‘ดิสโทเปียไม่สิ้นหวัง’ การเมืองในภาพยนตร์ เมื่อปัจเจกชนไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรม

1,492 views
6 mins
August 22, 2022

          คงต้องบอกว่าจุดยืนหนึ่งที่หลายคนในสังคมและภาพยนตร์ดิสโทเปียกำลังยึดถือไว้เหมือนกัน คือการเชื่อมั่นในความหวังอันริบหรี่ท่ามกลางโลกที่โหดร้าย แม้มันจะวิปโยคหายนะไปเพราะทุนนิยมพองตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่มนุษย์ที่รับรู้ได้แล้วถึงหายนะนั้น ก็แค่ไม่ย่อถอย หรืออยู่ในภาวะ ‘ไร้จินตนาการ’ ที่จะสู้ต่อ

          สถานการณ์ในภาพยนตร์ดิสโทเปีย เช่น In Time, The Hunger Games, The Matrix, Interstellar หรือ The Maze Runner ล้วนชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างการเมือง ผู้คน และความเชื่อทางวิถีวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจ ในจักรวาลนั้นถดถอยและถูกบีบอัดให้อยู่ในเขาวงกต แต่ในขณะเดียวกันก็ดึงรั้งให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งผู้ ‘มีความหวัง’ สู้ไปต่อได้แม้ว่าจะมีจำนวนน้อย เส้นทางคับแคบ หรือตื่นรู้ขึ้นมาว่าโลกยูโทเปีย ที่แปลแบบตรงตัวว่า ไม่มี-ที่ไหน (No-where) ที่ผู้มีอำนาจพยายามสร้างให้เกิดขึ้นคือมายาชนิดหนึ่ง

          หากปราศจากความหวัง ก็อาจต้องถูกจองจำอยู่ในกรงขังต่อไป

          หนังสือ ดิสโทเปียไม่สิ้นหวัง เขียนโดย สรวิศ ชัยนาม มอบทั้งความหวังและความสิ้นหวังให้ผู้อ่านค่อยๆ ทำความเข้าใจการเมืองโลก การเมืองเรา และการเมืองไทยไปพร้อมๆ กัน 

          ทัศนคติและมุมมองที่มีต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยถูกตั้งคำถาม และเราเองก็ได้ทบทวนความเป็นเครื่องจักรมนุษย์ผ่านระบบทุนนิยมที่กำลังผูกขาดชีวิตหลายส่วนเอาไว้ เราเรียนรู้โลกความจริงผ่านภาพยนตร์ที่ไม่จริง ผู้เขียนตีความสาส์นเหล่านั้นด้วยการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์และหลายต่อหลายครั้งก็สุดโต่งต่อระบบการเมืองและสังคมที่มนุษย์ฝ่ายขวา-ซ้ายยึดถือ 

          ดังนั้นเมื่อเราลองสำรวจการปฏิวัติสุดขอบโลกในภาพยนตร์ดิสโทเปียหลายเรื่อง สิ่งสำคัญที่หนังสือเล่มนี้มอบให้ คือการยอมรับในข้อจำกัดของแนวคิดทางการเมืองของเราเอง และมอบ ‘ความหวัง’ ที่ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนเสียเหลือเกิน 

          แต่ก็เป็นไปได้

          หนังสือเริ่มต้นด้วยการพยายามชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมสมัยนิยมหรือที่เราคุ้นเคยกันในนาม Pop Culture มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น และน่าสะพรึงในมิติที่รัฐสามารถใช้ Soft Power หรืออำนาจละมุนเป็นเครื่องมือในการสร้างแบรนด์ให้ชาติของตัวเอง ปลุกระดมอุดมการณ์รัฐชาติให้ประชาชน จัดระเบียบสังคม

          Pop Culture ยังมีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า สร้างความเป็น Transnationalism หรือการข้ามพรมแดนรัฐชาติ อย่างที่เราเห็นได้ชัดผ่านสื่อภาพยนตร์ Bollywood หรือถ้ามองให้เฉพาะเจาะจงในมุมของภาพยนตร์ดิสโทเปีย มันเป็นภาพสะท้อนอันสำคัญต่อการเมืองโลก ที่คลี่ภาพให้เห็นว่าเรามีภาพจำต่อสังคมอย่างไร เราตีความความสัมพันธ์ที่เรามีต่อโลก เราใช้ภาษาที่ถูกสร้างขึ้นมา และดำรงชีวิตภายใต้ ‘ภาพ’ ที่เรามีอย่างไร 

          ภาพยนตร์ดิสโทเปียเชิงวิพากษ์เล่าเรื่องที่ดูเหมือนไม่จริงเพื่อสะท้อนความจริง มันต้อนเราไปในความรู้สึกว่าโลกแสนโหดร้าย เราอาจปฏิวัติเต็มกำลัง สู้เพื่อสิ่งตัวเองเลือก เข้าใจตัวตน และคิดว่าตัวเองมีอิสรภาพในการเลือกหรือใช้ชีวิต แต่แท้จริงแล้วนี่อาจเป็นหนึ่งในอุดมคติที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้ในโลกที่ทุนนิยมยังไม่หยุดทำงาน 

          หนังสือพยายามชี้ให้เห็นว่าภาพยนตร์ดิสโทเปียมีหลากหลายรูปแบบ แต่เป้าประสงค์หนึ่งของมันคือพยายามย้ำเตือนการทำงานของทุนนิยม และท้าทายความเชื่อทางการเมืองที่ฝ่ายซ้ายยึดถืออยู่ 

          ลากคำถามที่ว่าแท้จริงแล้วต้องมีองค์กรทางสังคมอะไรที่จะมาแทนที่ทุนนิยม ผู้นำแบบไหน หรือต้องมีหน่วยงานควบคุมปราบปรามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ 

          นักสังคมศาสตร์หลายคนตั้งคำถามกับประชาธิปไตยว่ามันอาจเป็นภาพเพ้อฝันของเสรีนิยมใหม่ อิสรภาพที่ได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญยังเป็นอิสรภาพที่ถูกควบคุมและไม่แท้จริง เหมือนที่หนังสือเล่มนี้เองก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเราจำเป็นต้องเปิดโปงอิสรภาพจอมปลอมนี้ 

          “ในระบอบประชาธิปไตย พลเมืองสามัญชนทุกคนคือราชาไปโดยปริยาย หากแต่เป็นราชาภายใต้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กษัตริย์ผู้ทำได้แค่ตัดสินใจตามแบบแผนทางการ ผู้มีหน้าที่เพียงลงนามรองรับข้อเสนอมาตรการจากฝ่ายบริหาร”

          สุดท้ายแล้ว หากกษัตริย์ต้องเผชิญกับสมบูรณาญาสิทธิราชของทุน ประชาชนเองก็ต้องตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่อิสระนี้ต่อไป ‘ทุน’ จึงเป็นพลังอำนาจมหาศาลที่เราอาจจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันต่อต้าน เพราะมันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่สามารถควบคุมกำกับ และครอบงำสังคมได้ในฐานะพลังนอกรัฐสภา

          เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยโดยปฏิเสธทุนนิยม หนังสือยังได้เสนอว่า หากเราจะต้องติดหล่มประชาธิปไตยโดยไม่สามารถอยู่รอดจากทุนนิยมได้ แถมอาจจะถูกยัดไส้การเหยียดเชื้อชาติ การแบ่งแยกสีผิว การเหยียดคนรักเพศเดียวกัน ทำไมเราไม่ลองพิจารณาล่ะ ว่าคอมมิวนิสม์อาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

          ความขัดแย้งในตัวเองอย่างบ้าคลั่งของภาพยนตร์ดิสโทเปีย อาจให้ผลลัพธ์ของการตื่นรู้แก่ผู้ชม เพราะมันมี ‘การอ่านแบบเกินจริง’ หรือ Exaggerating Reading ที่ชิเชค นักปรัชญาสะท้อนไว้ว่า

          “อาจมองได้ว่าดิสโทเปียกำลังปกป้องเราจากแรงบันดาลใจหรืออิสรภาพแห่งจินตนาการ สิ่งเหล่านี้ปิดกั้นไม่ให้เรามองเห็นอุดมการณ์ความก้าวหน้าของกระฎุมพีและการเป็นทาสต่อทุนนิยม หากปราศจากข้อจำกัดดิสโทเปียแล้ว เราอาจจะตกหลุมพรางการไม่สำเหนียกรับรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราไม่สามารถกระทำการใดๆ อย่างมีอิสรภาพได้หากก่อนอื่นเราไม่รับรู้ถึงสภาวะไร้อิสรภาพของเราเสียก่อน” 

          การอ่านเกินจริงที่ว่า อาจเป็นแสงสว่างที่ทำให้ผู้ชมคิด หวัง  และตั้งคำถามว่า แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อต่อต้านทุนนิยมนอกเหนือขอบข่ายของสังคม หรือโลกที่เรากำลังดำรงอยู่ เพราะคีย์เวิร์ดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง อาจเป็นการแหวกออกไปจากขอบข่ายที่เราคิดว่ามีอยู่เดิม และยอมรับเงื่อนไขบางประการที่วาดฝีแปรงโดยทุน

          เราอาจจะร่วงหล่นลงไป เผชิญหน้ากับหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลกดิสโทเปียเสียก่อน เราจึงจะหาทางแก้ไขปัญหา และประดิษฐ์ความเป็นไปได้ทางแนวคิดใหม่ๆ ได้

          “เราจะสามารถมองเห็น ‘ความจริง’ ของภาพยนตร์ดิสโทเปียได้ก็ต่อเมื่อเราเลือกที่จะมองมันจากจุดยืนของผู้กระทำการปฏิวัติเพื่อการปลดปล่อยเปลี่ยนแปลง ชิเชคเชื่อว่าเราสามารถตีความนิพนธ์ที่ 11 ของมาร์กซ์ใหม่ได้ ดังต่อไปนี้ ‘การทดสอบ’ ทฤษฎีมาร์กซิสต์อยู่ในรูปของผลกระทบแห่งความจริงที่มันส่งไปยังผู้รับสารของมัน (กรรมาชีพ) เพื่อเปลี่ยนแปลงพวกเขาให้กลายเป็นผู้กระทำการปฏิวัติเพื่อการปลดปล่อย วลีดาษดื่นที่ว่า ‘คุณต้องเห็นมันกับตาก่อนที่จะเชื่อ’ ควรถูกพิจารณาแบบกลับหัวกลับหางเป็น ‘คุณต้องเชื่อ [ใน] มันก่อนที่จะเห็นมัน!’”

          ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนนำมาวิเคราะห์ในดิสโทเปียสิ้นหวังประกอบไปด้วยการชำแหละประเด็นทุนนิยมในฐานะระบบปีศาจต่างด้าว หรือความเปราะบาง ลักลั่นมูลฐานของทุนนิยม แต่ละเรื่องมีการหยิบจับองค์ประกอบที่ถูกทุนนิยมป่นขยี้

          ใน In Time เราจะเห็นว่านายทุนคอยขโมยเวลาแรงงานไปมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันก็กลัวการถูกแรงงานขโมยเวลากลับด้วยเช่นกัน ระบบการคิดเวลาใหม่ในดิสโทเปียของ In Time รื้อสร้างอุดมการณ์เรื่องเวลาของชนชั้นกระฎุมพี และเห็นได้ชัดเจนว่ามันเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้ครอบงำให้คนอยู่ภายใต้บังคับบัญชา หรือมีสถานะที่ต่ำกว่าตน

          อุดมการณ์กระฎุมพี (Bourgeois Ideology) ที่ปรากฎใน In Time ชี้ให้เห็นถึงความท้อแท้สิ้นหวังของชนชั้นแรงงานที่ไร้เวลาในการประท้วงเรียกร้อง แทบจะเทียบได้เท่ากับทาสแล้วด้วยซ้ำ และพวกเขาต้องเดิมพันชีวิตกับการทำงานจนสองสิ่งนี้แยกออกจากกันไม่ได้ ส่วนคนรวยก็เพียงใช้ชีวิตไปโดยไม่ต้องต่อสู้ เพียงหล่อเลี้ยงอำนาจและท้าทายความมั่งคั่งที่ล้นเกินของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ในคาสิโน

          สุดท้ายแล้ว องค์ประกอบที่คล้ายกันในภาพยนตร์ดิสโทเปียทุกเรื่องในเล่ม คือ ‘ความหวัง’ และการต่อสู้แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ของชนกลุ่มหนึ่ง มันต่อขอบเขตความรู้ที่ถูกฉีกออกไปเรื่อยๆ ทำงานกับมโนสำนึกและการตีความของมนุษย์ต่อโลกแห่งการเมืองที่พวกเขาดำรงอยู่ 

          ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหาเวลาอย่างเอาเป็นเอาตายใน In Time หรือการออกไปกวาดล้าง ตอบโต้สุดกำลังใน The Purge เราอาจมองได้ว่าวิถีทางและแนวทางของพวกเขาเหล่านั้นคือ ยูโทเปียและดิสโทเปียลักษณะเฉพาะ วิพากษ์วิจารณ์ตัวมันเองโดยไม่แช่แข็งอะไรก็ตามที่นำไปสู่การปลดแอกจากระบอบที่ไม่เป็นธรรม

          แม้ว่ามันจะหมายถึงการเสียสละชีวิต และปลดแอกตัวเองออกไปสู่สภาวะไร้อิสรภาพที่ไม่มีที่สิ้นสุดก็ตาม

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก