ฤทธิ์เดชนักเขียนไทยที่ชื่อ ‘แดนอรัญ แสงทอง’

1,531 views
7 mins
July 2, 2024

          วัย 65 ปี ในทางกายภาพของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ ไม่ได้แข็งแรงเหมือนเดิม ต้องกินยาและควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดอันเนื่องจากการใช้สมองกับร่างกายอย่างหนักแต่วัยหนุ่ม เพื่อเคี่ยวกรำเรื่องเล่าหลากหลายรสชาติที่มีรูปเงาชีวิตของ ‘คนเมืองเพชร’ ทั้งร่องรอยในตำนานจนถึงปัจจุบันให้นักอ่านได้กำซาบทั้ง ‘รสคำ’ และ ‘รสความ’ ที่เขาปรุงอย่างสุดฝีมือ จนถูกยอมรับในโลกวรรณกรรมระดับนานาชาติ

          เป็นเวลาเกือบสามทศวรรษเต็มที่นักเขียนผู้มีรกรากจากเมืองเพชรบุรีได้สร้างโลกนักอ่านข้ามเส้นพรมแดนจากประเทศไทยสู่โลกตะวันตก เมื่อนวนิยาย เงาสีขาว ถูกปฏิเสธรางวัลวรรณกรรมภายในประเทศบ้านเกิด ก่อนถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสเป็นลำดับแรกโดยใช้ชื่อจริง เสน่ห์ สังข์สุข (Saneh Sangsuk) กำกับไว้แทนนามปากกา  หลังจากนั้นชื่อหนังสือและชื่อของเขาก็ไปปรากฏในรูปเล่มภาษาอังกฤษ สเปน (คาตาลัน) โปรตุเกส และกรีก กระทั่งเข้าไปอยู่ในหัวใจนักอ่านในยุโรป ก่อนที่อีกหลายผลงานถูกทยอยแปลต่อมา อาทิ เรื่องสั้นขนาดยาว อสรพิษ และเรื่องอื่นๆ นวนิยาย เงาสีขาว หรืออีกเล่มที่โด่งดังในแวดวงนักอ่านอย่าง เจ้าการะเกด หรือเรื่องสั้นอย่าง A Poem Should Not Mean But Be จนแดนอรัญถูกเชิดชูเกียรติจากกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสารของประเทศฝรั่งเศส ให้ประดับเหรียญอิสริยาภรณ์ศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chevalier de l’Ordre des Arts et des Lettres)

          ที่กล่าวไว้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องราวที่ทำให้นักอ่านไทยเริ่มทำความรู้จักนักเขียนผู้มีแรงบันดาลใจจากหนังสือ ฟ้าเมืองไทย และ ฟ้าเมืองทอง หรือ ชาวกรุง ในวงกว้าง และไม่ใช่เพราะเขาได้รับรางวัลทางวรรณกรรมในประเทศด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะคอลัมน์หน้ากีฬาของหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของผู้จัดการทีมฟุตบอลชื่อก้องในต้นทศวรรษที่ 2000 อย่าง ‘โชเซ่ มูรินโญ่’ ถึงกิจกรรมยามว่างว่าเขาอ่านหนังสืออะไร เมื่อผู้จัดการทีมเจ้าของฉายา ‘เดอะ สเปเชียล วัน’ บอกว่าเขาอ่านหนังสือวรรณกรรมเรื่อง อสรพิษ และเรื่องอื่นๆ ของ ‘เสน่ห์ สังข์สุข’ ซึ่งเป็นนักเขียนคนโปรด นั่นทำให้นักอ่านไทยเริ่มเปิดใจทำความรู้จักกับนักเขียนผู้มีหนวดเครารกครึ้มที่ซุ่มทำงานหนักตลอดมา

ฤทธิ์เดชนักเขียนไทยที่ชื่อ ‘แดนอรัญ แสงทอง’

          หากพูดถึงแดนอรัญ แสงทอง ก็ต้องพูดถึง ‘มาร์แซล บารังส์’ นักแปลชาวฝรั่งเศสผู้ล่วงลับซึ่งเป็นดั่งสะพานให้นักเขียนไทยหลายคนเป็นที่รู้จักจากนักอ่านแดนน้ำหอม เช่น ชาติ กอบจิตติ ศิลา โคมฉาย ฯลฯ และด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้เขาตัดสินใจเลือกหยิบงานนวนิยายของแดนอรัญ ซึ่งถือเป็นงานที่เพิ่งตีพิมพ์ในขณะนั้นไปแปลด้วย

          “คุณมาร์แซลทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สมัยที่ยังเป็นเครือข่ายสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ มีหนังสือพิมพ์ มีนิตยสารหลายฉบับ คุณมาร์แซลก็ทำงานอยู่ที่นั่น พอช่วงหนึ่งคุณมาร์แซลหันมาตีพิมพ์หนังสือ แกก็จะอ่านหนังสือภาษาไทยนี่แหละ เพื่อคัดเลือก ภายใต้ชื่อโครงการ ‘The 20 best novels of Thailand’ คือคัดเลือกนวนิยายไทยที่ดีที่สุด 20 เรื่อง แกคัดได้ยังไม่ครบก็พอดีกับที่ผมตีพิมพ์เงาสีขาวไป

          ช่วงนั้นประมาณปี 2535-2536 ตีพิมพ์ได้ยี่สิบวัน คือนวนิยายบางเรื่องเขียนมาตั้งแต่สมัยนานนมกาเลแล้ว อย่างบ้านทรายทอง หรือละครแห่งชีวิต พวกนี้ตีพิมพ์มานาน แต่เงาสีขาวเพิ่งตีพิมพ์ได้ยี่สิบวัน คุณมาร์แซลก็คัดไปติดยี่สิบอันดับด้วย (หัวเราะ) แล้วก็บอกผมว่ายินดีด้วยครับ ผมยอมทะเลาะกับทุกคนที่ไม่เห็นด้วย (หัวเราะ)”

          แดนอรัญเล่าเบื้องหลังจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของเขากับชาวฝรั่งเศสผู้หยิบงานวรรณกรรมไทยไปแปลเป็นภาษาตนเอง จากจุดนั้นก็เปิดประตูให้ชาวยุโรปภาษาอื่นได้รู้จักนักเขียนชื่อเสน่ห์ สังข์สุข

          “ก็ไม่ใช่ว่าคุณมาร์แซล บารังส์ แกชอบงานของผมเป็นการส่วนตัวนะ และก็ไม่ได้ชอบพอตัวผมเป็นการส่วนตัว เรามีทัศนะความเห็นที่ไม่ตรงกันหลายๆ อย่าง สิ่งที่คุณมาร์แซลต้องการ บางทีผมก็ไม่ได้ตอบสนองแกนะ แกจะบอกว่าหนังสือควรจะเป็นอย่างนี้ เรื่องควรจะเป็นอย่างนี้ แต่ผมก็ไม่ได้ตอบสนองแก ผมก็ทำไปตามความคิดตามนิสัยของผม”

ฤทธิ์เดชนักเขียนไทยที่ชื่อ ‘แดนอรัญ แสงทอง’

          ความคิดขัดแย้งกันระหว่างมาร์แซล บารังส์ กับนักเขียนเมืองเพชรแสดงออกชัดเจนมาก เมื่อคราวที่นวนิยาย เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง (2555) ซึ่งแดนอรัญนำเรื่องเล่าของนางกีสาโคตมี ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกมาเล่าใหม่ในรูปแบบของตัวเองเป็นผลงานศิลปะเชิงโลกุตรศิลป์ แต่มาร์แซลกลับมองว่าเขากำลังเผยแพร่ศาสนา

          “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่งเป็นหนังสืออิงธรรมะ เป็นประวัติภิกษุณี พอคุณมาร์แซลเห็นต้นฉบับแกก็บอกไอ้หมอนี่พยายามเผยแพร่ศาสนาพุทธ ปกติเวลาฝรั่งจะครอบงำไทยเขาก็เอาศาสนาของเขามาครอบงำ นี่เป็นเรื่องปกติที่เขาเอาศาสนาของเขามาเผยแพร่ ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์แล้ว ฝรั่งที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีโครงการจะเปลี่ยนให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตเป็นศาสนาแบบฝรั่งเศสด้วยซ้ำไป ทีนี้เมื่อผมต่อสู้ด้วยเรื่องราวของพุทธศาสนา คุณมาร์แซลแกก็เหมือนไหวตัวทันว่าผมจะออกหมัดแบบไหน แต่ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แค่บอกว่าลองอ่านดู คุณมาร์แซลแกก็อ่าน พออ่านแล้วแกก็บ่นแกบอกช่วงหนึ่งย่อหน้าแรก สองย่อหน้าแรก สำบัดสำนวนมันโอ๊ย ไม่ไหว”

          สำหรับนวนิยายเดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง แดนอรัญบอกว่าพยายามสร้างรูปแบบการเขียนให้พ้นไปจากวรรณกรรมอิงธรรมะ ใช้กลวิธีในการบอกเล่าเรื่องราวให้น่าติดตาม น่าตื่นเต้น และสามารถอ่านจบได้ภายใน 45 นาที ซึ่งนวนิยายเล่มนี้ก็เข้าชิงรางวัลซีไรต์ด้วย แต่ไม่ได้รางวัล ขณะเดียวกันแม้จะขัดแย้งกันทางความคิดแต่มาร์แซล บารังส์ก็แปลงานเล่มนี้ให้สำนักพิมพ์เลอ เซย (Editions du Seuil) ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เดียวกันกับที่พิมพ์งานของโม่ เหยียน (Mo Yan) นักเขียนชาวจีนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 2012

          ประโยคที่ มาร์แซล บารังส์ พูดแนะนำหนังสือเล่มนี้กับบรรณาธิการสำนักพิมพ์คือ “โม่ เหยียน เป็นนักเขียนปากหมา ผมจะพูดยังไงดีไม่ให้น่าเกลียด ไอ้นี่ปากหมาพอๆ กับโม่ เหยียนเลย” และภายหลังจากที่สำนักพิมพ์เลอ เซย ตีพิมพ์นวนิยายเล่มนี้ไม่นาน มาร์แซล บารังส์ ก็เสียชีวิต

          “ที่พูดนี่เราพูดเรื่องฤทธิ์เดชของนักเขียนไทย ผมสู้ ผมทำงานหนัก ผมไม่ยอมให้คนอื่นมาบอกว่าต้องทำอย่างนั้นสิ ฝรั่งถึงจะอ่าน อย่างเงาสีขาว กูจะเขียนอย่างนี้แล้วมันเป็นอะไรล่ะ มันเป็นเรื่องของในวัยอย่างนี้ของกู ยุคสมัยของกู กูจะเขียนอย่างนี้ ผมก็เขียนออกมาเป็นนิยายที่ก้าวร้าวมาก ไม่ได้มองเป้าหมายว่ามันจะเป็นยังไง ไปคิดอย่างนั้นไม่ได้ จะคิดว่าฝรั่งชอบหรือไม่ชอบ ผมยิ่งไม่สนใจ และคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่จะไปเดาว่าฝรั่งจะชอบหรือไม่ชอบอะไร”

          เงาสะท้อนตัวตนของเขา ไม่ว่าจะในฐานะแดนอรัญ แสงทอง หรือเสน่ห์ สังข์สุข คือความเป็นขบถที่แสดงผ่านทั้งในตัวหนังสือหรือแม้แต่ทัศนคติ นั่นหมายถึงนักอ่านสัญชาติใดก็สัมผัสได้ เขาจึงมีอีกฉายาที่ถูกเรียกแวดวงนักอ่านและนักวิจารณ์คือ ‘ขบถวรรณกรรม’ แต่นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์จากรวมเรื่องสั้นชุด ‘อสรพิษและเรื่องอื่นๆ’ บอกว่า นั่นคือฤทธิ์เดชนักเขียนไทย และเชื่อมั่นว่า งานของเขาแพร่ขยายเกินกว่าที่คาดคิด โดยถูกละเมิดลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในสตูดิโอของฮอลลีวูดเสียด้วยซ้ำ

          “มึงจะชอบหรือไม่ชอบก็เป็นเรื่องของมึง แต่สิ่งที่กูเขียนมันจะทำหน้าที่ของมัน นิยายอย่าง เจ้าการะเกด เรื่องนี้มันแปลเป็นภาษาอิตาเลียน เป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วต่อมามันมีหนังเรื่องหนึ่งชื่อ After Earth (ชื่อไทย สยองโลกร้างปี-ผู้เขียน) ที่วิลล์ สมิธเล่นกับลูกชาย โลกในยุคนั้นน่ะ คือป่าแพรกหนามแดงเลย มันอ่านเรื่องนี้แล้วเอาไปปรับบท บทของไอ้วิลล์ สมิธก็คือบทของตาเฒ่าจันผา บทของลูกชายมันคือบทของไอ้ควันเทียน คุณดูสิ มันเอามาหลอกคนไทย ติดคัตเอาต์ใหญ่ที่กรุงเทพฯ เผอิญผมไปกรุงเทพฯ พอดี ตกใจฉิบหายเลย จะไปฟ้องร้องใครก็ไม่ได้ แต่นี่คือแรงกระทบ คนอ่านหนังสือจริงๆ คนเขียนหนังสือจริงๆ จะรู้ว่า After Earth ลอกเจ้าการะเกดไป แล้วก็เอามาฉายหลอกคนไทยด้วยซ้ำ มีตัวละครหลักอีกตัวคือไอ้พี่ชายของไอ้ควันเทียนในเรื่องที่โดนเสือฆ่าตาย ในเรื่อง After Earth ตัวสัตว์ประหลาดมันฆ่าพี่สาวของไอ้ควันเทียนด้วยนะ แม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ มันยังเอาไปขยายเลย นี่คือสิ่งที่เป็นแรงกระทบที่ออกไปไกลถึงระดับนู้น”

          “ห่าเอ้ย! ใครเชี่ยวชาญกฎหมายลิขสิทธิ์ไหมวะ ฟ้องแม่งเอาตังค์มาให้ผมใช้มั่ง นี่พูดจริงนะ”

ฤทธิ์เดชนักเขียนไทยที่ชื่อ ‘แดนอรัญ แสงทอง’

          นอกจากเขียนหนังสือ แต่น้อยคนจะรู้ว่าแท้จริงแล้วทักษะภาษาอังกฤษของเขาอยู่ในระดับดีมาก แดนอรัญยังเคยทำสำนักพิมพ์เล็กๆ ตีพิมพ์ผลงานแปลหนังสือของนักเขียนที่มีชื่อหลายเล่ม เช่น ออสการ์ ไวลด์, รพินทรนาถ ฐากูร ฯลฯ เพราะเขาสำเร็จการศึกษาด้านวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เคยทำงานเป็นล่ามให้กับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USAID (United States Agency for International Development) แต่ทักษะภาษาอังกฤษนั้น เขาบอกว่า เริ่มต้นตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย

          “ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี ตอนนั้นผมเป็นเด็กวัดยาง เพชรบุรี แล้วเกเร ก็เลยถูกส่งตัวไปเรียนมัธยมปลายที่ปัตตานี เพราะพี่ชายเป็นทหารที่โน่น ผมไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดนะ แต่ไม่มีเด็กๆ ขยันเรียน เพราะคนที่เอาใจใส่ต่อการเรียน เขาไม่ไปเรียนโรงเรียนนั้นแล้ว ที่ปัตตานีมีโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลูกผู้ลากมากดีเขาก็ไปเรียนที่นั่นกัน ส่วนโรงเรียนนี้ตอนนั้นก็เหมือนโรงเรียนโจร ซึ่งก็เหมาะกับผม (หัวเราะ) พอชั่วโมงภาษาอังกฤษ ครูแกก็บ่นว่าพวกเธอไม่เอาใจใส่ พวกเธอไม่ขยัน ผมเห็นในกระเป๋าของครูมีนิตยสารฟ้าเมืองไทย ทีนี้ในชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษเขาจะแจกชีทเป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ผมแปลเรื่องเล่าสั้นๆ จากในชีทพวกนี้ไปลงที่ฟ้าเมืองไทย เพื่อให้ครูเงียบซะบ้าง แต่ก็ใช้เวลานานน่าดูกว่าเรื่องจะได้ลง

          “หลังจากนั้นผมมาเรียนหนังสือต่อที่ มศว ประสานมิตร จนเรียนจบแล้วเรื่องเพิ่งได้ลง คือเรื่องของพี่อาจินต์แกหมดสต็อกพอดี เรื่องถึงได้ลง (หัวเราะ) พี่อาจินต์เป็น บ.ก.ที่เข้มงวดมาก อย่าไปนึกว่าเขียนได้ง่ายๆ สมัยนั้นมี บ.ก. อย่างอาจินต์ ปัญจพรรค์เฝ้าอยู่ว่าคุณจะผ่านประตูนี้่ได้ไหม นี่พูดกันในภาษาที่ให้เข้าใจง่ายๆ อย่าไปนึกนะว่าอวดวิเศษแล้วผ่าน เรื่องที่ตีพิมพ์ในฟ้าเมืองไทยได้ หรือตีพิมพ์ในฟ้าเมืองทองได้ หรืออย่างสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์นี่อย่าไปนึกนะว่าเรื่องของคุณจะได้ลงง่ายๆ ยิ่งสมัยที่ อุษณา เพลิงธรรม คุมอยู่ ประมูล อุณหธูป นี่เฮี้ยบสุดๆ แล้ว คุณเขียนเรื่องแล้ว อุษณา เพลิงธรรม อ่านแล้วอนุมัติให้ลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ คุณแทบจะลอยได้เลย เป็นเกียรติประวัติที่คุยได้ทั้งชีวิต”

          แดนอรัญ แสงทอง ในร่างของเสน่ห์ สังข์สุข เคยเจอคนอ่านชาวฝรั่งเศสของที่ศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศส ถนนสาทร หลังสถานทูตฝรั่งเศสจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเขียนและการอ่านแล้วเชิญเขาไปเจอกับนักอ่านโดยตรง

          “ผมไม่รู้ว่าดัดจริตหรือเปล่านะ นี่พูดกันตรงๆ พวกฝรั่งเศสมันปลื้ม มันให้เกียรตินักเขียน มันเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง หรือเป็นนิสัยแย่ๆ ของมันหรือเปล่าที่มันให้เกียรตินักเขียน ซึ่งมันก็บ้าดี คนไทยเราไม่มีการให้คุณค่าอะไรอย่างนี้ เราไม่ได้ทำ มันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่ามันสลักสำคัญอะไร

          “ผมยกตัวอย่างคุณต๊ะ ท่าอิฐ สมัยเมื่อปี 2514-2515 แกเขียนหนังสือเรื่อง ไกด์บางกอก ลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ที่นิตยสารฟ้าเมืองไทย คนตามอ่านเยอะด้วย เพราะเขาให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ แล้วก็มันเป็นการสังเกตปฏิกิริยาของฝรั่งกับคนไทย เพราะคุณต๊ะพาฝรั่งไปเที่ยวที่ต่างๆ ฝรั่งอเมริกันเห็นว่านักเขียนคนนี้น่าสนใจ เขาก็ให้ตังค์แกไปเที่ยวอเมริกานานหลายเดือน คุณต๊ะก็ไปเที่ยวอเมริกา แกก็เขียนเรื่องเที่ยวอเมริกามาลงที่ฟ้าเมืองไทย ตอนนั้นผมเป็นเด็กอยู่อายุสักสิบสี่สิบห้า ผมก็อ่านเจอข้อเขียนของคุณต๊ะ ท่าอิฐ แกไปเมืองใหญ่แห่งหนึ่งชื่ออะไรไม่รู้  มันมีร้านกาแฟริมถนนที่สี่แยก เขาขายอาหารเช้า ขายกาแฟ เป็นโต๊ะนั่งยาว สำหรับลูกค้าที่มานั่งกินอาหารเช้า จิบกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์ก่อนไปทำงาน มีสัก 40-50 โต๊ะตั้งริมถนนยาวเหมือนสี่แยกลาดพร้าว ในบรรดาโต๊ะเยอะๆ ริมหน้าต่าง มีอยู่โต๊ะหนึ่งเขียนไว้ว่า ‘ห้ามนั่ง โอ.เฮนรี่ เคยมานั่งเขียนเรื่องสั้นที่นี่’ โอ.เฮนรี่ เป็นนักเขียนดังระดับเทวดาชาวอเมริกัน ทุกวันนี้เขายังเก็บโต๊ะนี้เป็นที่ระลึกเลย”

ฤทธิ์เดชนักเขียนไทยที่ชื่อ ‘แดนอรัญ แสงทอง’

          นักเขียนเมืองเพชรพูดด้วยน้ำเสียงที่แยกไม่ออกระหว่างความยินดีหรือหม่นเศร้า เมื่อนึกถึงบริบทของเรื่องเล่านี้กับวัฒนธรรมการให้เกียรตินักเขียนของสังคมไทย

          ในวัยที่เริ่มโรยรา แต่แดนอรัญ แสงทอง ยังพูดถึงการทำงานของตัวเองด้วยมั่นใจ โผงผาง ตรงไปตรงมา สะท้อนถึงตัวตนของการทำงานหนักในแบบของเขาจนเป็นที่รู้จักของนักอ่านต่างชาติ เช่นที่เขาบอกว่า “ผมก็นั่งเขียนหนังสืออยู่ตามบ้านเช่ามอมๆ ในเมืองไทยนี่แหละ แล้วก็มีผลงานไปวางขายในบุ๊กสโตร์ใหญ่ๆ ในยุโรป” คือการสะท้อนถึงการรีดเค้นพลังต่อสู้ ดั่งคำสุนทรพจน์ที่เขากล่าวในพิธีรับเหรียญอิสริยาภรณ์ของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า

          “ข้าพเจ้าจำเป็นที่จะต้องต่อสู้ในสงครามของข้าพเจ้าต่อไป ด้วยยุทธวิธีของข้าพเจ้าเอง สงครามนั้นยังไม่สงบ และอาจไม่มีวันสงบ ชัยชนะเป็นแต่เพียงความหวังอันเลื่อนลอย การถูกปิดล้อมได้ดำรงอยู่มาแล้วศตวรรษและก็จะยังดำเนินอยู่ต่อไป…”

          ถึงนาทีนี้ แม้เขาจะอยู่ในร่างของชายสูงวัยที่ความเจ็บป่วยเข้ามาเยือนอย่างต่อเนื่อง แต่พลังการทำงานสร้างสรรค์ไม่ได้ลดลงเลย แถมขยายพื้นที่จากออฟไลน์ของหน้ากระดาษสู่โลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย สื่อสารกับคนอ่านของตนผ่านคลิปรายการที่ถ่ายทำกันเองง่ายๆ ที่บ้านชื่อ ‘ท่องไปในโลกหนังสือกับแดนอรัญ แสงทอง’ เผยแพร่ผ่านช่องทาง YouTube และ Facebook ซึ่งที่นั่นเป็นที่ที่นักเขียนผู้เก็บตัวในบ้านกลางทุ่งนาในอำเภอท่ายาง เมืองเพชรบุรี แต่สร้างฤทธิ์เดชทางวรรณกรรมจนเป็นที่รู้จักในยุโรป จะได้พบปะกับคนอ่านหนังสือของเขาโดยตรง

ฤทธิ์เดชนักเขียนไทยที่ชื่อ ‘แดนอรัญ แสงทอง’


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก