บรรณาธิการ สังคมการอ่าน และระบบหนังสือแห่งชาติ

315 views
4 mins
February 7, 2024

          เราตั้งใจไปคุยกับเขาเรื่องบรรณาธิการศึกษา หลักสูตรระยะสั้นที่หาเรียนได้ยากนัก อันที่จริงอาจเป็นแห่งเดียวที่เปิดสอนและเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าไปเรียนได้ กำหนดการเนื้อหาสิบสัปดาห์ว่าด้วยบรรณาธิการศึกษา ทว่าแค่ชั่วโมงแรกเรากลับคุยกันไปถึงเรื่องต่างๆ ทั้งสื่อที่เปลี่ยนไป ความสดใหม่ของนักเขียนเด็ก และความอยู่รอดของคนทำงานที่หลายคนมองเห็นและประสบปัญหาคล้ายกัน

          ครั้งนี้ก็เช่นกัน เราตั้งใจไปคุยกับเขาเรื่องโลกของบรรณาธิการ หากเมื่อคุยกันไปแล้ว ได้พบและต้องยอมรับความจริงว่าโลกของบรรณาธิการนั้นเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ และเราจะไม่สามารถเข้าใจความเป็นไปของดาวดวงนี้ได้เลยหากไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด เราจะไม่สามารถวิเคราะห์ถึงความท้าทาย ข้อจำกัดของบรรณาธิการได้หากไม่เห็นว่าสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมสิ่งที่บรรณาธิการทั้งเป็นและไม่เป็นอยู่ในขณะนี้นั้นเป็นอย่างไร

          ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเรากำลังคุยอยู่กับ อาจารย์มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2555 ผู้ทำงานด้านหนังสือมามากกว่าสี่สิบปี เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่ผลิตทั้งวรรณกรรมระดับโลกและปลุกปั้นนักเขียนเด็กให้เกิดขึ้นในไทย 

          แม้หลักสูตรที่เราเรียนจะว่าด้วยการตรวจและแก้ไขงานวรรณกรรม หากวรรณกรรมที่ว่านั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องแต่งในรูปแบบหนังสือเท่านั้น หากสื่อที่เปลี่ยนไปยังหมายถึงงานเขียนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะปรากฏบนสื่อชนิดใดก็ตาม

          อาจารย์มกุฏ เปรียบเทียบกับสาขาวิชาชีพอื่นให้เห็นความสำคัญของบรรณาธิการชัดว่า “ในอุตสาหกรรมอื่นมีบุคลากรและฝ่ายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องทั้งนั้น ในโรงงานมี QC ถ้าไม่มีคนที่ทำหน้าที่ตรงนี้เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่ผลิตออกมาถูกต้องตามที่ควรเป็นหรือเปล่า ร้ายแรงที่สุดก็อาจส่งผลต่อชีวิตได้เลย ถ้าหนังสือไม่มีคนตรวจสอบ หรือผู้ที่ตรวจสอบไม่มีความรู้ที่ถูกต้องก็ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้อ่านทั้งจากความคิดที่เราส่งต่อไป” 

บรรณาธิการ สังคมการอ่าน และระบบหนังสือแห่งชาติ
Photo: อาคุงกล่อง

บรรณาธิการศึกษาในประเทศไทย

          จากชีวิตที่เติบโตขึ้นมาพร้อมหนังสือ และเห็นความสำคัญของศาสตร์การทำหนังสือที่ไม่ใช่เพียงการตรวจหรือแก้ไขอย่างที่คนมักเข้าใจว่าคือหน้าที่ (อย่างเดียว) ของบรรณาธิการ อาจารย์มกุฏจึงเสนอหลักสูตรบรรณาธิการศึกษาไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2544 ต่อด้วยมหาวิทยาลัยบูรพาในปี 2547 จนกระทั่งสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จัดทำวิจัยในปี 2548 ที่ได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยยังขาดแคลนบรรณาธิการทั้งในเชิงบุคลากรและองค์ความรู้ โดยประมาณการว่าจะมีความต้องการบรรณาธิการมากถึง 500 คนภายในห้าปีนับจากปีที่ทำการวิจัย

          ผลวิจัยดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยบูรพาเปิดหลักสูตรบรรณาธิการศึกษา แต่เมื่อเปิดหลักสูตรไปได้ไม่กี่ปีก็ต้องยุติการสอนไปเนื่องจากผู้เรียนไม่เพียงพอ ท้ายสุดหลักสูตรจึงถูกดำเนินการสอนในวิชาโท จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ยังเผชิญกับความท้าทายเรื่องบุคลากรผู้สอนประจำที่ประเทศไทยไม่มีคนจบสาขานี้โดยตรง ทั้งที่ในประเทศอื่น เช่น จีน ฝรั่งเศส มีสาขาวิชาชีพนี้สำหรับผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้โดยเฉพาะ ในขณะที่ในประเทศไทยยังมองว่าใครก็สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้

บรรณาธิการ กับบทบาทที่มากกว่า ‘ทำหนังสือ’

          นอกจากการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว อาจารย์มกุฏยังเสริมว่าการมีบรรณาธิการมืออาชีพจะส่งเสริมสายพานการผลิตและส่งเสริมการอ่านไปโดยปริยาย โดยยกประเด็นที่คนมักมองว่าหนังสือแพงขึ้นมาว่า

          “ในประเทศเราคนมักบอกว่าหนังสือแพง ถ้าแข่งเรื่องราคากันจะลำบากทุกฝ่าย ต้องถามว่าทำอย่างไรให้คนไม่รู้สึกว่าแพง รู้สึกว่าคุ้มค่า คนทำหนังสือก็ต้องทำหนังสือให้มีอายุนานทั้งในเชิงเนื้อหาและวัสดุที่ใช้ เช่น การเย็บกี่ ถ้าเราคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและคุณภาพเป็นหลัก เราจะตัดสินใจได้ง่ายมากว่าเราจะเย็บแบบไหน ไม่เช่นนั้นเราจะมองแต่ต้นทุนว่าคุ้มไหม เราจะลดต้นทุนได้อย่างไร ยิ่งคุณเลือกลดคุณภาพ คนยิ่งมองว่าแพง คนยิ่งไม่อ่าน ทีนี้ก็ไปกันใหญ่เลย คนที่จะมองเห็นและตัดสินใจเรื่องนี้ได้ไม่ใช่แค่สำนักพิมพ์ หากคือบรรณาธิการที่ต้องมองให้เห็นภาพรวมของการผลิตหนังสือหนึ่งเล่มขึ้นมา”

          เมื่อถามว่าใครต่อใครต่างบอกว่าหนังสือสำคัญ และบรรณาธิการก็เป็นหัวใจสำคัญของการทำหนังสือ ทำไมเราจึงยังไม่สามารถมีสาขาที่บ่มเพาะบรรณาธิการมืออาชีพ

          เขาพัก เทชาร้อนใส่จอกตรงหน้าก่อนตอบคำถาม และยื่นจอกใบแรกให้กับเราพร้อมถามว่า “คุณอยากฟังคำตอบที่แท้จริงไหม?” เมื่อเราถามแล้วถามอีกว่า เมื่อเราเห็นความสำคัญของบรรณาธิการ เหตุใดเราจึงไม่สามารถสร้างหลักสูตรวิชาชีพ และถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์ให้กับทั้งว่าที่บรรณาธิการและผู้ที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้วได้ เขามองเราอย่างจริงจังราวกับกำลังจะบอกเล่าเรื่องสำคัญที่ผู้สนใจจะฟังอย่างแท้จริงเท่านั้นจะได้ยิน 

          “เวลาคุณทำหนังสือคุณต้องเห็นภาพรวมทั้งหมด แค่แก้ไขงานแปลประโยคหนึ่งยังต้องดูภาพรวมทั้งประโยคเลย เวลาเราพูดถึงเรื่องนี้ก็เช่นกัน เราต้องเห็นภาพทั้งหมดว่าหลักสูตรที่เราทำ การอบรมบรรณาธิการส่งผลอย่างไรกับเป้าหมายทั้งหมดที่คุณบอกอยากให้คนเข้าถึงหนังสือได้ เราไม่ต้องพูดว่าส่งเสริมการอ่าน สร้างสังคมแห่งความรู้ด้วยซ้ำ เพราะถ้าคุณทำทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้มันดี สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเอง”

          “เราไม่เคยมีโครงสร้างที่รวมคนทำงานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เราเคยเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณในปี 2545 ในปีถัดมาได้ยื่นกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ ประชุมกันหลายนัด ผลักดันเดินหน้ากันจนถึงช่วงสุดท้ายที่มีการประชุมครั้งใหญ่สี่ร้อยกว่าคน นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์มารวมตัวกันเพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งสถาบันที่จะดูแลระบบหนังสือและความรู้ของประเทศทั้งหมด” 

          เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าสถาบันนี้จะทำหน้าที่อย่างไร อาจารย์มกุฏหันมาถามว่า

          “เธอมีหนังสือที่อยากเขียน อยากแปล หรืออยากทำอะไรเกี่ยวกับหนังสือไหมละ?”

          “สมมตินักเขียนคนหนึ่งอยากเขียนเรื่องยานอวกาศ แต่ไม่มีทุนทั้งทุนทรัพย์ที่จะเดินทาง เวลาที่จะต้องหยุดทำสิ่งต่างๆ เพื่อเขียนสิ่งนี้ เมื่อเขามีแรงบันดาลใจแต่ทำไม่ได้ สังคมก็พลาดโอกาสตรงนี้ไปด้วย แต่ถ้ามีสถาบันกลาง นักเขียนต่างๆ ก็สามารถมาเสนอขอรับทุนได้ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงมือผู้อ่าน สถาบันหนังสือจะช่วยดูแลทั้งหมด”

          อาจารย์มกุฏยกตัวอย่างประเทศอินเดียที่หลังจากได้รับเอกราชคืนมาแล้ว ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียก็ผลักดันและจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติ (National Book Trust) ในสมัยของตนเองทันทีเพราะเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการผลักดันสังคมแห่งความรู้โดยให้ประชาชนเป็นผู้ผลิต ผู้ถ่ายทอด และผู้รับความรู้นั้นเอง และจนถึงวันนี้เมื่อเวลาผ่านไปเจ็ดสิบปี อินเดียก้าวหน้าไปถึงไหนต่อไหน สถาบันนี้ก็ยังดำเนินการทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมคนทำหนังสือ จุดเริ่มต้นสังคมแห่งความรู้ในประเทศต่อไป 

          เวลาผ่านไปยี่สิบปี ประเทศไทยยังไม่มีสถาบันหนังสือแห่งชาติ หากอาจารย์มกุฏยังคงยื่นข้อเสนอนี้ในทุกรัฐบาล ประกอบกับทำงานด้านหนังสือที่ตนรักและเชื่อต่อไป 

          “มันยากที่จะทำสิ่งนี้ แต่การไม่ทำสิ่งนี้มันก็ยากกับเราที่โตมากับมัน เราเห็นความสำคัญของสิ่งนี้มาตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กที่เข้าถึงหนังสือไม่ได้ เราเจอมากับตัว เราเห็นว่าถ้าไม่มีหน่วยงานเช่นนี้ การจะทำให้คนเข้าถึงหนังสือ ให้คนเข้าถึงความรู้เสมอกันนั้นเป็นไปไม่ได้เลย”

          ปัจจุบันเราอาจเห็นอาจารย์มกุฏผันตัวมาทำหนังสือเด็กมากขึ้น ผลักดันนักเขียนเด็กให้เกิดขึ้นด้วยวิธีการธรรมชาติที่เขาบอกว่า “เราไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เปิดให้เขาเติบโตได้ด้วยตนเอง ไม่เอาฝาไปครอบปิดความพิเศษเฉพาะตัวของพวกเขา”

          แต่การทำหนังสือเด็กไม่ใช่พันธกิจใหม่ที่เขาผันมาทำ เมื่อความตั้งใจแรกเริ่มยังไม่เป็นไปดังปรารถนา ตรงกันข้าม เขาบอกว่า “คนทำหนังสือจะรู้ดีว่าทุกอย่างสอดคล้องไปในทางเดียวกันหมด ไม่ว่าคุณจะทำหน้าที่ใด ผลิตหนังสือประเภทใดก็ตามแต่”

บรรณาธิการ สังคมการอ่าน และระบบหนังสือแห่งชาติ
Photo: อาคุงกล่อง

ต่างคนต่างหน้าที่โดยมีพันธกิจเดียวกัน

          แค่เพราะเราทำแบบเดิมมาไม่ได้แปลว่าเราต้องทำด้วยแนวทางเดิมเสมอไป และในขณะเดียวกัน แค่เพราะบางสิ่งยังไม่เกิด ไม่ได้แปลว่ามันจะไม่เกิดขึ้น 

          “หลายฝ่ายอาจกลัวว่าการมีหน่วยงานกลางจะทำให้ทำงานยากขึ้น ตรงกันข้ามเลย การมีอยู่ของสถาบันหนังสือแห่งชาติจะเอื้อให้ทุกฝ่ายในวงการหนังสือทำงานสะดวกขึ้น และอยู่รอดมากขึ้น ยกตัวอย่างสำนักพิมพ์ก่อนเลย เราชินกับการที่ต้องลดราคาหนังสือถึงจะขายหนังสือได้ ทำเช่นนี้บ่อยๆ ผู้บริโภคก็ซื้อแต่หนังสือลดราคา ร้านเล็กก็รอดยาก ต้องแข่งกับสนามใหญ่ที่ลดราคาตลอด ถามว่าทำไมประเทศฝรั่งเศสถึงมีนโยบายห้ามลดราคาหนังสือใหม่ในรอบปีครึ่ง ก็เพื่อที่จะทำให้ทุกคนจำหน่ายได้เท่ากัน ไม่ต้องแข่งกันด้วยราคา และถ้าร้านเล็กอยู่ได้ สำนักพิมพ์ก็จะกระจายหนังสือได้มากขึ้น ราคาต่อหน่วยก็ลดลง คนก็เข้าถึงได้มากขึ้น และคนก็จะอ่านหนังสือมากขึ้นเอง เราแค่ต้องนึกถึงวิธีการใหม่ ไม่ใช่ปฏิเสธวิธีการใหม่ที่เราไม่เคยมี เพราะกลัวว่ามันจะขัดแนวทางเดิมโดยไม่ถามว่าที่ทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมันเหมาะสมแล้วหรือไม่”

          ก่อนจากลา อาจารย์มกุฏยกหนังสือให้เล่มหนึ่งชื่อว่า สิบนิ้วเล็กๆ ที่เป็นผลงานจากสถาบันหนังสือแห่งชาติของอินเดีย ที่แจกลิขสิทธิ์ให้ประเทศอื่นนำไปแปลได้ฟรี เพราะถือว่าการลงทุนในหนังสือเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุดและเป็นการส่งเสริมวงการตั้งแต่ต้นน้ำ ตั้งแต่สายธารความคิดผู้เขียนไปถึงปลายน้ำผู้อ่านที่ซึมซับกระแสความคิดต่อไปไม่สิ้นสุด โดยมีสถาบันหนังสือแห่งชาติเป็นผู้ต่อจุดเชื่อมให้สายธารความคิดหลั่งไหลไม่ขาดสายระหว่างทาง

บรรณาธิการ สังคมการอ่าน และระบบหนังสือแห่งชาติ
หนังสือ สิบนิ้วเล็กๆ ซึ่งถูกแปลจากต้นฉบับที่ชื่อว่า Ten Little Fingers
Photo: สำนักพิมพ์ผีเสื้อ


ที่มา

Cover Photo: อาคุงกล่อง

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก