‘เดนมาร์กสีเขียว’ เปลี่ยนได้ในคนรุ่นเดียว: การออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบสู่เป้าหมายความยั่งยืน

1,937 views
6 mins
May 12, 2023

          ความยากของการตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) หรือเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานสะอาด คือทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่มองเห็นว่าความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่การรณรงค์ส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนแบบชั่วครั้งชั่วคราว

          ประเทศเดนมาร์กเป็นตัวอย่างที่ดี ทว่า ย้อนกลับไปเมื่อสัก 40 ปีก่อน เดนมาร์กก็เคยเต็มไปด้วยมลพิษทางน้ำและอากาศ เพราะแต่เดิมอุตสาหกรรมหลักของประเทศคือการประมง ท่าเรือส่วนใหญ่ถูกใช้ขนส่งสินค้าและบริการของอุตสาหกรรม

          จุดเปลี่ยนคือเดนมาร์กเรียนรู้จากวิกฤต ทั้งทางน้ำและพลังงาน รัฐบาลมุ่งเป้าจะเป็นประเทศสีเขียว ปรับเปลี่ยนทิศทางการบริหารประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เร่งผลักดันนโยบายทั้งด้านพลังงาน การอุปโภค-บริโภค สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ การสร้างทัศนคติ สร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้งาน รวมถึงแทรกแนวคิด ‘สีเขียว’ ลงไปในระบบการศึกษา จนความเขียวแทรกซึมลงไปในการดำเนินชีวิต วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมแทบไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

          เมื่อความ ‘เขียว’ ของประเทศแห่งนี้มีที่มา เราจึงอยากชวนทุกท่านมาหาคำตอบร่วมกันว่า เดนมาร์กทำได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นของความเขียว : มองเห็นวิกฤตและสร้างโอกาส

          ในอดีตเดนมาร์กพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการซื้อเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซีย แต่วิกฤตราคาน้ำมันในช่วงปี 1970 เมื่อกลุ่มประเทศ OPEC พร้อมใจกันประท้วงลดกำลังผลิตและการส่งออก ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงและขาดตลาด ส่งผลให้ประชาชนชาวเดนมาร์กไม่สามารถเข้าถึงพลังงานได้ โดยเฉพาะพลังงานความร้อน เป็นบทเรียนสอนใจครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้เดนมาร์กตัดสินใจจะไม่พึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และเลือกใช้พลังงานหมุนเวียนแทน

          พลังงานหมุนเวียนแรกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีใช้ตลอดทั้งปีคือพลังงานลม ต่อมาเดนมาร์กจึงพัฒนาพลังงานทดแทนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพ พลังงานน้ำ และพลังงานคลื่น ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในประเทศเดนมาร์กมาจากพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 67 โดยมาจากพลังงานลมมากที่สุดร้อยละ 46.8 รองลงมาได้แก่ พลังงานชีวมวลร้อยละ 11.2 

          เมื่อปีที่ผ่านมา Dan Jørgensen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สภาพภูมิอากาศและสาธารณูปโภค (Minister of Climate, Energy & Utilities) ได้ระบุเป้าหมายปี 2030 ไว้ว่า จะเพิ่มการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในบริเวณชายฝั่งให้มากขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศสีเขียวและลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซีย รวมถึงเดนมาร์กจะต้องสามารถจัดหาพลังงานให้กลุ่มประเทศใน EU ได้เพื่อให้ EU เป็นอิสระทางพลังงานอย่างเร็วที่สุด

           นอกจากเรื่องพลังงาน น้ำ เป็นเป้าหมายที่เดนมาร์กให้ความสำคัญ โดยรัฐบาลได้เรียนรู้จากวิกฤตในอดีตเช่นกัน ในช่วงทศวรรษ 1960 ปลาตาย เศษขยะในคลอง สิ่งปฏิกูลจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือน้ำมันรั่วไหลในแหล่งน้ำธรรมชาติของเดนมาร์ก สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพราะท่าเรือคือเส้นทางหลักสำหรับขนส่งสินค้า

          เดนมาร์กแก้ไขปัญหาน้ำเสียตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่รื้อระบบการเดินเส้นทางน้ำเสีย สร้างคันกั้นน้ำเสีย สร้างบ่อกักเก็บน้ำเสีย รวมถึงระบบจัดการน้ำฝนเพื่อไม่ให้ชะล้างขยะมาปนเปื้อนเส้นทางน้ำธรรมชาติ

          นอกจากแห่งน้ำสาธารณะแล้ว ระบบป้องกันไม่ให้น้ำบนดินซึมลงไปปนเปื้อนน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักของน้ำประปาทั่วประเทศ กำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำประปาให้ใกล้เคียงกับน้ำขวด และออกมาตรการควบคุมคุณภาพน้ำ เช่น การเก็บภาษีเพื่อบำบัดน้ำเสีย (รวมถึงค่าบริการอื่นๆ) และงดใช้สารคลอรีนในน้ำตั้งแต่ปี 2009 ส่งผลให้น้ำประปาของเดนมาร์กถูกยกย่องว่าเป็นน้ำประปากินได้ที่สะอาดอันดับต้นๆ ของโลก วิกฤตเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญกับการแทรกแนวคิด ‘สีเขียว’ ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ

โกกรีนกับเดนมาร์ก ประเทศที่มีหัวใจเป็นสีเขียว
Photo : CGP GreyCC BY 2.0, via Wikimedia Commons
โกกรีนกับเดนมาร์ก ประเทศที่มีหัวใจเป็นสีเขียว
Photo : Daniel Rasmussen

สร้างสิ่งแวดล้อมให้เขียว สร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อประชาชน

          เดนมาร์กให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว โคเปนเฮเกนเป็นตัวอย่างของเมืองที่รัฐบาลท้องถิ่นและประชาชนร่วมกันออกแบบนโยบาย นับตั้งแต่ปี 1970 นักผังเมืองและผู้วางนโยบายพัฒนาเมืองของโคเปนเฮเกนร่วมกันร่างแผนแม่บทให้ครอบคลุมทุกมิติของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน อากาศ การขนส่ง สถาปัตยกรรม ระบบคมนาคม และอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งก่อสร้างใดๆ ก็ตามในเมืองจึงต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับเป้าหมายหลักของเมือง

          ตัวอย่างของการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนคือ ‘CopenHill’ หรือ ‘Amager Bakke’ โรงไฟฟ้าขนาดมหึมาที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมือง ผลงานของ Bjarke Ingels ผู้ก่อตั้ง BIG บริษัทสถาปนิกสัญชาติเดนมาร์กที่มีชื่อเสียงระดับโลก

          CopenHill เป็นโรงไฟฟ้าแบบ CHP ที่สามารถเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานได้ (Waste-to-Energy Plant) ในแต่ละวันขยะกว่า 485,000 ล้านตันจะถูกส่งมาผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนให้กับชาวโคเปนเฮเกน

          นอกจากหน้าที่หลักในฐานะโรงไฟฟ้า CopenHill มีหลังคาเป็นพื้นที่สีเขียวลาดเอียงเป็นลานสกีกว้างขวาง บนเนินที่สูงกว่า 85 เมตรนั้น มีพืชพันธุ์นานาชนิดทั้งไม้พุ่ม ต้นสน ต้นวิลโลว์ เป็นที่อยู่อาศัยของนก และผีเสื้อจำนวนมาก ให้ประชาชนได้เข้ามาชื่นชม ศึกษา เรียนรู้

          บริเวณโรงไฟฟ้ายังรวมพื้นที่นันทนาการ เช่น เส้นทางเดินป่า พื้นที่เล่นกีฬา และศูนย์กลางการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วยกัน ประชาชนสามารถเข้ามาทำกิจกรรมได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นขี่จักรยาน วิ่งเทรล ปีนเขาเทียม เล่นสกี หรือสโนว์บอร์ด กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ มีลานกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่ชาวเมืองสามารถเข้ามาเล่นได้ โดยพาร์ตเนอร์สำคัญคือสมาคมหรือชมรมกีฬาต่างๆ ที่ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี หลอมรวมความร่วมมือระหว่างผู้คนบนพื้นที่สาธารณะ เรียกได้ว่านอกจากจะเป็นโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดแล้ว ยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวโคเปนเฮเกนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปนอกเมือง

‘เดนมาร์กสีเขียว’ เปลี่ยนได้ในคนรุ่นเดียว: การออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบสู่เป้าหมายความยั่งยืน
Photo : Max Mestour and Amelie Louys
Photo : Max Mestour and Amelie Louys

กินอย่างไร ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          นอกจากการจัดการเชิงกายภาพไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สาธารณะแล้ว พฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ก็เป็นอีกหนึ่งด้านที่รัฐบาลเดนมาร์กให้ความสำคัญ กระทรวงอาหาร เกษตรและประมง (Ministry of Food, Agriculture and Fisheries) จัดทำแผนการบริโภคอาหาร ปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากรในแต่ละยุค นับตั้งแต่ปี 1970, 1995 และล่าสุดคือปี 2021 เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน

          ‘แนวทางการบริโภคอาหารอย่างเป็นมิตรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate-friendly Dietary Guideline)’ ฉบับล่าสุดนี้ เกิดจากความร่วมมือและการระดมสมองระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพลังงาน สภาพภูมิอากาศ และสาธารณูปโภค มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งประเทศเดนมาร์ก NGO ธุรกิจอาหาร และธุรกิจค้าปลีกต่างๆ ที่มาร่วมหาแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้สอดคล้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2030 

          จุดเริ่มต้นของการปรับแนวทางการบริโภค เกิดขึ้นจากข้อมูลงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าพฤติกรรมการกินของชาวเดนมาร์กที่นิยมทานเนื้อสัตว์มากกว่าผัก ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 8 กิโลกรัมต่อวัน จากกระบวนการผลิตเครื่องดื่มและอาหาร เบ็ดเสร็จรวมแล้วสร้างมลพิษประมาณ 3 ตันต่อปี  หากชาวเดนมาร์กสามารถปรับพฤติกรรมโดยลดการทานเนื้อสัตว์ได้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 35% 

          เนื้อหาของคู่มือเล่มนี้ครอบคลุมการเลือกบริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น การรับประทานอาหารที่มีสีเขียวเป็นหลัก (Plant-rich) แต่ต้องหลากหลายและไม่มากจนเกินไป รับประทานธัญพืชเต็มเมล็ด เลือกใช้น้ำมันพืชหรือผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ หรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เช่น วัว แกะ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ประเภทที่ก่อให้เกิดมลภาวะในขั้นตอนการเลี้ยงหรือกระบวนการผลิตมากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น

          วิธีการรับประทานอาหารให้เกิดความยั่งยืนยังถูกออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับผู้บริโภคทุกช่วงวัย ตั้งแต่ 2 จนถึง 65 ปี มีทั้งโปรแกรมสำหรับผู้ที่ไม่เคยรับประทานอาหารแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือไม่เคยลดเนื้อสัตว์มาก่อน ไปจนถึงผู้ที่เคยรับประทานมาอยู่แล้ว แต่อยากทำให้ได้มากกว่าเดิม

โกกรีน กับเดนมาร์ก ประเทศที่มีหัวใจเป็นสีเขียว
แนวทางการบริโภคอาหารอย่างเป็นมิตรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Photo : Altomkost

ความสุขที่ยั่งยืนต้องเกิดจาก ‘คน’

          เมื่อเป้าหมายสำคัญของเดนมาร์ก คือการทำให้ความ ‘เขียว’ แทรกซึมลงไปในทัศนคติและการดำเนินชีวิต นอกจากสร้างการรับรู้ผ่านทางนโยบายและการสร้างสิ่งแวดล้อมเมือง รัฐบาลยังส่งเสริมให้การศึกษาในทุกรูปแบบสอดแทรกแนวคิดเรื่องความยั่งยืนลงไปด้วย

          ระบบการศึกษาจึงให้ความสำคัญกับ ESD (Education for Sustainable Development) โดยหลักสูตรพื้นฐานก็มีการกล่าวถึงประเด็นโลกร้อน และการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่แล้ว แต่ในสายตาของ นักการศึกษา นักวิชาการ และโรงเรียนทางเลือกอีกหลายแห่ง หลักสูตรยังสามารถพัฒนาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ พวกเขาจึงพยายามค้นคว้าวิจัย ศึกษาวิธีการถ่ายทอดแนวคิด ‘ความยั่งยืน’ ให้กับเยาวชน เพื่อให้เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ต่อไปในอนาคต

          จึงไม่น่าแปลกใจ ที่โรงเรียนบางแห่ง เช่น The Green Free School ในเมืองโคเปนเฮเกน จะมีวิชาที่สอนเจาะลึกถึงการใช้ชีวิตแบบส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้ทางทฤษฎี บางทีจะพบเด็กๆ นั่งซ่อมจักรยาน หรือเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ เพื่อไม่ให้เกิดของเหลือทิ้ง หรือแม้กระทั่งขุดแปลงปลูกผักด้วยตนเอง

ภาพบรรยายกาศการเรียนของเด็กๆ ในโรงเรียน The Green Free School หรือ Den Grønne Friskole

          นอกจากนี้รัฐบาลยังออกแบบให้มีการศึกษาสายอาชีพที่มุ่งเน้นเรื่อง Green transition โดยจัดสรรงบประมาณให้ศูนย์การเรียนรู้ออกแบบระบบ หลักสูตร อบรมผู้สอนให้มีความรู้และทักษะเพิ่มขึ้นจนเพื่อเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศให้ได้ 70% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

          พรรคการเมืองต่างๆ ของรัฐบาลตกลงร่วมกันว่าจะจัดสรรงบประมาณราว 13.44 ล้านยูโรสำหรับ ‘กองทุนเพื่อการปรับตัวเพื่อภาวะโลกรวนและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว’ เมื่อปี 2022 และจะจัดสรรต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025 แก่ผู้ที่ว่างงาน หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว ให้มีโอกาสเพิ่มทักษะความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น

          นอกจากนี้เดนมาร์กยังจัดคอร์ส Green Learning Program ระยะสั้นอีกมากมาย สำหรับผู้คนในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่สนใจ เช่น คอร์สพลังงานสะอาดแบบ 10 วัน หรือคอร์สเมืองยั่งยืนแบบ 10 วันที่เดนมาร์ก มัลโม และเบอร์ลิน เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีมาเผยแพร่ให้กระจายออกไปในวงกว้าง สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความ ‘เขียว’ ให้ประจักษ์แจ้งต่อประชาชนทุกระดับชั้น

          การวางนโยบายให้สอดคล้องทั้ง ‘พื้นที่’ และ ‘คน’ ทำให้ ‘ความยั่งยืน’ กลายเป็นแนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การอุปโภคบริโภค การศึกษา การมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นค่านิยมร่วมที่ทำให้เดนมาร์กกลายเป็นพื้นที่ ‘สีเขียว’ ที่มีประชาชนหัวใจสีเขียว มองเห็นว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตแบบรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเป็นหนทางที่จะทำให้โลกใบนี้ถูกส่งต่อให้คนรุ่นหลังอย่างปลอดภัย ไม่ใช่การจัดตั้งโครงการขึ้นมาชั่วครั้งคราวเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่รัฐบาลประกาศเอาไว้อย่างสวยหรู

โกกรีนกับเดนมาร์ก ประเทศที่มีหัวใจเป็นสีเขียว
Photo : Eleonora Costi
โกกรีนกับเดนมาร์ก ประเทศที่มีหัวใจเป็นสีเขียว
Photo : International Union of Architects / Thomas Rousing

ที่มา

บทความ “​​Food-based dietary guidelines – Denmark” จาก fao.org (Online)

บทความ “Amager Bakke Waste-to-Energy Plant” จาก power-technology.com (Online)

บทความ “Copenhagen: World Capital of Architecture 2023” จาก uia-architectes.org (Online)

บทความ “CopenHill: The Story of BIG’s Iconic Waste-to-Energy Plant” จาก archdaily.com (Online)

บทความ “Denmark” จาก ccpi.org (Online)

บทความ “Denmark introduces official climate-friendly dietary guidelines” จาก stateofgreen.com (Online)

บทความ “Denmark is a laboratory for green solutions” จาก denmark.dk (Online)

บทความ “Denmark makes every precious drop of water count” จาก bangkokpost.com (Online)

บทความ “Denmark to quadruple onshore wind and solar generation by 2030” จาก stateofgreen.com (Online)

บทความ “How Copenhagen is pioneering in sustainable urban development” จาก visitcopenhagen.com (Online)

บทความ “Renewable Energy Products” จาก trade.gov (Online)

บทความ “Sustainability in Denmark” จาก denmark.dk (Online)

บทความ “Urban solutions” จาก denmark.dk (Online)

บทความ “Waste-to-Energy and Social Acceptance: Copenhill WtE plant in Copenhagen” จาก ieabioenergy.com (Online)

บทความ “What is the quality of Tap water in Denmark? Best water filter?” จาก tappwater.co (Online)

บทความ “Why Copenhagen Has Almost Perfect Water” จาก bloomberg.com (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก