ถ้ายึดตามตัวเลขทางสถิติ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือมีภาวะสมองเสื่อมที่มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่รู้หรือไม่ว่าอาการที่ว่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วนเมื่ออายุมากขึ้น หลายครั้งๆ ภาวะ ‘ความเสื่อม’ นั้นค่อยๆ สั่งสมมาเป็นเวลานาน
ถ้ายึดตามการจัดกลุ่มทางการแพทย์ โรคอัลไซเมอร์ถือเป็น ‘รูปแบบหนึ่ง’ ของภาวะสมองเสี่อมที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มต้นคือสูญเสียความทรงจำบ่อยครั้ง สับสนเกี่ยวกับสถานที่ ใช้เวลาทำกิจวัตรประจำวันนานขึ้น และเริ่มมีปัญหาในการจัดการเรื่องต่างๆ หากถึงช่วงที่อาการหนักถึงขีดสุด จากที่ลืมว่ากุญแจรถอยู่ไหน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์อาจลืมได้เลยว่ากุญแจรถใช้ทำอะไร หรือสิ่งที่เขากำลังถืออยู่เรียกว่าอะไรกันแน่
ถึงแม้จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยและส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนขนาดนี้ งานวิจัยทางการแพทย์ก็ยังไม่ได้สรุปแน่ชัดว่าโรคอัลไซเมอร์เกิดจากสาเหตุอะไร มีเพียงลักษณะเฉพาะที่สังเกตุได้จากผู้ป่วย คือผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์จะมียีนที่เกี่ี่ยวข้องกับการผลิตแอมิลอยด์-เบตา ดังนั้นในปัจจุบันทางการแพทย์จึงอนุมานว่าใครที่มียีนชนิดนี้ก็อาจจะเป็นโรคได้ในอนาคต
ในขณะเดียวกัน นักวิจัยก็ค้นคว้าหาสิ่งที่มีแนวโน้มว่าจะป้องกันหรือชะลอภาวะดังกล่าวอยู่เสมอ ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิต ยารักษา ไปจนถึงการพัฒนาทักษะทางสมอง นำมาสู่การตั้งสมมติฐานว่า ‘การออกกำลังกายให้สมอง’ อาจช่วยชะลอไม่ให้อาการสมองเสื่อมเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ควร
ส่วนใดก็ตามของร่างกายที่ขาดการใช้งาน วันหนึ่งก็จะเริ่มเสื่อมและหดเล็กลงมากขึ้น ดังนั้นด้วยสมมติฐานเดียวกัน เหล่านักวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ของการเรียนรู้และภาวะสมองเสื่อมจึงค่อนข้างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าเราควรต้อง ‘ใช้สมอง’ บ่อยๆ
ทำไมการเรียนรู้ถึงป้องกันอัลไซเมอร์ได้
งานวิจัยที่กล่าวถึงบทบาทของการเรียนรู้ต่อการต้านอัลไซเมอร์ก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น งานวิจัยของ NIA Alzheimer’s and Dementias Education and Referral Center (ADEAR) ที่เก็บข้อมูลระยะยาวจากอาสาสมัครสูงอายุ โดยการ ‘สอนทักษะใหม่ๆ ในชีวิต’ ทุกเดือน แล้วเก็บผลการตรวจโรคอัลไซเมอร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ก่อนจะพบว่า ‘การเรียนรู้สิ่งใหม่’ สามารถป้องกันหรือชะลออาการความจำเสื่อมได้จริง เพราะสมองและวิถีประสาทจะทำงานในรูปแบบที่ต่างออกไป และผลลัพธ์จะยิ่งดีขึ้นไปอีก ถ้ากิจกรรมหรือทักษะที่เรียนรู้มีความแตกต่างหลากหลายไปในแต่ละวัน
ในทางการแพทย์ การฝึกสมองให้กระฉับกระเฉงถือเป็นแนวทางเฉพาะบุคคล เพราะถึงผลลัพธ์ของมันจะใหญ่หลวง แต่ก็ไม่ใช่การฝึกที่เห็นผลชัดในทันที 3 กิจกรรมต่อไปนี้ อาจทำให้เกิดการเรียนรู้ทุกวันที่ชะลออาการความจำเสื่อมได้
1. เรียนรู้ทักษะใหม่ที่อยากทำ เช่น ภาษาที่สาม (หรือสี่ ห้า หก) ไปจนถึงเครื่องดนตรีในฝันที่ไม่เคยได้จับ หรือแม้กระทั่งงานศิลปะที่ไม่เคยทดลองแสดงฝีมือมาก่อน ทักษะทั้งหมดนี้ช่วยกระตุ้นสมองได้ ยิ่งยุคสมัยที่สามารถเรียนทั้งหมดที่กล่าวมาผ่านโลกออนไลน์ การฝึกทักษะใหม่ๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องง่าย
2. เล่นเกม – ในสื่อทั้งหมด เกมคือการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะช่วยกระตุ้นผู้เล่นทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด และการมีส่วนร่วมกับทีม ดังนั้นการหันหน้าเข้าสู่การเป็นเกมเมอร์จึงเป็นทางหนึ่งในการป้องกันหรือชะลอโรคอัลไซเมอร์ที่น่าสนใจไม่น้อย
3. หมั่นอ่านและเขียนเป็นประจำ – การอ่านหนังสือนั้นประเทืองปัญญาอยู่แล้ว การทำให้การอ่านกลายเป็นกิจวัตรนั้นส่งผลดีต่อสมองได้มากกว่าที่คิด ถ้าเราลองเติมการเขียนลงไปด้วย ประโยชน์คือได้ทั้งฝึกสมองและทบทวนชีวิตไปพร้อมกัน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างให้ทุกคนทดลองทำ ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่สามารถฝึกสมองเพื่อป้องกันโรคอัลไซเมอร์ที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไป ดังนั้นเราจึงอยากเชิญชวนทุกคนให้หันมาเห็นความสำคัญของ ‘การเรียนรู้’ เพื่อสุขภาพทางความคิดที่แข็งแรงและยั่งยืนในระยะยาว
ที่มา
บทความ “Understanding Alzheimer’s Disease: the Basics” จาก webmd.com (Online)
บทความ “Brain Exercises and Dementia” จาก webmd.com (Online)
บทความ “Preventing Alzheimer’s Disease: What Do We Know?” จาก nia.nih.gov (Online)
บทความ “Study: Lifelong Learning Could Protect Against Alzheimer Disease” จาก pharmacytimes.com (Online)