Crying in H Mart อาหาร วัฒนธรรม และความทรงจำถึงแม่ที่จากไป

355 views
6 mins
May 24, 2023

          ความกลัวว่า สักวันหนึ่งคนที่เรารักจะตายจากไปน่าจะเป็นหนึ่งในความกลัวสากลที่สุดในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ หรือคนรัก การจินตนาการว่าสักวันบุคคลเหล่านี้จะหายจากชีวิตเราไปดูจะเป็นอะไรที่น่าหวาดหวั่น หรือเผลอๆ อาจถึงขั้นน่าสะพรึงกลัว

          ความตายไม่เคยเป็นเรื่องง่ายดาย ซึ่งมิเชลล์ ซอเนอร์ก็ดูจะกระจ่างแจ้งเรื่องนี้เป็นอย่างดี น่าเศร้าตรงที่เธอกลับตระหนักถึงน้ำหนักของมันในวันที่สาย วันที่คำว่าแม่เปลี่ยนสถานะไปสู่ความทรงจำ เสียงแว่ว ความฝัน และรสสัมผัสบนปลายลิ้นที่บางครั้งก็ระลึกนึกขึ้นได้ 

          ระลึกได้ ทว่าก็ห่างไกลเกินกว่าจะคว้าจับอะไรไว้ได้อีกแล้ว

อาหารที่คอยเยียวยา

          Crying in H Mart คือหนังสือเล่มแรกของ มิเชลล์ ซอเนอร์ (Michelle Zauner) หญิงสาวผู้เป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องนำของ Japanese Breakfast วงอินดี้ป๊อปสัญชาติอเมริกันที่เพิ่งจะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่อวอร์ดส์ สาขาวงอัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยมแห่งปี 2022 ไปหมาดๆ กล่าวได้ว่า ชื่อเสียงและความสามารถของซอเนอร์ในวงการเพลงนั้นเป็นที่ยอมรับอย่างพอตัวอยู่แล้ว แต่กับวงการนักเขียน ซอเนอร์ถือเป็นมือใหม่ที่ยังไม่เคยมีงานเขียนตีพิมพ์อย่างจริงๆ จังๆ 

          สำหรับ Crying in H Mart แรกเริ่มเดิมที ซอเนอร์ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะกลายเป็นหนังสือขึ้นมาในสักวัน

          ในเดือนสิงหาคม ปี 2018 บทความชื่อ Crying in H Mart ปรากฏขึ้นบนเว็บไซต์ The New Yorker ภายใต้หัวข้อ Personal History พื้นที่บอกเล่าความทรงจำส่วนบุคคลที่นักเขียนหลายคนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัว ซอเนอร์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น นักเขียนหน้าใหม่ที่ไม่เคยปรากฏผลงานใดๆ บน The New Yorker มาก่อน 

          ทว่าผ่านบทความสั้นๆ สองพันกว่าตัวอักษร เรื่องราวของซอเนอร์ที่บรรยายความโศกเศร้าและชีวิตประจำวันที่ผ่านไปอย่างเซื่องซึมหลังการสูญเสียแม่ไปกลับสั่นสะเทือนจิตใจของนักอ่าน The New Yorker เข้าอย่างจัง จนในที่สุดบทบันทึกขนาดสั้นของซอเนอร์ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ประกอบร่างสร้างรายละเอียดจนกลายเป็น Crying in H Mart เรื่องราวในบทความได้กลายเป็นเนื้อหาในบทแรก เช่นเดียวกับเรื่อง ‘อาหาร’ ซึ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์และความทรงจำระหว่างซอเนอร์กับแม่ก็ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ 

          ต้องเล่าก่อนว่า แม่ของซอเนอร์นั้นเป็นชาวเกาหลีโดยกำเนิด บังเอิญพบรักกับชายชาวอเมริกันผู้ทำงานอยู่ที่เกาหลี หลังจากแต่งงานกัน ทั้งคู่ตัดสินใจย้ายมาลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองเล็กๆ ของสหรัฐฯ และเลี้ยงลูกสาวเพียงคนเดียวของพวกเขาที่นั่น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แปลกแยก ห่างไกลจากบ้านเกิดหลายพันไมล์ แถมยังไม่มีใครที่พูดภาษาเดียวกันอยู่ใกล้ๆ อีก การทำอาหารเกาหลีจึงกลายเป็นสิ่งเดียวที่พอจะเชื่อมโยงกับความเป็นเกาหลีที่แม่ของซอเนอร์จากมา เช่นเดียวกับที่อาหารเกาหลีก็ได้กลายเป็น ‘ตัวกลาง’ ที่ผู้เป็นแม่พยายามจะยึดโยงลูกสาวชาวเกาหลี-อเมริกัน กับอัตลักษณ์ครึ่งหนึ่งของตัวเธอ

          ในบทสัมภาษณ์กับ NPR ซอเนอร์อธิบายถึงการเข้าครัวทำอาหารเกาหลีของเธอซึ่งกลายเป็นกระบวนการที่ช่วยทำความเข้าใจกับการจากไปของแม่ ซอเนอร์เล่าว่า

           “ฉันคิดว่า มัน (การทำอาหารเกาหลี) ช่วยฉันทำความเข้าใจกับการสูญเสียแม่ในหลายๆ ทางเลยล่ะ อย่างแรกคือ มันเป็นเหมือนกระบวนการทางจิตวิทยาที่ฉันจะกลับไปเปลี่ยนความรู้สึกผิดพลาดในอดีต เช่น ตอนที่แม่ฉันป่วย มันเกิดการสับเปลี่ยนบทบาทระหว่างแม่ – ลูกขึ้น ซึ่งฉันก็คาดหวังว่ามันจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วในสักวัน ยิ่งพอฉันเป็นลูกคนเดียวด้วยแล้ว แต่ฉันคิดว่าส่วนสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ ฉันปรารถนาที่จะได้เยียวยาและทำอาหารให้แม่กินในช่วงที่แม่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยคีโม”

           “แล้วฉันก็ค้นพบด้วยว่า อาหารเกาหลีมันมีมากมายเต็มไปหมด โดยเฉพาะอาหารสำหรับคนป่วยที่ฉันไม่เคยรู้จักมาก่อน เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งมาอยู่กับเรา และเคยทำอาหารเหล่านี้ให้กับเรา ซึ่งฉันก็รู้สึกผิดมาตลอดที่ไม่เคยทำอาหารสำหรับคนป่วยได้บ้าง ฉันคิดว่าหลังจากที่แม่จากไป การเรียนรู้วิธีการทำอาหารเกาหลีกลายเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่ฉันจะสามารถยกโทษให้กับตัวเองได้”

          สำหรับซอเนอร์ แม่คือคนที่คอยทำอาหารให้กินอยู่เสมอ และแม้ว่าเธอจะชื่นชอบอาหารที่แม่ทำ ทว่าในระหว่างที่แม่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ซอเนอร์ก็ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสความมหัศจรรย์ของการทำอาหารอย่างจริงๆ จังๆ สักที แน่นอนว่าซอเนอร์หลงรักอาหารเกาหลี แต่ก็เป็นหลังจากที่แม่จากไปนั่นแหละที่นักร้องสาวถึงได้ตระหนักถึง ‘คุณค่า’ ที่ลึกซึ้งไปกว่ารสชาติที่แสนอร่อย 

          เป็นการตระหนักรู้ในวันที่สาย ที่ได้นำมาซึ่งประโยคเปิดเรื่องสั้นๆ ง่ายๆ 

           “ตั้งแต่แม่ตาย ฉันก็ร้องไห้ทุกทีที่ไปเอชมาร์ต” 

แม่ อาหาร ลูกสาว และความสัมพันธ์ระหว่างกลาง

           “เอชมาร์ตคือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายอาหารเอเชียโดยเฉพาะ เอช ย่อมาจาก ฮัน อา รึม วลีภาษาเกาหลีที่แปลว่า ‘ข้าวของเต็มอ้อมแขน’ เอชมาร์ต คือร้านที่พวกเด็กนักเรียนเอเชียไกลบ้านมักจะแห่มาซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อที่ชวนให้นึกถึงบ้านเกิด ครอบครัวคนเกาหลีมาซื้อแป้งต็อกไปทำต็อกกุก – ซุปต็อกใส่เนื้อสำหรับช่วงปีใหม่ เอชมาร์ตเป็นที่เดียวที่คุณจะหาซื้อกระเทียมปอกได้เป็นตั้งๆ เพราะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอาหารของพวกคุณต้องการกระเทียมมากแค่ไหน 

          เอชมาร์ตไม่เหมือนกับโซน ‘อาหารนานาชาติ’ ที่มีอยู่แค่แถวเดียวตามห้างร้านทั่วไป คุณจะไม่เห็นถั่วกระป๋องโกยาตั้งอยู่ข้างซอสศรีราชาที่นี่ ขณะเดียวกัน คุณอาจจะเห็นฉันยืนร้องไห้อยู่ข้างตู้แช่เครื่องเคียงเกาหลี ระลึกถึงรสชาติไข่ต้มซีอิ๊วและซุปหัวไชเท้าเย็นของแม่ หรือไม่ก็ยืนร้องตรงโซนอาหารแช่แข็ง ถือซองแผ่นเกี๊ยวไว้ในมือ พลางนึกถึงโมงยามในครัวที่ฉันกับแม่ช่วยกันห่อหมูสับกับกุยช่ายด้วยแผ่นแป้งพวกนี้ ขณะสะอึกสะอื้นอยู่แถวแผงอาหารแห้ง ฉันได้แต่ถามตัวเองว่าฉันยังเป็นคนเกาหลีอยู่ไหม ถ้าตอนนี้ไม่เหลือใครให้โทรถามยี่ห้อสาหร่ายที่เคยซื้ออีกแล้ว”

          อย่างที่ซอเนอร์เล่าไป เอชมาร์ตคือซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ ที่ขายอาหารเอเชียเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน มันก็เป็น ‘พื้นที่ความทรงจำ’ ที่นักร้องสาวมักจะมองเห็นแม่ของเธออยู่เสมอ แน่นอนว่าในแง่หนึ่ง เพราะเอชมาร์ตคือซูเปอร์มาร์เก็ตที่แม่มักจะมาซื้อวัตถุดิบกลับไปทำอาหารที่บ้าน แต่ในขณะเดียวกัน นัยยะอีกอย่างที่ประทับอยู่ในพื้นที่แห่งนี้อย่างไม่อาจแยกขาด คือความเชื่อมโยงระหว่างแม่กับอาหาร สองสิ่งที่ประกอบสร้างตัวตนของซอเนอร์ขึ้นมา

          แม้ว่า Crying in H Mart จะเริ่มต้นเรื่องราวในวันที่ซอเนอร์สูญเสียแม่ไปแล้วก็จริง แต่ภายใต้มวลความเศร้าที่ปกคลุมหญิงสาวในปัจจุบัน ซอเนอร์ได้พาเราย้อนกลับไปสำรวจชีวิตในวัยเด็กที่ฉายภาพให้เห็นเรื่องราวความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกันระหว่างซอเนอร์ อาหาร และแม่ของเธอ

           “ฉันจำเรื่องเหล่านี้ได้แจ่มชัด เพราะมันคือวิธีบอกรักในแบบของแม่ แม่ไม่แสดงความรักผ่านคำพูดหวานหูหรือแกล้งโกหกให้คุณอุ่นใจ แต่แม่จะคอยสังเกตว่าอะไรที่ทำให้คุณมีความสุข เก็บทุกรายละเอียดอยู่เงียบๆ เพื่อทำให้คุณสบายใจและได้รับการเอาใจใส่โดยที่คุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ แม่จำได้หมดว่าคุณชอบสตูว์แบบน้ำซุปเยอะๆ ไม่ถูกกับเครื่องเทศ เกลียดมะเขือเทศ ไม่กินอาหารทะเล หรือเป็นคนกินจุ แม่จำได้ว่าคุณกินบันชันหรือเครื่องเคียงจานไหนหมดเป็นอันดับแรก และในครั้งถัดไปแม่ก็จะให้มาเป็นสองเท่า พร้อมกับเมนูอื่นๆ อีกมากมายที่คุณชอบ เมนูที่ทำให้คุณเป็นคุณ”

          ซอเนอร์เล่าว่า แม่ของเธอนั้นไม่เหมือนกับแม่คนอื่นๆ และบ่อยครั้งเธอเองก็อดที่จะอิจฉาแม่ของเพื่อนๆ ซึ่งแสดงความรักให้กับลูกตัวเองอย่างเปิดเผยไม่ได้ เพราะสำหรับแม่ของเธอ การจะพูดคำว่ารักออกมาจากปากไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เช่นเดียวกับการแสดงความรักผ่านภาษากายก็ดูจะยากเย็นเสียเหลือเกิน 

          อย่างไรก็ตาม อาหารกลับเป็นสื่อกลางที่คอยสื่อสารความรู้สึกของแม่กับลูกสาว หน้าที่ของมันไม่ต่างอะไรกับวุ้นแปลภาษาที่คอยส่งข้อความผ่านอาหารที่อยู่ในจานว่า แม่กำลังกอดอยู่นะ กำลังบอกว่ารัก และกำลังห่วงใย ในขณะที่แม่คนอื่นๆ อาจแสดงความภูมิใจกับลูกๆ ผ่านของขวัญที่ซื้อให้ แม่ของซอเนอร์กลับบอกผ่านอาหารชุดใหญ่ ด้วยอยากให้ลูกสาวได้อิ่มกายมากกว่าอิ่มใจในวันที่ทำอะไรได้ดี

          แต่แม้ความรักที่แม่มอบให้คือการไม่ปล่อยให้เด็กสาวรู้สึกหิว ทว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลับลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ค่อยจะราบรื่นสักเท่าไหร่

           “ความรักของแม่นับว่าโหดหินกว่าการรักลูกแบบไม่โอ๋มากนัก มันทั้งโหดร้ายและไร้การรอมชอม เป็นรักอันทรหดที่ไม่เว้นช่องว่างแม้สักนิดเดียวให้กับความอ่อนแอ เป็นความรักที่จะคำนึงถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณในอีกสิบปีข้างหน้า โดยไม่สนสักนิดว่า ณ เวลานั้นมันจะเจ็บเจียนตาย และทุกครั้งที่ฉันเจ็บ แม่ก็จะรู้สึกเจ็บลึกไปด้วย เหมือนมันเป็นความทรมานของแม่เหมือนกัน ถ้าแม่จะผิดก็คงเพราะเป็นห่วงฉันมากไปก็เท่านั้น ฉันเพิ่งตระหนักได้ในตอนนี้เอง เมื่อนึกย้อนกลับไป ไม่มีใครบนโลกนี้ที่จะรักฉันได้เท่าแม่อีกแล้ว และแม่ก็จะไม่มีวันยอมให้ฉันลืมความจริงข้อนี้ไปได้เลย”

          ทุกครั้งที่ซอเนอร์ในวัยเด็กร้องไห้ คำพูดที่แม่มักจะบอกกับลูกสาวเสมอคือ “หยุดร้องไห้! เก็บน้ำตาไว้ตอนแม่แกตายเถอะ” และคงเป็นเพราะความเกรี้ยวกราดทำนองนี้ ที่ส่งให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวกลายเป็นรักทรหดชนิดที่ว่า หากพ้นไปจากเรื่องอาหารแล้ว ทั้งคู่มีแต่จะคอยปะทะกันเรื่อยไป การทะเลาะวิวาทและโวยวายทางปากเสียงกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน และแม้ว่ามันจะฟังดูท็อกซิกจนบางครั้งก็ยากที่จะเรียกว่าความรัก แต่ก็อีกนั่นแหละ ที่เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นชิ้นส่วนชิ้นสำคัญในความทรงจำของซอเนอร์กับแม่ของเธอ

          อาจกล่าวได้ว่า จุดเด่นหนึ่งของ Crying in H Mart คือความซื่อสัตย์ที่ซอเนอร์สื่อสารผ่านตัวอักษร เพราะแม้ว่าจุดตั้งต้นของหนังสือเล่มนี้จะมาจากความคิดถึงแม่ เพียงแต่ความคิดถึงที่ว่านี้ก็ไม่ได้สว่างไสวหรือเต็มไปด้วยความทรงจำดีๆ ซอเนอร์ไม่เคยปฏิเสธว่า บ่อยครั้งเธอก็เกลียดแม่ตัวเอง ตัดพ้อว่าทำไมถึงไม่ได้เกิดในครอบครัวที่ความสัมพันธ์แม่ – ลูกเป็นเรื่องง่ายและไม่น่าโมโหแบบนี้ ซอเนอร์นำเสนอตัวตนของเธออย่างตรงไปตรงมา เป็นเด็กสาวที่หุนหันพลันแล่น ผิดพลาด และบ่อยครั้งก็ทำอะไรไม่คิดหน้าคิดหลัง ในขณะเดียวกัน เธอก็ฉายภาพของแม่อย่างซื่อสัตย์ เป็นมนุษย์ที่เย็นชา แสนจะใจร้าย แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยหัวจิตหัวใจ และซื่อตรงอย่างที่สุด

           “…แทนที่จะใช้สำนวนภาษาอังกฤษที่แม่ไม่รู้จัก แม่เลือกจะสร้างสำนวนใหม่ๆ ขึ้นมาสองสามอันเสียเลย เช่น ‘แม่คือคนเดียวที่จะพูดความจริงกับแก เพราะแม่เป็นคนเดียวที่รักแกจริง’ หรือถ้าย้อนกลับไปตอนเด็ก ความทรงจำแรกๆ ของฉันคือคำสอนของแม่ที่ว่า ‘จงเผื่อเอาไว้สิบเปอร์เซ็นต์’ ซึ่งหมายถึง ไม่ว่าคุณจะคิดว่าตัวเองรักใครสักคนมากแค่ไหน หรือคิดว่าอีกฝ่ายก็รักคุณเช่นกัน อย่าได้ทุ่มเทให้เขาไปทั้งใจ ต้องเผื่อไว้สิบเปอร์เซ็นต์เสมอ เวลาล้มจะได้ไม่เจ็บมาก ‘แม้แต่กับพ่อแก แม่ก็เผื่อไว้เหมือนกัน’ แม่เสริม”

อาหารคือวัฒนธรรม

          อย่างที่ได้กล่าวไปว่า อาหารคือสื่อกลางที่คอยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูกคู่นี้ แต่หากเราลองถอยออกมามองภาพที่กว้างขึ้นจะพบว่า อาหารยังเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงซอเนอร์กับอัตลักษณ์อีกครึ่งหนึ่งในตัวเธอ นั่นคือความเป็นเกาหลี

           “การกินอาหารคือวิธีการหนึ่งที่สุดที่ผู้คนจะ ‘แสดงออก’ และ ‘รักษา’ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกเขา” ไมเคิล พอลแลน (Michael Pollan) นักเขียนชาวอเมริกันและผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอาหารเคยเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งของเขา บทบาทของอาหารเกาหลีใน Crying in H Mart ก็ดูจะสอดคล้องกับข้อเสนอนี้ ที่ขยายนิยามของอาหารให้กว้างกว่าประเด็นทางโภชนาการ ไปสู่มิติทางวัฒนธรรม ดังเช่นที่อาหารก็กลายเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงซอเนอร์กับความเกาหลีที่ห่างไกลออกไป

          สำหรับซอเนอร์ แม้ว่าในทางหนึ่ง การทำอาหารเกาหลีจะกลายเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจหลังจากที่สูญเสียแม่ไป ทว่าควบคู่ไปด้วยกัน การทำกิมจิ จาจังมยอน และคิมบับ ก็ช่วยให้เธอรู้สึกเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์อีกครึ่งหนึ่งในตัวเองได้ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แม้ว่าเธอจะไม่ได้เกิดและเติบโตในพื้นที่แห่งนั้น หากลึกๆ แล้วเธอก็ยังรู้สึกถึงมัน อยากที่จะแสดงออกและทะนุถนอมมัน เพราะความเป็นเกาหลีนี่แหละคือทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเชื่อมโยงซอเนอร์กับแม่ของเธอ

          Crying in H Mart เป็นหนังสือที่อ่านสนุก ในความหมายที่ว่า แม้มันจะเต็มไปด้วยกลิ่นความเศร้าอบอวลในทุกหน้ากระดาษ หากซอเนอร์ก็เก่งกาจพอที่จะทำให้เราอยากพลิกอ่านชีวิตของเธอได้เรื่อยๆ จนเผลอแป๊บเดียวก็จบเล่ม ข้อดีอีกอย่างที่อยากจะพูดถึงเป็นพิเศษคือ ในฉบับภาษาไทยของหนังสือเล่มนี้ C.S. ผู้แปลสามารถถ่ายทอดความเป็นซอเนอร์ออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างซื่อตรง ไม่ล้น รักษามวลอารมณ์ของต้นฉบับได้อย่างพอดิบพอดี 

          และแม้ว่า Crying in H Mart จะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วจะชวนให้หิวอาหารเกาหลีอยู่บ้าง ทว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างซอเนอร์กับแม่ ก็ช่วยให้เรารู้สึกอิ่มได้พอประมาณ – น้ำตาไหลบ้างเป็นพักๆ 

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก