“จริงๆ แล้ว เด็กไทยไม่ใช่ไก่กา เวลาไปอยู่ในสนามนานาชาติ เด็กเราโดดเด่น แต่แสงนั้นมันค่อยๆ หรี่ลงในแง่ของความกล้า มันเพราะอะไร”
นี่คือคำถามของ ครูพี่พันธ์ หรือนิพันธ์ รัชพล สระทองใจ กับการตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเด็กไทยจะไปไกลกว่านี้ไม่ได้
แม้ว่าครูพันธ์เองจะจบการศึกษาจากสายวิทยาศาสตร์ แต่ก็ไม่เคยหยุดทวงถามถึงความหลากหลายทางการศึกษา และตระหนักถึงความสำคัญของสายศิลป์ เพราะเชื่อว่าศาสตร์เพียงแขนงเดียวไม่อาจขับเคลื่อนสังคมได้ ความสนใจนี้ถูกนำมาใช้ออกแบบวิชาบูรณาการให้เด็กๆ โรงเรียนเด็กสายรุ้ง จังหวัดนครปฐม ได้เรียนกัน
จุดเริ่มต้นของการได้เข้ามาสอนที่นี่
ต้องเล่าก่อนว่าครูติ๋วซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งใจให้โรงเรียนเป็นแนวบูรณาการ อยากให้เด็กๆ พัฒนาการเรียนรู้ตามธรรมชาติ ด้วยความที่ครูติ๋วเป็นนักการศึกษา บวกกับมีประสบการณ์และเคยไปอบรมมาหลายหลักสูตร เขาพบว่าการยึดตามหลักการใดเพียงหลักการเดียวนั้นไม่ค่อยเข้ากับเด็กไทย ไม่เข้ากับบริบทบ้านเราในหลายอย่าง เพราะฉะนั้น โรงเรียนเด็กสายรุ้งจึงมีวิธีการแบบมิกซ์ แอนด์ แมตช์ ส่วนไหนเหมาะกับบริบทบ้านเรา โรงเรียนจะดึงมาใช้เป็นสไตล์ของตัวเอง แล้วช่วงนั้นทางโรงเรียนกำลังมองหาสิ่งที่ขาด ซึ่งบังเอิญเป็นสิ่งที่เราถนัด
สไตล์การเรียนการสอนของที่นี่เป็นแบบไหน
ที่โรงเรียนครูติ๋วได้วางไว้เป็นแบบ Project-Based Learning (PBL) แต่ต่างจากที่อื่นตรงที่เราจะสอนจากความสนใจของเด็ก อย่างเทอมนี้เขาอยากจะเรียนธีมเกี่ยวกับ กีฬา เราก็จะประเมินก่อนว่าเขารู้อะไรมาแล้วบ้าง เขาอยากรู้อะไรเพิ่ม ต้องทำยังไงถึงจะได้รู้ หลังจากนั้นก็ให้เขาโหวต แล้วคุณครูก็จะมาประชุมกันว่าหัวข้อที่เด็กเสนอมามีประมาณนี้ หัวข้อไหนเคยสอนไปแล้ว หัวข้อไหนเป็นเรื่องใหม่ เมื่อสรุปได้แล้วก็ประกาศให้เด็กรู้ว่าตกลงจะเรียนหัวข้อนี้นะ คุณครูแต่ละท่านก็จะไปออกแบบการเรียนการสอนเพื่อให้ตอบรับกับธีม
การเรียนการสอนแบบนี้ทำให้เราต้องแอคทีฟตามเด็กมาก เพราะคุณต้องทันเหตุการณ์ อย่างธีมกีฬาเราก็ดูว่าเร็วๆ นี้จะมีการแข่งกีฬาที่ไหน หรือเมื่ออาทิตย์ก่อน ที่นครปฐมมีการแข่งขันวอลเลย์บอลเอวีซี ซึ่งมีทีมระดับนานาชาติมาร่วมแข่ง เราก็เลยได้พาเด็กๆ เข้าสังเกตการณ์ เขาจะได้ซึมซับบรรยากาศจริง ว่าทั้งการเชียร์ ทั้งการเล่นของนักกีฬาระดับอินเตอร์เขาเป็นยังไง ถ้าเขาชอบมันจะเป็นคลังข้อมูลในแง่ประสบการณ์
สำหรับเด็ก ป.4 – ป.6 เรามีกลุ่มวิชาที่เรียนกันแบบ Multiple Ages คือเด็กที่เราสอนจะต้องมาเรียนด้วยกัน ภายใต้ธีมเดียวกัน เราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กต้องเก็บรายละเอียดเท่ากันหมด เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ หรือการจะบอกว่าเด็กอายุเยอะต้องเก็บรายละเอียดหรือเรียนรู้ได้มากกว่าเด็กอายุน้อย ทางโรงเรียนก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เราจะใช้วิธีการคละกลุ่ม หรือคู่ โดยการจับสลากทุกครั้ง การทำแบบนี้จะทำให้เขามีโอกาสได้เจอคนใหม่ๆ วันนี้คู่กับพี่เอ พรุ่งนี้อยู่กับน้องบี บทบาทเขาจะต้องพลิกตลอดเพราะในชีวิตจริงเราไม่สามารถเลือกทุกอย่างที่ชอบได้ทุกครั้งไป แต่จะต้องจัดการยังไง เมื่อเป้าหมายคือต้องมีงานส่งคุณครู มันจะสอนให้เขาพยายามคิดแบบ Multiple Success กับหลายๆ อย่าง มันคือชีวิตจริงที่เด็กคนหนึ่งต้องเจอ
สำหรับวิชาที่ครูพี่พันธ์สอนคือวิชาอะไร
วิชาที่สอนเป็น ‘วิชาบูรณาการ’ ประกอบด้วย 3 วิชาย่อย หนึ่งคือ STEAM หรือ STEM เราให้เป็นตัวแทนของสายวิทย์ สองคือ MESH เราให้เป็นตัวแทนของสายศิลป์ และสามคือ ภาษาเอสเปรันโต ในส่วนของ STEAM เข้ามาบ้านเราได้สักพักแล้ว และดูจะแอคทีฟมาก มีการทำค่าย การจัดอบรมกันเยอะแยะ แต่ก็ยังเป็นการเน้นเพียงศาสตร์ทางด้านเดียว เราไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะ แต่ศิลป์ก็ไม่ควรถูกทิ้งไง จุดนี้ก็เลยพยายามไปหาข้อมูลว่ามีอะไรที่เป็นตัวแทนทางด้านศิลป์ไหม
เราก็ไปพบว่า มีนักการศึกษาจากอเมริกากล่าวไว้ว่า สังคมจะขับเคลื่อนด้วย STEAM หรือ STEM อย่างเดียวไม่ได้หรอก เขาก็เลยคิดคอนเซปต์ขึ้นมาเป็น MESH ซึ่งหลังจากที่ได้เห็นแล้ว ก็รู้สึกว่ามันใช่เลย มันคือสิ่งที่เรากำลังตามหา
งั้นเรามาพูดถึงวิชาย่อยอื่นๆ โดยเริ่มจาก MESH กันดีกว่า
MESH มาจากการประกอบคำ อย่างตัว M คือ Media Literacy ชื่อมันก็สื่ออยู่แล้วว่าคือ ‘การรู้เท่าทันสื่อ’ ถ้าคุณจะรู้เท่าทันสื่อ ข้อมูลต้องอัปเดตล่าสุด เป็นกระแสหรือเป็นสิ่งที่เพิ่งเคยเจอ เราจะเปิดโอกาสให้เขาได้มานั่งถกเถียงกัน แต่ด้วยความที่เขายังเป็นเด็ก ยังไม่มีประสบการณ์ในแง่ของการให้เหตุผล ตรงนี้เราจะค่อยๆ สอนวิธีการถกเถียงให้กับเขา เช่น เราจะสอนให้เขาใช้ทฤษฎีหมวกหกใบ เป็นคอนเซปต์เพื่อให้คิดและมองได้รอบด้าน ให้เขาใช้สัญลักษณ์เป็นหมวกแต่ละสี หลังจากนั้นก็ยกตัวอย่างง่ายๆ
พอเขาใช้เป็น เราจะเริ่มโยนโจทย์ที่ท้าทาย เช่นการแข่งขันกีฬาที่ผ่านมา เราก็ชวนเขาคุยเรื่องมารยาทในการเชียร์กีฬา หมวกสีดำคืออะไร เด็กก็จะตอบว่าหมวกสีดำคือ ข้อเสีย ข้อควรระวัง ไม่ควรส่งเสียงดังขณะที่นักกีฬากำลังเสิร์ฟ พอเขาเริ่มเข้าใจไอเดียตรงนี้ เขาก็จะเริ่มพรั่งพรูออกมา ส่วนเราก็จดให้ทันความคิดเด็กแล้วกัน
E คือ Ethic เป็นวิชาที่หลายคนชอบ แต่เรามองว่ามันเป็นอะไรที่สอนยาก เพราะว่ามันไม่มีมาตรวัด จะบอกว่ามันเป็นศาสนาไปเลยมันก็ไม่ใช่สักทีเดียว แต่มันค่อนข้างเป็นเรื่องของมโนสำนึกร่วม วิธีการที่เราเห็นแล้วคิดว่ามันน่าจะดี คือ การพยายามจำลองสถานการณ์หรือกำหนดปัจจัยจำกัดอะไรบางอย่างในบางสถานการณ์ แล้วเราจะดูการตอบสนองของเด็ก ถ้าเราเห็นแล้วว่ามันไม่ได้ผิดร้ายแรง เราจะปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไป จุดนี้มันจะทำให้เขาเห็นว่าเขาสามารถพูดต่อรอง เจรจา ไกล่เกลี่ยได้ อีกสิ่งหนึ่งเราจะพยายามเน้นมากก็คือว่า เขาให้ความเห็นได้ แต่ก็ต้องฟังเป็นด้วย ไม่ใช่ฉันไม่ฟัง ฉันจะเถียงอย่างเดียว
S คือ Society หรือ Social เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเราตั้งใจให้เขามีความเป็น Global Citizen ด้วย ช่วงนี้ที่สอนอยู่เป็นธีมกีฬา เราโยงไปที่เรื่อง E-Sport มีการพูดถึงเรื่องมารยาทการถกเถียง หรือการใช้คำเชิงดูถูก เราสอนให้เด็กรู้ว่า นี่คือคำที่ไม่ควรใช้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ต้องเรียนรู้ การใช้คำพวกนี้มีความหมายว่าอะไร มันจะนำไปสู่อะไร แล้วเราก็จะเริ่มถามและสมมติสถานการณ์ในเชิงย้อนกลับว่า ถ้าเป็นตัวเราที่โดนแบบนี้ เราจะหัวร้อนไหม เราจะไม่พอใจหรือเปล่า มีคนมาเรียกเราด้วย N-Word ไม่ได้บอกว่าไม่ต้องเรียนหรอกวัฒนธรรมไทย เราก็สอนแต่สอนให้เขาอยู่ในระดับ Global Citizen ด้วย เพราะเราต้องเข้าใจว่าเด็กรุ่นนี้เขาไม่ได้ยึดติดหรืออยู่กับแค่ไหนบริบทสังคมไทยเท่านั้นแล้ว เขาไม่ใช่แค่เด็กเขตหนองจอก หรือจังหวัดนครปฐม แต่เขาคือพลเมืองโลก เขาไปอยู่ข้างนอกได้ แล้วเขาจะไม่เคอะเขิน รู้วิธีในการจัดการสิ่งที่ต้องเจอได้ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์กับเขาในอนาคต
แล้วก็ตัวสุดท้ายเป็นตัว H คือ History เราสอนประวัติศาสตร์โลก ตั้งใจจะอัปสเกลการเป็น Global Citizen ให้เขา เช่น โยงไปที่กำเนิดของกีฬาโอลิมปิก โดยถามเด็กๆ ว่า รู้ไหม สมัยก่อนนักกีฬาโอลิมปิกต้องลงแข่งขันโดยไม่ใส่เสื้อผ้านะ เด็กๆ ก็จะเริ่มตั้งคำถามว่า เขาไม่มองว่าโป๊เหรอครู เราก็ค่อยๆ อธิบายให้เขาฟังว่า เมื่อก่อนคนเขาเชื่อว่าการอวดโฉมร่างกายเป็นการบูชาเทพเจ้า เด็กก็เข้าใจว่า อ้อ เขามีมุมมองแบบนั้นด้วย มันจะทำให้เขาไม่เป็นคนด่วนตัดสินจากมุมมองหรือบริบทของตัวเองอย่างเดียว
การยกตัวอย่างแบบนี้ มีเด็กๆ ที่เข้าใจผิดบ้างไหม
ด้วยความที่เขาเป็นเด็ก เขาก็จะมีความคิดที่ฟุ้งมาก เราต้องค่อยๆ ตะล่อมเขา แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดมีใครคิดเลยเถิด โดยปกติแล้วเด็กๆ จะไม่คิด ถ้าไม่มีอะไรมากระตุ้น ถ้าเขาสะท้อนอะไรแบบนั้นมา เราในฐานะผู้สอนก็ต้องเก็บข้อมูล จากนั้นก็ปรึกษาทีมคุณครู แล้วเข้าไปแก้ปัญหาที่เป็นปมของเขา แต่ครูต้องไวต่อการตอบสนองของเด็ก ถ้ามีพฤติกรรมแหวกแนวไปในเชิงที่ดี ก็เก็บบันทึกไว้ว่าเป็นอะไรที่พิเศษ แต่ถ้าดูแหวกแนวไปในเชิงไม่ดี ทีมคุณครูก็จะปรึกษากัน เริ่มจับตาดูเด็กคนนี้ในมุมอื่น ถ้ายังมีแบบนี้อีก เราจะมานั่งประชุมกันว่าควรทำยังไง คุยกับผู้ปกครองก่อนไหม หรือจะหาวิธีค่อยๆ สอนเขาก่อน เราจะไม่เรียกเด็กเข้ามานั่ง ตัดสินพิพากษา แล้วประกาศให้คนอื่นรู้ เรามองว่าการทำแบบนี้คือ การประจาน ซึ่งไม่ดี แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีอะไรขนาดนั้น
แล้ววิชาภาษาเอสเปรันโตคืออะไร ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
เรารู้จักภาษาเอสเปรันโต (Esperanto) เพราะตอนที่เราไปเรียนต่อปริญญาโท มีความสงสัยว่าเพื่อนชาวเอเชียที่เราพบ ทำไมถึงเก่งภาษาแถบยุโรปจัง พอถามก็เลยรู้ว่าเขาเรียนภาษาเอสเปรันโต ความเจ๋งคือ มันเป็นภาษาที่เป็นส่วนเสริมให้คนที่เรียนเข้าใจภาษายุโรปได้เร็วขึ้น
เอสเปรันโตเป็นภาษาประดิษฐ์ ถูกสร้างโดยนายแพทย์ ซาเมนฮอฟ เขานำความเหมือนของหลักภาษาในกลุ่มยุโรปมา Wrap Up จนเกิดเป็น กฎ 16 ข้อ ถ้าถามว่าทำไมไม่เลือกภาษาที่เป็นตัวแทนของภาษาทางตะวันออก คือมันไม่มีคนที่ประดิษฐ์และรวมหลักการภาษาจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไว้ด้วยกัน แล้วอีกอย่างก็เห็นว่า ตอนนี้กระแสค่อนข้างเอนเอียงไปทางนี้เยอะแล้ว แต่คนที่เชื่อมโยงภาษาโซนยุโรปไม่ค่อยมีในประเทศไทย
เลยตั้งใจให้ภาษาเอสเปรันโตเป็นตัวแทนของการบูรณาการด้านภาษา เราอยากให้เด็กมองว่าภาษาคือ เครื่องมือที่เขาจะเอาไปควานหาความรู้ใน MESH และ STEAM เนื่องจากมันมีกฎตายตัว เด็กๆ เขาจะเริ่มเห็นลักษณะของการเปลี่ยนคุณสมบัติทางด้านหน่วยคำในภาษาแถบยุโรป เราแค่ต้องการปลูกฝังให้เขาคุ้นชิน ถ้าเขาคุ้นชินแล้วต่อไปเขามีโอกาสไปเรียนภาษาที่สามหรือสี่ ในอนาคตมันจะปิ๊งขึ้นมาในหัวเขาเลย แม้แต่รากศัพท์ก็จะได้มาด้วย
สมมติว่าเด็กคนหนึ่งเรียนภาษาเยอรมัน แล้วเขามีพื้นฐานภาษาเอสเปรันโต ถ้าเขาเจอคำว่า Hund (ฮุนด์) ในภาษาเยอรมัน เขาจะเดาได้โดยไม่มีใครมาบอกว่าคำนั้นหมายถึง น้องหมา เพราะในภาษาเอสเปรันโตคำนี้ อ่านว่า Hundo (ฮุนโด) จะเห็นได้ว่ามันมีความใกล้เคียงกัน หรือบางทีเขาไม่รู้หรอกว่าคำภาษาอังกฤษนั้นมีความหมายว่าอะไร แต่เขาก็กล้าที่จะเดา แล้วก็เดาถูกด้วย พอเราถามว่ารู้ได้ยังไง เขาบอกว่า เพราะมันเป็นคำที่ใกล้เคียงกับภาษาเอสเปรันโต
มีสิ่งที่ต้องสอนเยอะแยะมากมายขนาดนี้ เด็กๆ จำได้ทั้งหมดหรือไม่ เขาง่วงหรือเบื่อบ้างไหม
การเรียนภาษาเอสเปรันโต เราจะเน้นเป็นเกมให้เขาเล่น พยายามให้อินเทอร์แอคทีฟ ออกเสียง ทำแผ่นการ์ดเป็นคำ ทำเป็นกลุ่มให้เขาจัดเกมแข่งขันเล็กๆ น้อยๆ บ้าง ด้วยความที่ผู้เรียนยังเป็นเด็ก เราเลยพยายามออกแบบให้การเรียนมีการเคลื่อนไหว เพราะจากประสบการณ์ที่เราเคยเจอ เด็กคนไหนที่เขาไม่ได้อิน เรียนแล้วเขาจะหลับ ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เรียนแล้วไม่หลับคือต้องเคลื่อนไหว
อีกวิธีหนึ่งที่เราใช้คือ Spiral Learning คือ เติมใหม่แล้วทวนเก่า วนแบบนี้ เราไม่ได้คาดหวังว่าพอจบคาบนี้ เขาต้องได้เรื่องไวยากรณ์ คำนาม พอเขามีคำศัพท์ได้ประมาณหนึ่งก็ค่อยเริ่มบทสนทนา ถามให้เขาตอบ เราไม่ได้วางหลักสูตรเพื่อวัดผลเด็ก อย่างที่บอกไปแล้ว ว่าเราต้องการให้เด็กซึมซับ มันจะทำให้เขารู้สึกว่าการเรียนภาษานั้นสนุก เพราะมีอะไรที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นได้อีกเยอะ เขาก็จะยิ่งตระหนักว่าภาษาคือเครื่องมือที่ทำให้เขาต่อยอดไปรู้ความหมาย และไปทำอย่างอื่นต่อได้ เพราะในการเรียนภาษามันจะมีเรื่องของวัฒนธรรมด้วย อาจารย์หลายๆ ท่านที่สอนเราก็จะเน้นย้ำบ่อยๆ ว่า เวลาเธอเรียนภาษา เธออย่าเรียนแค่คำศัพท์และไวยากรณ์แล้วก็จบนะ ต้องเรียนวัฒนธรรม ผู้คน แนวคิด สิ่งนี้เราก็คอยแทรกให้เด็กๆ
ท้ายคาบทุกวิชาของเราจะสรุปบทเรียนให้กับเขา แล้วพอเริ่มคาบใหม่ เรื่องใหม่ เราก็เกริ่นให้เขารู้ว่าวันนี้เขาต้องเจอกับเรื่องอะไร จริงๆ เขาไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าชื่อวิชาคืออะไร แค่รู้สึกสนุกจนต้องเตรียมข้อมูลมาพูดคุยในวิชาเราก็พอ
เสียงตอบรับจากผู้ปกครองของเด็กๆ ที่เรียนวิชาบูรณาการ
มีผู้ปกครองมาเล่าให้ฟังว่า มีคนมาถามว่าลูกเขาเรียนจบที่ไหนมา อยากส่งลูกอีกคนมาเรียนบ้าง เพราะลูกเขาดูมีความมั่นใจ รู้จักให้เหตุผลได้อย่างรอบด้าน ซึ่งต่างจากเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน
มีเด็กที่เรียนจบออกไป ถูกกลืนไปกับระบบการศึกษาที่แตกต่างจากโรงเรียนเด็กสายรุ้งไหม เสียดายไหมถ้าเครื่องมือที่ติดให้เขาจะหายไป
มีเด็กบางคนที่บ่นให้ฟังเหมือนกัน โอเค เขาต้องปรับตัวบ้างเพื่อให้เข้ากับสังคมใหม่ที่ต้องเจอ แต่อย่างน้อยเขาก็ยังมีสิ่งยึดมั่นที่เราเคยสร้างไว้ให้ ก็แอบหวังว่าเขาจะดึงมันออกมาใช้ เติบโต ขยายขอบเขตตามวัยของเขา อีกอย่างคือ เขาจะรู้จักอดทนรอให้ผ่านตรงนี้ เพื่อไปสู่สิ่งที่เขาอยากทำหรืออยากเรียน