‘EmpathyLab’ ปาฏิหาริย์แห่งหนังสือ สื่อกลางสร้างทักษะความเข้าอกเข้าใจ

760 views
6 mins
August 10, 2022

          หลายคนอาจมองว่า ‘ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น’ เป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ สร้างขึ้นใหม่ไม่ได้ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่คนดีหรือคนนิสัยดีต้องมีอยู่แล้ว แต่ที่ประเทศอังกฤษได้มีกลุ่มสตาร์ทอัปเล็กๆ ที่เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นทักษะที่สามารถปลูกฝังได้ พัฒนาได้ และสอนกันได้โดยใช้ ‘เรื่องเล่า’ หรือ ‘วรรณกรรม’ เป็นตัวแปรสำคัญของการทดลองครั้งนี้ และยึดเอา ‘Empathy’ เป็นเป้าหมายของการทำงาน พร้อมกับเรียกตัวเองว่า ‘EmpathyLab’

          EmpathyLab ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 เริ่มจากการทำงานร่วมกับโรงเรียน 11 แห่ง ซึ่งเป็นการทำงานในลักษณะเครือข่ายที่มีทั้งมีสำนักพิมพ์ โรงเรียน ห้องสมุดในโรงเรียน กลุ่มนักกิจกรรม นักเขียน นักวาด และครู เพื่อออกแบบเนื้อหาและกิจกรรมร่วมกัน และในปี 2017 EmpathyLab ได้มีการริเริ่มให้มี Empathy Day ซึ่งคล้ายกับเป็นวันกิจกรรมใหญ่ของพวกเขาที่จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ๆ ในการตระหนักและตื่นตัวเรื่องการนึกถึงและเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ซึ่งในปี 2022 นี้ได้กำหนดให้วันที่ 9 มิถุนายน เป็น Empathy Day โดยตลอดทั้งวันจะมีกิจกรรมออนไลน์และเวิร์กชอปต่างๆ เป็นพื้นที่ให้กับเครือข่ายทั้งกลุ่มนักเขียนนักวาด โรงเรียน ห้องสมุด พ่อแม่และเด็กๆ ทั่วอังกฤษได้เข้าร่วมเพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด และสานสัมพันธ์กัน รวมถึงในทวิตเตอร์ที่มีการแนะนำหนังสือน่าอ่านผ่านแฮชแท็ก #ReadForEmpathy นอกจากนี้ EmpathyLab ยังได้เปิดเว็บไซต์ empathylab.uk เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปรับชมวิดีโอกิจกรรมต่างๆ หรือลงทะเบียนเพื่อดาวน์โหลดเอกสารและชุดเครื่องมือประกอบการทำกิจกรรมมาใช้งานได้

EmpathyLab แล็บทดลองสร้างความเข้าอกเข้าใจ จากเรื่องเล่า

          ทำไมจึงต้องสร้าง ‘Empathy’? คำตอบคือ เพราะ ‘ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น’ เป็นทักษะสำคัญในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน  และสามารถเกิดขึ้นได้แม้กับคนแปลกหน้าที่เราเพิ่งเจอเป็นครั้งแรก

          ฝรั่งมีวลี “Step into someone’s shoes” ซึ่งถ้าแปลตรงตัว หมายถึงการลองสวมรองเท้าคนอื่นดูว่าพื้นรองเท้าของเขาเป็นยังไง มีเศษอะไรติดอยู่ข้างในทำให้ใส่ไม่สบายหรือเปล่า สถานการณ์แบบนั้นช่วยอธิบายนิยามความหมายของ ‘Empathy’ ได้ ว่าหมายถึงการที่เราลองคิดหรือสมมติว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนอื่นนั้นได้เกิดขึ้นกับเราและเกิดความรู้สึกร่วมไปกับพวกเขา

          เมื่อเรา ‘Step into a character’s shoes’ เรากำลังทำความเข้าใจตัวละครในเรื่องราวที่กำลังอ่าน การสมมติหรือจินตนาการทำนองนี้เกิดขึ้นได้ตอนที่เรากำลังอ่านหนังสือ เพราะในทางวิทยาศาสตร์อธิบายไว้ว่า เวลาที่เราจดจ่อกับตัวละครและสถานการณ์ต่างๆ เรื่องเล่าจะลวงให้สมองของเรานึกคิดว่าเราเป็นตัวละครนั้น เราอาจได้รับการถูกกระทำแบบเดียวกับตัวละครจนเกิดความรู้สึกประหนึ่งว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นกับเราจริงๆ กลายเป็นว่าเรามีประสบการณ์นั้น แม้ว่าในความเป็นจริงสังคมที่เราอยู่ บ้านที่เราอาศัยจะแตกต่างจากตัวละครโดยสิ้นเชิง

          จากความสำคัญที่ EmpathyLab ได้เล็งเห็น ก่อเกิดการขับเคลื่อนเพื่อสร้าง ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก มีการตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าถึงเด็กให้ได้มากกว่า 1 ล้านคนภายในปี 2026 นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม เพื่อออกแบบโปรแกรมสำหรับนำไปใช้ในห้องเรียน ภายใต้กรอบของ 3 สมรรถนะ ได้แก่

                    1) สร้างทักษะอ่านออกเขียนได้และการเป็นนักอ่าน

                    2) เกิดทักษะความเข้าอกเข้าใจ

                    3) มีทักษะการคิดและจัดกิจกรรมเพื่อสังคม

EmpathyLab แล็บทดลองสร้างความเข้าอกเข้าใจ จากเรื่องเล่า
Photo : EmpathyLab

          จากการประเมินผลในช่วงปี 2016-2018 พบว่ามีครู 75% พบว่านักเรียนเครียดน้อยลงและนิ่งมากขึ้น ครู 100% พบว่านักเรียนสามารถระบุอารมณ์ความรู้สึกและบอกให้คนอื่นรับรู้ได้ง่ายขึ้น ครู 87% สังเกตเห็นว่านักเรียนอ่านบ่อยครั้งมากขึ้น ครู 100% พบว่านักเรียนมีความเข้าใจว่าความเข้าอกเข้าใจคืออะไร ทำงานอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง และโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ได้เข้าร่วมโปรแกรมตลอด 1 ปี รายงานว่านักเรียน 87 คน จาก 147 คน มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

          เราสามารถถอดตัวอย่างจากกิจกรรมและโปรแกรมที่จัดโดย EmpathyLab เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างกิจกรรมที่สามารถริเริ่มเองได้ด้วยกระบวนการอย่างง่าย เพื่อสร้าง Empathy ในกลุ่มคนรอบตัวเรา

                    1. เลือกหนังสือสักเล่มที่เหมาะต่อการฝึกสร้าง ‘ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น’ โดยสามารถพิจารณาเลือกจากเรื่องที่อาจจะมีตัวละครที่เรารู้สึกอยากค้นหาความรู้สึกและแรงจูงใจ หรือเรื่องที่ท้าทายแนวคิดหลักของสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล หรือเรื่องที่ชวนเราไปขบคิดกับปัญหาสำคัญ เช่น ปัญหาผู้อพยพ คนไร้บ้าน หรือเรื่องที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเงื่อนไขอื่นๆ ในชีวิต เช่น การสูญเสีย การบาดเจ็บทางใจและความบกพร่องทางกาย เป็นต้น

                    2. สนใจความคิดหรือความรู้สึกของตัวละครมากกว่าพล็อต หรือเทคนิคต่างๆ ในเรื่อง พร้อมกับเว้นจังหวะให้มีการแลกเปลี่ยนหรือสะท้อนมุมมอง เพื่อให้ทุกคนได้ลองตรวจสอบความรู้สึกและทำความเข้าใจคนอื่นผ่านตัวละครและประสบการณ์ของตัวละคร

                    3. หากผู้เข้าร่วมเป็นเด็กเล็กอาจจะต้องให้เขารู้จักและสามารถระบุความรู้สึกต่างๆ ได้ ก่อนที่จะแลกเปลี่ยนความเห็น โดยในระหว่างทำกิจกรรม อาจจะมีการเลือกคำศัพท์ในเรื่องมาอธิบายความหมายของคำ พร้อมกับลองแสดงสีหน้าท่าทางประกอบเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น

                    4. จำลองวิธีการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจด้วย ‘การฟัง’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้าง Empathy พูดคุยให้เห็นถึงความสำคัญและพลังของการฟัง พร้อมกับลองฝึกปฏิบัติด้วย 4 ขั้นของการเป็นผู้ฟังที่ดี (ตั้งใจ-นิ่ง-ฟัง-ถามกลับเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ)

                    5. ให้นักเขียนเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากนักวาดนักเขียนมีพลังสร้างสรรค์ในตัว การให้กลุ่มคนที่ทำงานเป็นนักเล่าเรื่องเข้ามาส่วนร่วมค่อนข้างส่งต่อพลังงานที่ดีให้ผู้เข้าร่วมได้ อาจจะเป็นการแนะนำหนังสือ หรือให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นแบบอย่างที่ดี เหมือนที่ EmpathyLab ได้จัด Empathy Day Live เป็นประจำทุกปี

          เมื่อ Empathy นั้นได้ขยายขอบเขตพื้นที่ของความรู้สึกสงสารเห็นใจ ไปเป็นการร่วมรู้สึกหรือแบ่งปันความรู้สึกถึงกัน สิ่งนี้ช่วยเปลี่ยนจากการยืนประจันหน้าที่มาพร้อมกับคำตัดสินไปเป็นการนั่งลงข้างๆ และมองเห็นความรู้สึกจากมุมมองและเงื่อนไขในชีวิตคนอื่น และ EmpathyLab เป็นองค์กรที่กำลังพยายามเปลี่ยนสิ่งที่ดูเป็นอุดมคติเหล่านี้ ให้เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในชีวิตประจำวันของเรา ด้วยเครื่องมือหรือสื่อกลางที่เรามีอยู่แล้วในมือ ซึ่งก็คือ ‘หนังสือและเรื่องเล่า’ และเมื่อค้นลึกลงไปถึงวิธีทำงานเราจะเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่ก่อร่างเป็นกระบวนการสร้างที่ไม่สิ้นสุดซึ่งแฝงไว้ในปรัชญาองค์กร Read stories. Build empathy. Make a better world.

EmpathyLab ปาฏิหาริย์แห่งหนังสือ สื่อกลางสร้างทักษะความเข้าอกเข้าใจ


ที่มา

ทวิตเตอร์ EmpathyLabUK (Online)

บทความ “How reading in the classroom can build empathy” จาก bbc.co.uk (Online)

บทความ “Lost for words? How reading can teach children empathy” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “The power of reading: how books help develop children’s empathy and boost their emotional development” จาก betterreading.com.au (Online)

เว็บไซต์ EmpathyLab (Online)

เว็บไซต์ The Federation of Children’s Book Groups (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก