Creatorsgarten ชุมชนคนเนิร์ดที่สนุกกับไอเดียสร้างสรรค์ สวนสวรรค์ของ Creative Technologist

1,481 views
October 12, 2023

          ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน เด็กชายวัย 15 ปีคนหนึ่งตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาในระบบ เพื่อทุ่มเทความสนใจกับงานสายโปรแกรมเมอร์ที่เขาชื่นชอบ และเอาจริงเอาจังถึงขั้นเดินทางไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา นั่นคือเรื่องราวของ ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Creatorsgarten ซึ่งนอกจากจะมุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองแล้ว ในช่วงวัยค้นหาตัวเอง ภูมิยังเข้าไปมีส่วนร่วมกับหลากหลายกิจกรรมในแวดวงโปรแกรมเมอร์ ทั้ง Meetup และค่ายต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ อย่างเช่นค่าย Junior Webmaster Camp ที่จัดโดยชมรมเยาวชนผู้ดูแลเว็บไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้พบกับผู้คนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน จนนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและริเริ่มทำโปรเจกต์ที่น่าสนใจมากมาย

          การเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ภูมิได้รู้จักกับ ปั๊บ-ชยภัทร อาชีวระงับโรค เพื่อนรุ่นเดียวกันที่มีขอบเขตความสนใจหลากหลาย ตั้งแต่ภาษาศาสตร์ไปจนถึงโลกอวกาศ ปั๊บเคยเป็นนักเรียนโครงการโอลิมปิกวิชาการ ที่ได้รับโควตาเข้าศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเลือกทางเดินอื่นที่ตรงกับแนวทางการเรียนรู้ในแบบที่ต้องการมากกว่า

          เมื่อได้ร่วมงานกันทั้งคู่ก็พบว่าพวกเขามีความสนใจร่วมกันคือการนำเทคโนโลยีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่สังคม และต่างเห็นความสำคัญของการขยายขอบเขตของพื้นที่การเรียนรู้ออกไปอย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งหากทำคนเดียวหรือทำกันอยู่แค่สองสามคนก็คงไม่สนุก ภูมิและปั๊บจึงหันมาโฟกัสกับการสร้างคอมมูนิตี้ของคนเนิร์ดๆ เพื่อแชร์องค์ความรู้ที่สามารถผลักดันสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าได้ 

          ปัจจุบันภูมิทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อิสระ ส่วนปั๊บมีบทบาทเป็นนักวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ในโครงการของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทั้งยังเป็นบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ Spaceth.co แพลตฟอร์มเล่าเรื่องอวกาศ และเป็นผู้จัดรายการ Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว พอดแคสต์ของสื่อไทยพีบีเอส

Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน
Photo: Creatorsgarten
Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
ปั๊บ-ชยภัทร อาชีวระงับโรค
Photo: Chayapatr Archiwaranguprok

ก่อนจะมาเป็น Creatorsgarten

          ในปี 2017 ภูมิได้จัดงาน The Stupid Hackathon Bangkok ขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยความตั้งใจอยากให้เหล่าโปรแกรมเมอร์ไทยมีพื้นที่ปลดปล่อยความสามารถ โดยไม่ต้องยึดติดกับเรื่องธุรกิจมากนัก เพราะในเวลานั้น Hackathon หลายงานที่จัดขึ้นในประเทศไทยมีลักษณะเป็นงานประกวดไอเดียธุรกิจมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการเขียนโค้ด เขาจึงอยากจัดงานที่ชวนโปรแกรมเมอร์มานั่งเขียนโค้ดและแลกเปลี่ยนไอเดียกัน โดยประชาสัมพันธ์อีเวนต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และมีคนมาเข้าร่วมราวๆ 60-70 คนในครั้งแรก ก่อนจะขยายสเกลใหญ่ขึ้นในปีต่อมา จนตอนนี้จัดเนื่องมาเป็นปีที่ 7 แล้ว

          ภูมิขยายความเพิ่มเติมว่า Hackathon เป็นโมเดลการจัดงานที่ถือกำเนิดขึ้นในนิวยอร์ก จากนั้นก็แพร่กระจายไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก เป็นงานที่คนสายโปรแกรมเมอร์มารวมตัวกันเพื่อค้นหาไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาตามโจทย์ ซึ่ง The Stupid Hackathon Bangkok ถือว่าเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เกิด Creatorsgarten ขึ้นในเวลาต่อมา เนื่องจากเป็นงานที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักกับคนในแวดวงโปรแกรมเมอร์ และขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่รวมนักสร้างสรรค์จากหลายสาขาวิชา

Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
เหล่าโปรแกรมเมอร์ในงาน The Stupid Hackathon Bangkok
Photo: Creatorsgarten
Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
งาน The Stupid Hackathon Bangkok ที่ขยายไปสู่นักสร้างสรรค์สาขาอื่น
Photo: Creatorsgarten

          เนื่องจากงาน The Stupid Hackathon Bangkok จัดขึ้นปีละครั้งเท่านั้น แต่กลุ่มนักสร้างสรรค์มีความคิดอยากทำโปรเจกต์หลากหลายตลอดทั้งปี และต้องการขยายขอบเขตความสนใจไปสู่หัวข้ออื่นที่ไม่ใช่แค่ Hackathon เพียงอย่างเดียว ในปี 2022 ภูมิและปั๊บจึงตัดสินใจก่อตั้งกลุ่ม Creatorsgarten ขึ้นอย่างเป็นทางการ ถ้านับตั้งแต่เริ่มรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ จนถึงวันนี้ พวกเขาก็จัดอีเวนต์ร่วมกันมาแล้วมากกว่า 50 ครั้ง

          ปั๊บอธิบายถึงที่มาของชื่อ Creatorsgarten “ไอเดียมาจากคำว่า Kindergarten ที่แปลว่าโรงเรียนอนุบาล ช่วงนั้นผมกับพี่ภูมิอินกับหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Lifelong Kindergarten อนุบาลตลอดชีวิต เขียนโดย มิตเชล เรสนิก (Mitchel Resnick) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่ MIT Media Lab เขาบอกว่าการเรียนรู้ที่ดีไม่ใช่แค่การนั่งฟังคนพูดในห้องเรียน การเรียนรู้ไม่ควรจบอยู่แค่ในระบบการศึกษา แต่ควรเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ที่ดีจะเหมือนสิ่งที่เด็กอนุบาลทำกัน คือการได้เล่น ได้สนุกกับการทำโปรเจกต์อะไรสักอย่าง และคอนเซปต์ของโรงเรียนอนุบาลก็เหมือนเป็นสวนที่เอาไว้ปลูกเด็กให้เจริญเติบโต ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราจัดอีเวนต์เพื่อจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เวลาอยากรู้เรื่องไหน อยากคุยกับคนอื่นในประเด็นอะไร เราก็จัดงานหัวข้อนั้นขึ้นมา เราเลยนิยามตัวเองเป็นสวนให้บรรดานักสร้างได้มารวมตัวกันทำอะไรที่อยากทำ จึงเป็นที่มาของคำว่า Creatorsgarten”

          ภูมิช่วยขยายความต่อว่า “พวกเรานิยามตัวเองว่าเป็น Creative Technologist ที่มองว่าคนเราไม่ควรเรียนอะไรบางอย่างแค่ให้จบๆ ไปหรือแค่เอาไปใช้ในการทำงาน แต่เรารู้สึกว่าโปรแกรมเมอร์หรือดีไซเนอร์หลายคนมีความเป็นนักเวทมนตร์ในตัว เราใช้ทักษะที่มีสร้างอะไรขึ้นมาก็ได้ ทุกครั้งเวลาเจอปัญหาใหม่ๆ สิ่งที่คิดคือเราจัดอีเวนต์กันไหม เราเขียนโปรแกรม Open Source ขึ้นมาไหม ซึ่งเป็น mindset ที่เราอยากให้เพื่อนๆ ในวงการเขามีด้วย เพราะในประเทศไทยยังมีโปรเจกต์ให้ทำอีกเยอะมาก”

Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
ภูมิ และ ปั๊บ ในงาน The Stupid Hackathon Bangkok
Photo: Phoomparin Mano

ขยายขอบเขตความสนใจสู่การเรียนรู้ไม่รู้จบ

          งานแรกๆ ที่จัดขึ้นภายใต้ชื่อ Creatorsgarten คืองาน Biological Aesthetic of Nature, and How to Remain Curious under Oppressive Education ซึ่งพวกเขาชวน ‘พร้อม เสือทิม’ นักชีววิทยาและโปรแกรมเมอร์ ที่ทำงานอยู่ใน The University of British Columbia ประเทศแคนาดา มาจัดงาน Meetup ชิลล์ๆ กลางสวน นั่งจิบชาพูดคุยเรื่อง Bioengineering เพื่อเปิดมุมมองให้คนในแวดวง Developers ได้เห็นว่าโลกนี้ยังมีศาสตร์ที่น่าสนใจอีกเยอะมาก

          หลังจากนั้นภูมิและปั๊บก็มีโอกาสพบกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในทีมกทม. ซึ่งขณะนั้นทางกทม. มีแผนจะจัดงาน ‘บางกอกวิทยา’ เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องการเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัวสำหรับทุกคน รองผู้ว่าฯ ศานนท์จึงชักชวนพวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล ซึ่ง Creatorsgarten ได้นำเสนอกิจกรรมที่ชื่อว่า Sciยศาสตร์ Night: คืนไสยศาสตร์เดือนวิทยาศาสตร์กรุงเทพฯ

          ปั๊บผู้เป็นโต้โผใหญ่ของการจัดงาน อธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังว่า “ผมคิดว่างานวิทยาศาสตร์ทั่วไปใครๆ ก็จัดได้ เลยอยากลองจัดงานเกี่ยวกับไสยศาสตร์ดู มันเป็นช่วงที่ผมสนใจ History of Science พอดี ถ้ามองย้อนอดีตกลับไปเราจะพบว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แบบที่เรียนกันในตำรา แต่เกิดขึ้นจากการที่นักปรัชญาอยากศึกษาธรรมชาติ อยากทำความเข้าใจโลก อย่างเช่น โยฮันเนส เคปเลอร์ ผู้ค้นพบกฎเรื่องการโคจรของดาวเคราะห์ จริงๆ เขาไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์โดยกำเนิด เขาเป็นโหรที่ทำนายดวงชะตาจากดวงดาว พอดูดาวเยอะๆ เขาเลยเริ่มจับแพทเทิร์นได้” 

          “ในอดีต วิทยาศาสตร์จะมีแง่มุมแบบนี้ที่ปะปนอยู่กับไสยศาสตร์ ความเชื่อ ศาสนา เหมือนอย่างที่ไอแซก นิวตันบอกว่า งานของเขาคือการศึกษาสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น ซึ่งผมรู้สึกว่าการศึกษาไทยตัดขาดวิทยาศาสตร์ออกจากประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ มีพี่คนหนึ่งเคยพูดว่า สิ่งที่เราศึกษาคือ ‘ขี้’ ของวิทยาศาสตร์ที่ตกผลึกมาเป็นตำรา แต่เราไม่ค่อยย้อนกลับไปมองอาหารก่อนที่มันจะกลายเป็นขี้ จากไอเดียนี้เลยเกิดเป็นงานไสยศาสตร์ขึ้นมา”

          Sciยศาสตร์ Night: คืนไสยศาสตร์เดือนวิทยาศาสตร์กรุงเทพฯ จัดขึ้นที่ Doc Club & Pub. โรงหนังอิสระในซอยศาลาแดง โดยเชิญสปีกเกอร์จากหลายวงการมาร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นักเขียน นักสร้างบอร์ดเกม ครูสอนการแสดง นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักเทคโนโลยีจาก MIT Media Lab ซึ่งเป็นความตั้งใจของ Creatorsgarten ที่อยากสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ก้าวข้ามความเป็นศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง และชี้ประเด็นให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของศาสตร์ต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ในหลากหลายรูปแบบได้ ไม่ว่าจะในแง่มุมของศิลปะหรือนวัตกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
Photo: Creatorsgarten
Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
บรรยากาศภายในงาน Biological Aesthetic of Nature, and How to Remain Curious under Oppressive Education
Photo: Creatorsgarten
Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
งาน Sciยศาสตร์ Night ซึ่งถูกจัดขึ้น ณ Doc Club & Pub.
Photo: Nattanon Dungsunenarn

ต่อยอดการสร้างเครือข่ายสู่การพัฒนาวงการ Open Source

          หากใครติดตามข่าวสารในแวดวงไอทีอยู่บ้าง คงพอจะเคยได้ยินโปรเจกต์ Hack BKK ซึ่งเป็นงาน Hackathon ที่ทางกทม.จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับนวัตกรรมในการพัฒนาเมือง หลังจากงานนั้น กทม. และสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยก็มีความคิดอยากจัดกิจกรรมต่อยอด เพื่อสร้างกรุงเทพให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน โดยโยนโจทย์มาให้ Creatorsgarten ช่วยคิดรูปแบบกิจกรรมที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรม

          พวกเขาจึงจัดกิจกรรมสนับสนุนวัฒนธรรม Open Source (ซอฟต์แวร์ที่แจกจ่ายให้ใช้ฟรี และเปิดกว้างให้คนอื่นๆ สามารถเข้าไปปรับแต่งโค้ด เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้) ขึ้นในชื่อ Bangkok Open Source Hackathon เป็นงานที่ชักชวนเหล่าโปรแกรมเมอร์มาร่วมกันพัฒนาโปรเจกต์ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ โดยมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย

          “ก่อนหน้านี้มีกลุ่มโปรแกรมเมอร์ที่ทำ Open Source กันอยู่แล้ว หลายคนอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่มันมีความยุ่งยากในการประสานงานกับหน่วยงานราชการ และไม่มีใครมาช่วยขยายผล เราเลยชวนเขาเอาโปรเจกต์ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาต่อ เพื่อเปิดโอกาสให้คนในวงการได้มาพบเจอกัน และพยายามทำให้วงการ Open Source ในไทยโตขึ้น” ปั๊บอธิบายถึงแนวคิดในการจัดงาน

          นอกจากนี้ภูมิยังเสริมว่า “ในต่างประเทศมีแคมเปญชื่อว่า Public Money, Public Code ไอเดียของมันคือถ้ามีโค้ดที่ถูกสร้างขึ้นจากงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งมาจากเงินภาษีประชาชน ทุกคนก็ควรสามารถนำโค้ดนี้ไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้” พวกเขาจึงเล็งเห็นว่าการผลักดันเรื่อง Open Source เป็นเรื่องสำคัญที่ควรสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง

          จากงานในครั้งนั้น โปรเจกต์ที่ได้รับรางวัลคือ WeSpace – Tech for Urbanization เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อคนกรุง ที่นำเทคโนโลยี AI มาใช้นับจำนวนต้นไม้ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมมาสร้างแผนที่ต้นไม้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับการทำงานของรุกขกรผู้มีหน้าที่ดูแลต้นไม้ในเขตเมือง ซึ่งหลังจากงานสิ้นสุดลงแล้ว โปรเจกต์นี้ก็ยังได้รับการพัฒนาต่อเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

          หนึ่งในเมนเทอร์ของโปรเจกต์นี้คือ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโสแห่ง NECTEC ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Traffy Fondue แพลตฟอร์มสำหรับแจ้งปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเมือง เช่น ไฟฟ้า ประปา การจราจร ฯลฯ ซึ่งดร.วสันต์ ก็ได้เชิญชวน Developers จากงานนี้ไปช่วยพัฒนาฐานข้อมูลของ Traffy Fondue หรือถึงแม้บางโปรเจกต์จะยังไม่ได้ถูกนำไปสานต่อ แต่การได้มาพบเจอกันผ่านงาน Bangkok Open Source Hackathon ก็เปิดโอกาสให้หลายคนได้พบพาร์ทเนอร์และชักชวนกันไปร่วมทำโปรเจกต์อื่นๆ จึงถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดงานของ Creatorsgarten ที่ต้องการสร้างคอมมูนิตี้ สร้างวัฒนธรรม และเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน

Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
Photo: Phoomparin Mano

ก้าวต่อไปของ Creatorsgarten

          เมื่อถามถึงโปรเจกต์ที่ Creatorsgarten วางแผนจะทำต่อไปในอนาคต ภูมิเล่าด้วยแววตาเป็นประกายว่า ขณะนี้เขากำลังพัฒนาโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ThaiUI ไอเดียเกิดจากการที่เขาพบปัญหาว่าเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการในไทยหน้าตาไม่เหมือนกันสักเว็บ และค่อนข้างใช้งานยาก เขาจึงพยายามสร้างเครื่องมือขึ้นมาตัวหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานี้ ให้ทุกเว็บมีหน้าตาสวยงามและใช้งานง่ายขึ้น

          นอกจากนี้ Creatorsgarten ยังร่วมกับพันธมิตรอย่าง Cleverse และ Muse สร้าง Garden Zero พื้นที่ Hackerspace ขนาด 200 ตารางเมตรภายในสำนักงาน Cleverse เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนชุมชนนักพัฒนา ด้วยการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับทำโปรเจกต์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ Garden Zero กำลังอยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อม และคาดว่าจะเปิดให้ใช้งานได้ในเร็วๆ นี้

          พวกเขานับเป็นตัวอย่างที่ดีของคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าฝัน และไม่ลังเลในการทุ่มสุดตัวเพื่อลงมือทำความฝันเหล่านั้นให้เป็นจริง โดยเริ่มสร้างแรงกระเพื่อมจากจุดเล็กๆ ขยายวงกว้างไปสู่การรวบรวมคนที่มีศักยภาพมาช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม 

          พลังของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ทำเรารู้สึกว่าประเทศไทยยังคงมีความหวัง

Creatorsgarten กลุ่มคนเนิร์ดที่เชื่อว่าการแชร์ความรู้เปลี่ยนแปลงสังคมได้
Photo: Creatorsgarten


ที่มา

เว็บไซต์ Creatorsgarten (Online)

เฟซบุ๊ก Creatorsgarten (Online)  

Cover Photo: Creatorsgarten

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก