‘ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย’ แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย

2,052 views
6 mins
October 14, 2022

          ในสังคมไทย ณ ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ตื่นตัวและสนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับแหล่งเรียนรู้ด้านนี้ที่แทบจะไม่มี แม้แต่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครก็พบว่ามีพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยน้อยเต็มที

          กระทั่งเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2565 พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย (Democracy Learning Center) ขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ อาคารรำไพพรรณี พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในฐานะประธานในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย และ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ความเป็นมาของโครงการจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยในวันเดียวกัน

          ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยของสถาบันพระปกเกล้า เป็นพื้นที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองที่เน้นด้านประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองในบริบทสังคมไทยคู่ขนานไปกับบริบทสังคมโลก รวมทั้งสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

          ความน่าสนใจของแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยแห่งใหม่นี้ คือความร่วมสมัยตอบโจทย์สังคมดิจิทัล และใช้สื่อมัลติมีเดียผสานกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในการเล่าเรื่องการเมืองไทย นับตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยใช้วิธีการร้อยเรียงผ่านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ตามลำดับเวลาของการเมืองไทย และเลือกสรรเหตุการณ์และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจ ทำให้ผู้เข้าชมได้เห็นภาพจนสามารถเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนลึกซึ้ง

          ความโดดเด่นคือ การออกแบบศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยที่มีทั้งกิมมิกทางการเมือง สัญลักษณ์ทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย นิทรรศการนำรูปภาพ กราฟิก แสง สี เสียง มัลติมีเดีย และแบบจำลองของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาจัดวางไว้ได้อย่างลงตัว

          พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการภายในศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยมีทั้งหมด 4 ชั้น ได้แก่

          ชั้นที่ 1 ลานนิทรรศการกลางแจ้ง แสดงเส้นทางประวัติศาสตร์ของสยามสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเปรียบลานดังกล่าวเป็นเสมือนพื้นที่แห่งการเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องราวประชาธิปไตย

          ชั้นที่ 2 นิทรรศการการเมืองการปกครองของไทย ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและเศรษฐกิจยุคต้นรัตนโกสินทร์ จนถึงการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา อันเป็น “แบบแผนแห่งความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง” ทำให้เห็นรากฐาน ความเป็นมา และเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย

          ชั้นที่ 3 นิทรรศการรากฐานประชาธิปไตย จัดแสดงเนื้อหา หลักหน้าที่ หลักสิทธิ หลักเสรีภาพ หลักความเสมอภาค

          ชั้นที่ 4 นิทรรศการหมุนเวียน และศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษา แหล่งรวบรวมหนังสือ เอกสารชั้นต้น ภาพยนตร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนวารสาร หนังสือทั่วไป เพื่อให้บริการแก่สาธารณชน

          จากที่ผู้เขียนได้เดินชมนิทรรศการทั้ง 4 ชั้น พบว่ามีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป เริ่มต้นจากชั้นที่ 1 ลานนิทรรศการกลางแจ้งที่แสดงเส้นทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยในแต่ละยุค โดยมีหมุดหมายอยู่ที่บุคคลและเหตุการณ์สำคัญโดยอธิบายเพียงสั้นๆ เพื่อปูทางเดินขึ้นไปสู่ชั้นที่ 2 ซึ่งมีนิทรรศการการเมืองการปกครองของไทย ประกอบด้วยเนื้อหาเชิงลึกของประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งยังมีลำดับเวลาของการเมืองไทยเปรียบเทียบกับการเมืองโลกให้ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์โลกได้เพิ่มเติมความรู้ไปพร้อมกัน

ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย
ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย

          ชั้นที่ 2 แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 เป็นเส้นทางประชาธิปไตยจากวีดิทัศน์เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง โซนที่ 2 ก่อร่างสร้างรัฐ เสนอภาพและข้อมูลประวัติศาสตร์ในมิติต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 โดยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของสยามที่สำคัญเริ่มต้นที่ พ.ศ. 2398 จากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง และจากปัญหาทางเศรษฐกิจในบริบทโลกสู่สยามนี้เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โซนที่ 3 พัฒนาการทางการเมืองตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งมีข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เรียบเรียงให้เข้าใจง่าย และตกแต่งฉากประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างสมจริง โซนที่ 4 สมัยสงครามเย็น แสดงถึงประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่านที่มีตัวแปรสำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาให้การช่วยเหลือทางงบประมาณและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนทหารและตำรวจเพื่อตอบสนองนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โซนที่ 5 การเมืองของมวลชน ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2510 ในยุค 14 ตุลา 2516 ที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ไปจนถึงยุค 6 ตุลา 2519 ที่มีความแตกต่างทางความคิด และโซนที่ 6 การเมืองภาคประชาชนในทศวรรษ 2530 นับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535 จนถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลัง พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน

          ความพิเศษของชั้นที่ 2 นี้คือมีคำอธิบายเป็นตัวอักษรเบรลล์เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสอ่านเนื้อหาได้อีกด้วย นับเป็นความใส่ใจของผู้ที่รังสรรค์ศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ที่ให้ความเสมอภาคแก่พลเมืองทุกคนในการเข้าชมนิทรรศการประชาธิปไตย

ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย
ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย
ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย
ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย

          เมื่อเดินขึ้นมาถึงชั้นที่ 3 จะพบนิทรรศการรากฐานประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค แต่ไม่น่าเบื่อแบบการจัดนิทรรศการแนวประชาธิปไตยทั่วไปที่มีแต่ตัวอักษรประกอบภาพ หากในชั้นนี้ ยังมีรูปแบบที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ประชาธิปไตยในเชิงทฤษฎีอย่างสนุก โดยแบ่งออกเป็น 9 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 เริ่มด้วยการตั้งคำถามและฉายภาพยนตร์ 4 มิติ กับตั้งคำถามสำคัญที่ว่าประชาธิปไตยคืออะไร สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่พลเมือง คืออะไร ไว้ให้ชวนฉุกคิด แล้วนำไปสู่โซนที่ 2 ความหมายของประชาธิปไตยในทัศนะของบุคคลสำคัญทางการเมืองของไทย คู่ขนานไปกับนักปรัชญาและบุคคลสำคัญของตะวันตก โซนที่ 3 อำนาจอธิปไตย ซึ่งอธิบายและแสดงให้เห็นว่าเป็นอำนาจสำคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย โซนที่ 4 ความหลากหลายของระบอบประชาธิปไตย โซนที่ 5 หลักการประชาธิปไตย โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหลักความเสมอภาค สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองไทย โซนที่ 6 สิทธิและเสรีภาพ ด้วยการเรียนรู้ผ่าน Interactive Touch Screen โซนที่ 7 การเมืองในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นทั้งความหมายและหน้าที่รัฐต่อพลเมือง โซนที่ 8 เกมออกแบบสถาบันการเมือง ทั้งการเลือกนโยบายของพรรคการเมือง การเรียนรู้ขั้นตอนก่อนและหลังการเลือกตั้ง ไปจนถึงการนับคะแนนการเลือกตั้งในท้ายที่สุด โซนที่ 9 แนวคิด รูปแบบ และระบบรัฐสภาของระบอบประชาธิปไตย โดยเสนอผ่าน 3 ประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย

ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย
ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย
ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย

          และชั้นสุดท้ายคือชั้นที่ 4 ที่มีนิทรรศการหมุนเวียน และศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษาซึ่งมีหนังสือ เอกสารชั้นต้น ภาพยนตร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และวารสาร ให้ประชาชนเข้าใช้บริการทั้งอ่านและค้นคว้าได้อย่างครบครันโดยหนังสือที่มีในศูนย์ข้อมูลฯ แห่งนี้เน้นหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงหนังสือและงานวิจัยเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หาอ่านได้ยากจากที่อื่น

ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย
ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย

          เมื่อเปรียบเทียบกับศูนย์การเรียนรู้ที่เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองไทยแหล่งอื่นๆ ที่เคยไปชมมา ผู้เขียนพบว่าศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มีความพยายามจะนำเสนอประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยอย่างครอบคลุม ครบทุกมิติ และทุกกลุ่มการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในระบบรัฐสภา หรือการเมืองนอกระบบรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยจากสำนักประเพณี หรือสำนักตะวันตก รวมไปถึงการนำเสนอพัฒนาการประวัติศาสตร์ไทยควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์โลก

          ส่วนที่แตกต่างอีกประการคือ ทำให้เห็นภาพของสามัญชนที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น คณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หรือแสดงให้เห็นว่า คนธรรมดาก็มีความสำคัญในเหตุการณ์ทางการเมืองไทย เช่น นักศึกษาและกรรมกร ที่เป็นพลังมวลชนสำคัญในทศวรรษ 2510 รวมถึงการถ่ายทอดเรื่องการเมืองภาคประชาชนในช่วงทศวรรษ 2540 นอกจากนี้ยังเสนอฉากทัศน์ทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 และสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา ในทศวรรษ 2480 ที่มีกลุ่มบุคคลสำคัญคือ ขบวนการเสรีไทย ในส่วนนี้ได้มีการจำลองบ้าน ระเบิด และซากปรักหักพังจากสงครามไว้อย่างสมจริง เมื่อได้ไปยืนชมดังกับเราได้กลิ่นเขม่าของระเบิดเลยทีเดียว

          ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีสถานที่ตั้งสุดคูลและเหมาะสมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ประชาธิปไตย ภายหลังจากทอดน่องท่องเดินตามถนนสายประวัติศาสตร์ราชดำเนินแล้วเดินตรงมาอีกนิดตรงหัวมุมถนนผ่านฟ้า โดยผู้ที่สนใจเข้าชมศูนย์การเรียนรู้เพื่อประชาธิปไตย สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 9.00–16.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) หรือสามารถเข้าชมเป็นหมู่คณะได้

ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย แหล่งเรียนรู้ร่วมสมัยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย


ที่มา

บทความ “ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย” จาก museumthailand.com (Online)

บทความ “สถาบันพระปกเกล้าเปิดศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยแหล่งเรียนรู้การเมืองการปกครองแห่งใหม่ ใจกลางเมือง” จาก kpi.ac.th (Online)

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 พิมพ์ครั้งที่ 3, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2560)

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540), (กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563)

ศิริรัตน์ นีละคุปต์, “การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทย,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2507)

Cover Photo : ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก