ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม 

323 views
4 mins
April 1, 2025

         ไม่ยากที่จะหาคนเห็นด้วยว่า การอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญของการบ่มเพาะความคิด แต่ไม่ง่ายเท่าไรหากจะหาคนมาใช้เวลาอ่านหนังสือให้เด็กเล็กที่ยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 

         ซ้ำไปกว่านั้น เราอาจทึกทักว่าพวกเขายังเด็กเกินไปไม่น่าจะเข้าใจเนื้อหาเหล่านั้น ทั้งที่งานวิจัยต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นว่าเด็กปฐมวัย หรือเด็กในช่วงวัย 0-7 ปี เป็น ‘วัยทอง’ ของชีวิต ในความหมายที่ว่านี่คือช่วงเวลาสำคัญที่จะสร้างรากฐานของพัฒนาการเด็กให้พร้อมต่อการเรียนรู้ เติบโตต่อไปอย่างมีคุณภาพ 

         ห้องสมุดดรุณบรรณาลัย ห้องสมุดเด็กปฐมวัยแห่งแรกของประเทศไทย ในชุมชนพหุวัฒนธรรมย่านเจริญกรุง ก่อตั้งขึ้นมาด้วยสองความเชื่อว่าวัย 0-7 ปี คือช่วงเวลาสำคัญที่จะปลูกฝังความคิด ความอ่าน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการที่จะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต และนี่ไม่ใช่ภารกิจของใครคนใดคนหนึ่ง หากเป็นพันธกิจของทั้งครอบครัว ชุมชน และสังคมที่ต้องร่วมมือกันในการทำให้เด็ก พลเมืองคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อม และการเตรียมพร้อมที่ดี 

ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม
ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม
ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม

‘Bookstart’ The Starting Point  

         สุธาทิพ ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการห้องดรุณบรรณาลัย เท้าความถึงจุดเริ่มต้นของดรุณบรรณาลัยว่าในปี 2547 มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น ที่ส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านหนังสือภาพให้ลูกฟังตั้งแต่อายุ 6 เดือน ต่อเนื่องจนถึงอายุ 7 ปี อีกทั้งสังคมโดยรวมยังมีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรง ห้องสมุดสาธารณะไม่ได้มีแค่หนังสือผู้ใหญ่เท่านั้น หากยังมีหนังสือเด็กด้วยเช่นกัน 

         ด้วยแรงบันดาลใจนี้ มูลนิธิฯ จึงได้ริเริ่มโครงการหนังสือเล่มแรก (Bookstart) ตามภารกิจ ‘นำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ’ ของมูลนิธิฯ ด้วยมองเห็นความสำคัญว่าการอ่านหนังสือเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ใกล้ชิด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่จะช่วยปูรากฐานการเติบโตต่อไปในชีวิต 

         มูลนิธิฯ จึงได้เริ่มต้นด้วยการจัดหางบประมาณซื้อหนังสือให้เด็กกลุ่มเป้าหมายทุกปี แต่ความต้องการมากเกินกว่าที่จะจัดหาได้ อีกทั้งผู้ปกครองเองก็ต้องคอยซื้อหนังสือใหม่ ให้เหมาะสมกับความต้องการเด็กที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัย เพราะประเทศไทยยังไม่มีหนังสือเด็ก เมื่อเล็งเห็นความต้องการที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็มนี้ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กจึงได้ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2557 ด้วยความร่วมมือกับสถาบันราชานุกูล การสนับสนุนด้านงบประมาณจาก มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการออกแบบสถานที่โดย บริษัท แปลน อาคิเต็ค จำกัด ที่แปลงบ้านโบราณอายุร่วมร้อยปีในชุมชนวัดม่วงแค ย่านเจริญกรุง ให้กลายมาเป็นห้องสมุดปฐมวัยสีเขียวสดใสที่สามารถจัดกิจกรรมได้หลากหลายเช่นที่เห็นในปัจจุบันนี้ 

ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม

‘อ่านกับเด็ก’ ช่วงเวลาแสนสั้นประโยชน์ยืนยาว 

         “ไม่มีคำว่าเด็กเกินไปสำหรับการอ่าน เด็กเล็กก็อ่านจากภาพได้ เขาฟังเสียงที่เราอ่าน คอยดูภาพตาม สมองเขาเติบโตได้เยอะมากในช่วงวัยนี้ เขาจะค่อยๆ เชื่อมโยงสิ่งที่ได้ฟังและเห็นเข้าด้วยกัน สมองเริ่มแปลความหมายเอง การอ่านหนังสือร่วมกับเด็กจึงเป็นทั้งการสร้างจินตนาการ และสานความสัมพันธ์ สร้างความมั่นคงทั้งความคิดและจิตใจ” 

         งานวิจัยจำนวนมาก เช่น งานชิ้นสำคัญของ เจมส์ เจ. เฮคแมน (James J. Heckman) เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนามนุษย์ ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยไม่ได้ส่งผลดีแค่ต่อเด็กเท่านั้น หากสังคมก็ได้รับประโยชน์จากการลงทุนนี้เช่นกัน และเมื่อมองในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วยังนับว่าเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงถึงเจ็ดเท่า เรียกได้ว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยทั้งคุ้มค่าและอาจเรียกได้ว่าเป็นแนวทางป้องกัน (preventive) ที่ได้ผลดีกว่าการแก้ไขปัญหา (curative) ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ความคิดความอ่านบกพร่อง หรือขาดความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ใกล้ตัว

“ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าพ่อแม่เข้าใจว่า การอ่านหนังสือกับลูกวัยนี้สำคัญแค่ไหน เขาจะให้เวลากับมัน เขาจะต้องการหนังสือดีๆ ที่ก็จะผลักดันตลาดให้ผลิตหนังสือเด็กคุณภาพมากขึ้น ถ้ามีความต้องการ ข้อเสนอของเราให้มีห้องสมุดเด็กตามชุมชนก็จะเป็นไปได้มากขึ้น มันจะหนุนกันทั้งระบบเลย และสุดท้ายทั้งเด็ก ทั้งพ่อแม่ ทั้งสังคมก็ได้ประโยชน์กันหมด”

 

         แม้พันธกิจดั้งเดิมของมูลนิธิฯ ในการ ‘นำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ’ เรียกได้ว่า สำเร็จลุล่วงไปอีกขั้นกับการจัดตั้งห้องสมุดดรุณบรรณณาลัย สุธาทิพพบว่า การทำให้เด็กปฐมวัยเข้าถึงหนังสือได้ไม่ใช่แค่เพียงการจัดตั้งห้องสมุดเชิงกายภาพเท่านั้น การสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านในเด็กปฐมวัยก็สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากเด็กปฐมวัยยังต้องอาศัยผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้นั่นเอง 

         เมื่อเห็นว่าจำนวนผู้ใช้บริการยังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะผู้คนในชุมชนที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลัก เนื่องจากการอ่านหนังสือกับเด็กเล็กต้องใช้เวลาและความใกล้ชิด ผู้ใหญ่จึงมักคิดว่าไว้ให้เด็กโต แล้วค่อยอ่านก็ได้ ซึ่งทั้งน่าเสียดายและเสียโอกาส เพราะช่วงเวลาทองของชีวิตนี้ก็ย้อนกลับมาไม่ได้ ห้องสมุดจึงปรับวิธีการใหม่ทั้งทำงานเชิงรับหรือทำห้องสมุดให้มีคุณภาพต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการทำงานเชิงรุกด้วย เช่น การจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดพ่อแม่ ผู้ปกครองให้เข้ามาใช้บริการ และการสื่อสารความตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของการอ่านในกลุ่มเด็กปฐมวัย  

         “คนมักคิดว่าเด็กยังไม่รู้เรื่องอะไร แต่ตรงกันข้ามเลย เด็กแรกเกิดถึงสามปีแรกมีความรู้สึก และความจำสูงมาก เราใส่อะไรลงไป เขาซึมซับสิ่งนั้น เราใกล้ชิดกับเขา จิตใจเขาก็จะแข็งแรง เป็นยาขนานเอกช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ อย่างมาก” 

ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม

ห้องสมุดไม่ใช่แค่รวบรวม แต่เลือกสรร 

         ปัจจุบันห้องสมุดดรุณบรรณาลัยมีสมาชิกเกือบสองพันคน และหนังสือเกือบหนึ่งหมื่นเล่ม แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าปริมาณคือ คุณภาพของหนังสือที่ห้องสมุดดรุณบรรณาลัยคัดเลือกทุกเล่ม  

         “ห้องสมุดไม่ได้ทำหน้าที่แค่รวบรวมหนังสือ แต่เราคัดสรรหนังสือ คณะกรรมการเราเลือกกันจริงจังมาก ทุกเล่มที่อยู่ในห้องสมุดต้องผ่านตากรรมการทั้งหมด เพราะนี่คือสิ่งที่เด็กๆ จะรับเข้าไป เราต้องใส่ใจกับเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆ” 

         นอกจากเนื้อหาและภาพประกอบที่เป็นส่วนสำคัญของหนังสือภาพสำหรับเด็กแล้ว กรรมการห้องสมุดดรุณบรรณาลัยยังพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อเด็กเล็กมากที่สุด เช่น เลือกหนังสือที่ไม่ได้มีหลายภาษาในหน้าเดียว ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดของคนส่วนใหญ่ว่ายิ่งมีหลายภาษายิ่งคุ้ม แต่สำหรับเด็กแล้วการมีตัวหนังสือน้อย เนื้อหาชัดเจน ทำให้เด็กโฟกัสมากกว่า หนังสือแต่ละเล่มจึงควรแยกภาษาใดภาษาหนึ่งไปเลย เนื้อหาก็ต้องชัดเจน ไม่ยุยง ไม่สรุปลงท้าย ‘สอนให้รู้ว่า’ แต่ให้เด็กตีความเอง ผู้ใหญ่ที่ร่วมอ่านด้วยมีส่วนช่วยอย่างมากในการพูดคุยกับเด็กต่อว่าเขารู้สึกอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เขาได้พัฒนาการความคิดความอ่านของตนเองไปในตัว  

         เมื่อถามว่าหลังจากคัดเลือกหนังสือมาเป็นหมื่นเล่ม หนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยประเภทไหนที่ยังมีน้อยต่อความต้องการ สุธาทิพตอบอย่างรวดเร็วว่า 

         “หนังสือที่พาเขาออกไปจากตัวเอง” 

         กล่าวคือ หนังสือที่เนื้อหาว่าด้วยธรรมชาติ สรรพชีวิตรอบตัว สิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องบอก ไม่ต้องสอนเรื่องการเคารพชีวิตอื่น เห็นอกเห็นใจ หรือสนใจใคร่รู้ เพราะเนื้อหาในหนังสือภาพที่เปิดประตูสู่โลกอื่นๆ ฉายให้เห็นชีวิตอื่นๆ จะพาเขาออกไปพ้นจากตัวเขาเอง และทำให้เขาสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยตนเอง 

         “หนังสือเด็กดูเรียบง่าย แต่รายละเอียดเยอะมาก นักเขียน นักวาด คนทำหนังสือเด็กเลยมีไม่กี่คน แต่เราต้องการคนทำงานด้านนี้อีกมาก ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจถึงความสำคัญและเกิดความต้องการมันก็จะกระตุ้นให้มีคนสร้างสรรค์งานมากขึ้น และถ้าคนสร้างสรรค์งานได้น่าสนใจขึ้น ก็จะกระตุ้นให้ผู้คนสนใจหนังสือเด็กมากขึ้น มันต้องช่วยกันทั้งระบบเลย” 

         สุธาทิพกล่าวปิดท้ายถึงการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ทั้งจากในบ้าน ชุมชน รัฐ เช่นที่ภาษิตของแอฟริกันได้กล่าวเอาไว้ว่า  

         “It takes a village to raise a child” 

         เด็กคนหนึ่งจะเติบโตได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกคน

ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม
ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม
ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม
ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม
ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม
ดรุณบรรณาลัย โลกการอ่านของเด็กปฐมวัยในชุมชนพหุวัฒนธรรม


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก