ในยุคที่เราคุ้นชินกับการเสพข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย โต้ตอบและแสดงความคิดเห็นกันได้เพียงปลายนิ้ว หลายคนอาจจินตนาการไม่ออกว่า ภูมิทัศน์และบทบาทสื่อไทยในสมัยแรกเริ่มนั้นเป็นอย่างไร
บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘ดรุโณวาท’ สิ่งพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมสื่อไทยในสมัยรัชกาลที่ 5
ว่ากันว่า นี่คือเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นแรกๆ ที่ช่วยเปิดประตูสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ ผ่านทัศนะของคนรุ่นใหม่ที่เป็นชนชั้นนำหัวก้าวหน้าในสมัยนั้น
จุดเริ่มต้นกิจการงานพิมพ์ในประเทศไทย
กิจการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย เริ่มขึ้นราวสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จากกลุ่มมิชชันนารีที่เข้ามาสอนศาสนา โดยนาย แดน บีช บลัดเลย์ (Dan Beach Bradley) หรือที่เรารู้จักกันในนามว่า ‘หมอบลัดเลย์’ ได้นำเครื่องพิมพ์จากสิงคโปร์เข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2378 และตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกชื่อว่า บางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder)
ต่อมาจึงเริ่มมีโรงพิมพ์ที่ตั้งโดยชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น เช่น โรงพิมพ์ครูสมิธ (Samuel John Smith) พิมพ์ จดหมายเหตุสยามสมัย ตีพิมพ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับบ้านเมือง และจดหมายร้องทุกข์ของประชาชน
“…หนังสือทิ้ง แลหนังสือไปลงพิมพ์บ้านหมออเมริกันทั้งสองอย่างนี้ จะเชื่อฟังเอาเปนจริงไม่ได้ เห็นเปนการพิรุธนัก เพราะใครทำอย่างนั้นเห็นชัดว่าจะว่าเขาว่าตรงๆ ไม่ได้ จะแกล้งนินทาว่าประจานเขาให้ความอึงๆ ไปเท่านั้นไม่เปนความจริง… ทางมีอย่างนี้ไม่เดินตามทาง กลับไปลงหนังสือพิมพ์บ้าง ทำหนังสือทิ้งบ้าง เห็นเปนพิรุธนัก ถึงจะว่าปักหน้าค่าชื่อฤากล่าวโทษบ้านเมืองต่างๆ จะให้ในหลวงทรงหยิบเรื่องในหนังสือพิมพ์ออกให้ชำระเอาเปนเหตุเปนผลนั้นไม่ได้ ใครไปทำอย่างนั้นเหนื่อยเปล่า ท่านผู้ที่ได้รับหนังสือไปอ่านแล้วอย่าเชื่อฟังเอาเปนจริง ให้เข้าใจดังประกาศนี้ เทอญ” (ข้อความจาก ‘ประกาศไม่ให้เชื่อข้อความที่มีผู้ทิ้งหนังสือไปลงหนังสือพิมพ์ ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4’)
กิจการงานพิมพ์และหนังสือพิมพ์ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากของสังคมสยามในสมัยนั้น และจากประกาศข้างต้น ทำให้เราได้เห็นทัศนะของส่วนกลางที่ไม่ยอมรับบทบาทของหนังสือพิมพ์ ในฐานะที่เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐและประชาชนมากนัก เพราะตามปกติราชการจะดำเนินกิจการบ้านเมืองตามที่เห็นสมควร และเป็น ‘ผู้สื่อสารทางเดียว’
อย่างไรก็ดี แม้สื่อสิ่งพิมพ์ยุคแรกที่ริเริ่มโดยชาวต่างชาติจะไม่ได้รับการยอมรับมากนัก แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก็ได้รับความสนใจในหมู่ชนชั้นนำสยามไม่น้อย ส่งอิทธิพลให้บรรดาเจ้านายที่พอมีทุนทรัพย์และการศึกษา เริ่มออกหนังสือพิมพ์ของตัวเองในเวลาต่อมา ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพิมพ์อักษรพิมพการขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง และเริ่มพิมพ์ ราชกิจจานุเบกษา มีลักษณะเป็นประกาศ ข้อบังคับต่างๆ ของทางราชการให้ราษฎรได้ทราบ
ในช่วงแรก ราชกิจจานุเบกษา ไม่มีกำหนดเผยแพร่ที่แน่นอน และเมื่อจัดทำได้เพียง 1 ปีก็ต้องล้มเลิกไป เพราะมีผู้อ่านในปริมาณน้อย จำกัดอยู่แค่ในวงเจ้านายและข้าราชการชั้นสูง แต่ก็ส่งอิทธิพลให้เกิด ราชกิจจานุเบกษารายสัปดาห์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนับเป็นวารสารทางราชการฉบับแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
หลังจากนั้นไม่นานมีสิ่งพิมพ์อีกฉบับหนึ่งที่สำคัญเกิดขึ้นมาคือ ดรุโณวาท โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผลิตผลของกลุ่มชนชั้นนำสยามหัวก้าวหน้าฉบับแรกๆ ที่ช่วยปูทางกิจการหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยให้เป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น
กำเนิด ‘ดรุโณวาท’
จากข้อความบนหัวหนังสือของดรุโณวาททุกฉบับ ที่ว่า “ดรุโณวาทเปนหนังสือจดหมายเหตุข่าวรวบรวมข่าวในกรุงแลต่างประเทศ แลหนังสือวิชาการต่างๆ” แสดงให้เห็นว่า ดรุโณวาทมีวัตถุประสงค์ที่จะต้องการนำเสนอข่าวสารเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มีความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่แยกส่วนออกมาจากหนังสือราชการ หรือราชกิจจานุเบกษา
“หนังสือราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานพิมพ์ในโรงพิมพ์ พระบรมมหาราชวัง แล้วจำหน่ายไปก่อนแก่พระบรมวงศานุวงษ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยและคนต่างๆ นั้น เปนคุณเปนประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก แต่ราชกิจจานุเบกษาคำนี้แปลว่า เพ่งดูตามราชการใหญ่น้อย ก็ซึ่งจะเอาเรื่องนอกราชการ คือ ข่าวต่างประเทศ แลข่าวบอกราคาสินค้าและการเลหลัง เปนต้น มาลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาของหลวงนั้นหาสมควรไม่ เพราะจะผิดจากคำแปลของราชกิจจานุเบกษานั้นไป ข้าพเจ้าจึงพร้อมใจกับพระองค์เจ้าพี่ พระองค์เจ้าน้อง แลข้าราชการที่ได้หาฤากัน คิดทำหนังสือพิมพ์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ให้ชื่อว่า ดรุโณวาท แปลว่าคำสอนของคนเด็ก คนหนุ่ม ให้เปนฉบับอนุโลมตามราชกิจจานุเบกษา ขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง…” (ดรุโณวาท เล่ม 1 นำเบอร์ 1 วันอังคาร เดือน 8 แรมเก้าค่ำ ปีจอ ฉอศก จุลศักราช 1236)
ดรุโณวาท ฉบับแรกตีพิมพ์วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 ออกเป็นรายสัปดาห์ทุกวันอังคาร ราคาปีละ 8 บาท ขายปลีกฉบับละ 1 เฟื้อง 1 สลึง โดยในเวลานั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ มีพระชนมายุเพียง 18 พรรษาเท่านั้น นับเป็นคนรุ่นใหม่ผู้มีแนวคิดก้าวหน้า ได้แถลงวัตถุประสงค์ของหนังสือดรุโณวาทไว้ว่า
“…หนังสือดรุโณวาทนี้ ข้าพเจ้าเหนว่า จะเปนเครื่องประดับปัญญาชักจูงให้ได้ความฉลาด แลจะให้รู้รอบคอบในสรรพกิจการงานทั้งปวง แลเปนทางที่จะได้รู้ผิดชอบหนักเบา บำรุงสติปัญญาคล้ายกับมีครู ผู้ทำนั้นคอยตักเตือนอยู่เปนนิจ… ข้าพเจ้ามีความอุส่าห์คิดจัดหนังสือเรื่องนี้ขึ้น ด้วยหวังจะให้เปนเครื่องบำรุงปัญญาแก่คนเด็กคนหนุ่มที่จะเจริญในภายน่า จะได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป” (ดรุโณวาท เล่ม 1 หน้า 2)
ในแง่โครงสร้างเนื้อหา ดรุโณวาทมีเนื้อหาที่ค่อนข้างหลากหลาย ประกอบด้วย แจ้งความให้ทราบ, ข่าวราชการ แบ่งเป็นข่าวพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และข่าวจากหน่วยงานราชการอื่นๆ, ข่าวต่างประเทศที่การแปลมาจากหนังสือพิมพ์ต่างชาติ, เนื้อหาในเชิงให้ความรู้ และโฆษณาการค้า
นอกจากนี้ยังมีความพยายามนำเสนอความรู้ใหม่ๆ แก่ผู้อ่านผ่านบทความแปล รับเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทัศนะอย่างตะวันตกมาเผยแพร่ ตั้งแต่กฏหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา, กษัตริย์เมืองยูไนเต็ดเสตดส์, การรถไฟของยอร์ช สตีเฟนสัน ฯลฯ
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือบทความแปลเรื่อง ว่าด้วยรูปพรรณโลกย ซึ่งเรียกตามภาษาอังกฤษว่ายีโยโลยี มีการอธิบายสัณฐานของโลกว่า “โลกนี้เป็นเหมือนอย่างดาวๆ ที่เรียกว่าแปลเนต, คือดาว พระเคราะห์, คือดาวเวียนรอบพระอาทิตย, รูปโลกยเปนคล้ายกับ ลูกซ่มไม่กลมแท้, ทิศเหนือ ทิศใต้ แบนอยู่เล็กน้อย…นักปราชญ์เขาแบ่งโลกยเปนสองชั้น, ในหนึ่ง เปลือกนอกหนึ่ง…” (ดรุโณวาท เล่ม 1 หน้า 11)
ในแง่รูปแบบการเขียน หลายบทตอนมีการใช้รูปแบบร้อยแก้วสมัยใหม่ เช่น การเล่าเรื่องในรูปแบบของคตินิทานจูงปัญญา เรื่องแรกสุดที่ตีพิมพ์ คือ ว่าด้วยนิทานเป็นการเล่นสนุก แลเป็นคติสดับสติปัญญา เขียนโดย ท่านขุนศรีทนนไชย มีลักษณะเป็นนิทานขนาดสั้นๆ 3 เรื่อง เขียนต่อกันไป แต่ละเรื่องมีคติสอนใจผู้อ่าน อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ นายจิตรกับนายใจ สนทนากัน ใช้ตัวละคร 2 คน แสดงความคิดเห็นของตนผ่านบทสนทนา ซึ่งเป็นรูปแบบการรับอิทธิพลงานเขียนจากตะวันตก และส่งผลต่อการเขียนร้อยแก้วของไทยในเวลาต่อมา
ส่วนภาพลายเส้นการ์ตูนบนหัวหนังสือ วาดเป็นรูปเด็กผมจุก นำมาร้อยเรียงเป็นตัวอักษรภาษาไทย อ่านได้ว่า ‘ดรุโณวาท’ นอกจากจะสะท้อนความหมายของคำได้อย่างน่าสนใจแล้ว ยังนับเป็นตัวการ์ตูนและอักษรประดิษฐ์ที่ปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ของคนไทยอีกด้วย
กระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่สมัย pre-modern
คุณูปการสำคัญอย่างหนึ่งของดรุโณวาท คือการแสดงให้เห็นถึงอำนาจและความสำคัญของหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกๆ เห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มชนชั้นนำหัวก้าวหน้า ซึ่งกล้าวิพากษ์วิจารณ์คนรุ่นเก่าที่มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา ดังเนื้อหาที่หยิบยกมาต่อไปนี้
เนื้อหาที่สนับสนุนการยกเลิกทาส ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นำเสนอโดยการแปลบทความจากหนังสือพิมพ์ฮ่องกงไทม์ ที่นำเสนอบทวิจารณ์ข่าวการเลิกทาสของไทย ความตอนหนึ่งว่า
“…ที่ได้แก้ไขธรรมเนียมเก่า, กลายเปนธรรมเนียมใหม่ เปนการแก้ไขที่สำคัญ …. จะได้เตือนสติเมืองจีนแลเมืองยี่ปุ่นทั้งสองประเทศ, จะได้ให้เขาตฤกตรองในการที่กรุงสยามเดินก้าวยาว, ถ้าแลเขาจะเอากรุงสยามซึ่งเปนเมืองใกล้เคียงเปนเยี่ยงอย่างไป, ควรจะเป็นประโยชน์แก่เขา…” (ดรุโณวาท เล่ม 1 หน้า 245-246)
เนื้อหาที่สนับสนุนความพยายามในการปรับเปลี่ยนกิจการบ้านเมืองของรัชกาลที่ 5 ความตอนหนึ่งที่ว่า “…เหตุเพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้, มีพระราชหฤไทยทรงคิดจัดการบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรมีความสุขความเจริญทั่วพระราชอาณาเขตร, …มีแต่จะทรงพระดำริห์ตรีตรองไปข้างสิ่งซึ่งจะเปนประโยชน์กับบ้านเมือง, คือให้มีพระราชบัญญัติตัดทอนกฎหมายแลธรรมเนียมเก่าๆ, ที่ยังไม่เปนยุติธรรมนั้นยกออกเสีย, ยกขึ้นแต่กฎหมายแลธรรมเนียมที่เปนยุติธรรม…” (ดรุโณวาท เล่ม 1 หน้า 248)
เนื้อหาเสียดสีกลุ่มสยามเก่า ปรากฏในเรื่องสั้น ความฝัน มี ใจความตอนหนึ่งว่า
“…ข้าพเจ้าจึงถามว่า, บ้านเรือนของท่านใหญ่โตมีเงินทองเป็นอันมากเดี๋ยวนี้ ท่านยังทำการสิ่งใดบ้าง, เขาจึงตอบว่ายังค้าขายอยู่ตามเดิม, ข้าพเจ้าจึงตอบว่าก็มั่งมีมากแล้ว, เหตุใดจึงโลภไม่หยุดบ้างเลย, เขาจึงตอบว่าควรทำก็เร่งทำเสีย, ข้าพเจ้าจึงตอบว่าถ้าทำหนักคิดหนักอย่างนี้, อายุศม์จะมิสั้นฤา เพราะเป็นกังวลร่ำไป ถ้าบริบูรณ์อยู่ดังนี้แล้ว, หยุดการทำเสียบ้างของเก่ากินจนตายก็ไม่หมด อายุศน์มียืนยาวไว้ดูการต่างๆ เล่นบ้างจะมิดีฤา, เขาก็ยังมิทันตอบก็ตกใจตื่นขึ้น…” (ดรุโณวาท เล่ม 1 หน้า 125-126)
เนื้อหาที่กล่าวถึงการทำงานที่รับเอาประโยชน์ของข้าราชการบางกลุ่ม เช่น การยกเลิกหวยและบ่อน ในเรื่องสั้น ว่าด้วยนายวิศกับนายบุจสนทนากัน ความว่า “…นี่เราฟังเขาว่าจะเลิกหวยเลิกบ่อน, มีมาสี่ห้าครั้งแล้ว, ยังไมเหนเปนแน่ลงได้, ถ้าแม้นว่าท่านเคาซิลทั้งปวง, มีความวิตกด้วยการเลิกหวยเลิกบ่อน ดังพระราชประสงค์ทุกๆ ท่านแล้ว, ป่านนี้พวกจีนขุนพัดที่ไปทำการไร่การสวนนั้น, จะได้ผลไม้แลผักมาขายเตมท้องตลาดเสียอีก, นี้ข้าอยู่ด้วยท่านเคาน์ซิลยังไม่เหนพร้อมกัน, นายบุจจึ่งว่า ทำไมท่านเคาน์ซิลจึ่งมาหนักหน่วงเอาไว้ทำอะไรที่ไหน, ฤาว่าท่านมีประโยชน์อยู่มั่งดอกกระมัง, ท่านจึ่งไม่หยากจะให้เลิก, เราก็ตรองไม่เหน, ท่านจะกล้าฝ่าคำสาลไปเจียวฤา นายวิศจึ่งว่าข้อนี้เราไม่รู้ด้วย, รู้อยู่แต่ว่าในหลวงหยากจะให้เลิกถอนการเล่นพนันเสียให้สิ้นเชิง…”(ดรุโณวาท เล่ม 1 หน้า 247-248)
อย่างไรก็ดี ดรุโณวาทดำเนินการได้เพียง 1 ปีก็ยุติลง มีผู้วิเคราะห์ว่าอาจมีสาเหตุหลักจากการโดนสั่งปิด เนื่องจากลงเรื่องสั้นที่มีเนื้อหากระทบกระเทียบบุคคลสำคัญ จนทำให้เกิดคดีความฟ้องร้อง
ภายหลังการปิดตัวลงไม่นาน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเคยช่วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ในการจัดทำดรุโณวาท ได้ออกหนังสือชื่อ Court ข่าวราชการ อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่สืบทอดมรดกมาจากดรุโณวาทก็เป็นได้
บทบาทของดรุโณวาท ยังได้ส่งอิทธิพลต่อภาคประชาชนให้มีโอกาสได้รับความรู้และข่าวสารมากขึ้น และมีส่วนขับเคลื่อนให้วงการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร มีความคึกคักและเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มีหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทั้งที่เป็นของต่างชาติและของคนไทย รวมแล้วกว่า 50 ฉบับ และเมื่อถึงยุคสมัยของรัชกาลที่ 6 มีหนังสือพิมพ์และนิตยสารหัวใหม่ ทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ รวมแล้วราว 130 ฉบับ
ผู้ที่สนใจ สามารถอ่าน ‘ดรุโณวาท’ ฉบับเต็มในรูปแบบสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ ‘ขุมทรัพย์ของแผ่นดิน’ จัดทำโดย TK Park ได้ที่นี่
ที่มา
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์, 2547. หน้า 580.
ประภา สังข์บุญลือ. วิเคราะห์หนังสือพิมพ์ดรุโณวาท, ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. (2522). [Online]
แผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.). อุบัติการณ์นิตยสารเด็กในเมืองไทย-ในโลก. [Online]
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์. ดรุโณวาท. [Online]
พระภิรมณ์ เอี่ยมธรรม. บทบาททางการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทย (2475-2488). [Online]
สมิทธ์ ถนอมศาสนะ. กำเนิด “เรื่องอ่านร้อยแก้วสมัยใหม่”. [Online]