แต่ละปี หนังสือคลาสสิกขึ้นหิ้งของนานาประเทศกลายมาเป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain) มากขึ้นเรื่อยๆ หนังสือเหล่านี้นับว่าเป็นสมบัติทางภูมิปัญญาและมรดกวัฒนธรรมที่เราสามารถเข้าถึง นำมาใช้งานและเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ในปีนี้ประเทศสหรัฐอเมริกามีวรรณกรรมจากนักเขียนชื่อดังเพิ่มเข้ามาหลายเรื่อง เช่น Orlando: A Biography ของ Virginia Woolf, Lady Chatterley’s Lover ของ D.H. Lawrence, The Mystery of the Blue Train ของ Agatha Christie และ Millions of Cats ของ Wanda Gág
หากใครต้องการนำผลงานที่เป็นสาธารณสมบัติมาเผยแพร่ต่ออาจต้องตรวจสอบให้ดี เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์ในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน เช่น ที่สหรัฐอเมริกาผลงานจะกลายเป็นสาธารณสมบัติหลังจากเผยแพร่แล้ว 95 ปี ขณะที่ในสหราชอาณาจักรผลงานจะกลายเป็นสาธารณสมบัติหลังจากเจ้าของผลงานเสียชีวิตเป็นเวลา 70 ปี ดังนั้น แม้ว่าผลงานหลายเล่มของ Agatha Christie จะกลายเป็นสาธารณสมบัติไปแล้วในสหรัฐอเมริกา แต่ในสหราชอาณาจักรผลงานของเธอจะกลายเป็นสาธารณสมบัติในปี 2047
การกลายเป็นสาธารณสมบัติก่อให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ในวงการศิลปะและวรรณกรรม ผู้ใดก็ตามสามารถเข้าถึงผลงานคลาสสิกเหล่านี้ได้อย่างไร้ข้อจำกัดทางกฎหมาย นอกจากเป็นการส่งเสริมให้ผลงานคลาสสิกคงอยู่คู่วงการวรรณกรรมต่อไป ยังมีโอกาสนำมาสร้างแรงบันดาลใจ ต่อยอดผลงานเดิม เพิ่มเติมไอเดียร่วมสมัยจนอาจเกิดเป็นผลงานใหม่ที่หลากหลายแหวกแนวก็เป็นได้
คำว่า ‘ต่อยอด’ หมายถึง เรียบเรียงและเล่าใหม่ ปรับใช้คำศัพท์ให้เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น ปรับปรุงผลงานหรือนำเสนอในรูปแบบที่ต่างออกไป เช่น นำนวนิยายมานำเสนอใหม่ในรูปแบบของละครเวที ซีรีส์ หรือหาวิธีเล่าเรื่องใหม่ในจักรวาลคู่ขนานก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น นวนิยายเรื่อง Pride and Prejudice ของ Jane Austen ซึ่งตีพิมพ์ไว้ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นผลงานที่ถูกนำมาปรับปรุงและต่อยอดอยู่บ่อยครั้ง เวอร์ชันที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง ได้แก่ ซีรีส์ชื่อดังทางช่อง BBC ของอังกฤษในปี 1995 และเวอร์ชันภาพยนตร์ในปี 2005
แต่ผลงานที่น่าสนใจในความฉีกกรอบ คือการนำ Pride and Prejudice มาเล่าใหม่ ในรูปแบบไดอารีชีวิตมหาวิทยาลัยของนักศึกษาสาวทางช่อง YouTube ในชื่อ The Lizzie Bennet Diaries ที่แม้จะถูกนำเสนออย่างแตกต่าง แต่ก็ยังคงลักษณะสำคัญๆ ของตัวละครดั้งเดิมเอาไว้ได้ ผลงานชิ้นนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการนำตัวละครจากนวนิยายคลาสสิกมานำเสนอใหม่ในรูปแบบ Vlog อีกหลายต่อหลายชิ้น
นอกจากนี้ยังมี Pride and Prejudice and Zombies ที่เล่าเรื่องตัวละครผ่านเหตุการณ์ผีดิบอาละวาดในศตวรรษที่ 19 แห่งดินแดนผู้ดีอังกฤษ ซึ่งเผยแพร่ทั้งในรูปแบบนิยายเมื่อปี 2009 และรูปแบบภาพยนตร์เมื่อปี 2016
แม้ว่าศิลปินจะสามารถสร้างสรรค์และต่อยอดจากผลงานที่เป็นสาธารณสมบัติได้หลากหลายแนวทาง แต่ก็ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะสิ่งที่ไม่สามารถทำได้อย่างเด็ดขาดคือการคัดลอก นำเสนอ ดัดแปลงโดยไม่อ้างอิงถึงเจ้าของผลงาน หรือกล่าวอ้างว่าเป็นผลงานของตนเอง สิ่งที่ควรระวังอีกประการคือ แม้ว่าเราสามารถนำผลงานสาธารณสมบัติเหล่านี้ไปใช้ได้โดยเสรี แต่ก็อาจมีองค์ประกอบบางส่วนของชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้า (Trademark) เช่น ตราสัญลักษณ์ของสำนักพิมพ์ ซึ่งถือว่าเป็นคนละส่วนกับผลงาน อาจมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ตามกฎหมาย
หากสนใจจะลองอ่านผลงานที่เป็นสาธารณสมบัติ สามารถเข้าไปค้นหาได้ที่
Project Gutenberg: https://www.gutenberg.org
Open Library: https://openlibrary.org
Hathi Trust: https://www.hathitrust.org
Internet Archive: https://archive.org/details/books
ที่มา
บทความ “Public domain books 2023 and 2024” จาก mwediting.com (Online)
บทความ “Literary works given new life in public domain” จาก opensource.com (Online)
บทความ “Public Domain Copyright Rules – US and UK Criteria Explained” จาก publicdomainimagelibrary.com (Online)