Doc Club for Kids สารคดีที่ช่วยจุดประกายบทสนทนาดีๆ ในครอบครัว

722 views
8 mins
August 30, 2021

          ในช่วงเวลาแห่งการล็อคดาวน์ เชื่อว่าหลายครอบครัวต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหนึ่งในปัญหาโลกแตก คือการจับจองพื้นที่หน้าโทรทัศน์ ซึ่งยากที่จะตอบสนองความพึงพอใจของทุกคน

          ยิ่งครอบครัวไหนมีสมาชิกเป็นเยาวชนตัวน้อยๆ การดูหรือเปิดรับสื่อต่างๆ อาจยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น

          จากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ Documentary Club แพลตฟอร์มที่นำเสนอสารคดีคุณภาพจากทั่วโลก ผุดโปรเจกต์ใหม่ ‘Doc Club for Kids’ คัดสรรสารคดีที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวนั่งล้อมวงดูด้วยกันได้ แถมด้วยคู่มือที่ช่วยให้ผู้ปกครองหรือคุณครูชวนเด็กๆ สนทนาต่อยอดจากในหนัง

สร้างบทสนทนาด้วยหนังสารคดี

          ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club เล่าว่า เธอมีแนวคิดในการเชื่อมโยงหนังสารคดีกับเด็กๆ มาสักระยะแล้ว และได้เริ่มทำจริงจังในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดระลอกที่ 2 เพราะเห็นว่าเด็กๆ มีเวลาอยู่บ้านเยอะมาก แต่ไม่ค่อยมีกิจกรรมให้ทำ ขณะที่ผู้ปกครองหรือครู อาจต้องการเครื่องมือในการสอนหรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กเพิ่มขึ้น จึงเห็นว่าหนังสารคดีอาจเข้ามาช่วยเติมช่องว่างตรงนี้ได้

          “เราเคยเห็นหนังสารคดีหลายๆ เรื่องในต่างประเทศ ที่พยายามผนวกตัวเองเข้ากับการเรียนการสอนของเด็ก มีการทำคู่มือสำหรับดูหนังเรื่องนั้นๆ เพื่อสอนเนื้อหาทางวิชาการและบทเรียนชีวิตแก่เด็กๆ เราเลยทำ ‘Doc Club For Kids’ ขึ้นมา เป็นหมวดหมู่หนึ่งในเว็บไซต์ Documentary Club ที่คัดสรรเฉพาะสารคดีที่เหมาะกับเด็กและเยาวชน มีคู่มือสำหรับการดูหนังแต่ละเรื่องไว้ให้พ่อแม่หรือครูใช้ในการสร้างบทสนทนา ในคู่มือจะมีข้อมูลเบื้องต้นว่าหนังแต่ละเรื่องนำเสนอประเด็นอะไร มีคำถามอะไรที่สามารถชวนเด็กพูดคุยได้บ้าง เป็นการใช้สารคดีเพื่อเปิดโลกทัศน์และสร้างบทสนทนาใหม่ๆ”

คู่มือประกอบการดูสารคดีเรื่อง Finding Vivan Maier / Photo: Documentary Club Thailand

          ความพิเศษของ Doc Club For Kids คือสารคดีทุกเรื่องที่อยู่ในหมวดหมู่นี้ สามารถรับชมได้ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของ VIPA โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (สารคดีเรื่องอื่นๆ ในเว็บไซต์ Documentary Club เข้าถึงได้ด้วยระบบสมาชิกและการแลกเครดิตเพื่อรับชมสารคดี)

          ธิดามองว่า สารคดีสามารถทำหน้าที่เป็นสะพานในการแลกเปลี่ยนพูดคุยในหัวข้อต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่หลายครอบครัวต้องกักตัวอยู่ในบ้านเดียวกัน หนังแต่ละเรื่องที่อยู่ใน Doc Club For Kids ผ่านการคัดกรองมาแล้วว่าเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย

          สำหรับตัวธิดาเอง เธอเคยใช้หนังสารคดีเหล่านี้เป็นต้นธารในการสร้างบทสนทนากับลูกๆ เช่นกัน

          “ที่บ้านเราดูหนังกันบ่อยอยู่แล้ว บางทีลูกดูเอง บางทีพ่อแม่ดูด้วย เวลาดูจบจะชอบคุยกันต่อ แลกเปลี่ยนกันว่าชอบไหม ชอบตรงไหน ไม่ชอบตรงไหน คิดว่าหนังเล่าเรื่องอะไร พูดคุยถึงธีมและเนื้อหาของมัน บางครั้งคุยไปถึงวิธีการเล่าเรื่องและการถ่ายทำด้วย จุดที่สนุกคือ หลายครั้งลูกจะคิดหรือมองในมุมที่พ่อแม่ไม่ได้นึกถึงเลย”

          ตัวอย่างหนังที่เธอกับสมาชิกในครอบครัวดูด้วยกัน คือ Black Panther (2018) หนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เล่าเรื่องกษัตริย์หนุ่มผู้ถูกเขย่าบัลลังก์ ซึ่งเป็นหนังที่เธอไม่ชอบเลย แต่ลูกๆ กลับชอบมาก นำไปสู่การแลกเปลี่ยนกัน จนเกิดบทสนทนาตามมามากมาย

          “หรือตอนดูสารคดีเรื่อง Where to Invade Next ก็มีประเด็นให้คุยกันเยอะ เพราะสิ่งที่หนังนำเสนอมันค่อนข้างห่างไกลจากชีวิตจริงในสังคมไทย มันทำให้ลูกรู้สึกว่า ถ้าเขาได้อยู่ในสังคมแบบนั้นบ้าง เขาคงจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้อีกมาก”

          หากยังไม่เห็นภาพ เรามีสารคดี 4 เรื่อง 4 รส ใน Doc Club for Kids ที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองชมกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ แล้ว แต่ละเรื่องยังมีประเด็นสนุกๆ ให้ขบคิดและต่อยอดบทสนทนาได้ไม่รู้จบ

Finding Vivian Maier (2013)

          สารคดีที่เริ่มต้นจาก ‘ภาพถ่าย’ ของช่างภาพแนวสตรีตหญิงคนหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จักชื่อเธอมาก่อน กระทั่งมีคนไปค้นพบคลังภาพเก่าๆ ที่เธอถ่ายเก็บไว้ จึงเกิดความพยายามตามสืบว่าช่างภาพหญิงลึกลับรายนี้คือใคร ก่อนจะพบว่าเธอคือ วิเวียน ไมเออร์ หญิงสาวชาวอเมริกันที่ทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กนานนับ 40 ปี โดยมีงานอดิเรกคือการถ่ายภาพผู้คน เมืองชิคาโก้ และสถาปัตยกรรมต่างๆ ราว 150,000 ภาพ โดยแทบไม่ได้นำภาพถ่ายอันยอดเยี่ยมเหล่านี้ไปเผยแพร่ที่ไหน มิหนำซ้ำยังไม่ให้ใครล่วงรู้ถึงตัวตนและงานอดิเรกนี้ของเธอเลยแม้แต่น้อย

          สิ่งที่น่าสนใจในสารคดีเรื่องนี้ คือบุคคลที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายของไมเออร์ ส่วนมากเป็นคนสามัญธรรมดาที่พบได้ตามท้องถนน เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยหรือคนชายขอบที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองใหญ่ หลายภาพปรากฏฉากหลังเป็นธงอเมริกันผืนยักษ์หรือตึกสูงระฟ้า แต่ใจกลางของภาพก็ยังเป็นผู้คนทั่วไปอยู่ดี ก่อให้เกิดความสงสัยว่า องค์ประกอบอะไรที่ทำให้ไมเออร์ ‘มองเห็น’ ผู้คนเหล่านี้

          หลายคนวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอเองมีพื้นฐานมาจากการเป็นชนชั้นล่าง ใช้ชีวิตระหกระเหินระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ ก่อนที่พ่อซึ่งเป็นชาวออสเตรียจะทอดทิ้งเธอกับแม่ไป จนเป็นเหตุผลสำคัญให้ชีวิตวัยเด็กของไมเออร์ค่อนข้างลำบาก นี่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เธอเข้าใจหัวอกคนธรรมดาและมองเห็นความยากไร้ของผู้อื่นอยู่เสมอ

Gayby Baby (2015)

          หนังสารคดีสัญชาติออสเตรเลีย เล่าถึงครอบครัวของเด็กๆ ชายหญิงสี่คน ในครอบครัวซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ พวกเขาและเธอต้องเผชิญกับสายตาเคลือบแคลงจากคนนอก พร้อมคำถามบางอย่างที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในใจ เมื่อพบว่าครอบครัวของตัวเองแตกต่างไปจากครอบครัวของเพื่อนๆ ที่โรงเรียน

          นั่นทำให้พวกเขาและเธอเริ่มตั้งคำถามต่อเพศสภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง และทางเลือกในการใช้ชีวิตแบบอื่นๆ ที่พ้นไปจากกรอบของสังคม รวมถึงกรอบของศาสนา นำมาสู่การยืนหยัดในความเชื่อและตัวตนอย่างแข็งแกร่งในเวลาต่อมา

          Gayby Baby เป็นหนังที่เหมาะแก่การดูพร้อมสมาชิกในครอบครัวอย่างมาก เพราะมันตั้งคำถามถึงประเด็นต่างๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญในโลกสมัยใหม่ ที่สำคัญคือมันจับจ้อง ใส่ใจ และรับฟังเสียงของเด็กๆ ในเรื่องที่เต็มไปด้วยคำถาม พยายามหาคำตอบและลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยปราศจากท่าทีตัดสิน ซึ่งเป็นสร้างแรงบันดาลใจให้หลายๆ ครอบครัวหันมาให้ความสำคัญกับการค้นหาเรื่องราวและตัวตนของเด็กๆ ที่บ้านด้วยเช่นกัน

Sonita (2015)

          สารคดีร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (เยอรมนี-สวิสเซอร์แลนด์) พาไปสำรวจชีวิตของ ‘โซนิตา’ เด็กสาววัย 18 ที่อพยพจากอัฟกานิสถานมายังอิหร่าน อันเนื่องมาจากสภาพความเป็นอยู่แร้นแค้นของบ้านเกิด และสถานะความเป็นหญิงของตัวเองที่ถูกกดทับจนหายใจแทบไม่ออก ตั้งแต่การที่พี่ชายของเธอตัดสินใจขายเธอไปเป็นเจ้าสาวเพื่อเอาเงินก้อน รวมถึงการคนที่ผู้คนรอบข้างต่างมองว่าความฝันที่อยากเป็นแร็ปเปอร์ของเธอ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามและทำให้เกิดความด่างพร้อย

          นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินใจหลบหนี มุ่งมั่นเขียนเพลงเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันพึงมีของเธอ แม้จะไม่มีใครเคียงข้างเธอเลยก็ตาม

          Sonita เป็นหนึ่งในหนังสารคดีที่มีประเด็นให้ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนมากมาย ไม่ว่าจะประเด็นเรื่องสิทธิสตรี ระบบชายเป็นใหญ่ ไปจนถึงการตั้งคำถามกับความเชื่อต่างๆ ที่สร้างข้อจำกัดในการใช้ชีวิต

Where to Invade Next (2015)

          สารคดีสุดแสบจากคนทำหนังชาวอเมริกันตัวจี๊ด ไมเคิล มัวร์ ที่พาไปสำรวจว่า ‘ประเทศดีๆ’ พัฒนาชีวิตผู้คนอย่างไร ตั้งแต่การตามไปดูมื้ออาหารเที่ยงของเด็กๆ ในฝรั่งเศส ตระเวนหาสถาบันการศึกษาที่ให้เรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย พาไปศึกษาสิทธิความเป็นมนุษย์ของนักโทษในนอร์เวย์ และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ไมเคิล มัวร์ ตั้งใจจะวิพากษ์ความคร่ำครึล้าหลังของประเทศตัวเอง คือสหรัฐอเมริกา

          Where to Invade Next เป็นสารคดีที่ดูสนุกมากอีกเรื่อง ทั้งจากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่หนังพาเราไปสำรวจในระยะประชิด และวิธีการนำเสนอที่ให้อารมณ์จิกกัดแบบมีชั้นเชิง แม้จะชวนให้หดหู่อยู่บ้าง เพราะสารพัดสิ่งที่ไมเคิลพยายามวิพากษ์รัฐบาลอเมริกานั้น เมื่อมองย้อนกลับมาที่ไทย อาจพบว่าไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก มิหนำซ้ำบางเรื่องยังหนักข้อกว่าหลายเท่า ซึ่งประเด็นเหล่านี้เองที่ช่วยกระตุกต่อมคำถามมากมาย และอาจนำไปสู่หัวข้อสนทนาที่ทั้งสนุกและท้าทายความคิดหลังดูจบ

หมายเหตุ: ผู้ที่สนใจสามารถเลือกรับชมสารคดี และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://documentaryclubthailand.com/doc-club-for-kids


Cover Photo : ภาพจากสารคดี Gayby Baby (2015) / Documentary Club Thailand

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก