ย้อนกลับไป 30 กว่าปีก่อน ไม่มีใครที่ไม่รู้จักร้านหนังสือ และสำนักพิมพ์ ดอกหญ้า จุดเริ่มต้นวรรณกรรมอันทรงคุณค่าที่ครองใจนักอ่านชาวไทย
แม้วันนี้ร้านหนังสือดอกหญ้าจำต้องปิดตัวลง แต่ตำนานหนังสือเล่มยังคงอยู่ภายใต้การนำของผู้เป็นหลานอย่าง ณัฐสิทธิ์ จันทร์แก้ว บรรณาธิการบริหาร เจ้าของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า และยังมี ประเวท แดงดา ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการเล่ม ให้กับสำนักพิมพ์แห่งนี้อีกด้วย
ดอกหญ้าตั้งต้นมาจากร้านหนังสือเล็กๆ ย่านท่าพระจันทร์ ด้วยการลงขันรวมหุ้นของ ณรงค์ศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งดอกหญ้า และเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาศัยประสบการณ์จากการดูแลศูนย์หนังสือในมหาวิทยาลัยมาพัฒนาหน้าร้านสาขาแรกหลังจากเรียนจบ จนได้รับความนิยมมากในยุคนั้น เพราะมีความแตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไป
“ปกติแล้วร้านหนังสือสมัยก่อนจะไม่ยอมให้ลูกค้าเปิดหนังสืออ่านก่อนซื้อ แต่ดอกหญ้าเป็นร้านแรกที่ไม่มีข้อจำกัด อ่านแล้วสนใจค่อยซื้อกลับไปก็ไม่มีใครว่า ต่อให้ยืนอ่านหนังสือทั้งวันก็ยังได้”
จุดเด่นนี้ ทำให้ร้านหนังสือดอกหญ้าได้รับความนิยมอย่างมาก และเป็นร้านแรกที่ทำระบบสมาชิก รับส่วนลดพิเศษจากราคาปก 3-5 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้ร้านดอกหญ้าในยุคแรกเริ่มโด่งดังพอๆ กับ ‘น้อง ท่าพระจันทร์’ ร้านจำหน่ายเทป ซีดี และแผ่นเสียงที่ได้รับความนิยมในย่านเดียวกัน
ไม่นานนัก ร้านหนังสือดอกหญ้าก็เริ่มขยับขยายหน้าร้านสาขาถัดมา อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเน้นขายหนังสือภาษาอังกฤษ ภาษาต่างประเทศให้กับนักท่องเที่ยวในย่านนั้น แต่กลับไปไม่รอด
“กำไรที่ได้จากการขายหนังสือต่างประเทศมีน้อยมาก เปิดหน้าร้านได้เพียง 3 เดือน ก็ต้องปิดตัวลง” ณัฐสิทธิ์บอกเล่าถึงบทเรียนที่ร้านหนังสือแห่งนี้ได้เจอ
ประสบการณ์ที่ได้รับนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น ไม่นานร้านหนังสือดอกหญ้าที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ก็ได้ขยายไปมากกว่า 80 สาขาในกรุงเทพฯ และขายแฟรนไชส์ไปทั่วประเทศ ทั้งในมหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า แหล่งชุมชน ท่ามกลางกระแสรักการอ่านของคนในยุคก่อน ที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต
“ดอกหญ้าอยู่ในยุคบุกเบิกร้านหนังสือ เราทำโครงการ เพื่อนหนังสือ พิมพ์งานเขียนของคนมีชื่อเสียงในยุคนั้น รวมถึงทำ สวนหนังสือ แจกให้สมาชิกหลายแสนคน ก่อนที่จะมีร้านหนังสืออย่าง ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ และร้าน นายอินทร์ ตามมา” ณัฐสิทธิ์เล่า

จากร้านหนังสือสู่สำนักพิมพ์
ด้วยความตั้งใจที่ต้องการให้คนไทยมีโอกาสได้อ่านหนังสือมากขึ้น ดอกหญ้าเริ่มขยับมาทำสำนักพิมพ์เอง ตีพิมพ์ผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่า ผลงานของนักเขียนรุ่นเก่า โดยไม่ได้เน้นว่าจะต้องขายได้ หรือทำเพื่อธุรกิจ
จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า ภายใต้บริษัท สามัคคีสาร (ดอกหญ้า) จำกัด (มหาชน) เดินหน้าผลิตหนังสือที่มีเนื้อหาหลากหลาย
ณัฐสิทธิ์กล่าวว่า “จากที่รับหนังสือของสำนักพิมพ์อื่นมาขาย ดอกหญ้าเริ่มขยับขยายมาทำสำนักพิมพ์เอง โดยเริ่มตีพิมพ์ผลงานที่ดังมากๆ ในตอนนั้น อย่าง เวลาในขวดแก้ว ของ ประภัสสร เสวิกุล, โจนาทาน ลิฟวิงสตันฯ* ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และเริ่มทำหนังสือแปลมากขึ้น
หนังสือที่ได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ในยุคแรกพิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งวรรณศิลป์ ภาษา ความนิยมในตัวผู้เขียน ความเห็นจากกองบรรณาธิการเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น ผลงาน ข้างหลังภาพ โดย ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) งานของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เริ่มต้นมาจากโครงการ อนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก ที่นำมาตีพิมพ์จนครบเซ็ต
รวมถึงผลงานวรรณกรรมของ มาลัย ชูพินิจ และ ป. อินทรปาลิต (ปรีชา อินทรปาลิต) หรือแม้แต่หนังสือทั่วไป
แต่พิษเศรษฐกิจก็ทำสำนักพิมพ์ดอกหญ้าถึงกับต้องล้มละลาย หลังจากตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่เพื่อขยายกิจการ ก่อนที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเท่าตัว และต้องใช้เวลาบริหารหนี้อยู่พอสมควรแต่ก็ยันไว้ไม่ไหว
ไม่นานร้านหนังสือดอกหญ้าหลายสาขาทยอยปิดตัวลง เหลือเพียง 10 สาขาที่ยังพอไปต่อได้ โดยมีณัฐสิทธิ์เข้ามารับช่วงต่อหลังฟองสบู่แตก
“ผมมองว่าร้านหนังสือในตอนนั้นมีโอกาสในเชิงธุรกิจ ถึงแม้กำไรจะไม่มากนัก เพราะสัดส่วนรายได้ของร้านหนังสือมาจากสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารยอดนิยมที่พาคนอ่านมาเจอหนังสือเล่มที่ทรงคุณค่า และซื้อติดมือกลับไป ส่วนสำนักพิมพ์ดอกหญ้ายังคงเดินหน้าต่อในชื่อเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเงินทุนที่ลดลง” เขากล่าวยอมรับ

ออนไลน์เปลี่ยนพฤติกรรมคนอ่าน
การเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่ของดอกหญ้าเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อพฤติกรรมของคนอ่านเปลี่ยนไป การเข้ามาของสื่อออนไลน์ทำให้นิตยสารดังเริ่มปิดตัวลง ทำให้เหตุผลของการเข้าร้านหนังสือของคนอ่านเปลี่ยนไป
ในมุมของนักอ่านเองหันไปรอซื้อหนังสือในงานมหกรรมหนังสือที่จัดถี่ขึ้น ทำให้ยอดขายหน้าร้านในช่วงเวลาปกติขาดหายไปกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นคืน
“รายได้ที่ลดลงถึงขั้นทำให้ร้านหนังสือขาดทุน จนต้องตัดสินใจปิดหน้าร้านสาขา เพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว เหลือไว้เพียงแค่สำนักพิมพ์” ณัฐสิทธิ์กล่าวถึงผลที่เกิดจากเหตุการณ์นี้
ในช่วงเริ่มต้นดอกหญ้าปรับตัวโดยเริ่มทดลองทำอีบุ๊กเพิ่มเติมจากการพิมพ์หนังสือเล่มแต่กลับขายไม่ได้ ทำให้เรียนรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคนอ่านต่างกัน ขณะที่การเปลี่ยนมาขายหนังสือเล่ม ผ่านช่องทางออนไลน์ทำได้ดีกว่า
“วรรณกรรมทรงคุณค่า แม้จะไม่หวือหวาแต่อยู่ได้ตลอดกาล” ประเวทกล่าวและเสริมว่า “ก้าวต่อไปของสำนักพิมพ์ดอกหญ้าจะยังให้ความสำคัญกับวรรณกรรมที่คนไทยควรอ่านอย่าง นิทานโบราณคดี ที่มีการปรับรูปแบบทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา”
อีกหนึ่งเป้าหมายของสำนักพิมพ์ดอกหญ้าคือ ช่วยดูแลลิขสิทธิ์หนังสือเล่ม รวมถึงปรับรูปแบบหนังสือเก่าที่ทรงคุณค่า เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น แต่ต้องไม่หนีคำว่าวรรณกรรม พร้อมทั้งเพิ่มหมวดหนังสือใหม่โดยล้อไปกับเทรนด์ที่คนสนใจ
“สำนักพิมพ์ที่จะอยู่รอดได้ในยุคนี้ก็จำเป็นต้องปรับตัวหลายอย่าง” ประเวทเล่า
ตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์ดอกหญ้าเอง กว่าที่จะพิมพ์หนังสือออกมาแต่ละเล่มก็ต้องใช้เวลาคัดเลือกเนื้อหา ตามหาภาพประกอบ พัฒนาองค์ประกอบของหนังสือให้ดีขึ้น โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีส่วนช่วยได้มาก
ณัฐสิทธิ์กล่าวเสริมว่า “หนังสือเล่มยังอยู่ได้อีก 20-30 ปี เพียงแต่สำนักพิมพ์ต้องปรับตัว หาคอนเทนต์ที่ดีจริง โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์และร้านหนังสือดอกหญ้าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยรักการอ่าน และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และพัฒนาธุรกิจสิ่งพิมพ์ และร้านหนังสือให้เติบโตขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้บริหารสำนักพิมพ์อยากเห็นภาครัฐหันมาเอาใจใส่ธุรกิจหนังสือ ร้านหนังสือ แบบเดียวกับต่างประเทศที่มีหน่วยงานดูแลเฉพาะ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจที่สร้างองค์ความรู้ให้กับคนในประเทศเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง



* บ้างก็เขียนว่า โจนาธาน ลิฟวิงสตันฯ แต่บทความนี้ใช้ โจนาทาน ลิฟวิงสตันฯ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อที่สำนักพิมพ์ใช้