เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทั่วโลกเริ่มรู้จักชื่อของ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 15 ปี เธอได้บุกเบิกขบวนการ ‘วันศุกร์เพื่ออนาคต’ (Fridays for Future) ซึ่งเด็กๆ นัดกันหยุดเรียนเพื่อประท้วงเรื่องสภาพภูมิอากาศที่หน้ารัฐสภา ธันเบิร์กยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำโลกและผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่องที่ละเลยการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งเท่ากับทิ้งภาระใหญ่หลวงไว้ให้คนรุ่นหลัง ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้คนทั้งโลกตระหนักถึงพลังของคนรุ่นใหม่ และจุดประกายให้เยาวชนในหลายประเทศตื่นตัวกับสถานการณ์รอบตัวมากยิ่งขึ้น
ในวันนี้ ยังมีเยาวชนอีกมากมายที่มีความปรารถนาเดียวกัน ซึ่งหากได้รับโอกาสและการสนับสนุน ก็จะช่วยให้พวกเขาสามารถปลดปล่อยความคิดและความสร้างสรรค์จนเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างเต็มที่ ดังเช่นกิจกรรม ‘Designathon’ ซึ่งส่งเสริมให้เด็กอายุตั้งแต่ 7-12 ปี กล้าคิด กล้าแสดงออก และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่กว่าเดิม
มองเด็กมุมใหม่ แล้วปรับการศึกษาให้เท่าทัน
อีเมอร์ บีมเมอร์ (Emer Beamer) นักออกแบบและนักการศึกษาเพื่อสังคมในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Designathon Works เมื่อปี 2014 เธอเริ่มต้นจากการตั้งคำถามสำคัญว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ใหญ่เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเด็กทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคน โดยเล็งเห็นความสามารถที่แฝงอยู่ในตัวเด็ก เปิดใจรับฟัง และช่วยให้พวกเขาพัฒนาความสามารถเหล่านั้นอย่างเต็มที่
“เวลาที่ผู้ใหญ่และครูหลายๆ คนถามเด็กๆ ว่าพวกเขาอยากเห็นอะไรในโลกนี้เปลี่ยนไปบ้าง พวกเขาไม่เคยขอให้มีการบ้านน้อยลงหรือขอขนมเพิ่ม แต่พวกเขากลับบอกว่าต้องการให้มะเร็งเป็นโรคที่รักษาได้ อยากขจัดพลาสติกออกจากท้องทะเล หรืออยากให้ผู้คนในโลกพ้นจากความหิวโหย”
สิ่งสำคัญที่ยังขาดหายไปคือระบบการศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กๆ เรียนรู้การแก้ปัญหาในอนาคตที่ท้าทายและซับซ้อน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้วยความสร้างสรรค์และความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเหลียวกลับมามองการศึกษาส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกลับพบว่า การเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำ หรือผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้ทางเดียว รวมทั้งการสอบวัดผลซึ่งมักมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ได้
“หากเรายังคงเอาเด็กๆ ไปยัดไว้ในกล่องที่เล็กเกินไปสำหรับความสามารถของพวกเขา สักวันหนึ่งสังคมของเราจะต้องพบกับความล่มสลาย”
ออกแบบและลงมือทำ สร้างสรรค์ความรู้ด้วยตัวเอง
Designathon เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งผสมผสานระหว่างการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และการศึกษาแบบเมกเกอร์ (Maker Education) เข้าด้วยกัน หัวใจสำคัญคือการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การทำงานร่วมกัน และการสร้างสรรค์แบบลงมือปฏิบัติ ส่วนเนื้อหาการเรียนรู้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เช่น พลังงานสะอาด ความยากจน ความเท่าเทียมกัน ฯลฯ รวมทั้ง มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อหาทางออกที่แตกต่างจากเดิม
ในระยะแรก กิจกรรมประกอบด้วย 7 ขั้นตอนย่อย ได้แก่ การค้นหาแรงบันดาลใจ การค้นคว้ารวบรวมข้อมูล การระดมความคิด การวาดร่างความคิด การสร้างต้นแบบ การนำเสนอ และการคิดทบทวน ต่อมามีการเพิ่มขั้นตอนให้เด็กๆ ได้ทดลองนำไอเดียที่คิดไว้ไปลงมือปฏิบัติจริง เช่น ให้ความรู้แก่เพื่อนในโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดการเศษอาหาร รณรงค์ให้โรงเรียนเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำการ์ดส่งความปรารถนาดีให้ผู้สูงอายุในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแจกจ่ายเมล็ดผักให้แก่เพื่อนบ้านในชุมชน
“เราเริ่มต้นจากการแบ่งปันข้อมูลในหัวข้อต่างๆ ที่ท้าทาย หลังจากเด็กๆ ได้ร่วมกันวิเคราะห์องค์ประกอบของปัญหาแล้ว เราก็จะยุให้พวกเขากล้าคิดการใหญ่ เสนอทางออกที่แหวกแนว แต่ลงมือทำได้ง่าย”
กิจกรรม Designathon ถูกพัฒนาจนกลายเป็นโมเดลการศึกษาที่ชุมชนแห่งใดก็ได้ในโลกสามารถนำไปปรับใช้ตามวัตถุประสงค์หรือบริบทของสังคม ภายใต้กรอบระยะเวลาที่ยืดหยุ่น ตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 10 สัปดาห์ เจ้าภาพในการจัดกิจกรรมอาจเป็นโรงเรียน ห้องสมุด หรือองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน โดย Designathon Works ได้จัดอบรมให้แก่ครูหรือกระบวนกร เพื่อให้สามารถเป็นผู้นำจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนของตน
‘เสียง’ ที่มีความหมายของเด็ก
ในทุกๆ ปี มีการจัดกิจกรรมใหญ่ ‘Global Children’s Designathon’ เด็กๆ ทั่วโลก จะได้รับโจทย์เดียวกันสำหรับร่วมกันขบคิดหาทางออกให้กับปัญหานั้น ผลงานการออกแบบที่ได้รับการตัดสินว่าดีที่สุด 3 ผลงานจากแต่ละเมือง จะถูกนำไปวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมและแนวโน้มความเป็นไปได้ และเจ้าของผลงานยังมีโอกาสนำเสนอข้อค้นพบในเวทีระดับชาติและระดับโลก สำหรับโจทย์ประจำปี 2022 นี้ เป็นหัวข้อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
ตัวอย่างผลงานได้รางวัลในปีที่ผ่านมา เช่น เด็กจากเมืองไนโรบี ประเทศเคนยา คิดค้นไฟจราจรชุดพิเศษที่สามารถจัดการกับคนเมาสุรา เด็กจากเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล คิดค้นตู้เย็นชุมชนพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อแบ่งปันอาหารให้กับผู้ยากไร้ เด็กจากรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา คิดค้นเกาะลอยน้ำจากขยะพลาสติกสำหรับทำฟาร์มปศุสัตว์ ส่วนเด็กจากเมืองเดห์ราดูน ประเทศอินเดีย คิดค้นระบบการขนส่งอาหารที่ใช้พลังงานหมุนเวียน
ในกรณีของเมืองอัมสเตอร์ดัม เด็กๆ ได้รับโอกาสให้นำเสนอไอเดียและผลงานต่อผู้กำหนดนโยบายสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ จนหลายจินตนาการกลายเป็นนวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้จริง เช่น ในงาน We Make the City ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2018 นายกเทศมนตรีได้เลือกต้นแบบนวัตกรรม ‘ทางเท้ากรองน้ำ’ เพื่อนำไปสร้างทางเท้าของเมืองฝั่งตะวันตก ส่วนต้นแบบห้องสมุดเมืองแห่งอนาคตที่เรียกว่า ‘Room for Science’ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกจากการประกวดในปี 2019 กำลังดำเนินการจริงขึ้นที่เมืองอัลเมียร์
การทำงานของ Designathon Works สะท้อนให้เห็นว่า ลำพังการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ปลดปล่อยพลังทางความคิดให้ออกมาเป็นรูปธรรม ยังไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้จริง แต่จะต้องมีกระบวนการผลักดันให้ ‘เสียง’ อันมีคุณค่าของเด็กๆ ถูกรับฟังในวงกว้าง กระบวนการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าในระดับชุมชนหรือในระดับโลก ต้องไม่ลืมเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันริเริ่มสร้างสรรค์ (Co-Creation) ไม่มีเรื่องใดที่ไกลตัวเกินไปสำหรับเด็ก เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าในวันนี้หรือวันข้างหน้า พวกเขาต่างก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนา
เมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนแปลงซ่อนอยู่ในตัวเด็กทุกคน
Designathon Works ได้วิจัยผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กทั่วโลกที่เข้าร่วมกิจกรรม มีข้อค้นพบที่สำคัญ เช่น แรงจูงใจหลักในการเข้าร่วมกิจกรรมมาจากความปรารถนาที่จะหาทางแก้ไขหรือจัดการกับปัญหาโลก รองลงมาคือต้องการจะเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ
ทั้งนี้ เด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับยอดเยี่ยม โดยเด็กๆ จากเมืองอาบูจา ประเทศไนจีเรีย เมืองอักกรา ประเทศกานา และเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้คะแนนความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสูงที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตและข้อสรุปที่น่าสนใจว่า ความสามารถของผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงและความรู้ด้านเนื้อหาดูเหมือนไม่มีความสัมพันธ์กัน นั่นหมายความว่า ความรู้ไม่ใช่เงื่อนไขเบื้องต้นของความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เด็กทุกคนล้วนมีศักยภาพดังกล่าว โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา เศรษฐกิจ หรือสังคม
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีเด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรม Designathon กว่า 1.1 แสนคน จาก 45 ประเทศ โดยเด็กราว 50% มาจากชุมชนชายขอบ รวมทั้งมีครูและกระบวนกรในเครือข่ายเข้าร่วมอบรมกว่า 2,000 คน
ทั้งนี้ มูลนิธิ Designathon Works ได้รับการยอมรับจากองค์กรอโชก้า (Ashoka) และ มูลนิธิเลโก้ ในฐานะนักนวัตกรรมระดับโลก อีกทั้งได้รับการคัดเลือกจาก HundrED ให้เป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน
ที่มา
เว็บไซต์ Designathon (online)
บทความ Unleashing the power of a million innovative minds จาก thnk.org (online)
บทความ Empowering children to design a better world Designathon Works จาก hundred.org (online)
บทความ Global Children’s Designathon จาก wise-qatar.org (online)
บทความ Design-a-thon Works จาก rightscolab.org (online)
Cover Photo : Designathon Works/ Thijs Kurpershoek Photography