หากย้อนมองประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ กว่าพวกเขาจะเริ่มมีพื้นที่ในสังคมหรือได้รับสิทธิเช่นคนกลุ่มอื่น ต้องฟันฝ่าความเกลียดชัง เหตุการณ์โหดร้ายรุนแรง และโศกนาฏกรรมมากมาย หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกาผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องการไม่แบ่งแยกกีดกันทางเพศ จนแฮชแท็ก #LoveWins ขึ้นอันดับ 1 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ทั่วโลก
ปีเดียวกันนี้ เกิดกิจกรรม ‘Drag Story Hour’ ซึ่งชาวแดร็กควีน (Drag Queen) หรือผู้มีสรีระเป็นชายแต่แต่งกายเป็นหญิง สวมบทบาทเป็นผู้อ่านนิทานให้เด็กๆ ฟัง ทั้งที่ห้องสมุด โรงเรียน และร้านหนังสือ โดยมุ่งหวังเพื่อที่จะปลูกฝังให้เด็กๆ ซึมซับเรื่องความแตกต่างของมนุษย์ รู้จักเคารพและเห็นคุณค่าในตัวผู้อื่น รวมทั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
กิจกรรมนี้ริเริ่มโดย มิเชล ที (Michelle Tea) นักเขียนซึ่งขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมให้แก่ชาว LGBTQ+ และนิยามว่าตนเองเป็น เควียร์ (Queer) หรือ ผู้ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบทัศนะทางเพศใดๆ ครั้งหนึ่งมิเชลได้พาลูกชายไปนั่งฟังนิทานที่ห้องสมุดแล้วสังเกตว่า หนังสือล้วนมีแต่เรื่องราวของเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น จึงจุดประกายให้เกิดกิจกรรมเล่านิทานที่มีเนื้อหาและรูปแบบที่แตกต่างออกไป
อาสาสมัครแดร็กควีนผู้อ่านนิทานให้เด็กๆ ฟัง ต้องมีทักษะด้านการสร้างความบันเทิง และผ่านการฝึกอบรม เช่น การเลือกหนังสือ การอ่านออกเสียง วิธีการถือหนังสือ และจิตวิทยาเด็ก พวกเขามาพร้อมกับชุดแฟนซีสวยงามที่ดึงดูดความสนใจของเด็กๆ นิทานซึ่งถูกคัดเลือกมาอ่านมักมีตัวละครหรือประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลาย เช่น นิทานเรื่อง ‘This Day in June’ บอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของ LGBTQ+ และยังทำหน้าที่เป็นเหมือนคู่มือสำหรับผู้ปกครองเพื่อพูดคุยกับลูกเรื่องรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศ หรือเรื่อง ‘Spoon’ บอกเล่าเรื่องราวของตัวละครที่เป็นช้อน ซึ่งรู้สึกว่าตัวเองนั้นช่างต่ำต้อย เพราะแตกต่างจากของใช้ในครัวประเภทอื่นๆ
Drag Story Hour ไม่เพียงได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาแต่ยังขยายเครือข่ายไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เดนมาร์ก เยอรมนี และญี่ปุ่น ผู้อ่านนิทานไม่ได้จำกัดแค่แดร็กควีน แต่อาจจะเป็นแดร็กคิง แดร็กพรินเซส หรือแดร็กพรินซ์ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้ใครก็ตามที่เป็นแดร็กสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้
เด็กๆ และครอบครัวที่สนับสนุนทัศนคติที่ไม่เหมารวมทางเพศ ต่างก็ชื่นชอบกิจกรรม Drag Story Hour อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า กิจกรรมนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ แทนที่เด็กๆ จะเรียนรู้เรื่องความแตกต่างหลากหลายด้วยการท่องจำ มีการกระตุ้นให้เด็กรู้จักตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น กล้าพูดคุยแลกเปลี่ยน และมีส่วนร่วมในห้องเรียนอย่างเต็มที่
แต่ก็ใช่ว่าการเล่านิทานโดยชาวแดร็กจะเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะอีกด้านหนึ่ง ก็มีกลุ่มคนที่เกรงว่ากิจกรรมนี้จะเป็นภัยต่อเด็ก จึงพากันออกมาต่อต้าน ก่อกวน หรือถึงขั้นเข้ามาทำร้ายผู้จัดกิจกรรม หากยึดมั่นในหลักการด้านความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เหล่าแดร็กควีนและบรรดาผู้มีความหลากหลายทางเพศต่างก็หวังว่า พวกเขาจะยังมีพื้นที่ปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อสิทธิในการแสดงออกถึงตัวตน และมีโอกาสสร้างคุณค่าให้แก่สังคมทัดเทียมกับมนุษย์ทุกคน
ที่มา
บทความ “A Rainbow of Creativity: Exploring Drag Queen Storytimes and Gender Creative Programming in Public Libraries” จาก journals.ala.org (Online)
บทความ “Who is the Drag Queen Story Hour leader? History of controversies amid FALSE reports of child porn charges” จาก meaww.com (Online)
บทความ “‘Drag Queen’ สถานะที่ไม่ได้มาเพราะเพศกำเนิด ในรายการ RuPaul’s Drag Race” จาก thematter.co (Online)
บทความ “เปิดโผ 30 ประเทศทั่วโลก รองรับเพศเดียวกันแต่งงานถูกกฎหมาย” จาก thevisual.thaipbs.or.th (Online)
บทความ “This Day in June” จาก apa.org (Online)
บทความ “Kids Love Drag Queen Storytime. Anti-LGBT Groups Want To Shut Them Down.” จาก thedailybeast.com (Online)
บทความ “‘I’m just trying to make the world a little brighter’: how the culture wars hijacked Drag Queen Story Hour | Drag” จาก theguardian.com (Online)
บทความ “Michelle Tea on the Life-Changing Experience of Queer Pregnancy” จาก them.us (Online)
บทความ “เควียร์ อนาคตของเพศที่ไร้กรอบ” จาก voicetv.co.th (Online)
บทความ “Drag Queens won’t be cowed by haters. The story hour goes on.” จาก nbcnews.com (Online)