‘อย่าตัดสินหนังสือจากปก’ บทเรียนการริเริ่มวางอิฐก้อนแรก ห้องสมุดมนุษย์ 3 จังหวัดชายแดนใต้

922 views
9 mins
November 2, 2022

          ดวงตาของเด็กวัยรุ่นหลายชีวิตช่างท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก ‘นักอ่าน’ เหล่านี้กำลังจ้องมองไปที่ ‘หนังสือมนุษย์’ ที่นั่งอยู่ตรงหน้า บางคนมีน้ำใสๆ คลอคลองดวงตาก่อนจะกลั่นออกมาเป็นหยดบนแก้ม บางคนเอื้อมมือไปหยิบกระดาษนุ่มๆ ที่ทีมงานห้องสมุดมนุษย์ยื่นส่งให้

          เด็กๆ เหล่านี้คือตัวแทนนักศึกษาจากพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสที่มาร่วมกิจกรรม Human Library เสียงอื้ออึงในห้องสี่เหลี่ยม ณ อาคารเรียนรวม ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ไม่ได้ทำให้พวกเขาเสียสมาธิแต่อย่างใด ความสนใจทั้งหมดถูกส่งมอบให้กับ ‘หนังสือ’ ที่กำลังถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์อย่างตั้งอกตั้งใจ

          ในฐานะทีมงานที่อยู่กับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ฉันคงรู้สึกเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจาก ‘ดีใจ’ และ ‘เต็มตื้น’ ที่สัมผัสได้ว่า อย่างน้อยห้องสมุดมนุษย์เวอร์ชันทดลองนี้ ได้บรรลุวัตถุประสงค์ไปส่วนหนึ่งแล้ว

          นั่นคือ…ห้องสมุดมนุษย์ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการ ‘เติมพลัง’ หรือ Empower คนในพื้นที่ ทำให้เขาได้พูดในประเด็นที่อยากพูด ได้พูดในพื้นที่ที่พวกเขารู้สึกว่าปลอดภัย และในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ที่จะ ‘ฟัง’ อย่างเข้าอกเข้าใจ ทำลายกำแพงอคติ ลดการตัดสิน สมกับแนวคิดหลักของห้องสมุดมนุษย์ที่ว่า ‘อย่าตัดสินหนังสือจากปก’ อย่างแท้จริง

‘อย่าตัดสินหนังสือจากปก’ ประสบการณ์ห้องสมุดมนุษย์ สามจังหวัดชายแดนใต้

กว่าจะมาเป็น ‘Deep South Human Library’

          ห้องสมุดมนุษย์  (Human Library) คือพื้นที่ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เปิดโอกาสให้มนุษย์ทำหน้าที่เป็นหนังสือ ถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ในชีวิตให้กับนักอ่าน ผู้ที่สนใจสามารถเลือกอ่าน ทำความรู้จัก ซึมซับตัวตนของหนังสือเหล่านั้น เหล่านักอ่านจึงสามารถฝึกทักษะความเข้าอกเข้าใจหรือ Empathy เรียนรู้ที่จะฟังโดยไม่ตัดสินด้วยสมอง แต่ฟังด้วยหูแล้วส่งผ่านความรู้สึกไปที่หัวใจ

          วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการจัดห้องสมุดมนุษย์ซึ่งจัดที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก คือการนำ ‘เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน’ หรือกลุ่มคนที่มักจะถูกคนหมู่มากในสังคมมองว่า ‘แตกต่าง’ มาเล่าเรื่องราวให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ที่เคยใช้สารเสพติด หรือแม้กระทั่งผู้พิการบางประเภท

          ด้วยความตั้งใจที่จะคงเสน่ห์ของความเป็นห้องสมุดมนุษย์แบบดั้งเดิม พื้นที่จังหวัดปัตตานี จึงเป็นพื้นที่ทดลองกิจกรรมนำร่อง เพื่อค้นหาแนวทางจัดทำห้องสมุดมนุษย์ที่สามารถตอบโจทย์แรกที่ตั้งเอาไว้ นั่นคือการ ‘Empower’ คนในพื้นที่ สร้างสถานที่ปลอดภัยที่สำหรับการพูดและการฟังอย่างเปิดใจไร้อคติ ที่สำคัญก็คือต่างคนต่างได้ย้อนกลับมาสะท้อนดูตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน

          แต่ความท้าทายที่ต้องเผชิญตั้งแต่ต้นกระบวนการก็คือ ไม่มีใครในคณะทำงานเคยจัดกิจกรรมหรือมีความรู้เกี่ยวกับการจัดห้องสมุดมนุษย์มาก่อน ทุกขั้นตอนของกระบวนการคือการเรียนรู้จากศูนย์ เรียกได้ว่าความ ‘เข้าใจ’ มาจากการอ่านและศึกษาข้อมูล แต่เป็นเรื่องยากที่จะ ‘เข้าถึง’ แก่นของความเป็นห้องสมุดมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ เราจึงเพิ่มเติม ลดทอน ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมอยู่เป็นระยะๆ ตามความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นระหว่างการเดินทาง

          แต้มบุญของฉันคงยังจะพอมี ทำให้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ได้ตอบกลับมา พร้อมทั้งให้เบอร์ติดต่อกับหัวหน้างานบรรณารักษ์ที่รับผิดชอบโครงการห้องสมุดมนุษย์มาตั้งแต่การจัดกิจกรรมครั้งแรก ห้องสมุดของ มทร.อีสาน เป็นห้องสมุดที่ริเริ่มจัดห้องสมุดมนุษย์ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีหนังสือมนุษย์ขึ้นทะเบียนอยู่หลายเล่ม และให้บริการยืมคืนอย่างต่อเนื่อง ฉันจึงได้เรียนรู้จากหนึ่งในทีมงานที่ผลักดันให้เกิดห้องสมุดมนุษย์ในประเทศไทย และเธอยังอยู่ช่วยพวกเราดำเนินโครงการ อีกทั้งยังเป็นวิทยากรแบบออนไลน์ให้อีก 2 ครั้ง

          ความโชคดีอีกประการของพวกเราคือ ได้พบกับทีมนักกิจกรรมในพื้นที่จากโครงการชุมชนฮาราปัน ที่เข้ามาช่วยเติมเต็ม เรียนรู้ และวางขั้นตอนดำเนินกิจกรรมไปด้วยกัน ความเข้มแข็งของน้องๆ จากภาคประชาสังคม และความต้องการที่จะสร้างเครื่องมือการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง จึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้เรากล้าขยายผล โดยเพิ่มทั้งจำนวนวันและขอบเขตพื้นที่ดำเนินกิจกรรม

          จากเป้าหมายเดิมที่จะทดลองจัดกิจกรรมกับนักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มอ. ปัตตานี ก็กลายมาเป็นกิจกรรมที่รวมน้องๆ นักกิจกรรมในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากที่เคยคิดว่าจะเป็นกิจกรรมเวิร์กชอปในกลุ่มนักศึกษาแบบวันเดียวจบ เพื่อสำรวจความคิดเห็นและวางกระบวนการจัดการห้องสมุดและพัฒนาหนังสือมนุษย์ ก็กลายมาเป็นการอบรมและเวิร์กชอปแบบออนไลน์ถึง 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจแนวคิดห้องสมุดมนุษย์อย่างถ่องแท้ก่อนที่จะลงสนามจริง

          เมื่อจบโครงการ พวกเราจึงได้กลุ่ม ‘แกนนำ’ นักศึกษาที่อยู่กับโครงการมาตั้งแต่การอบรมออนไลน์ครั้งแรก ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและก้าวข้ามความสับสนมาพร้อมกันจนตกผลึก เข้าใจ เข้าถึง และพร้อมจะเป็นผู้ถ่ายทอดกระบวนการห้องสมุดมนุษย์ต่อไป นอกจากนี้ยังได้กลุ่ม ‘อาสาสมัคร’ ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม ทำหน้าที่เป็นทั้งหนังสือและนักอ่าน หนุนใจเพื่อนร่วมกิจกรรมและทีมผู้จัดให้มีไฟจนจบโครงการ

          และนั่นก็คือที่มาของโครงการ ‘Deep South Human Library’ ที่แม้ว่าตัวกิจกรรมนำร่องจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่นักกิจกรรมหลายคนยังมีไฟและกำลังใจที่จะถอดบทเรียน นำกระบวนการนี้ไปทดลองใช้ต่อไป เพื่อให้เกิดผลในวงกว้างยิ่งขึ้น

          นอกจากความอิ่มใจที่ได้เปิดอกพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวและประสบการณ์ชีวิตในฐานะหนังสือมนุษย์ บทเรียนที่ได้จากกระบวนการ คือผลผลิตอันมีค่าที่เราคาดหวังเอาไว้

บางที…ความพลาดก็ทำให้เรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว

          องค์ประกอบที่สำคัญของห้องสมุดมนุษย์ คือ หนังสือมนุษย์ นักอ่าน และฝ่ายบริหารจัดการหรือบรรณารักษ์ห้องสมุดที่ต้องทำหน้าที่จัดหนังสือกับนักอ่านให้มาพบกัน รวมถึงทำหน้าที่จัด ‘แคตตาล็อก’ หนังสือ เพื่อให้นักอ่านได้เลือกหัวข้อที่สนใจจะอ่าน โจทย์ที่สำคัญของพวกเราก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อเฟ้นหาหนังสือมนุษย์จากอาสาสมัคร การประกาศว่า “มาค่ะ เรารับสมัครหนังสือมนุษย์ ใครสนใจก็ส่งใบสมัครมา…” คงจะไม่สามารถพาเราไปถึงปลายทางได้ ไหนจะการวางกระบวนการจัดการหนังสือมนุษย์ต่อจากนั้นอีก

          ยิ่งศึกษากรณีตัวอย่างจากหลายแห่ง ฉันก็ยิ่งรู้สึกว่าห้องสมุดมนุษย์เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายดาษดื่น แต่ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งพอที่จะมองเห็นความแตกต่างในรายละเอียด

          จุดมุ่งหมายของต้นแบบห้องสมุดมนุษย์ที่โคเปนเฮเกนคือผลักดันให้เกิด ‘การฟัง’ อย่างลึกซึ้งจนเกิดเป็นความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) แต่ผู้จัดหลายแห่งก็ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปตามบริบทของตนเอง บ้างก็จัดห้องสมุดมนุษย์เพื่อสืบทอดเรื่องราวหรือองค์ความรู้ที่กำลังจะสูญหาย บ้างก็ต่อยอดด้วยการทำ Digital Human Book บ้างก็ปรับรูปแบบการอ่านแบบหนึ่งต่อหนึ่งมาเป็นวงสนทนาเพื่อให้สื่อสารเนื้อหากับนักอ่านหลายคนได้ในครั้งเดียว

          สิ่งที่ฉันนึกกลัวก็คือ หากถ่ายทอดแนวคิดให้ทีมงานได้ไม่ดีพอ ห้องสมุดมนุษย์จะกลายเป็นวิทยากรบรรยายกลุ่มย่อยไปอย่างไม่น่าให้อภัย โครงการ Deep South Human Library จึงยืนยันที่จะยึดถือปณิธานแรกที่ตั้งใจจะสร้างเครื่องมือประสานความเข้าใจระหว่างบุคคลและวัฒนธรรม สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยพอที่จะให้ ‘หนังสือมนุษย์’กล้าเปิดใจ และให้นักอ่านรับฟังด้วยใจที่ปราศจากอคติ ดังที่ผู้อำนวยการฝ่ายผู้ริเริ่มโครงการได้ประกาศเอาไว้

          “เราต้องจิกเท้าให้แน่น อย่าลืมหัวใจสำคัญของห้องสมุดมนุษย์ เราต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน พี่ไม่ได้อยากให้ห้องสมุดมนุษย์ของเรากลายเป็นการเชิญวิทยากรมาบรรยายเรื่อง ‘ความรู้ในการเพาะเห็ด’ หรืออะไรทำนองนั้นนะ”

          เป็นจุดยืนที่ทำให้ฉันเหงื่อตกบ้างในบางครั้งบางคราว เพื่อป้องกัน ‘Worst-case Scenario’ ที่ผุดขึ้นมาในหัว พวกเราต้องทำให้อาสาสมัครเข้าใจแนวคิดห้องสมุดมนุษย์อย่างถ่องแท้ เราจึงเชิญหัวหน้างานบรรณารักษ์จากมทร.อีสาน ที่อยู่กับพวกเรามาตั้งแต่ต้น มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับน้องๆ แกนนำ ที่จะต้องเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดมนุษย์ในอนาคตอันใกล้

          เวิร์กชอปแบบออนไลน์ครั้งแรก เผยจุดอ่อนของพวกเราอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่แกนนำนักศึกษาบางคนที่มาร่วมกิจกรรมด้วยความเข้าใจผิดว่าห้องสมุดมนุษย์คือการนำเอาเรื่องราวในหนังสือที่เคยอ่าน หรือภาพยนตร์เรื่องโปรด มาบอกเล่าให้นักอ่านฟัง แม้แต่ทีมงานยังเข้าใจไปคนละทิศทาง แต่ความผิดพลาดที่เผยออกมาตั้งแต่แรกก็ทำให้รู้ว่า เนื้อหาตรงไหนที่เราขาดไป ประเด็นไหนที่ต้องเติมเต็ม

          ในช่วงท้ายกิจกรรมเราจึงต้องสังคายนาความเข้าใจของทีมงานใหม่อีกครั้ง ร่วมปักหมุดหมายปลายทางให้ตรงกัน เมื่อจูนกันได้แล้ว ฉันถึงกล้าที่จะตอบผู้อำนวยการฝ่ายกลับไปทางโทรจิต

          “เราคงไม่ได้วิทยากรมาบรรยายให้ความรู้เรื่องการเพาะเห็ดแล้วล่ะค่ะ ถ้าเราจิกเท้ากับวัตถุประสงค์แน่นพอ อย่างน้อยๆ ก็คงจะได้หนังสือมนุษย์เรื่อง ‘การเพาะเห็ด ประสบการณ์ รอยยิ้ม น้ำตา และอนาคตของฉัน’ หรืออะไรทำนองนี้นะคะ”

          ทีมงานวางแผน ปรับรูปแบบกิจกรรมใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิดดั้งเดิมของห้องสมุดมนุษย์

          การฟังแบบลึกซึ้ง และ Empathy ต้องเกิดขึ้นที่ปัตตานีให้ได้!

การฟังคือของขวัญ

          เมื่อตกผลึกได้ดังนี้ การบรรยายและเวิร์กชอปเกี่ยวกับ ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ จึงเกิดขึ้นในกิจกรรมครั้งต่อไป เพื่อให้ ‘แก่น’ ของความเป็นห้องสมุดมนุษย์ถูกถ่ายทอดสู่ว่าที่นักกิจกรรม และเพื่อให้อาสาสมัครที่จะมาเป็นนักอ่านและหนังสือรุ่นทดลองของโครงการรู้สึก ‘ปลอดภัย’ พอที่จะทลายกำแพงและกล้าที่จะเล่าเรื่องราวของตนเองให้กันและกัน

          ในเวิร์กชอปออนไลน์ครั้งที่ 2 เรายกตัวอย่างห้องสมุดมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ อธิบายความหมายของการฟังอย่างลึกซึ้งและเข้าอกเข้าใจ ย้ำวัตถุประสงค์ของห้องสมุดมนุษย์ในแบบฉบับของเรา จนท้ายที่สุดผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็สะท้อนกลับมาว่า

          “เข้าใจแล้วครับ/ค่ะ”

          “เป็นกิจกรรมที่เปิดโลกมากค่ะ ทำให้เราได้หัดฟังอย่างเปิดใจ รูปแบบไม่เป็นวิชาการมากเกินไป ดีใจที่ได้เข้าร่วมค่ะ”

          ฉันถอนหายใจด้วยความโล่งอก ในตอนนี้ น้องๆ อาสาสมัครคงพร้อมสำหรับกิจกรรมที่ปัตตานีแล้ว… 

          ในวันทำกิจกรรม ด้วยโจทย์เพียงไม่กี่ข้อเพื่อฝึกฟังอย่างตั้งใจ ผู้ร่วมกิจกรรมบอกเล่าเรื่องราวให้กับคู่ของตัวเอง ผลัดกันพูด ผลัดกันฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ วิทยากรค่อยๆ ยืดเวลาให้ยาวนานขึ้นทีละนิดๆ และใช้ ‘คำสำคัญ’ ปลดล็อกความรู้สึกของคนเล่า

          “เราฟังด้วยหู แต่ยังไม่ต้องส่งผ่านไปที่สมอง ให้เรื่องราวผ่านไปที่หัวใจเลยนะคะ…”

          “การฟังคือการให้ของขวัญ…เรากำลังให้ของขวัญกับเพื่อนที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรา”

‘อย่าตัดสินหนังสือจากปก’ ประสบการณ์ห้องสมุดมนุษย์ สามจังหวัดชายแดนใต้

          กว่าจะรู้ตัว…ฉันที่เข้าไปร่วมวงกับอาสาสมัครเพราะผู้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ไม่ลงตัวก็พบว่าตัวเองกำลังบอกเล่าเรื่องราวชีวิตเกี่ยวกับความฝันที่ได้รับการเติมเต็ม และความฝันที่ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนจะได้รับการเติมเต็ม ให้กับเด็กผู้ชายวัยรุ่นคนหนึ่ง เขามองตรงมาด้วยตาเป็นประกาย สนอกสนใจ และใส่ใจกับเรื่องราวในชีวิตของฉัน

          “เด็กผู้ชายสนใจเรื่องไร้สาระ แบบที่เรากำลังเล่าอยู่ด้วยเหรอ…”

          ฉันตั้งคำถามอยู่ในใจ แต่ดวงตาที่เริ่มวาววับเคลือบด้วยน้ำใสๆ ทำให้ฉันประหลาดใจมากขึ้นไปอีก น้องคนนี้ไม่ใช่แค่สนใจ แต่เขากำลัง ‘รู้สึก’ ร่วมไปกับฉัน รู้สึกมากกว่าฉันเสียด้วยซ้ำ เพราะในฐานะคนเล่า ฉันยังไม่รู้สึกเศร้ากับเรื่องราวของตัวเองมากเท่าไหร่

          แล้วฉันก็ระลึกได้…นักอ่านรุ่นเยาว์คนนี้กำลังเชื่อมโยงเรื่องราวของฉันกับเรื่องราวของตัวเองอยู่

          วินาทีนั้นฉันรู้ทันที คำว่า ‘การฟังคือของขวัญ’ ที่วิทยากรกล่าวไว้เมื่อต้นชั่วโมงนั้นไม่ได้เกินจริงไปเลยสักนิด ฉันรู้สึกดีที่มีคนฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ตัดสินว่าสิ่งที่ฉันทำลงไปเพื่อวิ่งไล่ตามความฝันเป็นความบ้าบิ่น เพราะในอีกไม่กี่อึดใจต่อมา เขาก็เปิดใจเทความรู้สึกที่ท่วมท้นเกี่ยวกับความฝันที่ไม่รู้ว่าจะสมหวังเมื่อไหร่ให้ฉันฟังบ้างเหมือนกัน

          สุดท้ายเมื่อความรู้สึกที่อัดอั้นถูกเทออกมาจนหมด เราก็มองหน้ากัน ยิ้มให้กันด้วยความเข้าใจ เราปล่อยให้ต่างคนต่างซึมซับความเงียบอย่างผาสุก ดื่มด่ำกับความรู้สึกอบอุ่นแบบไร้ที่มา จนเสียงเตือนเรื่องหมดเวลาดังขึ้น

          เมื่อฉันมองไปรอบข้าง ก็เห็นผู้ร่วมกิจกรรมกำลังพรั่งพรูความรู้สึกให้กับเพื่อนที่บางคนก็เพิ่งจะรู้จักกันในวันนี้ ต่างคนต่างค่อยๆ เปิดใจ ปล่อยให้เรื่องราวหลั่งไหลออกมาราวกับลำธารในช่วงน้ำหลาก แววตาที่ฉายความมุ่งมั่น มือที่ส่งกระดาษนุ่มให้เพื่อนเพื่อซับน้ำตา ฉันรับรู้ว่ากระบวนการที่ดำเนินมาถึงตรงนี้ ได้ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนเรียนรู้ที่จะฟังอย่างลึกซึ้งและเข้าอกเข้าใจ พร้อมที่จะเป็นหนังสือมนุษย์และนักอ่านที่ดีแล้ว

‘อย่าตัดสินหนังสือจากปก’ ประสบการณ์ห้องสมุดมนุษย์ สามจังหวัดชายแดนใต้

จงอ่านระหว่างบรรทัด: Listen to the ‘Implicit’ Meaning

          หลังจากได้ฝึกฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็พร้อมที่จะทำกิจกรรมต่อไป คือค้นหาประเด็นที่อยากเล่าหรืออยากฟัง เมื่อกระบวนการดำเนินมาถึงจุดนี้ ฉันก็เดินทางมาถึงจุดที่เข้าใจตัวเองและ ‘แก่น’ ของความเป็นห้องสมุดมนุษย์มากยิ่งขึ้น

          นั่นคือ เราไม่อาจเลือกฟังแค่สารที่สื่อออกมาโดยตั้งใจแต่เพียงอย่างเดียว ในการทำความเข้าใจคนคนหนึ่ง หรือหนังสือเล่มหนึ่ง เราต้องเรียนรู้ที่จะ ‘อ่านระหว่างบรรทัด’ หรือค้นหาความหมายที่แฝงอยู่ในเรื่องที่เขาเล่าให้ฟังด้วย

          เมื่อแรกเริ่มวางแผนโครงการ หนึ่งในทีมงานเคยตั้งประเด็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า การค้นหาหัวข้อหนังสือมนุษย์ที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ฟัง แม้ว่าคนนอกพื้นที่จะมีประเด็นที่คาดหวังอยาก ‘อ่าน’ จากคนในพื้นที่ในรูปแบบหนึ่ง แต่เรื่องราวที่คนในพื้นที่อยาก ‘อ่าน’ จากกันและกัน ย่อมแตกต่างออกไป

          แน่นอนว่าประเด็นที่คนนอกพื้นที่อยากอ่านจากคนในพื้นที่คงเป็นเรื่องของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประสบการณ์ ความในใจ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกว่าหนังสือคอลเลกชันนี้ ‘แตกต่าง’ จากหนังสือคอลเลกชันอื่นๆ เมื่อเริ่มต้นโครงการฉันเองก็ไม่ได้คิดแตกต่างไปจากนี้มากนัก แต่พอดำเนินกิจกรรมมาจนถึงเวิร์กชอปเพื่อเฟ้นหาประเด็น ฉันจึงเข้าใจว่าสิ่งที่เราอยากฟังจากเขา กับสิ่งที่เขาอยากพูดและอยากฟังนั้นค่อนข้างจะต่างกันเลยทีเดียว

          เมื่อฉันมองเห็นชื่อหนังสือในกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ทดลองแบบออนไลน์ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเรียน ความฝัน ความหวัง งานอดิเรก ของอาสาสมัครวัยนักศึกษา ฉันเคยสงสัยว่าหัวข้อแบบนี้จะพัฒนาต่อยอดเป็นหนังสือมนุษย์ได้จริงหรือไม่ แต่ฉันก็สลัดความคิดนั้นออกไป เพราะวันนี้ฉันพบว่าในความธรรมดาของหัวข้อ เรื่องราวที่แทรกอยู่ระหว่างบรรทัดนั้นไม่ธรรมดา…

          ความเงียบที่ดังที่สุด ความในใจที่อยากระบายออกมา สิ่งที่ฉันทำให้เขาผิดหวัง มนุษย์เป็ดในความคิดของคุณ นิยามความเป็นเรา…ผิดหรือที่แตกต่าง

          เมื่อลองอ่านระหว่างบรรทัด ฉันมองเห็นวัฒนธรรม มองเห็นความรู้สึก ความกดดัน ความเชื่อ ความฝัน และความหวัง อยู่ในนั้น น้องๆ อาสาสมัครแต่ละคนเป็นหนังสือที่มีเล่มเดียวในโลก เป็นหนังสือที่มีคุณค่าในแบบฉบับของตัวเอง

          ดังนั้น สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากขั้นตอนการสรรหาหัวข้อหนังสือมนุษย์จึงมีหลายข้อนัก…

          ประการแรก คือ หัวข้อหนังสือมนุษย์ในคอลเลกชัน สะท้อนคุณค่าที่ห้องสมุดแห่งนั้นยึดถือ หากวัตถุประสงค์ของการจัดห้องสมุดมนุษย์คือเพื่อรวบรวมเรื่องราว ประสบการณ์ ภูมิปัญญา แน่นอนว่าหัวข้อหนังสือที่บรรณารักษ์คัดเลือก ย่อมมี ‘คอนเทนต์’ เฉพาะตามแต่จะสรรหา แต่ถ้าวัตถุประสงค์ของการจัดห้องสมุดคือ เพื่อเป็นเครื่องมือในการ ‘เติมพลัง’ และ ‘เปิดใจ’ กระบวนการที่จะกระตุ้นให้เกิดการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ กับเสรีภาพในการเล่าเรื่องนั้นสำคัญมาก

          อีกประการหนึ่งคือ เวลาเราเลือกอ่านหนังสือรูปเล่ม เราอาจจะไม่ได้อยากอ่านหนังสือที่ได้รับรางวัล หรือเบสต์เซลเลอร์เสมอไป หลายครั้งที่เราเลือกอ่านหนังสือที่โดนใจและรู้สึกถึงความเชื่อมโยงบางอย่าง

          ครั้งนี้ฉันลองไม่ตัดสินหนังสือจากปกที่เรียบง่าย ปล่อยให้หูรับฟังเรื่องราวด้วยความว่างเปล่าและใจที่เปิดกว้าง แล้วฉันก็ไม่ผิดหวังจริงๆ

          การอ่านหนังสือมนุษย์ ก็คงไม่ต่างจากสภาพสังคมรอบตัวเรา ที่ต้อง ‘อ่านระหว่างบรรทัด’ ถึงจะเข้าใจ เพราะเรื่องบางเรื่องเจ้าตัวคงไม่สามารถพูดออกมาแบบชัดแจ้งได้

          คำถามคือ…แล้วฉันและทีมงานจะจดบันทึกหัวข้อ ทำเรื่องย่อ รวบรวมชื่อหนังสือ และจัดระบบห้องสมุดให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อประเด็นที่ต่างคนต่างเลือกที่จะบอกเล่ามันช่างมีความเป็นส่วนตัว และ ‘Confidential’ แบบนี้

          บางทีฉันคงต้องเลือก ว่าจะดำเนินการต่อเพื่อเก็บรวบรวมรายชื่อหนังสือและบทคัดย่อเพื่อให้กระบวนการดำเนินไปสู่ขั้นสุดท้ายอย่างสมบูรณ์แบบ คือดำเนินการต่อหลังจากกิจกรรมสิ้นสุดด้วยการกอบหนังสือมนุษย์ที่ได้ขึ้นจัดวางบนชั้นแล้วจัดตั้งห้องสมุดมนุษย์ฉบับทดลองแห่งแรกในพื้นที่ Deep South หรือว่าจะเก็บรักษาความเป็นส่วนตัวของประเด็นอ่อนไหวที่น้องๆ ได้เทใจพูดกันในวันนี้ แล้วถอดบทเรียนกระบวนการทำแคตตาล็อกหนังสือมนุษย์ฝากคนในพื้นที่เอาไว้เพื่อให้เขาสานต่อ

‘อย่าตัดสินหนังสือจากปก’ ประสบการณ์ห้องสมุดมนุษย์ สามจังหวัดชายแดนใต้

กระบวนการ ‘Curate’ หนังสือ ได้เกิดขึ้นแล้ว

          จากการศึกษารูปแบบการจัดห้องสมุดมนุษย์ที่ผ่านมา ผู้จัดมีกระบวนการจัดที่แตกต่างกันไป บางแห่งกำหนดชื่อหนังสือ หรือประเด็นที่ต้องการเล่าให้ตรงกับธีมแล้วดำเนินการนัดหมายให้หนังสือและนักอ่านมาพบกัน บางแห่งรับสมัครอาสาสมัครมาเป็นหนังสือมนุษย์แล้วคัดเลือกหัวข้อจากใบสมัครที่ส่งเข้ามาโดยไม่ได้กำหนดธีมไว้ก่อน บางแห่งนำหนังสือมนุษย์ไปเป็นตัวอย่างในการอบรม เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้กระบวนการจากการทดลองเป็นนักอ่าน

          กระบวนการของโครงการ Deep South Human Library คือ เวิร์กชอปกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้งก่อน ซึ่งวิธีนี้ทำให้ได้หนังสือมนุษย์ที่น่าสนใจอยู่หลายเล่ม แต่หากจะให้เกิดเป็นห้องสมุดมนุษย์อย่างยั่งยืน คงต้องมีกระบวนการคัดเลือกหนังสือ ทำบทคัดย่อ แล้วรวบรวมไว้ให้เป็นกิจจะลักษณะ เพื่อผลักดันให้ กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ กลายมาเป็นห้องสมุดมนุษย์ที่มีระบบและการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องโดยแท้จริง ซึ่งคงต้องปรับระบบให้เข้ากับลักษณะการบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่ไป

          กิจกรรมที่ผ่านมาจึงได้พิสูจน์ว่า เครื่องมือนี้ทำให้เกิด Empathy ระหว่างหนังสือและนักอ่านได้จริง  การอ่านระหว่างบรรทัด และอ่านแบบไม่ด่วนตัดสินหนังสือจากหน้าปก ทำให้เรามองเห็นเสน่ห์ของหนังสือแต่ละเล่ม

          คำถามที่ฉันยังสงสัย และค้างคาใจอยู่คือ หากลองไปจัดเวิร์กชอปห้องสมุดมนุษย์ในต่างพื้นที่ จะเกิดผลที่ต่างออกไปไหม หัวข้อที่พวกเขาอยากเล่า อยากฟัง จะเป็นอย่างไร แนวคิดนี้ยังเป็นแนวคิดที่ถือว่าใหม่สำหรับฉัน จึงตื่นเต้นและกระหายที่จะได้เรียนรู้ พร้อมที่จะไปจับมือและค้นหาแนวทางจัดทำห้องสมุดมนุษย์ด้วยกัน  เพราะลึกๆ แล้วฉันดีใจที่กิจกรรมเล็กๆ ตรงนี้ ช่วยชะลอสัญชาตญาณมนุษย์ที่ด่วนประเมินและตัดสินกันและกันให้ช้าลง

          อย่างน้อยการเวิร์กชอปได้ทิ้งข้อคิดเอาไว้ให้กับหนังสือ นักอ่าน และสอนให้เรา

          ฟัง…อย่างเข้าอกเข้าใจ

          ฟัง…เพื่อลดอดคติ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้บางคนได้มีโอกาสพูด เพื่อเติมพลัง เพื่อเป็นกำลังใจให้กัน เพื่อสังคมที่เป็นปึกแผ่นกลมเกลียวมากขึ้นนั่นเอง

‘อย่าตัดสินหนังสือจากปก’ ประสบการณ์ห้องสมุดมนุษย์ สามจังหวัดชายแดนใต้

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก