จับจ้องมองสิทธิสตรีอิหร่าน ผ่านศิลปะบาทวิถีบนพื้นที่สาธารณะ

1,121 views
7 mins
March 2, 2023

          สตรี ชีวิต เสรีภาพ

          นี่คือสามคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจหลายต่อหลายครั้ง หนึ่งในเหตุการณ์เหล่านั้น คือการเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี (Mahsa Amini) หญิงสาวชาวอิหร่านวัย 22 ปีที่ถูก “ตำรวจศีลธรรม” ในอิหร่านจับกุมตัวไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2022 โดยอ้างว่าเธอทำผิดกฎการสวมฮิญาบที่ต้องไม่มีเส้นผมหลุดออกมานอกผืนผ้า

          อามินีถูกควบคุมตัวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา นำไปสู่การประท้วงของเหล่าประชาชนนับแสน และบรรดาผู้หญิงชาวอิหร่านที่ออกไปเผาผ้าคลุมศีรษะ ณ กรุงเตหะราน ผู้ประท้วงที่มีทั้งเด็กและผู้หญิงถูกปราบปรามอย่างไร้มนุษยธรรมจนถึงขั้นเสียชีวิตจากการสั่งการของรัฐบาลอิหร่าน นำมาสู่เสียงต่อต้านการลิดรอนสิทธิสตรีอย่างทารุณโหดร้ายจากทุกมุมโลก

          แคมเปญ Women, Life, Freedom จึงก่อเกิดขึ้น เป็นการรณรงค์ผนึกกำลังต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงชาวอิหร่าน โดยการส่งจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติถอดสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านออกจากคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women – CSW) ไปจนถึงรวบรวมรายชื่อเจ้าของรางวัลโนเบล  นักข่าว นักเขียน นักเคลื่อนไหว และนักการเมืองระดับโลกมากมาย เช่น ฮิลลารี คลินตัน หรือมิเชลล์ โอบามา 

          โปรเจกต์ “Art Activation” ที่มีเป้าหมายชัดเจนอย่าง #EyesOnIran เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Women, Life, Freedom ศิลปินระดับโลกที่ทำงานสร้างสรรค์หลากรูปแบบ มาร่วมกันจัดแสดงงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ และผลักดันนโยบายไปพร้อมกับนักเคลื่อนไหวชาวอิหร่านที่เสี่ยงชีวิตต่อสู้ให้ได้สิทธิมนุษยชนกลับคืนมา

          ผู้คน ศิลปิน จะผสานกำลังกันแสดงออกถึงความสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ แล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร #EyesOnIran เป็นประจักษ์พยานของความสำเร็จนั้น

แกะรอยดวงตาแห่งการเรียกร้องเสรีภาพ

          ย้อนไปเมื่อเดือนตุลาคม 2022 แคมเปญ Woman Life Freedom เริ่มลงโฆษณาเผยแพร่หนังสือเรียกร้องใน The New York Times ว่าด้วยการลงนามของผู้นำสตรีทั่วโลกมากกว่า 14 ประเทศ เช่น ฮิลลารี คลินตัน ที่เรียกร้องให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติถอดสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านออกจากคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีอย่างชัดเจนที่กล่าวไปข้างต้น 

          และในวันเดียวกันนั้นเอง จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) อดีตประธานาธิบดีนิวซีแลนด์ คริสเทีย ฟรีแลนด์ (Chrystia Freeland) รองนายกรัฐมนตรีของแคนาดา และผู้ลงนามอีกนับแสนคนก็ร่วมลงชื่อกันในหนังสือเรียกร้อง เพราะเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่รัฐบาลอิหร่านยังคงถูกประณามจากคนในชาติและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

          หลังจากนั้น พื้นที่สาธารณะและพิพิธภัณฑ์ เป็นสื่อในการขับเคลื่อนขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างแข็งขัน ตลอดทั้งเดือน Anonymous Art Collective เดินขบวนประท้วงที่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ (Guggenheim) ในเดือนพฤศจิกายน เหล่านักเคลื่อนไหวเดินขบวนประท้วงบริเวณพิพิธภัณฑ์ศิลปะเขตลอสแอนเจลิส (Los Angeles County Museum of Art) งานสัปดาห์ศิลปะไมอามี (Miami Art Week) และแคมเปญระดับโลก 16 Days of Activism against Gender-Based Violence  ถูกจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ส่วนนิวยอร์กซึ่งเป็นพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์การยืนหยัดเพื่อเสรีภาพและเป็นที่ตัั้งของพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง  ศิลปินและประชาชนจึงสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นในการแสดงออกเพื่อขยายข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงชาวอิหร่าน 

          วันที่ 28 พฤศจิกายน โปรเจกต์  #EyesOnIran เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่ สวนสาธารณะแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ โฟร์ ฟรีดอมส์ (Four Freedoms Park on Roosevelt Island) เพื่อสื่อสารว่าโลกกำลังจับตามองความหาญกล้าของพลเมืองอิหร่าน ผู้ออกมาต่อสู้เพื่ออิสรภาพท่ามกลางอันตรายที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้เซ็นเซอร์การเรียกร้อง และพยายามจะทำให้โลกมืดบอดต่อการเคลื่อนไหวทั้งหลาย

          ทำไมถึงต้องเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน?

          คำตอบคือ วันนี้เป็นวันครบรอบการประชุมเตหะราน (Tehran Conference) ในปี 1943 ที่ผู้นำ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) และวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) สามพันธมิตรใหญ่มาร่วมวางยุทธศาสตร์ เพื่อคงไว้ซึ่งอิสรภาพ อธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน (Territorial Integrity) ของอิหร่าน

          แคมเปญ Woman, Life, Freedom จึงยึดวันนี้เป็นวันปักหมุดหมาย เปิดตัวการเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวอิหร่านที่ทั้งโลกมีร่วมกัน

จับจ้องมองสิทธิสตรีอิหร่าน ผ่านศิลปะบาทวิถีในพื้นที่สาธารณะ
Photo : Aphrodite Désirée Navab/ For Freedoms

ดวงตาคือหน้าต่างของการต่อสู้ทั้งบนพื้นดินและผืนฟ้า

          ดวงตา คือองค์ประกอบที่สำคัญของงานศิลปะในครั้งนี้

          นิทรรศการ EyesOnIran นำผลงานศิลปะรูปดวงตาของศิลปินชาวอิหร่าน มาขยายสเกลให้รับรู้กันถ้วนทั่วด้วยเทคนิคใหม่ ดวงตาทั้งเล็กและใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในโปรเจกต์ศิลปะเพื่อเรียกร้องสิทธิ ถูกออกแบบให้ปรากฎตามจุดต่างๆ ในสวนสาธารณะตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม

          นอกจากองค์กร Vital Voices Global Partnership ซึ่งทำงานขับเคลื่อนด้านผู้นำสตรี และกลุ่มศิลปะเพื่อเสรีภาพ พาร์ตเนอร์สำคัญในการให้พื้นที่ คือสวนแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ โฟร์ ฟรีดอมส์ และสำนักงานจัดการสวนสาธารณะแห่งนิวยอร์ก (The New York State Office of Parks, Recreation and Historic Preservation) ที่ทำหน้าที่ดูแลสวนสาธารณะ สถานที่ทางประวัติศาสตร์ เส้นทางธรรมชาติ หรือสนามกอล์ฟมากกว่า 250 แห่ง ต้อนรับผู้มาเยือนราวๆ 78 ล้านคนต่อปี

          Offered Eyes ผลงานรูปดวงตาอันเลื่องชื่อของชิริน เนชาต (Shirin Neshat) ศิลปินชาวอิหร่าน ถูกวาดลงไปบนขั้นบันไดในสวนแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ โฟร์ ฟรีดอมส์ ให้ประจันหน้ากับอาคารสหประชาชาติที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ เพื่อส่งสารว่า สหประชาชาติต้องตัดอิหร่านออกจากสมการของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี ทั้งพรมเปอร์เซียโปร่งใสที่ปลิวอยู่ระหว่างต้นไม้ หรืออิฐที่ถูกสลักชื่อของเหยื่อผู้ประท้วงและผู้ที่ถูกจับกุม และเสียชีวิตตั้งแต่มีการประท้วงเกิดขึ้น

#EyesonIran เมื่องานศิลป์สื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชนบนพื้นที่สาธารณะ
ผลงาน Offered Eyes
Photo : Austin Paz/ For Freedoms
จับจ้องมองสิทธิสตรีอิหร่าน ผ่านศิลปะบาทวิถีในพื้นที่สาธารณะ
พรมเปอร์เซียโปร่งใสที่ถูกตรึงไว้ระหว่างต้นไม้
Photo Shirin Towfiq/ For Freedoms
จับจ้องมองสิทธิสตรีอิหร่าน ผ่านศิลปะบาทวิถีในพื้นที่สาธารณะ
อิฐที่สลักชื่อผู้ร่วมประท้วง ผู้ถูกจับกุม จนถึงผู้เสียชีวิตตั้งแต่การประท้วงได้เริ่มต้นขึ้น
Photo : Austin Paz/ For Freedoms

          เมื่อผนวกพลังจากงานศิลปะ ผู้คน และพื้นที่ การจัดแสดงครั้งนี้จึงกลายเป็นพลังของการเรียกร้องประเด็นสิทธิมนุษยชนระดับโลก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงเกินกว่าจะกดดันสหประชาชาติได้ด้วยการจัดวางงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ การปราศรัย หรือการเรียกร้องเชิงนโยบาย แค่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

          “หลังจากถูกกดขี่หลายต่อหลายปีที่ผ่านมา การจับกุมตัวอามินีโดยตำรวจศีลธรรมอิหร่านและการเสียชีวิตของเธอ ทำให้ความโกรธแค้นของผู้หญิงอิหร่านระเบิดออกมา ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่เดินเคียงข้างกันเพื่อเรียกร้องอิสรภาพ เข้าใจดีว่าผู้หญิงคือชีวิต และชีวิตนั้นไม่ได้หมายถึงแค่การดำรงอยู่ แต่เป็นการได้รับอิสระ เราต้องผลักดันสโลแกน ‘สตรี ชีวิต อิสรภาพ’ ให้เกิดขึ้นจริงในอิหร่านและทุกที่ในโลก”

          มาห์นาซ พาราคานด์ (Mahnaz Parakand) ทนายความและนักเคลื่อนไหวในอิหร่านกล่าวถึงสถานการณ์หลังจากที่เกิดการประท้วง

          “เราภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าภาพงานศิลปะ ‘Eyes on Iran’ ที่สวนแห่งนี้ เพื่อช่วยดึงความสนใจให้ผู้ถูกกดขี่ที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา” เอริก คูลเลเซด (Erik Kulleseid) กรรมาธิการแห่งสำนักงานจัดการสวนสาธารณะแห่งนิวยอร์กกล่าว

          ด้วยสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ออกแบบโดยสถาปนิก หลุยส์ คานส์ (Louis Kahn) ผู้โดดเด่นเรื่องการใช้แสงและเงา สวนสาธารณะที่ทอดยาวยื่นออกไปบนเกาะรูสเวลต์สร้างการเล่าเรื่องที่แตกต่างในแง่ของความเป็น Cinematic หรือความเป็นภาพยนตร์ของศิลปะใดๆ ก็ตามที่จัดในพื้นที่

          ประชากรชาวนิวยอร์กและคนทั่วโลก จึงได้เป็นประจักษ์พยานแห่งการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบนี้ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2022 ที่ เจอาร์ (JR) ศิลปินชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ถึงคิวต้องจัดแสดงงานศิลปะของตน

          หากจะชมความงามของศิลปะชิ้นนี้ ต้องมองจากมุมสูง อาสาสมัครกว่า 300 คน มารวมตัวกันที่สวนแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ โฟร์ ฟรีดอมส์ เพื่อยืนอยู่กลางสนามหญ้าให้แสงสาดส่องมองเห็นเป็นเส้นเงา เสมือนเป็นเส้นผมของนิกา ชาห์การามี (Nika Shahkarami) เยาวชนหญิงวัย 16 ปี ที่เสียชีวิตในระหว่างการประท้วงที่กรุงเตหะราน แต่ละคนโบกแขนไปมาเพื่อให้เส้นผมพลิ้วไสว โดยมีเสียงของผู้เข้าร่วมพากันขานชื่อ ‘มาห์ซา อามินี’ และ ‘Zan, Zendegi, Azadi’ ที่แปลว่า สตรี ชีวิต เสรีภาพ 

          “งานศิลปะชิ้นนี้ร่วมต่อสู้ไปกับผู้หญิงอิหร่าน โดยเฉพาะเยาวชนที่กำลังกู่ร้อง ให้เสียงของผู้หญิงอิหร่านดังก้องไปถึงคนทั่วโลก เวลานี้จะเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่เป็นเครื่องสะท้อนความแข็งแกร่งของผู้หญิงอิหร่านที่อาศัยอยู่ทั่วโลก” มาวาช มอสตาลา (Mahvash Mostala) จิตรกรชาวอิหร่านกล่าว

จับจ้องมองสิทธิสตรีอิหร่าน ผ่านศิลปะบาทวิถีในพื้นที่สาธารณะ
Photo : JR

          แหงนหน้าขึ้นไปบนฟ้า แบนเนอร์ดวงตา โดยศิลปินมาวาช มอสตาลา, แฮงก์ วิลลิส โทมัส (Hank Willis Thomas) และ ไวด์ อเวกส์ (Wide Awakes) ปลิวไสวอยู่เหนือเทพีเสรีภาพเหนือชายหาดไมอามีในวันที่ 3 และ 4 ธันวาคม บริเวณดวงตามีคำว่า Women, Life, Freedom อยู่บนผืนผ้า

          หลังจากต่อสู้ด้วยงานศิลปะสร้างสรรค์บนพื้นที่สาธารณะมาหลายต่อหลายครั้ง วันที่ 14 ธันวาคม สหประชาชาติประกาศว่า มีการลงมติให้สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านถูกถอดออกจากคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี ด้วยคะแนนเสียงที่มีผู้เห็นด้วย 29 โหวต และผู้ไม่เห็นด้วย 8 โหวต

จับจ้องมองสิทธิสตรีอิหร่าน ผ่านศิลปะบาทวิถีในพื้นที่สาธารณะ
Photo : For Freedoms


ที่มา

บทความ “”Woman Life Freedom” Banner Flies Across New York City” จาก hypebeast.com (Online)

บทความ “#EyesOnIran” จาก womanlifefreedom.today (Online)

บทความ ““Woman, life, freedom!” an activist continues her fight for women’s rights” จาก ohchr.org (Online)

บทความ “Eyes on Iran at FDR Four Freedoms Park Looks to the UN” จาก architecturalrecord.com (Online)

บทความ “Public Art Installation Opens in Solidarity With Iranian Protesters” จาก smithsonianmag.com (Online)

บทความ “VITAL VOICES LEADERS ON HAND TO UNVEIL “EYES ON IRAN” ART EXHIBIT IN NEW YORK” จาก vitalvoices.org (Online)

บทความ “Woman, Life, Freedom” จาก jr-art.net (Online)

วิดีโอ “ AS SEEN ON” จาก nbcnewyork.com (Online)

เว็บไซต์ Four Freedoms Park Conservancy (Online)

Cover Photo : JR

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก