัปเดตเรื่องราวเท่านั้น หลายคนใช้โซเชียลมีเดียเป็นทางเลือกในการอ่านข่าวสารหรือรับชมข่าวภาคค่ำ ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของ Pew Research Center ผู้ใหญ่จำนวน 62% รับข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 49% จากปี 2012 บ่งชี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้านการใช้งานและบริโภคข่าวสารในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี การพาดหัวข่าวออนไลน์จำนวนมากจงใจปลุกปั่นปฏิกิริยาในเชิงความรู้สึก เช่น ความกลัว ความตกใจ และความเกลียดชัง บ้างก็เต็มไปด้วยอคติ มีความเกินจริง หรือไร้ความจริงโดยสิ้นเชิง
ข่าวปลอมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของสื่อ ดังกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 สังคมอเมริกันได้ตั้งคำถามต่อความตรงไปตรงมาของสำนักข่าว การหาเสียงของทรัมป์ถูกจับตาว่ามีการแทรกแซงสื่อ และเคเบิลทีวีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้เวลาออกอากาศเพื่อนำเสนอเรื่องไม่เป็นเรื่อง ขณะที่นำเสนอประเด็นที่เป็นสาระทางการเมืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ข้อจำกัดของสื่อกระแสหลักผลักให้คนจำนวนมากหันไปชื่อถือแหล่งข่าว ‘ที่ไม่เปิดเผยตัวตน’ (underground news source) ซึ่งอาจให้ข่าวตรงข้ามกับข่าวทางโทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ แหล่งข่าวทางเลือกได้ให้ความรู้สึกใกล้ชิดและสื่อสาร ‘เรื่องที่ไม่ถูกพูดถึง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักมองข้าม
ภูมิทัศน์ ‘หลังความจริง’
การขาดความเชื่อมั่นในข่าวสารได้สร้างสิ่งที่เรียกว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองแบบ “หลังความจริง” (post-fact) สถานีวิทยุสาธารณะแห่งชาติ (National Public Radio – NPR) ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ความเชื่อมั่นในการตรวจสอบความจริงลดต่ำลง มีเพียง 24% ของผู้มีความรู้ทางการเมืองต่ำที่สนใจจะตรวจสอบข้อเท็จจริง แม้แต่ผู้ที่ความรู้ทางการเมืองสูง ก็มีเพียง 46% ที่แสวงหาข้อมูลมาอ่านเพิ่มเพื่อสอบทานข้อเท็จจริง
การไม่ใส่ใจกับความจริงนั้นเป็นปรปักษ์อย่างร้ายแรงกับข้อมูลสถิติ (มากเสียยิ่งกว่าตัวความเท็จเอง) ในรายการพอดแคสต์หัวข้อ “ชีวิตแบบอเมริกัน” อเล็กซ์ นาวราเซ็ธ (Alex Nowraseth) ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้ายถิ่นฐานของสถาบัน CATO (องค์กรคลังสมองของบรรณารักษ์ในวอชิงตัน ดีซี) เล่าว่าเขามักถูกเรียกว่าผู้ทรยศหรือผู้โป้ปด เมื่อเขานำเสนอสถิติว่าสหรัฐอเมริกามีผู้อพยพผิดกฎหมายลดลง เพราะข้อมูลนี้สวนทางกับประเด็นซึ่งนิยมนำมาหาเสียง และมันกลับกลายเป็นว่า สถิติต่างๆ จากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ถูกตีความว่าเป็นเครื่องมือที่ถูกนักการเมืองซื้อ และผู้ที่มีบุคลิกแบบไม่เชื่อใครง่ายๆ มีโอกาสถูกผลักออกไปจากการเป็นแหล่งข่าวที่เสนอความจริง
ห้องสมุดควรมีบทบาทอย่างไร
การคลี่คลายข่าวปลอมเป็นงานใหญ่ซึ่งไม่มีทางออกที่ง่ายดายนัก แต่ห้องสมุดประชาชนจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งในการหาคำตอบ ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนของชุมชน สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการรู้สารสนเทศและสื่อ (Information and media literacy) รวมทั้งสร้างกรอบความคิดใหม่เกี่ยวกับการสืบค้นอินเทอร์เน็ต
ในการเริ่มต้นก้าวแรก ห้องสมุดจำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาชุมชน ที่ผ่านมาห้องสมุดเน้นบทบาทในการจัดกิจกรรมและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้มีภาพลักษณ์เชิงบวกอยู่แล้ว มีผลสำรวจว่าชาวอเมริกันเห็นด้วยว่าห้องสมุดมีความสำคัญ โดย 77% เชื่อว่าห้องสมุดมีความสำคัญในการเป็นผู้จัดหาแหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือ และ 66% รู้สึกว่าการปิดห้องสมุดจะส่งผลกระทบทางลบต่อชุมชน
จากบทบาทเดิม ห้องสมุดควรก้าวไปสู่บทบาทในการสื่อสารที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความต้องการ ความกลัว และแรงบันดาลใจของผู้คน โดยสร้างการรับรู้ให้แก่ชุมชนว่า ห้องสมุดคือพื้นที่ซึ่งมอบสารสนเทศอันมีค่าและการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม และห้องสมุดเป็นเหมือนเพื่อนไม่ใช่หน่วยงานที่คอยให้การอุปถัมภ์
นอกจากการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ห้องสมุดจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เช่นในช่วงที่สังคมกำลังตื่นตัวเรื่องการเลือกตั้ง การอภิปรายเรื่องดังกล่าวอาจทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่สังคมก็จำเป็นต้องมีพื้นที่พูดคุยกันอย่างปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายบนพื้นฐานของการยอมรับในความแตกต่างทางความคิด
ห้องสมุดควรสนับสนุนให้เกิดพื้นที่เช่นนี้โดยไม่มีข้อแบ่งแยกกีดกันด้านการเมือง ศาสนา เพศ วัย เชื้อชาติ ฯลฯ เมื่อผู้คนรู้สึกปลอดภัยและรับรู้ว่าเสียงหรือความคิดเห็นของเขาจะถูกรับฟังอย่างเคารพ ขณะเดียวกันก็รู้จักฟังเสียงหรือความเห็นของผู้อื่นอย่างเคารพอดกลั้นเช่นกัน พวกเขาก็จะไม่เอนเอียงไปกับข่าวปลอมง่ายๆ และรู้จักหาเหตุผลจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ อย่างหลากหลายรอบด้าน เพื่อนำไปอภิปรายถกเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์
ข่าวปลอมสามารถเกิดขึ้นได้ไม่สิ้นสุด ถ้าผู้อ่านขาดทักษะการรู้สารสนเทศและสื่อย่อมไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างความจริงกับเรื่องที่ถูกแต่งเติม ผู้สร้างข่าวปลอมมีสารพัดกลวิธีหลอกลวงและมีช่องทางปล่อยข่าวมากมาย เช่น http:///abcnews.com.co/ ใช้ URL ที่คล้ายกับแหล่งข่าวต้นฉบับ มีการลอกโลโก้ และก็อปปี้ข่าวบางส่วนมาจากต้นทางแล้วเติมความคิดเห็นบางอย่างเข้าไป
เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานถึงการสำรวจกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเกือบ 8,000 คน พบว่ากว่า 82% ไม่สามารถแยกแยะระหว่างการโฆษณาผ่าน ‘เนื้อหาที่ได้รับการสนับสนุน’ กับเรื่องราวข่าวจริงในเว็บไซต์ การเลื่อนอ่านฟีดข่าวทางโซเชียลมีเดียมีความเสี่ยงมากกว่าการอ่านบทวิเคราะห์จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ห้องสมุดจะส่งเสริมให้ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรุ่นเยาว์ รู้จักตั้งคำถามต่อสารสนเทศที่สืบค้นได้ทางอินเทอร์เน็ต และสามารถพิจารณาหรือสืบค้นแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้
แม้ว่าห้องสมุดจะมีพันธกิจในการสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการค้นพบสารสนเทศที่ต้องการ แต่เหนือไปกว่านั้นคือการแนะนำฐานข้อมูลและส่งเสริมทักษะการคิดวิพากษ์แหล่งข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีกลยุทธ์ใหม่ในการแสวงหาสารสนเทศ เพราะบ่อยครั้งผู้ใช้บริการก็มิได้ตระหนักถึงทางเลือกในการสืบค้นอื่นๆ นอกเหนือไปจากกูเกิล
แม้ว่าการสำรวจทั่วไปจะระบุว่าห้องสมุดยังคงอยู่ในใจของผู้คน แต่ปัจจุบันมีชาวอเมริกันเพียง 48% เท่านั้นที่ยังเข้าห้องสมุด ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่ซึ่งมั่นใจได้ว่าเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลอันเชื่อถือได้ แน่นอนว่าห้องสมุดคงไม่สามารถดูแลข้อมูลออนไลน์ที่เกิดขึ้นมากมายมหาศาลในโลกดิจิทัลได้ทั้งหมด แต่การสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างพื้นที่ปลอดภัย และให้ความรู้แก่ผู้ใช้บริการ ล้วนมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับข่าวปลอม และในบางครั้งการออกมามีส่วนร่วมช่วยแก้ไขข่าวปลอมหรือช่วยสร้างความกระจ่างให้แก่สังคม ก็มีความสำคัญไม่น้อยด้วยเช่นเดียวกัน
ที่มา
Public Libraries in the Age of Fake News [Online]