‘DX Lab’ ห้องทดลองนวัตกรรมห้องสมุด สืบสานมรดกทางวัฒนธรรม

584 views
7 mins
February 24, 2022

          กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นหนึ่งในเครื่องมือยอดนิยมที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบสินค้าและบริการให้ตรงใจผู้บริโภค ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาห้องสมุดได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นกระบวนการที่เน้นการทำความเข้าใจผู้ใช้บริการอย่างลึกซึ้ง

          เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ห้องสมุดแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ (State Library of NSW) ประเทศออสเตรเลีย ได้ดัดแปลงสารสนเทศที่สำคัญให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลกว่า 6 ล้านรายการ พร้อมหาหนทางที่เหมาะสมในการนำเสนอสารสนเทศเหล่านี้ โดยยึดความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง

          นั่นคือที่มาโครงการ ‘DX Lab’ ห้องทดลองมรดกทางวัฒนธรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของออสเตรเลีย ที่สนับสนุนการคิดเชิงออกแบบ การวิจัยและการทดลองเชิงลึกด้านมนุษยศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จนเกิดเป็นต้นแบบนวัตกรรมห้องสมุดหลายสิบนวัตกรรม ทั้งการนำเสนอข้อมูลด้วยภาพ (data visualization) การสร้างประสบการณ์ภาพและเสียงที่สมจริง การจัดนิทรรศการภาพถ่ายผู้คนโดยสร้างแคมเปญระดมภาพถ่ายจากโซเชียลมีเดีย ฯลฯ

          ผลงาน DX Lab แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 ซึ่งยกระดับการให้บริการสารสนเทศด้วยการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่ทันสมัย ทั้งในพื้นที่กายภาพและออนไลน์

ความเป็นมาของ ‘DX Lab’

          โครงการทดลอง DX Lab (Digital Experience Lab) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2015 โดยมีพอลลา เบลย์ (Paula Bray) เป็นหัวหน้าโครงการ ก่อนจะมาทำงานที่ห้องสมุดแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ เธอเคยทำงานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในเมืองซิดนีย์มาก่อน จึงมีความสนใจเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมเป็นพิเศษ (ปัจจุบัน เบลย์ ได้ย้ายไปทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ที่ถนัด ในพิพิธภัณฑ์การเดินเรือแห่งชาติ)

          “ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมสำหรับจิตวิญญาณ และเป็นห้องนั่งเล่นของเมือง แต่เราก็พบกับปัญหาบางอย่าง จะทำอย่างไรให้ห้องสมุดเป็นสถานที่แห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถสร้างวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เข้าถึงคอลเลกชันและบริการ”

          หลักการและแนวปฏิบัติที่สำคัญในการทำงานของ DX Lab คือการคำนึงถึงผู้ใช้บริการเป็นอันดับแรก (audience first) ให้ความสำคัญกับการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) ทดลองทำซ้ำแล้วนำมาปรับปรุงต้นแบบให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้กุญแจสำคัญของการพัฒนา คือการเปิดกว้างต่อการทำงานร่วมกับพันธมิตร ทั้งครีเอทีฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นักวิจัย นักศึกษา ศิลปิน ฯลฯ

          “นวัตกรรมที่แท้จริงมาจากการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่ความร่วมมือในองค์กรเท่านั้น แต่รวมถึงภายนอกด้วย เราต้องมองรูปแบบการทำงานให้ต่างไปจากเดิม คือมองเรื่องการเป็นหุ้นส่วนให้มากขึ้น”

          โครงการ DX Lab ดำเนินการเสร็จสิ้นตามกำหนดในปี 2021 ก่อให้เกิดต้นแบบนวัตกรรมห้องสมุดที่เน้นประสบการณ์ดิจิทัลทั้งในพื้นที่กายภาพและดิจิทัลกว่า 30 นวัตกรรม บางนวัตกรรมถูกนำมาปรับใช้แล้วกับห้องสมุดแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ทั้งยังได้รับรางวัลมากมายทั้งระดับชาติและนานาชาติ นอกจากนี้สารสนเทศดิจิทัลที่เคยมีอยู่ 6 ล้านรายการ ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20 ล้านรายการ มีเว็บไซต์ DX Lab เป็นแพลตฟอร์มในการแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ พร้อมรวบรวมข้อมูลสำหรับการอ้างอิงต่างๆ

          “ฉันคงไม่เรียกสิ่งที่เราทำว่าเป็น ‘ผลิตภัณฑ์’ เพราะเรามุ่งไปที่การวิจัย การทดลอง และการทำงานร่วมกัน นี่ไม่ใช่ปกติวิสัยขององค์กรด้านมรดกทางวัฒนธรรมสักเท่าไหร่ ที่สามารถผลักดันสิ่งต่างๆ ออกไปอย่างรวดเร็ว… และฉันโชคดีมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดที่มีโครงการด้านดิจิทัลขนาดใหญ่แห่งนี้” พอลลา เบลย์ กล่าว

          ต่อไปนี้คือตัวอย่างต้นแบบนวัตกรรม ภายใต้โครงการ DX Lab ที่น่าสนใจ ซึ่งห้องสมุดและพื้นที่การเรียนรู้ทั่วโลกสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตัวเองได้

ทำเนียบศิลปินออสเตรเลีย The Australian Art Catalogue Index

          ฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลของศิลปินออสเตรเลียระหว่างปี 1847-1900 กว่า 2,000 คน มีผลงานเกือบ 20,000 ชิ้น ใช้เทคโนโลยีการนำเสนอด้วยภาพ (data visualization) ผู้ใช้บริการสามารถเลือกสืบค้นจากรายชื่อศิลปิน และประเภทของผลงาน เช่น สีน้ำ สีน้ำมัน ภาพถ่าย ประติมากรรม เครื่องประดับ ฯลฯ

          ฐานข้อมูลนี้ช่วยชี้ข้อสังเกตว่าด้วยเพศของศิลปินออสเตรเลีย ซึ่งมีผู้หญิงเพียง 34% แต่เมื่อสืบค้นลึกลงไปจะพบว่า ศิลปะบางแขนงเป็นผลงานของศิลปินผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกว่า ในช่วง 120 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนศิลปินชายและหญิงอยู่ในภาวะไม่สมดุล ทว่าในช่วง 50 กว่าปีหลัง สัดส่วนดังกล่าวค่อนข้างมีความสมดุลยิ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

นิทรรศการ ‘โฉมหน้าของนิวเซาท์เวลส์’ #NewSelfWales

          นิทรรศการออนไลน์ที่รวบรวมภาพถ่ายบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ แทนที่จะนำเสนอภาพคอลเลกชันของห้องสมุดแต่เพียงอย่างเดียว มีเเคมเปญรวบรวมภาพถ่ายเซลฟีจาก Instagram และบูธถ่ายภาพที่ตั้งอยู่ในห้องนิทรรศการ รวมแล้วกว่า 12,000 ภาพ ภาพถ่ายทั้งหมดถูกฉายบนผนังในห้องสมุด เปรียบเสมือนแกลอรีย่อมๆ ที่มีรูปแบบทันสมัย และสามารถเข้าถึงผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วย

          ทั้งนี้ ภาพถ่ายจากโซเชียลมีเดียสามารถบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของผู้คนที่หลากหลายในปี 2018 หากไม่มีอุปสรรคด้านเทคโนโลยี ฐานข้อมูลนี้จะยังคงอยู่ไปอีกนับร้อยปี และกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่าของออสเตรเลีย

ห้องสมุดเสมือนยุค 50s – Field of View

          นำเสนอภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ของห้องสมุดมิทเชล (Mitchell Library) ผ่านประสบการณ์โลกเสมือน ราวกับโลกในอดีตกำลังเกิดคู่ขนานไปกับโลกปัจจุบัน มีการใช้เครื่องสแกน LiDAR เพื่อวัดระยะความลึกของสภาพแวดล้อมที่ปรากฏในภาพถ่าย ก่อนนำมาจำลองเป็นห้องสมุดเสมือนจริงโดยนำเทคโนโลยีการสร้างเกมมาประยุกต์ การรับชมสามารถทำได้ทั้งการดูผ่านหน้าจอ และการใช้แว่น VR ที่ให้ประสบการณ์สมจริงมากกว่า

          ผู้เยี่ยมชมจะสามารถมองเห็นห้องสมุดเสมือนจากมุมสูง เช่นเดียวกับนกที่มองเห็นเหยื่อมาแต่ไกล ได้พบกับภาพบรรณารักษ์สาวสวยในยุค 50s กำลังนั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ หรือชายหนุ่มภูมิฐานกำลังยืนอ่านหนังสืออยู่ตรงบันได ฯลฯ ภาพดังกล่าวไม่เพียงมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่ยังมอบประสบการณ์ด้านอารมณ์ความรู้สึกให้แก่ผู้ใช้บริการอีกด้วย

ตู้เลือกหนังสืออัตโนมัติ The Vending Library

          ตู้แนะนำหนังสือที่ดัดแปลงจากตู้จำหน่ายสินค้าแบบหยอดเหรียญ มีการคัดสรรประเภทหนังสือออกเป็นธีมต่างๆ เช่น ความรัก การเดินทาง สัตว์เลี้ยง คำคม ฯลฯ เมื่อผู้ใช้บริการป้อนบัญชีทวิตเตอร์ ระบบอัตโนมัติจะวิเคราะห์เนื้อหาในทวิตล่าสุดของคนคนนั้น เพื่อแนะนำรายชื่อหนังสือในธีมที่สอดคล้องกับความสนใจ ส่วนผู้ที่ไม่มีบัญชีทวิตเตอร์ ก็สามารถเลือกธีมหนังสือที่สนใจด้วยตนเอง แต่ละตู้สามารถจุการ์ดแนะนำหนังสือได้ 1,120 ใบ

แผนที่โลก 3 มิติ – The Meridian

          นอกจากหนังสือซึ่งเป็นคอลเลกชันหลัก ห้องสมุดรัฐนิวเซาท์เวลส์ยังจัดเก็บเอกสารจดหมายเหตุประเภทแผนที่ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-18 ไว้อยางเป็นระบบ

          ทั้งนี้ แผนที่โบราณที่ปรากฏอยู่บนกระดาษ อาจเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากสำหรับหลายคน จึงมีการริเริ่มแปลงภาพแผนที่ให้ปรากฏบนลูกทรงกลม 3 มิติ ที่สามารถหมุนไปมาได้ ซึ่งต้องอาศัยการคำนวณสัดส่วนให้สมจริง ผู้ใช้บริการสามารถเลือกรับชมแผนที่ของนักสำรวจหลายคนจากหลายยุคสมัยเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน

หุ่นยนต์แนะนำหนังสือสำหรับเด็ก ‘Scout’ a chatbot

          หุ่นยนต์ ‘Scout’ คอยให้เด็กๆ มาคุยด้วยอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคารห้องสมุดแม็คไควรี (Macquarie Library) เพียงสัมผัสหน้าจอเพื่อตอบคำถามง่ายๆ 2-3 ข้อ หุ่นยนต์จะแนะนำและพิมพ์รายการหนังสือ 5 เล่ม ที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กคนนั้นๆ

          ที่มาของนวัตกรรมนี้ เกิดจากการที่ทีมงานวิจัยพบว่า เด็กๆ ชื่นชอบการอ่านหนังสือกระดาษมากกว่าอ่านจากหน้าจอ เด็ก 80% ระบุว่าหนังสือที่พวกเขาชื่นชอบเป็นเล่มที่พวกเขาได้เลือกเอง และเด็กจำนวนมากขาดทักษะในการค้นหาหนังสือที่ตนเองสนใจ

          ในกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เด็กๆ อายุ 5 ขวบได้ร่วมกันเสนอหุ่นยนต์ในฝันว่าอยากให้มีรูปร่างอย่างไรและทำอะไรได้บ้าง จึงกลายมาเป็นหุ่นยนต์ ‘Scout’ ที่มีความหมายว่าลูกเสือ สื่อถึงผู้ที่ยินดีในการช่วยเหลือผู้อื่น

ศาลาอินเทอร์แอคทีฟ แปลภาพศิลปะให้เป็นบทเพลง – 80HZ Sound Lab

          ห้องสมุดแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้ร่วมมือกับนักออกแบบสถาปัตยกรรมและสตูดิโอที่เชี่ยวชาญด้านเสียง ทดลองสร้างศาลารูปทรงแปลกตา ดูคล้ายเกล็ดงูสีดำ บริเวณหน้าห้องสมุดมิทเชลล์ เมืองซิดนีย์ ซึ่งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ ภายในมีตู้อัตโนมัติให้เลือกชมผลงานศิลปะที่ถูกออกแบบให้ดูเหมือนเทปรีล (reel) มีบทเพลงคลาสสิคที่เข้าผลงานนั้นๆ ช่วยให้กับการรับชมศิลปะมีอรรถรสมากขึ้น เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเสพผลงานศิลปะ

80Hz: Sound Lab

ที่มา

เว็บไซต์ DX Lab [online]

Fostering a Culture of Innovation in the Library [online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก