‘อึน ยัง ยี’สถาปนิกแดนกิมจิ ผู้เนรมิตห้องสมุดชตุทท์การ์ท

615 views
5 mins
January 23, 2021

          ปลายศตวรรษที่ 20 ย่างเข้าศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่สถาปัตยกรรมห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เริ่มก้าวข้ามไปจากขนบการออกแบบเดิมๆ มันจะไม่ใช่พื้นที่ที่ผู้คนเดินเข้าไปรับความรู้อย่างเชื่องๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เป็นยุคซึ่งพื้นที่ (space) ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมอนาคต
          เมื่อแหล่งเรียนรู้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่วันนี้คนจำนวนหนึ่งไปที่พิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดเพื่อจัดการแสดงทางวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน ในขณะเดียวกันสถานที่เหล่านั้นก็ยังคงรักษาบทบาทในการให้บริการด้านการเรียนรู้และสารสนเทศไว้อย่างเหนียวแน่น
          แหล่งเรียนรู้ยุคมิลเลนเนียมสามารถออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว ส่วนหนึ่งก็เพราะวิทยาการด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักออกแบบซึ่งต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน จนกระทั่งแปรจินตนาการที่กว้างไกลให้กลั่นตัวเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าจดจำ
          ซีรีส์ชุด “เบื้องหลังความคิดและจินตนาการของนักออกแบบแหล่งเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21” จำนวน 6 ตอน นำเสนอเรื่องราวและผลงานเจ้าของไอเดียแหล่งเรียนรู้ที่โดดเด่น 7 ราย ได้แก่ เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) โจชัว ปรินซ์-รามุส (Joshua Prince-Ramus) อึน ยัง ยี (Eun Young Yi) แฟรงก์ โอเวน เกห์รี (Frank Owen Gehry) ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และโตโย อิโตะ (Toyo Ito)

‘อึน ยัง ยี’สถาปนิกแดนกิมจิ ผู้เนรมิตห้องสมุดชตุทท์การ์ท
อึน ยัง ยี (Eun Young Yi)
Photo: http://architectuul.com

          อึน ยัง ยี (Eun Young Yi)  เป็นสถาปนิกชาวตะวันออกที่ได้ฝากชื่อเสียงไว้ในงานออกแบบห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เขาเกิดที่เกาหลีใต้แต่เติบโตในเยอรมนี หลังจากก่อตั้งบริษัทออกแบบชื่อ Yi Architects ในเมืองโคโลญ เขาตัดสินใจไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮันยางถึง 10 ปี ก่อนที่จะกลับไปปักหลักทำงานอยู่ในเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง

ห้องสมุดเมืองชตุทท์การ์ท Stuttgart Library, เยอรมนี

          การพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ในโลกตะวันตกมักจะวางแนวทางให้ห้องสมุดเป็นไอคอนสำคัญ ที่มีบทบาทเป็นมันสมองขับเคลื่อนเมืองให้เจริญก้าวหน้า เช่นเดียวกับเมืองชตุทท์การ์ทซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของเยอรมนี บริษัทของ อึน ยัง ยี ชนะการประกวดออกแบบห้องสมุดแห่งใหม่ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์กรส่วนท้องถิ่น ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 12 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 79 ล้านยูโร จนกระทั่งเสร็จสิ้นและเปิดให้บริการในปี 2011

          ห้องสมุดเมืองชตุทท์การ์ท (Stuttgart Library) มีรูปทรงแบบลูกเต๋ากว้างด้านละ 45 เมตร มีช่องเหมือนประตูจำนวน 80 ช่อง ห้องสมุดวางแนวตรงกับทิศทั้งสี่ ส่วนบนสุดของแต่ละด้านจารึกคำว่า “ห้องสมุด” เป็นภาษาต่างๆ โดยสามด้านเป็นอักษรภาษาเยอรมัน อังกฤษ และอารบิก สื่อถึงวัฒนธรรมหลักของภูมิภาคนี้ ส่วนอีกด้านจารึกเป็นอักษรฮันกึลเพื่อเป็นตัวแทนของโลกเอเชีย ด้วยเหตุที่ อึน ยัง ยี ต้องการประกาศเกียรติภูมิแก่ชาวเกาหลี จึงจงใจไม่เลือกใช้อักษรจีนหรือญี่ปุ่น

          หากไม่นับรวมตัวอักษรดังกล่าว ทุกกระเบียดนิ้วของห้องสมุดเมืองชตุทท์การ์ทล้วนแสดงออกถึงการเชิดชูศิลปะแบบยุโรปในสไตล์มินิมอล ห้องสมุดมีสีขาวทั้งด้านนอกและด้านใน ยีอธิบายว่ามันเป็นสีของ “หนังสือ” และ “คน” เขาเลี่ยงที่จะประดับตกแต่งห้องสมุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะตั้งใจจะให้ห้องสมุดดูคล้ายโมเดลปูนปลาสเตอร์ กล่าวกันว่าเมื่อครั้งที่ห้องสมุดเพิ่งสร้างเสร็จชาวเมืองชตุทท์การ์ทไม่ค่อยรู้สึกถูกตาต้องใจมากนัก เพราะมันดูเหมือนก้อนสี่เหลี่ยมขาวๆ ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมของเมืองที่มักถูกปกคลุมด้วยหมอก บ้างก็เสียดสีว่าดูเหมือนกับ “คุกหนังสือ” แต่ต่อมาพวกเขาก็เริ่มเปลี่ยนความคิด เพราะในยามเช้าที่ท้องฟ้าเปิด ตึกสีขาวได้หยอกล้อกับสีสันของดวงอาทิตย์ส่องเป็นประกายน่าชม ส่วนในเวลากลางคืนมันก็ได้กลายเป็นลูกเต๋าเรืองแสงสีฟ้าระยิบระยับ

          ห้องสมุดมีพื้นที่ใช้งานถึง 11,500 ตารางเมตร อาคารแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกเป็น “หัวใจ” ใช้พื้นที่ตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 4 สถาปนิกจงใจออกแบบให้โถงที่ใหญ่โตนี้ว่างเปล่า เพื่อให้ผู้ที่เดินเข้ามาได้ปลดปล่อยตัวเองจากโลกที่ยุ่งเหยิงภายนอก ด้านบนติดตั้งระบบไฟซึ่งสามารถใช้สำหรับจัดกิจกรรมตามโอกาสต่างๆ พื้นที่นี้ออกแบบโดยการตีความถึงวิหารแพนธีออนของโรมันด้วยแนวคิดแบบสมัยใหม่

          จากชั้น 5 จนถึงชั้น 9 เป็นที่นั่งอ่านหนังสือทรงพีระมิดหัวกลับ โจทย์ที่นักออกแบบได้รับก็คือการทำให้ห้องสมุดไม่ใช่แค่เพียงสถานที่อ่านหนังสือ แต่เป็นสถานที่สำหรับไขว่คว้าหาความรู้และนำพาให้ผู้คนมารวมตัวกัน ยีจึงเกิดไอเดียที่จะสร้างพื้นที่ที่ดูคล้าย “เมือง” ไว้ในห้องสมุด ที่นี่มีทรัพยากรทั้งหนังสือและสื่ออื่นๆ กว่า 5 แสนรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมชั้นเลิศซึ่งมีมากกว่า 25 ภาษา เพื่อรองรับผู้ใช้บริการซึ่งเป็นแรงงานต่างเชื้อชาติหรือผู้อพยพ

          ห้องสมุดยังมีห้องแกลเลอรีซึ่งอยู่รายรอบโถงหัวใจ มีห้องสมุดดนตรีอยู่บริเวณชั้น 1 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยตั้งอยู่ในอาคารหลังอื่น มีห้องสมุดเด็กสีสันสดใสขนาด 900 ตารางเมตรให้บริการทรัพยากรกว่า 6 หมื่นรายการทั้งยังมีเตียงและเครื่องนอนสำหรับเด็กอย่างครบครัน มีห้องประชุมซึ่งจุได้ประมาณ 300 คนและห้องขนาดเล็กสำหรับจัดกิจกรรมหรือเรียนเป็นกลุ่ม

            แม้ว่าห้องสมุดเมืองชตุทท์การ์ทจะมีจุดยืนที่ชัดเจนถึงความศรัทธาที่มีต่อหนังสือกระดาษ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปฏิเสธเทคโนโลยีดิจิทัล ในทางตรงกันข้ามห้องสมุดได้รับการออกแบบไว้เป็นอย่างดีเพื่อที่จะรับมือกับความต้องการของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนไป ล็อบบี้บริเวณทางเข้าห้องสมุดเป็นที่ตั้งของจอสัมผัสขนาดใหญ่และมีคอมพิวเตอร์ให้บริการจำนวน 60 เครื่อง ส่วนผู้ที่ต้องการนั่งทำงานในห้องสมุดสามารถเดินตัวเปล่าเข้ามา แล้วขอยืมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่มีให้บริการนับร้อยเครื่อง


ที่มา

Korean Architect Builds Prominent Library in Germany [Online]

yi architects: new stuttgart library [Online]

Cover Photo by Oliver Hae on Unsplash


เผยแพร่ครั้งแรก กันยายน 2559
เผยแพร่ซ้ำ ธันวาคม 2561

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก