รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก

3,710 views
12 mins
January 18, 2023

          เมื่อช่วงกลางปี 2022 สำนักข่าว The Telegraph ของอังกฤษรายงานว่า มหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง ประเทศสกอตแลนด์ จะปรับเนื้อหาการเรียนการสอนหลักสูตรวรรณคดี โดยถอดผลงานของ เจน ออสเตน (Jane Austen) ออก แล้วแทนที่ด้วยงานเขียนของ โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) เจน ออสเตน เป็นนักเขียนชื่อดังระดับโลกเจ้าของวรรณกรรมคลาสสิกแนวสัจนิยม (Realism) นำเสนอชีวิตและค่านิยมแบบผู้ดีอังกฤษในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ส่วน โทนี มอร์ริสัน เป็นนักเขียนหญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1993 และยังได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ จากนวนิยายเรื่อง Beloved มีเค้าโครงเรื่องจากเหตุการณ์จริง ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การค้าทาสของอเมริกา สื่อระบุถึงเหตุผลของการปรับเปลี่ยนว่า เพื่อลดทอนแนวคิด ‘อาณานิคม’ ซึ่งบ่มเพาะความไม่เท่าเทียมในสังคม และเพิ่มความหลากหลายของเนื้อหาในบทเรียนให้มากขึ้น แต่ภายหลังโฆษกของมหาวิทยาลัยก็ได้ออกมาแถลงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด

รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก
นวนิยายเรื่อง Beloved งานเขียนจาก โทนี มอร์ริสัน ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และรางวัลพูลิตเซอร์

          นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สำนักข่าวอนุรักษ์นิยมแห่งอังกฤษจุดประเด็นเกี่ยวกับการถอดวรรณกรรมของนักเขียนคลาสสิกออกจากหลักสูตร โดยกล่าวอ้างว่ากลุ่มเสรีนิยมกำลังจะทำลาย ‘มรดกแห่งชาติ’ ด้วยการลบล้าง ‘มรดกอาณานิคม’ ก่อนหน้านี้ยังเคยมีข่าวว่ามหาวิทยาลัยเลสเตอร์ จะถอดผลงานของ เจฟฟรีย์ ชอเซอร์ (Geoffrey Chaucer) นักเขียนซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งกวีนิพนธ์อังกฤษ รวมถึงงานวรรณกรรมยุคกลางเรื่องอื่นๆ เช่น เบวูล์ฟ (Beowulf) เพราะมหาวิทยาลัยต้องการปรับหลักสูตรใหม่ให้ปราศจากการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศวิถี และปลอดแนวคิดอำนาจอาณานิคม ไม่เว้นแม้กระทั่งผลงานของนักเขียนชื่อดังก้องโลกอย่างวิลเลียม เชคสเปียร์ ก็เคยตกเป็นข่าวว่าจะถูกถอดออกจากหลักสูตรมาแล้วเช่นกัน

          กระแสข่าวเหล่านี้เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า แม้ปัจจุบันความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างเจ้าอาณานิคมและชาติอาณานิคมจะสลายไปหลายทศวรรษแล้ว แต่วรรณกรรมหลายเรื่องยังทิ้ง ‘มรดก’ ไว้ให้สังคม ทั้งแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ การแบ่งแยกชนชั้น การกีดกันทางสังคม การไม่ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่หนำซ้ำ บางครั้งผู้มีอำนาจก็พยายามลบภาพอดีตอันโหดร้ายออกไปจากประวัติศาสตร์ แต่อีกด้านหนึ่ง ร่องรอยความคิดแบบอาณานิคมที่ยังหลงเหลืออยู่ได้จุดประกายให้ชนรุ่นหลังตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่สังคมซึ่งไม่แบ่งแยกและมีความเสมอภาค

หลักสูตรการศึกษาโบกมือลามรดกอาณานิคม

          การปรับและถอดผลงานของนักเขียนบางคนออกจากหลักสูตรวรรณกรรมในสหราชอาณาจักรระลอกล่าสุด เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การรณรงค์เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างชาติพันธุ์ ‘Black Lives Matter’ เมื่อปี 2013 และแคมเปญ ‘Rhodes Must Fall’ ในปี 2015 ครั้งนั้นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ได้เรียกร้องให้นำรูปปั้นของ เซซิล โรดส์ (Cecil John Rhodes) ออกไปจากมหาวิทยาลัย เพราะเขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของอาณานิคมเคป ที่ศรัทธาในลัทธิจักรวรรดินิยมอังกฤษอย่างแรงกล้า รวมทั้งมีนโยบายเชิดชูคนผิวขาวและลิดรอนสิทธิคนผิวสี นักศึกษากลุ่มผู้ประท้วงคิดว่าการดำรงอยู่ของรูปปั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเชิดชูประวัติศาสตร์อันขมขื่น

          ผลการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในครั้งนั้น ไม่เพียงสามารถเคลื่อนย้ายรูปปั้นออกได้สำเร็จ แต่ยังจุดประเด็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกหลายอย่างในแอฟริกาใต้ เช่น แคมเปญ FeesMustFall ซึ่งเรียกร้องให้มีการลดค่าเทอม และนโยบายเรียนฟรีสำหรับนักศึกษาที่มีฐานะยากจน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้อย่างเท่าเทียม

รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก
การนำรูปปั้น เซซิล โรดส์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่สนับสนุนแนวคิดการล่าอาณานิคม ออกจากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ ในวันที่ 9 เมษายน 2015
Photo : Desmond Bowles, CC BY-SA 2.0 via flickr

          อีกหนึ่งแรงกระเพื่อมคือ เกิดการเรียกร้องให้ย้ายหรือรื้อถอนอนุสรณ์สถานของบุคคลสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคม ทั้งในสหราชอาณาจักรและภูมิภาคอื่นๆ เช่น การเรียกร้องให้นำรูปปั้นโรดส์ออกจากโอเรียลคอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นสถาบันที่เซซิล โรดส์เคยศึกษา สุดท้ายแล้ว มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่ย้ายรูปปั้นดังกล่าวออกเพื่อแสดงการยอมรับในประวัติศาสตร์ และจะมุ่งพัฒนาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่แตกต่างให้มากขึ้น

          ด้านสหภาพการศึกษาแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NEU) มองเห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนให้หลักสูตรตอบรับความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม จึงได้รณรงค์ให้มีการปรับหลักสูตรการศึกษาให้ปราศจากแนวคิดอาณานิคม รวมถึงเปิดกว้างทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ได้ประเมินหลักสูตรใหม่และปรับปรุงรายการหนังสือต้องอ่านให้มีความครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้น อีกหลายแห่งได้ก่อตั้งคณะทำงานและเครือข่าย โดยวางวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาแนวคิดลัทธิอาณานิคมที่แฝงอยู่ในการศึกษา ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่าส่วนหนึ่งก็เพื่อรองรับนักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น

          รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมตะวันตกเห็นตรงกันว่า หากพิจารณาบริบทของเรื่องราวให้ถ้วนถี่ การถอดวรรณกรรมออกจากหลักสูตรเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ของ การสลายแนวคิดอาณานิคม (Decolonisation) ในระบบการศึกษา ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องให้หลักสูตรโอบรับความหลากหลายของวัฒนธรรม และมีสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น

           “การลบไม่เท่ากับลืม… ดังนั้นการถอดผลงานนักเขียนออกจากหลักสูตรก็ดี หรือการทำลายรูปปั้นก็ดี เหมือนคุณต่อสู้กับเงา แต่แท้จริงแล้วรากฐานของปัญหายังคงอยู่”

          อาจารย์วริตตา แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับแคมเปญ Rhodes Must Fall

           “การสร้างอาณานิคมไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเชิงกายภาพ แต่ยังมีผลต่อความเชื่อและกระบวนการคิดด้วย ดังนั้นถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เราต้องมองทั้งกระบวนการรื้อถอนทางกายภาพ (Decolonisation) และการเปลี่ยนแปลงแนวคิดความเชื่อเกี่ยวกับอาณานิคม (Decoloniality) สิ่งที่ควรทำควบคู่กับการสลายแนวคิดอาณานิคมไม่ใช่แค่การทำลาย หรือลบอดีต แต่คือการเคารพในความหลากหลาย (Diversification)”

รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา
Photo : รองศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา

วรรณกรรมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

          ปัจจุบัน แนวคิดการสลายอำนาจอาณานิคมเกิดขึ้นในหลากหลายวงการ รวมทั้งงานวรรณกรรมซึ่งสะท้อนวิถีวัฒนธรรม ความคิด การเมือง และอุดมการณ์ของผู้แต่งในแต่ละยุคสมัย เมื่อทศวรรษ 80 ที่สหรัฐอเมริกา เกิดเหตุการณ์น่าสนใจซึ่งเรียกว่า ‘สงครามทำเนียบวรรณกรรม’ ครั้งนั้นสภามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมีมติข้างมากให้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาวิชา ‘วัฒนธรรมตะวันตก’ โดยมีการทบทวนรายชื่อหนังสือและวรรณกรรมซึ่งใช้เรียนและสอนในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและที่อื่นๆ

          อาจารย์ชูศักดิ์ อธิบายว่า “การถกเถียงดังกล่าว ไม่ใช่เพียงเพื่อหาข้อสรุปว่าหนังสือและวรรณกรรมเล่มไหนควรจะนำมาใช้สอนในห้องเรียน เพราะลึกๆ แล้ว นี่เป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวเชิงการเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยอัตลักษณ์ และระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม ดังนั้นนี่คือสงครามช่วงชิงการนิยามและกำหนดคุณค่าทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญในสังคมอเมริกัน”

          นอกจากการปรับเปลี่ยนหนังสือในทำเนียบวรรณกรรมของหลักสูตรแล้ว อีกตัวอย่างหนึ่งที่พยายามลดทอนอำนาจแนวคิดอาณานิคม คือการเปลี่ยนชื่อ ‘รางวัลลอรา อิงกัลส์ ไวลเดอร์’ (Laura Ingalls Wilder Award) รางวัลหนังสือเยาวชนซึ่งตั้งชื่อตามเจ้าของผลงานอมตะ ชุดบ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็น ‘รางวัลวรรณกรรมเด็กและเยาวชน’ เมื่อปี 2018 สมาคมเพื่อบริการห้องสมุดสำหรับเด็กแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะงานเขียนของลอรา สะท้อนทัศนคติเชิงลบที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมืองและคนผิวสีในสังคมอเมริกัน

รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก
รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
Photo : รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

แม้ชาติที่เป็นเอกราช ก็อาจมีความไม่เท่าเทียมปรากฏในวรรณกรรม

          หากมองย้อนกลับมาและตั้งคำถามว่า ประเทศไทยในอดีตไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกมาก่อน เช่นนั้นแล้ววรรณกรรมของไทยมีร่องรอยของความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจ เฉกเช่นที่ปรากฏในวรรณกรรมตะวันตกบ้างหรือไม่ คำตอบดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ได้จากทำเนียบวรรณกรรมของไทย เช่น การตั้งวรรณคดีสโมสรและคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกและประกาศยกย่องหนังสือ เมื่อ พ.ศ. 2457 อันถือเป็นแบบฉบับของการจัดทำรายชื่อหนังสือดี ประกาศกระทรวงศึกษาธิการที่รวบรวมหนังสืออ่านนอกเวลา หรือยกย่องหนังสือดีเด่นเป็นประจำทุกปี และรายชื่อ ‘หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน’ ซึ่งจัดทำใน พ.ศ. 2540-2541

          อาจารย์ชูศักดิ์ ให้ข้อสังเกตว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อพูดถึงวรรณกรรมท้องถิ่น มักถูกมองเป็นเรื่องของวรรณกรรมเหนือ อีสาน ใต้ แต่พอจะนิยามวรรณกรรมกรุงเทพฯ กลับถูกมองเป็นเรื่องของวรรณกรรมไทย”

          การจัดทำรายการหนังสือแนะนำของไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็นการจัดทำในรูปแบบบนลงล่างซึ่งมีรัฐและกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง โดยไม่นับรวมงานเขียนที่ใช้ภาษาท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ รายการหนังสือดังกล่าวจึงขาดความหลากหลาย และยิ่งไปกว่านั้น ทำเนียบวรรณกรรมไทยยังขาดการขยายผลไปสู่การวิพากษ์หรือกำหนดคุณค่าทางวัฒนธรรมของสังคม ข้อจำกัดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทำเนียบวรรณกรรมเท่านั้น แต่รวมไปถึงประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในแบบเรียนและหลักสูตร ซึ่งส่งผลให้คนไทยถูกหล่อหลอมด้วยแนวคิด ความเชื่อ และระบบ ซึ่งถูกกำหนดโดยส่วนกลาง เรื่องเล่าของคนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งเรื่องเล่าของคนธรรมดาที่ไม่ใช่บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ในมุมมองของรัฐนั้น ยากจะมีพื้นที่ทั้งในวรรณกรรมและในหลักสูตร

ศึกษาวรรณกรรมอย่างไรให้เข้าใจสังคมอย่างลึกซึ้ง

          การศึกษาวรรณกรรม ไม่ใช่เพียงการศึกษาความงามและฉันทลักษณ์ทางภาษา แต่เป็นการวิเคราะห์เรื่องราวผ่านแง่มุมที่หลากหลาย ฉะนั้น การถกปะทะทางความคิดอย่างกว้างขวางจะช่วยให้สามารถตีความประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ชนชั้น เพศ การเมือง เศรษฐกิจ ประเด็นทางสังคม ศาสนา ฯลฯ ดังเช่น วงการวรรณกรรมในอังกฤษซึ่งเคลื่อนไหวสอดรับไปกับความต้องการของสังคมที่แสวงหาความหลากหลายทางความคิด สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

          ผศ.ดร.น้ำผึ้ง ปัทมะลางคุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า รายชื่อวรรณคดีไทยโบราณที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในปัจจุบันมักไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปจากในอดีตมากนัก แต่ผู้สอนจะมีการนำกรอบวิธีคิด หรือทฤษฎีจากศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่จำกัดแค่ทฤษฎีทางวรรณคดีมาวิเคราะห์ร่วมกับบทประพันธ์ และพยายามชี้ชวนให้ผู้เรียนตีความได้อย่างหลากหลายมากขึ้น

          หากกล่าวถึงวรรณคดีไทย หลายคนอาจนึกถึงการแสดงภาพของสังคมปิตาธิปไตย ลัทธิชาตินิยม หรือเรื่องราวที่ไม่สมเหตุสมผลของตัวละครที่แทรกอยู่ซึ่งต่อยอดมาสู่การวิเคราะห์ วิจารณ์ และวิพากษ์ในสังคมสมัยใหม่ ในมุมนี้อาจารย์น้ำผึ้งได้แลกเปลี่ยนว่า

           “วรรณคดีเป็นสิ่งซับซ้อน เพราะฉะนั้นการบอกว่าวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเชิดชูประเด็นที่ไม่ดี เช่น การกดขี่ การเหยียด โดยส่วนตัวมองว่าไม่เป็นความจริง สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของงานเขียน แต่ยังมีเรื่องราว ประเด็นอื่นๆ สอดแทรกอยู่ โดยเฉพาะวรรณคดีในหลักสูตรมักได้รับการกลั่นกรองมาแล้วว่างานชิ้นนั้นมีคุณค่า และควรค่าต่อการศึกษา”

          ส่วน อาจารย์ชูศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตซึ่งน่าสนใจว่า บางครั้งปัญหาของการอ่านวรรณกรรมอาจไม่อยู่ที่ตัวบทประพันธ์ แต่อยู่ที่อคติของผู้สอนและผู้อ่าน “การอ่านหนังสือมีโอกาสเปิดโลกเราให้กว้างขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสปิดโลกเราด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะเวลาเราอ่านเรื่องราวใหม่หรือเจอประสบการณ์ใหม่ มนุษย์มักใช้ชุดความรู้ซึ่งตนเองมีอยู่ไปทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้น ถ้าเรามีอคติเยอะ แทนที่มันจะทำให้เราขยายการรับรู้ มันกลายเป็นมายืนยันอคติของตัวเอง เพราะเราเลือกใช้อคตินั้นไปทำความเข้าใจ”

รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำผึ้ง ปัทมะลางคุล
Photo : อภิสิทธิ์ ปานอิน/ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุดจบของวรรณกรรมแฝงแนวคิดอาณานิคม?

          การต่อสู้ทางอุดมการณ์และความเชื่อซึ่งเกิดขึ้นในหลากหลายประเทศสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดที่เป็นรากฐานของการล่าอาณานิคมนั้นไม่ได้ส่งผลทางกายภาพเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ‘ผู้ล่า’ หรือ ‘ผู้ถูกล่า’ รวมถึง ‘ผู้รอดพ้นจากการล่า’ เช่นประเทศไทย เพราะแนวคิดจักรวรรดินิยม (Imperialism) และชาตินิยม (Nationalism) ซึ่งเป็นแก่นของการล่าอาณานิคม ได้แทรกซึมผ่านปฏิสัมพันธ์กับชาติตะวันตกและระบอบทุนนิยมอยู่ในสังคมอย่างแยกไม่ออก

          ท้ายที่สุด อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างการตระหนักถึงความเท่าเทียม เข้าใจและยอมรับความแตกต่าง ขณะเดียวกันการศึกษาก็สามารถสืบทอดมรดกความคิดที่บิดเบี้ยว และก่อกำเนิดความรุนแรงเชิงองค์ความรู้ (Epistemic Violence) ได้เช่นกัน ตามที่เอ็ดเวิร์ด ซาอิด นักคิดชั้นนำด้านการศึกษาหลังอาณานิคมกล่าวว่า “ความรู้กลายเป็นสินค้าในการแสวงหาผลประโยชน์จากอาณานิคมเช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ”

          อาจารย์วริตตา ได้ฝากข้อคิดเอาไว้ว่า “เราทุกคนล้วนเป็นผู้สมคบคิดในลัทธิล่าอาณานิคม โดยเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยม ไม่มีใครลอยตัว เพราะทุกคนได้รับผลประโยชน์ทั้งสินค้า เสื้อผ้า หนังสือที่เราอ่าน เรามีเจ้าอาณานิคมภายใน มีแรงงานราคาถูก มีเจ้าสัวผู้ผูกขาดตลาด ความสัมพันธ์แบบอำนาจทางเดียวนั้นอันตรายกว่าที่เราคิด เพราะเราจะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนั้นโดยไม่รู้ตัว ลัทธิล่าอาณานิคมส่งผ่านระบบการศึกษาเป็นหลัก สิ่งสำคัญมากๆ ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ คือเราไม่ควรพอใจแค่หลักสูตรที่มีคำว่า Decolonisation มันไม่ควรเป็นเหมือนเครื่องชำระล้างมลทินการศึกษา แต่ควรเป็นกลไกหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความตระหนักเรื่อง Decolonisation ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย”


ที่มา

บทความ “Can Cambridge decolonise?” จาก spectator.co.uk (Online)

บทความ “Historian Robert Tombs blasts Leicester University’s ‘crazy’ plan to drop classic authors and replace them with modules on race and sexuality” จาก dailymail.co.uk (Online)

บทความ “Jane Austen cancelled as university course drops literary legend to ‘decolonise curriculum’” จาก gbnews.uk (Online)

บทความ “Jane Austen dropped from university’s English course to ‘decolonise the curriculum’” จาก telegraph.co.uk (Online)

บทความ “Leicester University academics resign in disgust at move to ‘decolonise’ English curriculum by dropping Chaucer and Beowulf as expert says it is BAME students who will miss out under ‘woke’ scheme” จาก dailymail.co.uk (Online)

บทความ “Literary Studies in the age of “Productivity”” จาก prachataienglish.com (Online)

บทความ “No, decolonising your bookshelf doesn’t mean getting rid of Jane Austen” จาก opendemocracy.net (Online)

บทความ “Only a fifth of UK universities say they are ‘decolonising’ curriculum” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “Schools don’t need to bin Shakespeare – but it’s time for us to teach him differently” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “The ‘decolonise’ Cambridge row is yet another attack on students of colour” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “Universities drop Chaucer and Shakespeare as ‘decolonisation’ takes root” จาก telegraph.co.uk (Online)

บทความ “สงครามชิงทำเนียบ” จาก readjournal.org (Online)

บทความ “สายรุ้งที่ฉันฝันหา: ขบวนการนักศึกษา Rhodes Must Fall ที่แอฟริกาใต้” จาก djrctu.com (Online)

Cover Photo: BatyrAshirbayev98, CC BY-SA 4.0 via Wikimedia Commons

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก