“นี่คือเมืองที่มีส่วนในการสร้างวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นเหลือเกิน”
ปี 2019 ยูเนสโกนิยามถึงเอ็กซิเตอร์ (Exeter) เมืองทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษไว้ ในวาระที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN)’ ที่มุ่งสร้างเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการระหว่างผู้คนกับเมือง อันจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเมืองในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรม
ทั่วทั้งโลกมีเมืองที่ถูกเลือกให้เป็นเมืองแห่งวรรณกรรมเพียง 53 แห่งจาก 34 ประเทศใน 6 ทวีป และเอ็กซิเตอร์ เมืองขนาดเล็กที่มีประชากรเฉลี่ย 134,939 ราย ก็ถูกเลือกให้ร่วมขบวนเมืองที่จะส่งเสริมจินตนาการและวัฒนธรรมของยูเนสโกกับเขาด้วย
เอ็กซิเตอร์ยังถือเป็น ‘บ้านเกิด’ ของนักเขียนระดับโลกหลายคน เช่น อกาธา คริสตี (Agatha Christie) เจ้าของงานประพันธ์เชิงสืบสวนสอบสวนอันเลื่องชื่ออย่าง And Then There Were None เท็ด ฮิวจ์ส (Ted Hughes) เจ้าของบทกวีนิพนธ์เรื่อง Crow หรือ The Iron Man รวมทั้ง ไมเคิล มอร์พูร์โก (Michael Morpurgo) ผู้ประพันธ์วรรณกรรมสงครามมหากาพย์ War Horse และ ฮิลารี แมนเทล (Hilary Mantel) นักเขียนหญิงเจ้าของงานไตรภาค The Wolf Hall ที่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์ด้วยชื่อเดียวกันออกอากาศทางช่อง BBC Two
ไม่เพียงเท่านั้น หนังสือ Exeter ที่รวบรวมบทกวีแองโกล-แซกซันเก่าแก่ เชื่อกันว่าถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 10 ก็ถูกอนุรักษ์ไว้ในห้องใต้ดินของอาสนวิหารเอ็กซิเตอร์ และได้รับการรับรองจากยูเนสโกในฐานะ ‘หนังสือซึ่งเป็นเสมือนรากฐานของงานวรรณกรรมภาษาอังกฤษ’ และ ‘หนึ่งในหลักฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก’
ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับงานวรรณกรรมอาจทำให้เมืองเล็กๆ อย่างเอ็กซิเตอร์โดดเด่นก็จริง แต่มากไปกว่านั้น นี่คือภารกิจในการสานต่อความยิ่งใหญ่ด้านงานเขียนและความคิดสร้างสรรค์ในฐานะ ‘เมืองวรรณกรรม’ ต่างหากล่ะ!

เมืองแห่งวรรณกรรม
ไม่ว่าคุณจะเขียนหนังสือหรือไม่ แต่ถ้าเป็นคนสนใจงานวรรณกรรม บทกวีตลอดจนข้อเขียนสารพัดรูปแบบ เอ็กซิเตอร์พร้อมต้อนรับคุณในฐานะมิตรรักนักอ่าน ชนิดว่าหากเท้าเหยียบถนนสักข้างในตัวเมืองก็รับรองได้ว่าวันนั้นจะไม่เปลี่ยวเหงา เพราะเอ็กซิเตอร์หยิบยื่นกิจกรรมมากมายให้ได้เลือก ตั้งแต่ไปเยือนอาสนวิหารอันเป็นที่พำนักของงานเขียนขรึมขลัง รวมทั้งห้องสมุดขนาดยักษ์ที่มีชั้นวางหนังสือความยาวกว่าหนึ่งกิโลเมตร จนได้ชื่อว่าเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลเดวอน ที่เก็บต้นฉบับงานเขียนจากยุคกลางและสื่อสิ่งพิมพ์โบราณไว้ ยังไม่รวมหนังสือและสิ่งพิมพ์ร่วมสมัย ทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งถ้าใครอยากค้นคว้าหรือสนใจงานเขียนชนิดไหน ห้องสมุดก็พร้อมอ้าแขนรับให้ ทั้งยังมีพื้นที่สำหรับเวิร์กชอปทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับงานเขียน หรือถ้าใครต้องการคาเฟอีน ห้องสมุดก็พร้อมสนองด้วยคาเฟ่กว้างขวาง
นอกจากนี้ เอ็กซิเตอร์ยังโอบรับผู้มาเยือนที่เป็นศิลปินและนักประวัติศาสตร์ ด้วยพิพิธภัณฑ์หอศิลป์รอยัล อัลเบิร์ต (Royal Albert Memorial Museum & Art Gallery) แหล่งรวมงานหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญหลากหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะสัตววิทยามานุษยวิทยาวิจิตรศิลป์โบราณคดี ฯลฯ
ภายในเมืองยังมีสถาบันเดวอนและเอ็กซิเตอร์ (The Devon & Exeter Institution) อันเก่าแก่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1813 มีเป้าประสงค์เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและวรรณกรรม ตลอดจนศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการเมือง วัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
แผนที่และภาพเขียนของมณฑลเดวอนและเมืองเอ็กซิเตอร์ นับเป็น ‘หัวใจ’ สำคัญสำหรับนักอ่านหรือผู้สนใจงานเขียนที่ต้องมาเยือนให้ได้ นอกจากนี้เมื่อปี 1849 มันยังเป็นสถานที่ทำงานแห่งแรกของ อลิซา สควอนซ์ (Eliza Squance) บรรณารักษ์หญิงคนแรกของประเทศอีกด้วย
หรือถ้าใครอยากเรียกเหงื่อ เอ็กซิเตอร์ก็เชื้อเชิญให้คุณร่วมปั่นจักรยานเลียบเมืองหรือพายเรือลำน้อยในสวนสาธารณะ
ถ้าจุดแข็งของเมืองคือการออกแบบระบบที่ ‘สร้าง’ เหล่านักเขียนและนักอยากเขียน รวมถึงมีเครือข่ายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ตลอดจนเหล่าเมืองวรรณกรรมจากการแต่งตั้งของยูเนสโกทั่วโลกที่แข็งแรง ซึ่งสิ่งนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้โดยง่ายหากปราศจากความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง ‘เมืองแห่งวรรณกรรม’ ทั้งหลาย

Photo: Exeter City of Literature

Photo: Exeter City of Literature
ไม่ใช่แค่เมืองแห่งวรรณกรรม แต่เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมด้วย
“กลุ่มศิลปินกับองค์กรศิลปะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วเมือง ทั้งยังมีความเป็นไปได้ต่างๆ มากมายรออยู่ในอนาคต เอ็กซิเตอร์ถึงได้น่าตื่นเต้นมากยังไงล่ะ!”
แอนนา โคห์น ออร์ชาร์ด (Anna Cohn Orchard) ผู้อำนวยการบริหารด้านเมืองแห่งวรรณกรรมในเอ็กซิเตอร์คนแรกกล่าวอย่างรื่นรมย์ เธอหลงใหลหนังสือและงานเขียน ตลอดจนงานศิลปะประเภทต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก และวาดหวังจะผลักดันให้เมืองที่เธอเคยใช้ชีวิตเมื่อวัยเด็กแห่งนี้ได้ผงาดในฐานะเมืองที่รุ่มรวยด้านศิลปวัฒนธรรมต่อสายตาชาวโลก เธอจบการศึกษาด้านวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยลีไฮ (Lehigh University) ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเรียนต่อด้านภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์
“ฉันคิดว่าการเป็นเมืองแห่งวรรณกรรมทำให้เอ็กซิเตอร์ถูกมองเห็นมากขึ้น และเป็นโอกาสอันดีในการรังสรรค์วัฒนธรรมใหม่ๆ ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายให้ตัวเมือง อันจะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนด้วย”
หนึ่งในแผนสร้างเอ็กซิเตอร์ให้เป็นเมืองผลิตนักเขียนนักอ่าน คือการเปิดพื้นที่ ‘พำนัก’ ให้นักเขียน เช่น ท็อตเลห์ บาร์ตัน (Totleigh Barton) คฤหาสน์ของผู้ว่าฯ ในศตวรรษที่ 16 เป็นเสมือนอาคารหลังใหญ่สำหรับฟูมฟักและบ่มเพาะนักเขียนทุกช่วงวัย ประกอบด้วยห้องเดี่ยว 14 ห้อง ห้องครัวและห้องทานอาหารแบบโบราณพร้อมเตาไม้ รวมทั้งห้องหนังสือใหญ่โตโอ่อ่า บรรยากาศเงียบสงบและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอันแสนจำกัดจำเขี่ยเนื่องจากอยู่ค่อนไปทางชานเมือง ทำให้การพำนักในท็อตเลห์ บาร์ตันถูกเรียกอยู่เนืองๆ ว่าเป็นการ “ดีท็อกซ์” จากโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งทำให้หลายคนที่เข้าร่วมโครงการมีสมาธิกับงานเขียนมากขึ้น และได้อ่านหนังสือทั้งที่พกไปเองและที่อยู่ในคฤหาสน์หลายต่อหลายเล่มด้วย
โซเฟีย เฉิง (Sophia Cheng) ผู้เคยพำนักในท็อตเลห์ บาร์ตันเมื่อปี 2018 เธอเขียนลงบล็อกส่วนตัวว่า การมาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทำให้เธอได้เพื่อนใหม่ที่เป็น ‘นักอยากเขียน’ เหมือนกับเธอ 11 คนเป็นเวลา 5 วัน โดยสมาชิกทั้งหมดมีอายุตั้งแต่ 19-72 ปี ล้วนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดอ่านและงานเขียนที่ชื่นชอบ
เฉินเล่าว่า หลังสิ้นสุดมื้อเช้า จะมีเวิร์กชอปกระตุ้นผู้ร่วมโครงการให้เกิดการสนทนาเรื่องกลวิธีงานเขียน นับตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่าง “เราเขียนทำไม” ไปถึงเรื่องเชิงเทคนิคอย่างมนตร์วิเศษของเดดไลน์ที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงจนได้
“และเมื่อเราเริ่มรู้จักกันจริงๆ ความเป็นทางการและความกลัวที่เรามีต่อกันก็ค่อยๆ มลายหายไป เราเริ่มแลกเปลี่ยนถ้อยคำและเรื่องราวต่อกัน การไม่มีอินเทอร์เน็ตทำให้เราใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เวิร์กชอปช่วงเช้าทำให้เราเห็นจุดอ่อนที่ตัวเองมีและมอบสำนึกของการมีอัตลักษณ์ร่วมระหว่างเรากับผู้อื่นได้ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่เราต้องอ่านงานเขียนของตัวเองออกมาดังๆ มันก็เปรียบเสมือนเรารัวกลองไปด้วยกัน อารมณ์ของพวกเราพลุ่งพล่านราวกับว่าทุกอย่างใโรงนาแห่งนั้นหยุดชะงักลง บีบให้เราทิ้งตัวนั่งลงกับพื้นและค่อยๆ ปอกเปลือกเผยเนื้อตัวที่แท้จริงออกมา ครั้นเมื่อพลบค่ำ เราก็ปล่อยใจรื่นรมย์ไปกับหนังสือต่างๆ และการยกแก้วดื่มพร้อมรอยยิ้มกว้าง”
นอกจากท็อตเลห์ บาร์ตัน ยังมีโรงละครอลิไบ (Theatre Alibi) พื้นที่สำหรับทำการแสดงละครเวที การจัดฉายภาพยนตร์ การจัดงานแสดงภาพถ่าย หรือนิทรรศการต่างๆ จนถึงการแสดงดนตรีสด
แต่เหนือสิ่งอื่นใด โรงละครแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่แสดงวงละครจากคณะท้องถิ่นด้วย โดยปี 2019 ทีมงานของโรงละคร ร่วมกันกับชุมชนเซนต์โธมัส (St. Thomas) รวบรวมเรื่องเล่าชุมชนและจัดเป็นนิทรรศการการแสดงครั้งใหญ่ ที่ยิ่งช่วยให้วัฒนธรรมและรากฐานทางศิลปะท้องถิ่นหยั่งรากลึก
หากผู้ไปเยือนท่านใดต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ยังอยากเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน เอ็กซิเตอร์ก็ยังมีไพ่เด็ดอีกใบ นั่นคือบริการห้องนักเขียน ที่มีโต๊ะขนาดใหญ่หันหน้าเข้าหน้าต่าง ให้ผู้ใช้งานประสานสายตากับท่าเรือโอ่อ่าด้านนอก แน่นอนว่าสามารถขนหนังสือหรือเครื่องมือเขียนงานเข้าไปใช้บริการได้
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเอ็กซิเตอร์ต้องการจะปั้นนักเขียนจากต่างแดนอย่างเดียว เพราะหนึ่งในเป้าประสงค์หลักของเมือง คือการบ่มเพาะนักเขียนท้องถิ่นด้วย


Photo: Exeter City of Literature

Photo: Exeter City of Literature
เครือข่ายอันแข็งแกร่ง พร้อมสร้างแรงพลังให้นัก (อยาก) เขียน
หนึ่งในโครงการเลื่องชื่อของเอ็กซิเตอร์ คือโครงการ ‘Artemis Storytelling‘ ก่อตั้งโดย เคที กาว์คเวลล์ (Katy Cawkwell) นิยามตัวเองว่าเป็นนักเล่าเรื่องจากเอ็กซิเตอร์ ตัวเขาเป็นศิลปินมีประสบการณ์กว่า 25 ปี รูปแบบงานแสดงของเธอนั้นหลากหลาย บางครั้งเป็น performance บางครั้งก็ให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งปันกันเล่าเรื่องราวต่างๆ
“ฉันจัดเวิร์กชอปในเอ็กซิเตอร์เป็นประจำ เพื่อให้นักเล่าเรื่องในพื้นที่ค้นหาเสียงของตัวเองให้พบและพัฒนาทักษะการแสดงของพวกเขาน่ะ” กาว์คเวลล์บอก
นอกจากนี้ยังมี Beyond Face เปิดพื้นที่การแสดงให้แก่คนผิวสี ชาวเอเชีย และกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายในชุมชนได้ร่วมเวิร์กชอป เป้าหมายของโปรเจกต์นี้มุ่งมั่นผลักดันศิลปินทุกระดับของเอ็กซิเตอร์ให้ไปสู่สากล และวาดหวังให้เรื่องราวกับวัฒนธรรมจากเอ็กซิเตอร์ออกเดินทางไปสู่สายตาคนทั่วโลก
พร้อมด้วย Regional Voices โครงการภายใต้ Beyond Face ซึ่งดึงศิลปินและผู้คนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการแสดงหรือไม่ก็ตาม ให้เข้ามามีโอกาสในงานศิลปะแขนงต่างๆ ได้มากที่สุด เพราะการมองหาผู้ที่ไม่ได้เป็นศิลปิน จะมีส่วนส่งเสริมและช่วยสร้างศิลปะท้องถิ่นให้แข็งแรงขึ้นได้ ยังผลให้มีผู้คนมากหน้าหลายตามาเข้าร่วมเวิร์กชอปและโครงการต่างๆ อยู่เป็นประจำ
โครงการ Cities of Literature ของยูเนสโกเองก็มีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการสร้างนักเขียน กวี นักวาดการ์ตูนตลอดจนศิลปินในวงการสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่น โครงการ Devon Writers Mailing List ที่เปิดพื้นที่ให้นักเขียน กวี นักวาดภาพหรือนักเขียนนิยายภาพ ตลอดจนคนจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในเดวอนสามารถลงทะเบียนรับข่าวสารความเคลื่อนไหวของแวดวงงานเขียนได้ก่อนใคร
เทศกาลเควียร์โดยห้องสมุดแห่งเอ็กซิเตอร์ที่เน้นการอบรบทักษะการเล่าเรื่องเควียร์และความหลากหลายทางเพศให้นักเขียน LGBTQ+ โดย เจสัน บาร์เกอร์ (Jason Barker) คนทำหนังทรานส์ชาวอังกฤษเป็นที่รู้จักจาก A Deal with the Universe
แถมยังมีกิจกรรมต่างๆ อย่างปี 2023 ที่ผ่านมา มีการจัดเวิร์กชอปร่วมสมัยธีม Heartstopper วรรณกรรมว่าด้วยความหลากหลายทางเพศที่ถูกหยิบไปดัดแปลงเป็นซีรีส์ออกสตรีมมิงทางเน็ตฟลิกซ์ ทั้งยังสร้างพื้นที่เรียนรู้ในการเขียนงานและการ์ตูน การแสดงดนตรีสด แต่เหนือสิ่งอื่นใด ที่นี่ยังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดสำหรับคอหนังสือและซีรีส์อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมี Exeter Phoenix องค์กรที่ค้นหา สนับสนุน และส่งเสริมศิลปินหน้าใหม่ด้านภาพถ่าย ภาพยนตร์ ดนตรี ที่หวังจะเป็นศิลปินอาชีพ ด้วยการให้ทุน 1,000 ปอนด์ และผู้ที่ผ่านการคัดเลือกก็จะได้แสดงในเทศกาลกรีน ฟีนิกซ์ (Green Phoenix Festival) ของทางองค์กรอีกด้วย
ดังที่เคยกล่าวถึงความเป็นมิตรของเอ็กซิเตอร์ที่มีต่อนักเขียนและนักอยากเขียนไปแล้ว ที่แห่งนี้ยังมีโปรเจกต์ Writer in Residency เชื่อมโยงกับเมืองอื่นๆ ในเครือข่ายยูเนสโก เช่น โปรเจกต์ Tartu City of Literature Autumn Residency 2024 ของเมืองวรรณกรรมอีกแห่งอย่างเมืองทาร์ตู ประเทศเอสโตเนีย ที่เปิดโอกาสให้นักเขียนและนักอ่านเข้ามาพำนักในอพาร์ตเมนต์ใจกลางเมือง เป็นโปรเจกต์ที่ทำงานร่วมกับเมืองเอ็กซิเตอร์ มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด วัฒนธรรม และวรรณกรรมระหว่างประเทศ ลักษณาการเดียวกับ Nanjing City of Literature International Writers Residency 2024 และ Bremen’s virtual residency ที่เปิดรับศิลปินมาพำนักเช่นกัน
ลูซี ฮอลแลนด์ (Lucy Holland) นักเขียนนวนิยายแนวแฟนตาซี เจ้าของผลงาน Sistersong เคยเป็นศิลปินในพำนักจากโครงการ Vil·la Joana Writing Residency บาร์เซโลนา ประเทศสเปน เครือข่ายเมืองวรรณกรรมของยูเนสโกกล่าวว่า
“ช่วงที่ได้ไปพำนักที่นั่นถือเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมสุดๆ ไปเลย การได้พบปะชาวเมืองและได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนี่สำคัญพอๆ กันกับการที่เราได้พักในที่อันสวยงาม สงบเงียบที่ทำให้เราจดจ่อแต่กับงานเขียนเรา”
“ฉันรู้สึกราวกับว่าตัวเองเติบโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องที่ว่า นี่เป็นปีแรกเลยที่ฉันทำงานเป็นนักเขียนเต็มเวลา และการมาเข้าร่วมโครงการนี้ก็ทำให้ฉันมีที่พักอาศัยเพื่อเขียนงานได้
“แล้วฉันก็ชอบที่ได้เจอนักเขียนคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมพำนักเหมือนกัน ฟังพวกเขาพูดถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานและเทียบเคียงงานตัวเองกับงานอีกฝ่าย เราทำกิจกรรมต่างๆ ในตัวเมืองร่วมกันซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีเลยในการทำความรู้จักคนแปลกหน้าน่ะ” เธอว่า

Photo: Exeter City of Literature
มหกรรมวรรณกรรมแห่งเอ็กซิเตอร์
นอกเหนือการได้รับงบประมาณจาก Arts Council England และพาร์ตเนอร์อื่นๆ แล้ว เพื่อขานรับความกระตือรือร้นของเมืองที่หวังอยากผลักดันวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตัวเองและงานวรรณกรรมไปสู่สายตาคนทั่วโลก มูลนิธิของอากาธา คริสตีและครอบครัวของเธอมอบเงินทุนให้โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเมืองวรรณกรรมและสนับสนุนการจัดงานวรรณกรรมระดับโลก International Agatha Christie Festival
เป้าประสงค์คือการกระตุ้นเศรษฐกิจของเอ็กซิเตอร์โปรเจกต์ต่างๆ ของเมืองพยายามกระตุ้นประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมได้มากที่สุด โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นงานวรรณกรรมเท่านั้น จะเป็นศิลปะแขนงอื่นใดก็ได้ หรือแม้แต่กระทั่งการนำเอาศิลปะต่างๆ ไปประยุกต์ใช้หรือถ่ายทอดผ่านสายงานและชีวิตของแต่ละคน ทำให้เมืองได้รับรางวัลจากยูเนสโกเพราะมีเป้าประสงค์และกิจกรรมของเมืองสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรที่เน้นพัฒนาการศึกษาและขยายด้านวัฒนธรรม
ยิ่งเมืองเป็นที่รู้จักในฐานะ เมืองวรรณกรรม และอ้าแขนต้อนรับนักอ่านนักเขียนจากทั่วทุกมุมโลก ยิ่งทำให้เศรษฐกิจชุมชนคึกคัก มิหนำซ้ำ แฟนหนังสืออกาธา คริสตี ยังมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองงานเขียนของเธอทุกปี ทั้งจัดเป็นงานเทศกาลใหญ่โตที่มีนักเขียน กวี ศิลปินหลากหลายสายมาร่วมอย่างคับคั่ง ขณะที่ตัวเมืองเองก็มีการจัดงานเทศกาลต่างๆ ทั้งเทศกาลนักเขียนแอฟริกันที่รวบรวมงานเขียนร่วมสมัยของชาวแอฟริกันทั้งในสหราชอาณาจักรและต่างแดน
เมืองขนาดเล็กนี้กลายเป็นที่พบปะ พูดคุยสำหรับแฟนหนังสือ และรุ่มรวยไปด้วยเทศกาลด้านวรรณกรรม เช่น เทศกาลหนังสือดาร์ตมัธที่เจ๋งสุดขีด เพราะนอกจากมีหนังสือเรียงรายหลายร้อยหลายพันปกให้เลือกสรรแล้ว ในงานยังมีการแสดงดนตรีและอาหารพื้นเมืองอีกด้วย เช่นเดียวกับเทศกาลหนังสือฮาร์ตแลนด์ที่เป็นแหล่งชุมนุมของเหล่านักเขียนกับผู้อ่าน โดยนักเขียนท้องถิ่นราว 20 คนจะเข้าร่วมในงานและพูดคุยกับมิตรรักแฟนหนังสือตลอดทั้งวัน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเขียนรอบเมือง อย่างกิจกรรมอ่านหนังสือทุกเย็นวันพุธ ชื่อ Page Against The Machine ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2017 และจัดต่อเนื่องเรื่อยมา หรือถ้าคุณเป็นคนขี้อาย เวลาเข้าสังคม ก็ยังมี Silent Book Club และ Silent Writing Club กิจกรรมเหล่านี้พุ่งเป้าไปยังชาวอินโทรเวิร์ตซึ่งเพิ่งเริ่มจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2024 ทั้งยังมีกิจกรรมน่ารักๆ อบอุ่นหัวใจในชื่อ Literary Dream Machine คอนเซปต์คือการนำถ้อยคำหรือบทกวีต่างๆ จากคนแปลกหน้ามาใส่ในแคปซูล มอบให้คนที่เข้ามาบริจาคเงินการกุศล
ในตัวเมืองมีบริการตู้กดหนังสือแบบเดียวกับตู้กดน้ำชื่อ Penguin books vending machine เลือกได้สารพัดปก สารพัดแนว หากยังไม่สาแก่ใจ ยังมีตลาดหนังสือ (Book Market) ขนาดยักษ์ที่เปิดให้ผู้คนได้มาแวะจับจ่ายและพูดคุยกับเพื่อนนักอ่านและนักเขียน

Photo: International Agatha Christie Festival

Photo: Exeter City of Literature
วรรณกรรมในฐานะเครื่องปลอบประโลมใจ
วรรณกรรมหาได้เป็นเพียง สินค้า หรือ โครงการต่างๆ สำหรับเอ็กซิเตอร์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงผู้คนในเมือง อันจะเห็นได้จาก Bibliotherapy Skills Course ที่ใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือเพื่อทำความเข้าใจและจัดการชีวิตผู้เข้าร่วมโครงการ
ตัวเมืองออกแบบหลักสูตรร่วมกับวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรกในประเทศอังกฤษที่เสนอให้วรรณกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือบำบัดผู้คนและให้มีส่วนในการพัฒนาตัวตนและจิตใจผู้เข้าร่วมโครงการ
คล้ายกับโครงการ Bibliotherapy in the Community ที่ให้ผู้เข้าร่วมโครงการมานั่งอ่านหนังสือทำความเข้าใจชีวิต สังคมร่วมกัน และโปรเจกต์ Voices from an Endangered Culture: Ukrainian Wartime Poetry ที่รวบรวมบทกวีจากชาวเมือง ทหาร นักวิชาการ และนักเขียน ว่าด้วยโมงยามอันแสนโหดร้ายของสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และการให้กำลังใจยูเครนเพื่อฝ่าฟันช่วงเวลาเหล่านี้ไปให้ได้
การที่วรรณกรรมเข้าไปมีส่วนในเนื้อตัวและตัวตนของชาวเมืองได้มหาศาลเช่นนี้ อาจเป็นการฉายภาพใหญ่ให้เห็นว่าทำไมเอ็กซิเตอร์จึงได้รับนิยามว่าเป็น ‘เมืองแห่งวรรณกรรม’ ที่น่านับถืออีกเมืองหนึ่ง
หากนั่นก็ดูจะไม่ครอบคลุมมากพอ เมื่อมีผลสำรวจว่า หลังจากการได้เป็นเมืองแห่งวรรณกรรม นักเขียนอิสระ ผู้ทำงานด้านงานเขียนและนักเขียนในพื้นที่กว่า 45 คน มีงานจ้างเพิ่มมากขึ้นระหว่างปี 2019-2023 มีผู้ฝึกเป็นนักบำบัดด้วยวรรณกรรม 40 คน ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมจากวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ทั้งยังมี 3 ตำแหน่งงานประจำในเมืองที่แต่งตั้งโดยยูเนสโก เป้าหมายคือเพื่อขับเคลื่อนการเป็นชุมชนวรรณกรรมของเมืองต่อไป
สำหรับเอ็กซิเตอร์ วรรณกรรมจึงหาได้เป็นเพียงงานเขียน หากแต่มันได้เชื่อมโยงกับรากประวัติศาสตร์เมือง และสานต่อชีวิตผู้คนผ่านโปรเจกต์ต่างๆ จนมีความร่วมสมัยและเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิตอย่างแยกไม่ขาด ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการทุ่มเททำงานอย่างสม่ำเสมอและยาวนานมาตลอดหลายปีของชาวเมือง

Photo: Exeter City of Literature

Photo: Exeter City of Literature

สำหรับผู้ต้องการศึกษาข้อมูลของเมืองที่ส่งเสริมระบบการเขียนวรรณกรรม หรือ AUTHOR RESOURCE PACK FOR DEVON WRITERS สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก
ที่มา
บทความ “Exeter City of literature Unesco membership Monitoring Report” จาก exetercityofliterature.com (Online)
บทความ “My Week At Totleigh Barton” จาก withmanyroots.com (Online)
เว็บไซต์ Barcelona City of Literature (Online)
เว็บไซต์ Exeter City of Literature (Online)
เว็บไซต์ Katy Cawkwell (Online)
อินสตาแกรม exeter.library (Online)
Cover Photo: Exeter City of Literature