Deep Human Resilience ทักษะใหม่ที่จำเป็นต้องมี

2,725 views
7 mins
August 6, 2021

          นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ‘VUCA’ คำย่อที่ U.S. Army War College  ใช้เรียกสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงสงครามอัฟกานิสถานและอิรัก ถูกนำมาใช้อธิบายสภาพการณ์ในโลกธุรกิจที่มีความผันผวน (V-Volatile) ไม่แน่นอน (U-Uncertain) ซับซ้อน (C-Complex) และมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน (A-Ambiguous) อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

          ทว่าโลกปัจจุบันกำลังเป็น ‘ขั้นกว่าของ VUCA’ เพราะสถานการณ์ไปไกลกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญได้เคยคาดการณ์ไว้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้คนทั่วโลก ทั้งด้านวิถีชีวิต อารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งด้านการเรียนรู้และการทำงาน ดังที่ คริสตัล ลิม-แลงจ์ (Crystal Lim-Lange) อดีตผู้อำนวยการ NUS Centre for Future-ready Graduates มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ผู้เขียนหนังสือ Deep Human: Practical Superskills for a Future of Success กล่าวไว้ว่า

          “โรคระบาดนี้ทำให้เกิดความเครียด ความกังวล ความหดหู่ การขาดการเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว แม้ว่าคุณจะให้การศึกษาที่ดีที่สุดก็เปล่าประโยชน์ เพราะถึงอย่างไรเขาก็ทำงานได้ไม่ดี หากไม่มีสุขภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ถ้าคุณไม่มีสมาธิ คุณจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ไม่ได้ ไม่มีความมั่นใจ มันก็ไม่ได้ช่วยให้คุณพบกับความสำเร็จ”

          ในการประชุม TK Forum 2021 จัดโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ คริสตัลได้บรรยายเรื่อง “Deep Human Resilience – the Skills and Mindsets We Need to Succeed in an Era of Change” ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมแนวทางการพัฒนา ‘ทักษะมนุษย์ขั้นสูง’ (Deep Human Skill) ที่จะทำให้คนยุคใหม่ดำเนินชีวิตได้อย่างสุขใจ ก้าวหน้า และมีความหมาย

จบมหาวิทยาลัย = การศึกษาสูง?

          เมื่อ 6 ปีที่แล้ว บริษัทแกลลัพ (Gallup) ทำการวิจัยพบว่า มหาวิทยาลัย 96% ระบุว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาเพื่อออกไปสู่ตลาดแรงงาน แต่เมื่อสำรวจความคิดเห็นของนายจ้างกลับพบว่า มีเพียง 11% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับมหาวิทยาลัย ผลการสำรวจนี้สะท้อนถึงการมี ‘ช่องว่างทักษะ’ (skills gap) ที่กว้างมาก และหากมีการสำรวจประเด็นเดียวกันในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 คาดว่าสัดส่วนของนายจ้างที่เห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยน่าจะลดลงจนเหลือไม่ถึง 10%

          ในอดีต การเรียนได้เกรดดีๆ นำไปสู่การได้งานที่ดี แต่โลกปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ผันผวน ตำแหน่งงานบางงานอาจหายไปจากโลกนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์จะทำให้มนุษย์อายุยืนขึ้น บางคนอาจทำงานจนถึงอายุ 70 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่คนคนหนึ่งจะหยุดการเรียนรู้ไว้แค่ระดับมหาวิทยาลัย

          กลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ ให้กว้างขวาง พาตัวเองไปพบกับประสบการณ์ที่หลากหลาย สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องสนับสนุนให้นักศึกษาได้ฝึกฝนประสบการณ์หลายๆ ด้าน เช่น นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ อาจมีโอกาสฝึกงาน 3-4 ครั้ง หนึ่งในนั้นอาจเป็นการฝึกงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนครั้งอื่นๆ อาจเป็นการฝึกงานด้านการออกแบบกราฟิก ด้านประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Experience-UX) หรือด้านศิลปะ

          “มันเหมือนกับโครงเหล็กในสนามเด็กเล่นที่คุณไต่บันไดขึ้นไปตรงๆ อย่างเดียวไม่ได้ คุณอาจต้องปีนไปด้านข้างด้วย ตลาดงานกำลังพลิกผัน อาชีพเดิมๆ อาจไม่มีอีกต่อไป คุณอาจต้องเหวี่ยงตัวไปคว้าเหล็กซี่อื่น บางทีพอลองทำแล้วอาจพบว่า ‘โอ้ งานนี้ไม่เหมาะกับฉัน’ แล้วคุณอาจต้องเหวี่ยงตัวไปทางอื่นอีกเพื่อลองทำอะไรใหม่ๆ  นี่คือโลกใบใหม่ที่เรากำลังเผชิญและต้องการความกล้าหาญ”

เทคโนโลยีขั้นสูง VS ทักษะมนุษย์ขั้นสูง

          เมื่อพูดถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คนทั่วไปมักนึกถึงโลกภายนอก แต่อาจลืมนึกถึง ‘เทคโนโลยีภายในตัวเรา’ ว่านานเพียงใดแล้วที่ไม่ได้อัปเกรดซอฟต์แวร์ภายใน ซึ่งเป็นความคิดเกี่ยวกับตัวเองหรือมุมมองเกี่ยวกับโลก  

          “ตอนดิฉันยังเด็ก จะเห็นป้ายโฆษณาของโกดัก (Kodak) ทุกๆ 2-3 เมตร เรียกได้ว่าเจอทุกหนทุกแห่งที่ขับรถไป ส่วนตอนที่ดิฉันเริ่มทำงานใหม่ๆ เราทุกคนติดมือถือ BlackBerry มาก เราอยู่กับมันตลอดเวลา แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็ล่มสลาย เพราะไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ ดังนั้นบริษัทใหญ่ๆ ที่คนหนุ่มสาวในปัจจุบันใฝ่ฝันอยากเข้าไปทำงาน เพราะคิดว่ามันเป็นงานที่มั่นคง เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ข้อมูลที่มีกำลังบอกเราว่า สุดท้ายแล้วบริษัทเหล่านี้หลายแห่งจะไปไม่รอด”

          ทักษะที่หุ่นยนต์สามารถทำแทนได้ จะไม่ถือว่ามีคุณค่าอีกต่อไปในที่ทำงาน ทักษะเหล่านี้มักเกี่ยวกับความจำ การอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ ส่วนสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากหุ่นยนต์ เรียกว่า ‘ทักษะขั้นสูง’ เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์และการคิดเชิงวิพากษ์ เป็นทักษะที่อยู่เหนือกาลเวลาและยังเป็นที่ต้องการอยู่เสมอไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน

          “การศึกษาที่แท้จริงควรให้ความสนใจกับโลกภายในตัวเรา มันควรเป็นเรื่องของการให้ทักษะและแนวคิดที่จะทำให้คุณเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อคุณจะได้มีความตระหนักในตน เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอเพื่อตามโลกภายนอกให้ทัน”

จับตาความเปลี่ยนแปลงทักษะและอาชีพในอนาคต

          สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum-WEF) คาดว่าภายในปี 2022 งานอย่างน้อย 75 ล้านตำแหน่งจะถูกแทนที่ด้วยจักรกลอัตโนมัติ ขณะเดียวกันจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมา ทักษะที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ‘ทักษะการคิดขั้นสูง’ เช่น ความสามารถในการคิดเชิงลึก การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงวิเคราะห์ การสร้างนวัตกรรม และ ‘ทักษะมนุษย์ขั้นสูง’ เช่น การมีความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางอารมณ์ ความเป็นผู้นำและการมีอิทธิพลต่อผู้อื่น การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การสื่อสารที่ซับซ้อน

          นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวไต้หวัน ไค-ฟู ลี (Kai-Fu Lee) ได้วิเคราะห์ตัวแปรที่มีผลต่ออาชีพต่างๆ ในอนาคต ประกอบด้วยแกน X ได้แก่ ลักษณะการทำงานแบบ Optimization หมายถึงงานที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน และการใช้ข้อมูลเพื่อให้ได้คำตอบแบบตรงไปตรงมา ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเอไอและหุ่นยนต์จนหมดไปในที่สุด อีกด้านหนึ่งเป็น ลักษณะการทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และการวางกลยุทธ์ ซึ่งยังต้องอาศัยมนุษย์อยู่ เพราะหุ่นยนต์มีความสามารถด้านไม่มากนักนี้ ส่วนแกน Y ได้แก่ ลักษณะการทำงานที่ใช้ความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) และความความเห็นอกเห็นใจ ในระดับต่ำและสูง เป็นทักษะที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้

         แผนผังข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงระดับความเสี่ยงของแต่ละอาชีพที่มีโอกาสถูกเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน อย่างไรก็ดี คริสตัลอธิบายให้เห็นทางออกที่เป็นบวกไว้ว่า ไม่ว่าอาชีพใดก็สามารถมีความมั่นคงและก้าวหน้าได้ หากเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และฝึกฝน ‘ทักษะมนุษย์’ ให้มากขึ้น เช่น อาชีพหมอ จากเดิมที่อาศัยความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์โรคภัยต่างๆ สามารถเสริมคุณค่าในวิชาชีพได้จากการพัฒนาเรื่องการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้

5 ทักษะมนุษย์ขั้นสูง

         เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า งานในอนาคตต้องใช้ทักษะขั้นสูง โดยเฉพาะทักษะมนุษย์ที่เอไอไม่สามารถทำแทนได้ คริสตัลเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ทักษะเหล่านี้จะยังคงอยู่เหนือกาลเวลาและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ เธอจำแนกทักษะดังกล่าวออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่

          1) การมีสมาธิจดจ่อและรู้ลึก (Focus & Insight)

          โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยสิ่งเร้า อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ทำให้คนรุ่นใหม่มีสมาธิลดลงอย่างมาก ผู้คนคุ้นเคยกับเนื้อหาสั้นๆ หรือการดูวิดีโอที่มีความยาวไม่กี่นาที

          “ตอนดิฉันทำงานในมหาวิทยาลัย ทุกปีเราจะได้ยินฝ่ายบริหารบอกเราว่า ‘บทเรียนที่สอนต้องสั้นลง วิดีโอต้องสั้นลงอีกนะ’ แต่ก่อนเราถูกขอให้ทำวิดีโอความยาว 10-20 นาที พอปีถัดมาให้ตัดเหลือ 10 นาที ปีต่อมาก็ให้เหลือ 8 นาที ถ้าเป็นแบบนั้น ในอีกไม่กี่ปีเราคงได้ทำวิดีโอแบบ TikTok ความยาว 30 วินาทีสำหรับสอนวิทยาศาสตร์หรือวิชาอื่นๆ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ความจริงแล้วเราควรฝึกให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่อและมีความตั้งใจยาวนานขึ้น”

          2) การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness)

          การตระหนักรู้ เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนตัวเอง หากมองเห็นตัวเองชัดเจน รู้ว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของเราคืออะไร จะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า อันที่จริงแล้วคนส่วนใหญ่มีความตระหนักรู้ในตนเองต่ำมาก อย่างไรก็ดี ทุกคนสามารถเพิ่มระดับการตระหนักรู้ในตัวเองได้จากการรับฟังความคิดเห็นหรือเสียงสะท้อนของผู้อื่นอยู่เสมอ

          3) ความเห็นอกเห็นใจและเมตตากรุณา (Empathy & Compassion)

          หากมนุษย์เลือกมองโลกจากมุมของตัวเองเพียงด้านเดียว เราจะไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมงานที่ต้องอาศัยความเห็นอกเห็นใจ (empathy) และความเมตตากรุณา (compassion) ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกัน จะยังคงอยู่ไปอีกนาน

          4) การสื่อสารในระดับที่ซับซ้อน (Complex Communication)

           ความสามารถในการสื่อสารเรื่องยากๆ เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง และความสามารถโน้มน้าวใจผู้อื่น เป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญในโลกการทำงานยุคใหม่ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือการทำงานหรือสื่อสารกันผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นเรื่องยากที่จะสัมผัสถึงความรู้สึกและพลังของอีกฝ่ายได้อย่างเต็มที่ และเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดได้ง่ายหากไม่มีทักษะการสื่อสารที่ดี  

          5) ความเข้มแข็งทางใจ ความไม่ย่อท้อ (Adaptive Resilience)

          นี่คือคุณสมบัติของคนที่มีกรอบคิดแบบเติบโต (growth mindset) มีทัศนคติที่พร้อมเผชิญความท้าทายและความล้มเหลว เข้าใจว่าไม่มีอะไรในชีวิตที่เป็นความล้มเหลวแบบถาวร แต่เป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองและและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

โลกเปลี่ยน กรอบคิดต้องปรับ

          นอกจากทักษะที่จำเป็น คริสตัลชี้ให้เห็นถึง ‘การเปลี่ยนแปลงกรอบคิด’ (mindshift) ที่จำเป็นสำหรับอนาคต 3 ประการ ได้แก่

          ประการแรก เปลี่ยนจาก กลัวความล้มเหลว ให้กลายเป็น กรอบคิดแบบเติบโต (growth mindset) เช่น การทบทวนตนเองว่า ความล้มเหลวครั้งใหญ่สุดหรือปัญหาใหญ่สุดของสัปดาห์นี้คืออะไร ได้บทเรียนอะไรบ้าง และจะเปลี่ยนแปลงตัวเองต่อไปอย่างไร

          “ในฐานะครูหรือนักการศึกษา เรามักบอกนักเรียนว่า ‘ไปลองทำเลย ล้มเหลวได้ พยายามลงมือทำหลายๆ แบบนะ’ แต่ถ้าพวกเขาไม่เคยเห็นเราล้มเหลว ไม่เคยเห็นพ่อแม่ ครู หรือหัวหน้าล้มเหลว พวกเขาก็จะไม่รู้สึกว่าล้มเหลวแล้วปลอดภัย ถ้าคุณไม่แสดงให้นักเรียนเห็นว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน พวกเขาก็จะเติบโตขึ้นในโลกแบบอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊ก คือโลกที่เห็นแต่เรื่องดีๆ เท่านั้น”

          ประการที่สอง เปลี่ยนจาก การวางแผนที่ชัดเจนตายตัว ให้กลายเป็น ปรับเปลี่ยนให้เร็วและกล้าลองไอเดียใหม่ๆ เพราะโลกเปลี่ยนเร็วเกินกว่าจะรอคอยแผนที่สมบูรณ์แบบ สิ่งที่ควรทำคือเตรียมแผนไว้หลายๆ แบบ ทดลองปฏิบัติ เก็บข้อมูล แล้วนำบทเรียนมาพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้น

          “การทดลองอยู่เสมอเป็นการบริหาร ‘กล้ามเนื้อความคิด’ ครูสามารถให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการคิด เช่น ถามพวกเขาว่า ‘อยากเรียนเรื่องอะไร มีปัญหาอะไรไหม สนใจเรื่องอะไรอยู่หรือเปล่า’ คุณจะกลายเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นคู่หูของนักเรียน ไม่ใช่คนที่อยู่ระดับสูงกว่าที่คอยสั่งสอน แล้วนักเรียนเป็นผู้อยู่เบื้องล่างเงยหน้าขึ้นมามองคุณ”

          ประการสุดท้าย เปลี่ยนจาก เริ่มต้นด้วยเหตุผล เป็น เริ่มต้นด้วยความเห็นอกเห็นใจ เช่น “ฉันเข้าใจคุณ” “ฉันรับฟังคุณ” “ฉันรู้ว่าสิ่งที่คุณพูดมีความสำคัญ” คำพูดเหล่านี้ช่วยเติมเต็มความเป็นมนุษย์ อีกทั้งช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จ

          “นักการศึกษามักจะให้ความสำคัญกับเรื่องเหตุผล ถ้านักเรียนมีปัญหามาปรึกษา สิ่งแรกที่ครูจะทำก็คือ พยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้ แต่หลายปัญหาที่นักเรียนเผชิญไม่สามารถแก้ไขได้แบบง่ายๆ พวกเขาต้องการความเข้าอกเข้าใจ อย่าให้คำแนะนำโดยอัตโนมัติ ถ้าคุณยังไม่เข้าถึงจิตใจของพวกเขา”


ที่มา

การบรรยาย เรื่อง “Deep Human Resilience – the Skills and Mindsets We Need to Succeed in an Era of Change” โดย คริสตัล ลิม-แลงจ์ (Crystal Lim-Lange) อดีตผู้อำนวยการ NUS Centre for Future-ready Graduates มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และผู้ก่อตั้งบริษัท Forest Wolf ประเทศสิงคโปร์ ในการประชุม TK Forum 2021 “Library and Public Space for Learning” วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 ณ โรงแรมเอส 31

Cover Photo by Fábio Lucas on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก