สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “โอกาส และความประทับใจ”

651 views
4 mins
November 10, 2022

          ค่ำคืนหนึ่งขณะที่ฉันกำลังเลื่อนดูข้อความในหน้าเฟซบุ๊ก ฉันได้เห็นข้อมูลของ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาส และความประทับใจต่อ TK Park

          ฉันเป็นสมาชิกสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park มานานกว่า 3 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ กับที่นี่เลยสักครั้ง ฉันใช้บริการหลักเพียงการยืมหนังสือและนั่งอ่านหนังสือภายในห้องสมุดเท่านั้น ตามสไตล์มนุษย์อินโทรเวิร์ต (Introvert) ที่ค่อนข้างเก็บตัวเงียบ และไม่ร่วมกิจกรรม ความคิดที่จะดำเนินชีวิตแบบมนุษย์ถ้ำผู้เก็บตัวของฉันเริ่มถูกสั่นคลอน เมื่อฉันไปเห็นงานกิจกรรมหนึ่งแล้วรู้สึกสนใจอย่างมาก  นั่นคือ “โครงการ Creative Writing เขียนอย่างไร ให้ขายได้จริง” จัดอบรมรวม 2 วัน (วันที่ 12 และ 19 มีนาคม 2565) โดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับคุณพีรญา กัณฑบุตร เจ้าของสำนักพิมพ์ไรเตอร์โซล และผู้เขียนหนังสือ เด็ก กศน. แล้วไง คิดเป็นชีวิตก็เปลี่ยน

          ฉันยังจำได้ดีว่าวินาทีที่เห็นรายละเอียดของกิจกรรมนั้น ฉันรู้สึกตื่นเต้นอย่างมากและ อยากโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดเดี๋ยวนั้นทันที ติดที่ว่าช่วงนั้นเป็นเวลากลางคืน ฉันได้แต่ยับยั้งอาการมือไว ใจเร็วของตัวเองเอาไว้สุดกำลัง

          วันถัดมา ฉันรีบเคลียร์งานค้างและโทรศัพท์ไปยัง TK Park เพื่อสอบถามรายละเอียด เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีคนลงสมัครครบจำนวนตามกำหนด 20 คนแล้ว เมื่อได้ฟังคำตอบตอนนั้นฉันรู้สึกฝันสลาย อาการคงคล้ายกับลูกโป่งอัดแก๊สที่ถูกปล่อยลมออกกระทันหัน ทว่าด้วยความสนใจโครงการอย่างมาก ฉันถามเจ้าหน้าที่ว่าพอจะมีเปิดรับตัวสำรองหรือไม่ ในใจก็แอบลุ้น  ถ้ารายชื่อสำรองมีจำนวนไม่มาก ฉันก็น่าจะพอมีสิทธิบ้าง

          ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่ารายชื่อสำรองมีคนลงจำนวนค่อนข้างเยอะ พร้อมถามฉันกลับว่ายังต้องการจะสมัครสำรองหรือไม่ เขาจะลงชื่อต่อคิวให้ ฉันตอบรับทันทีแทบไม่ต้องเสียเวลาคิด อีกทั้งยังไม่ได้เช็คตารางเวลาเลยด้วยซ้ำว่าจะว่างมาอบรมได้หรือไม่ รู้แต่เพียงว่ายังไงก็ “ต้องว่าง” เท่านั้น

          ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่โทรมาถามฉันว่ายังสนใจสมัครเรียนหรือไม่ เนื่องจากมีผู้สมัครสละสิทธิ ตอนนั้นฉันดีใจมากที่ได้รับโอกาสเข้าอบรม ในใจก็คาดเดาว่าผู้สมัครที่สละสิทธิ์ อาจจะไม่ว่างอบรมทั้ง 2 วัน

          เจ้าหน้าที่จะส่งอีเมลรายละเอียดมาให้ฉันตอบรับ ฉันเฝ้ารอคอยอีเมลอย่างใจจดใจจ่อ แต่ยังไม่ได้รับ (จำได้แม่นว่าลุ้นใจเต้น ยิ่งกว่ารอประกาศผลรางวัลชิงโชคเสียอีก) ฉันจึงโทรหาเจ้าหน้าที่อีกครั้ง เจ้าหน้าที่พูดจาดี เช็คข้อมูลให้ แถมยังถือสายรออยู่นานจนกระทั่งฉันได้รับอีเมลตอบรับ

          วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นการอบรมวันแรก คุณพีรญา กัณฑบุตร หรือครูเจี๊ยบ เจ้าของสำนักพิมพ์ไรเตอร์โซล และผู้เขียนหนังสือขายดีมาเป็นวิทยากร เมื่อเข้ามาในห้องเรียนแล้ว ฉันกวาดตามองรอบห้องโดยอัตโนมัติ เพราะสงสัยว่าคลาสนี้จะมีผู้ร่วมเข้าอบรมจำนวน 20 คนตามที่กำหนดหรือไม่ ปรากฏว่าจำนวนผู้อบรมมีมากกว่านั้น สังเกตว่าผู้เรียนส่วนมากเป็นวัยทำงาน ฉันมารู้ทีหลังว่าครูเจี๊ยบเห็นว่ามีผู้ตั้งใจเรียนจริง แม้ว่าจำนวนคนจะเกินโควตา แต่ครูก็ยืนยันรับสอนทั้งหมด ตอนนั้นเรานึกถึงคำพูดประโยคหนึ่งขึ้นมาในหัวทันทีว่า “ครู คือ ผู้ให้”

          บรรยากาศภายในห้องเรียนเหมือนย้อนไปวันวานสมัยฉันยังเรียนหนังสือ ผู้เรียนตั้งใจ และมีส่วนร่วมในการเรียน นอกจากนี้ วิทยากรถ่ายทอดความรู้แบบไม่กั๊ก พร้อมทั้งกระตุ้นให้คนเรียนแสดงความคิดเห็นตลอดเวลา นอกเหนือจากความรู้ แรงบันดาลใจที่ได้รับมาเต็มที่แล้ว ฉันยังรับรู้ได้ถึงจิตวิญญาณความเป็นครูของผู้สอนอย่างชัดเจน หลังจากสอนเสร็จครูเจี๊ยบฝากการบ้านและให้ส่งงานในสัปดาห์ถัดไป

          วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2565 เป็นวันสุดท้ายของการเรียน วันนี้มีการย้ายห้องเรียนไปยังอีกห้องหนึ่ง แวบแรกที่เห็นห้องนี้ ฉันนึกว่ามาผิดห้อง ภายใต้แสงไฟสลัว บรรยากาศในห้องนี้คล้ายกับหอประชุมขนาดเล็ก มีทั้งเวทียกพื้นสูง จอสไลด์ขนาดใหญ่ และโต๊ะที่นั่ง ตอนนั้นถ้าหากฉันไม่เห็นผู้สอนยืนถือไมโครโฟนอยู่ตรงกลางเวที ฉันคงรีบหันหลังเดินออกจากห้องแน่นอน ฉันก้าวเข้ามาในห้องพร้อมกับความรู้สึกแปลกตา แปลกใจ ฉันเพิ่งจะรู้ว่าสถานที่นี้มีห้องประชุมจัดสรรพื้นที่ได้สวยงามและลงตัว ตอนนั้นฉันได้แต่คิดในใจว่า TK Park เป็นยิ่งกว่าห้องสมุดเสียอีก โดยไม่รู้ตัว ในใจฉันเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อสถานที่แห่งนี้ว่ามันไม่ใช่เพียงแค่ห้องสมุดอีกต่อไป

สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “โอกาส และความประทับใจ”

          ก่อนหน้านั้นฉันมีภาพจำเกี่ยวกับ  TK Park ไม่มากนัก ฉันรู้จักบริการเพียงบางส่วน รับรู้แค่ว่าสถานที่แห่งนี้ฉีกกรอบจากห้องสมุดยุคเดิมด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาห้องสมุด อาทิ เครื่องยืมคืนหนังสืออัตโนมัติ เครื่องอบยูวีฆ่าเชื้อหนังสือ การเช็คสถานะยืมคืนหนังสือทางออนไลน์ รวมทั้งบริการส่งหนังสือถึงบ้าน (Book Delivery) บริการเหล่านี้ช่วยให้วิถีชีวิตของผู้ใช้บริการสะดวกสบายขึ้นอย่างมาก และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19

          สำหรับฉันประทับใจระบบการยืม คืน และจองหนังสือออนไลน์อย่างมาก มันช่วยลดเวลาการค้นหาหนังสือและประหยัดเวลาเดินทาง การจัดพื้นที่เรียนรู้และส่วนสันทนาการสำหรับเด็ก ประทับใจที่มีการแบ่งโซนห้องสมุดดนตรี ห้องสมุดไอที และโซนสำหรับเด็กๆ การจัดงานกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ที่ฉันรู้แค่เท่านั้น แล้วสิ่งที่ฉันยังไม่รู้อีกล่ะจะมากมาย น่าสนใจขนาดไหน

          เมื่อคิดดังนั้นแล้ว ฉันถึงขั้นไปค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตต่อเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา แนวคิดของสถาบันการเรียนรู้ ฉันพบกับหลากหลายข้อมูลน่าสนใจว่า ในปี 2547 ทางรัฐบาลเน้นส่งเสริมการพัฒนาคนไทยสู่สังคมฐานความรู้ (Knowledge-based Society) พร้อมทั้งจัดตั้งองค์กรจัดการความรู้หลายแห่ง อาทิ TCDC (Thailand Creative & Design Center) มิวเซียมสยาม รวมทั้งสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว

          สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park เป็นหน่วยงานสร้างสรรค์แหล่งการเรียนรู้เพื่ออนาคตของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. จัดตั้งเมื่อ 18 มิถุนายน 2547 และเปิดบริการประชาชนเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2548 ในรูปแบบห้องสมุดมีชีวิต สถาบันยังมีฐานข้อมูลหนังสือออนไลน์ฟรีเป็นจำนวนกว่า 30,000 รายการ ถือเป็นระบบฐานข้อมูลที่ดีสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

          นอกจากนี้ TK Park ยังร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วประเทศ เปิดเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้กระจายแต่ละจังหวัด จากข้อมูลเว็บไซต์ของ TK Park ปัจจุบันมีเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้รวม 30 แห่ง ฉันลองคิดเล่นๆ ว่าสถาบันจัดตั้งมา 18 ปี มีสาขาห้องสมุดรวม 30 แห่ง แสดงว่าในปีหนึ่งๆ จะต้องขยายเครือข่ายเฉลี่ย 1.7 แห่งต่อปี ถ้าเปรียบเทียบจำนวนการเปิดสาขาห้องสมุดกับการขยายสาขาของบริษัท มุมมองส่วนตัวฉันคิดว่าสถาบันขยายสาขาได้ค่อนข้างเร็ว ยิ่งหาข้อมูลมากเท่าไร ฉันก็พบความประหลาดใจมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะข่าวความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่ฉันไม่คาดคิด เช่น ศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล แม้กระทั่งห้องสมุดในค่ายทหาร รวมทั้งสนับสนุนสื่อเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ให้ห้องสมุดทั่วประเทศ และกรมราชทัณฑ์

          อ่านข้อมูลจบ ฉันนิ่งค้างหลายอึดใจ ครุ่นคิดว่าที่นี่ก่อตั้งมาราวๆ 18 ปี แต่ระยะเวลาที่ฉันรู้จักน่าจะประมาณ  5  ปี ฉันมัวไปหลบซ่อนอยู่มุมไหนมาตั้งนาน ทำไมถึงเพิ่งมารู้จักที่นี่ พร้อมกับเปลี่ยนมุมมองที่เคยมีต่อสถาบันอุทยานการเรียนรู้ ที่นี่ไม่ใช่แค่ห้องสมุดธรรมดาทั่วไป แต่เป็นระบบนิเวศการเรียนรู้ทมี่เหมาะสมต่อพัฒนาคนอย่างยิ่ง ฉันประทับใจนโยบายส่งเสริมการศึกษาของภาครัฐที่สามารถต่อยอดใช้ได้จริง ตลอดจนแนวคิดบริหารจัดการของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรม ส่งต่อโอกาสให้แก่สังคม

          การมางานกิจกรรมครั้งแรกประทับตราตรึงในความทรงจำ จนไม่รู้จะบรรยายอย่างไรหมด ฉันอยากให้ที่นี่จัดกิจกรรมต่อเนื่อง ฉันเชื่อว่าหลายคนได้รับประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านี้ คนที่ได้รับโอกาสย่อมอยากส่งต่อโอกาส รวมทั้งความประทับใจให้คนอื่นเฉกเช่นเดียวกัน

          สุดท้ายนี้ ฉันรู้สึกขอบคุณที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมอบรม ขอบพระคุณทุกท่านที่ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมครั้งนี้ ฉันประทับใจทุกอย่างตั้งแต่การบริการด้วยใจของเจ้าหน้าที่ จิตวิญญาณความเป็นผู้ให้ของครูเจี๊ยบ รวมทั้งการจัดสรรพื้นที่ห้องสมุดน่าสนใจและเหมาะสมกับการส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจุดประกายให้ฉันไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับห้องสมุดนี้ จนได้รู้ เข้าใจถึงแนวคิดของภาครัฐที่ริเริ่มจัดตั้งสถาบันนี้เพื่อพัฒนาคนในชาติ ฉันอยากจะแนะนำให้คนที่ยังไม่เคยแวะมา TK Park ว่าควรลองมาเยี่ยมชมสักครั้ง สถาบันอุทยานการเรียนรู้แห่งนี้เสมือนระบบนิเวศที่เปิดโลกการเรียนรู้ของคนทุกเพศทุกวัย  “มาสักครั้ง แล้วคุณจะหลงรัก TK Park”

สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “โอกาส และความประทับใจ”
สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “โอกาส และความประทับใจ”
สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “โอกาส และความประทับใจ”
สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “โอกาส และความประทับใจ”

ที่มา

เว็บไซต์ TK Park (Online)

บทความ “ส่อง ‘TK Park’ โฉมใหม่ กลับมาอย่าง New Normal” จาก bangkokbiznews.com (Online)

บทความ “TK Park จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย” จาก readthecloud.co (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก