‘ทุกวันเป็นวันที่ดี’ เกร็ดความคิดจากพิธีชงชา และปัจจุบันขณะอันล้ำค่า

686 views
5 mins
March 22, 2022

          ทุกวันเสาร์ โมริชิตะ โนริโกะ จะเดินทางไปเรียนชงชาที่บ้านของเซนเซ เธอทำอย่างนี้มากว่า 25 ปี ผ่านความคิดที่จะเลิกเรียนหลายครั้ง จนแล้วจนรอดเธอก็ไม่เลิก ทุกครั้งที่รู้สึกแย่หรือไม่อยากไปเรียนก็ยังฝืนทน แต่พออยู่ในห้องเรียนชงชา ได้ลิ้มลองขนมญี่ปุ่น ความรู้สึกลบกลับหายเป็นปลิดทิ้งและคิดว่าตนเองโชคดีที่ไม่หยุดเรียน

          พิธีชงชาของญี่ปุ่นขึ้นชื่อลือชาด้านพิธีกรรมอันซับซ้อน ประณีต บรรจง มองด้วยสายตาทั่วไปอย่างผมเป็นต้องมีคำถามว่า แค่จะดื่มชาถ้วยเดียวทำไมต้องยุ่งยากขนาดนี้ (ตัวโมริชิตะเอง ก่อนเริ่มเรียนชงชาก็คิดคล้ายๆ ผมนี่แหละ) นั่นเป็นเพราะผมมุ่งคิดไปที่ตัวน้ำชา

          ทว่า พิธีชงชาเป็นเรื่องของกระบวนการมากกว่าการดื่มชา

          เป็นธรรมดา ผู้ฝึกฝนสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานกว่า 25 ปี ย่อมมองเห็นความงดงามในรายละเอียดปลีกย่อยของสิ่งนั้น โมริชิตะค้นพบความสุข 15 ประการจากมัน เธอเล่าไว้ในหนังสือ ทุกวันเป็นวันที่ดี: ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน

ทุกวันเป็นวันที่ดี : ความสุข 15 ประการที่การชงชาสอนฉัน

          เมื่ออ่านตั้งแต่บทแรกถึงบทสุดท้าย รากฐานของความสุข 15 ประการคือสิ่งเดียวกัน—การอยู่กับปัจจุบัน

          น่าแปลกใจเหมือนกัน ทั้งแนวคิดทางศาสนาและจิตวิทยาสมัยใหม่ แนะนำเหมือนกันว่าให้เราดำรงอยู่ในปัจจุบันหากต้องการความสงบสุข อาจเป็นเพราะมันคือห้วงขณะเดียวที่เป็นของเราโดยสมบูรณ์ เป็นห้วงขณะสั้นๆ ที่จะถูกอดีตฉกชิงไปอย่างรวดเร็ว

          ช่วงแรกของการเรียนชงชา โมริชิตะมีคำถามมากมายวิ่งพล่านอยู่ในหัว ทั้งต้องเหน็ดเหนื่อยกับการจดจำขั้นตอนมากมาย ตั้งแต่จำนวนก้าวบนเสื่อทาทามิแต่ละผืนต้องไม่เกินกี่ก้าว ต้องใช้มือไหนหยิบฉะชากุหรือที่ตักชา ต้องวางถ้วยชาไว้ตำแหน่งไหน ฯลฯ บางครั้งเธออดถามทาเคดะเซนเซไม่ได้ว่าทำไม ทำไม และทำไม

          คำตอบที่กลับมาคือ “จะทำไมก็ไม่สำคัญหรอก เอาเป็นว่าต้องทำแบบนี้”

          โมริชิตะฝึกฝนเรียนรู้วิธีการชงชาท่ามกลางความสงสัย …ทีละเล็กทีละน้อย แล้วจู่ๆ วันหนึ่ง ขั้นตอนที่เคยยุ่งยาก ไม่รู้เหตุผล กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเธอ เธอสามารถชงชาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ลื่นไหล และงดงาม เสมือนร่างกายทุกตารางนิ้วจดจำการเคลื่อนไหวได้ รับรู้ความแตกต่างของเสียงกระบวยตักน้ำ และอื่นๆ อีกสารพัด

          การเรียนชงชามิใช่สิ่งที่จะเรียนรู้ได้ด้วยการครุ่นคิด หากต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เป็นอิสระจากความคิด จดจ่อจมดิ่งอยู่กับกระบวนการตรงหน้า แล้วคำตอบจะค่อยๆ เผยออกมาด้วยตัวมันเอง

          พิธีชงชาของญี่ปุ่นผูกสัมพันธ์เหนียวแน่นกับการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านของช่วงฤดูกาล ฤดูร้อนชงแบบหนึ่ง ฤดูหนาวก็อีกแบบ ฤดูใบไม้ผลิก็ไม่ซ้ำ ผู้เรียนต้องเปิดประสาทสัมผัสร่างกายให้พร้อมรับความแปรเปลี่ยนของสิ่งแวดล้อม โมริชิตะดื่มด่ำกับฤดูกาลต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เธอค้นพบว่าเสียงฝนธรรมดาๆ ที่น่าจะเหมือนกันหมด มันกลับไม่เหมือนกัน

          “ฉันรู้สึกราวกับได้ยินกระทั่งเสียงของเม็ดฝนแต่ละเม็ดๆ”

          กล่าวได้ว่าพิธีชงชาเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่ประกอบสร้างจากงานศิลปะหลากหลายแขนง แม้แต่อุปกรณ์ที่ใช้ยังต้องผ่านกระบวนการผลิตอันทุ่มเทของช่าง มีตระกูลช่างที่ผลิตกาต้มน้ำ ฉะเซนหรือไม้สำหรับชงชา แก้วชา เป็นการเฉพาะ งานทุกชิ้นมีลายเซ็นของผู้ทำ มีตราประจำตระกูลประทับ ไหนจะขนมญี่ปุ่นชนิดต่างๆ ที่ใช้ทานคู่กับชา ผู้เรียนต้องเรียนรู้การจับคู่ขนมกับชาและฤดูกาล เพื่อให้รสชาติและรสสัมผัสของขนมส่งเสริมให้ชาละมุนยิ่งขึ้น

          ศิลปะการจัดดอกไม้ ศิลปะการวาดรูป ศิลปะการเขียนพู่กัน ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีชงชา ไม่ใช่เพื่อความสวยงามอย่างเดียว แต่ยังซุกซ่อนปรัชญาความคิดที่ช่วยให้ผู้เข้าเรียนเติบโตอิ่มเต็ม

          หลายฉากตอนที่โมริชิตะเล่า เหมือนกับว่าทาเคดะเซนเซจะรับรู้ได้โดยสัญชาติญาณว่าการเรียนชงชาในวันนั้นๆ ควรประดับด้วยภาพหรือตัวอักษรใด เพราะทุกครั้งที่เธอเผชิญสถานการณ์ย่ำแย่ในชีวิต ภาพหรือตัวอักษรที่ประดับบนผนังมักช่วยเธอคลี่คลายกระแสความวุ่นวายให้สงบลงได้ และมองเห็นคำตอบ

          ทั้งหมดนี้มิใช่การบอกว่าพิธีชงชาคือสิ่งพิเศษสุดและแก้ทุกปัญหาในชีวิตได้ ไม่มีสิ่งใดทำเช่นนั้นได้หรอก

          การชงชาเป็นวิถีทางหนึ่งของมนุษย์ในการเรียนรู้เพื่ออยู่กับปัจจุบันต่างหาก หมายความว่ามันอาจเป็นสิ่งอื่นก็ได้ การวิ่ง การล้างจาน การฝึกโยคะ การวาดรูป ฯลฯ เพียงแค่โมริชิตะเรียนรู้ผ่านการชงชาและถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางภายในออกมาอย่างพิถีพิถัน ด้วยบรรยากาศสบายๆ ไม่เคร่งครัดตึงเครียด

          ผมรู้ดีว่าความเป็นไปได้ที่จะอยู่กับปัจจุบันในโลกยุคปัจจุบันไม่ง่ายดาย ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวเร่งสำคัญ คอยยัดเยียดอนาคตให้เราต้องวิตก คอยผลักไสอดีตให้เราท้อถอย การทำจิตทำใจอยู่กับปัจจุบันและตระหนักถึงมันได้คงไม่ช่วยให้ท้องอิ่ม แต่อย่างน้อยก็น่าจะได้ผ่อนพักชีวิตแม้เพียงชั่วขณะ ด้วยสิ่งใดก็ตามที่คุณรักที่จะทำ ก่อนกลับมาสู้กันใหม่

          ถ้าให้ทำมากกว่านั้นดูจะเป็นการเรียกร้องที่เกินพอดี

          …ชงชาร้อนๆ มานั่งจิบกันเถอะ แล้วค่อยกลับไปทำงานต่อ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก