คำว่า ‘จ้าน’ เป็นภาษาปักษ์ใต้ แปลว่า ‘มากมาย’ จึงกลายมาเป็นชื่อธีมงานของเทศกาล ‘Creative Nakhon’ ครั้งที่ 6 เพราะสะท้อนความ ‘หลากหลาย’ ของเมืองนครศรีธรรมราชที่ถูกนำเสนอในงานได้เป็นอย่างดี ทั้งงานศิลปะ งานฝีมือ อาหาร ดนตรี การแสดง และการเสวนาสร้างแรงบันดาลใจจากศิลปินและนักสร้างสรรค์
ผลงานที่จัดแสดงแต่ละชิ้นหลอมรวมความเป็นวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชม เช่น ‘ท่าหลาบอย’ ซูเปอร์ฮีโร่ท้องถิ่นในรูปแบบอาร์ตทอย และที่ผู้ชมหลายๆ คนประทับใจเห็นจะเป็นผลิตภัณฑ์แก้บนรักษ์โลก ‘บนบาน’ ไก่ที่ใช้สำหรับแก้บน ‘ไอ้ไข่’ แห่งวัดเจดีย์ ที่สามารถย่อยสลายได้แบบ 100% ผู้แก้บนสามารถเลือกเมล็ดพันธุ์ไม้มงคลยัดไส้ด้านใน เพื่อนำไปปลูกต่อได้อีกด้วย ผลงานเหล่านี้ นอกจากจะถูกจัดแสดงที่นครศรีธรรมราชแล้ว ยังเดินสายไปเฉิดฉายในงาน Pakk Taii Design Week 2024 ที่สงขลาอีกครั้ง
ก่อนจะมีเครือข่ายและผลงานที่ ‘จ้าน’ อย่างในวันนี้ กลุ่ม Creative Nakhon เกิดขึ้นจากการรวมตัวของศิลปินเพียงไม่กี่คน ศุภชัย แกล้วทนงค์ ทำหน้าที่ประธานกลุ่ม ร่วมด้วย ชัชวาลย์ รัตนพันธุ์ และ ณัฐนันท์ รุจิวณิชย์กุล ในฐานะรองประธาน พร้อมกับกรรมการอีก 3 ท่าน สุธาทิพย์ โมราลาย, วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล และ แก้วตระการ จุลบล ต่อมาจึงค่อยๆ ผนึกกำลังกับพันธมิตร จนทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ในระยะเวลาไม่กี่ปี
ทั้ง 6 คน คือนักออกแบบ ศิลปิน นักเขียน และสถาปนิก ที่พบปะกันอยู่บ่อยครั้งตามนิทรรศการงานศิลปะในเมืองคอน จนคิดว่า…ในเมื่อมีคนคอเดียวกัน ก็น่าจะจับมือกันจัดงานของตนเองได้ เป้าหมายในช่วงเริ่มต้นไม่ได้ยิ่งใหญ่หวังจะเปลี่ยนแปลงเมือง ชัชวาลย์ รัตนพันธุ์ อาจารย์และนักออกแบบ รองประธานกลุ่ม Creative Nakhon เล่าให้เราฟังว่า
“สเต็ปแรก คือการรวมตัวของคนที่ชอบในสิ่งเดียวกัน สเต็ปที่ 2 คือสร้างพื้นที่ศิลปะ สร้างโอกาสในการรับรู้ให้กับคนในท้องถิ่น พอสเต็ปที่ 3 ก็เริ่มมีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนมาร่วมมือกันแล้ว เลยเริ่มนึกถึงการปลุกย่านซบเซาให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์”
แต่ละย่างก้าวของ Creative Nakhon ค่อยๆ นำการเปลี่ยนแปลงและมุมมองใหม่มาสู่นครศรีธรรมราช
ครั้งที่ 1 ยังไม่มีการกำหนดธีมชัดเจน สมาชิกแต่ละคนนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของตนเอง
ครั้งที่ 2 ‘Fruit Story’ ผูกเรื่องราวกับ See-Din Nature and Creative Space สถานที่จัดงานซึ่งห้อมล้อมด้วยสวนผลไม้หลากชนิดที่เป็นของดีเมืองคอน
ครั้งที่ 3 เจาะลึกถึงรากเหง้าความเป็นนครศรีธรรมราช ภายใต้ธีม ‘The Root’ มีทั้งผลงานที่สะท้อนความเป็นประวัติศาสตร์อันยาวนาน และงานช่างพื้นถิ่น
ครั้งที่ 4 กระแสโลกในช่วงเพิ่งผ่านพ้นโควิดพูดถึงการ RE-SET หรือการทบทวนและเริ่มต้นใหม่ Creative Nakhon จึงใช้แนวคิดนี้ชวนผู้คนมา RE-SET เมือง, RE-SET ไอเดีย แล้วแต่ว่าใครจะหยิบของเก่าชิ้นไหนมาต่อยอดแนวคิดได้ ณ จุดนี้ Creative Nakhon เริ่มจับมือกับ CEA วางแผนฟื้นย่านเศรษฐกิจในอดีต ท่าวัง-ท่ามอญ ภาคเอกชนในพื้นที่มองเห็นโอกาสจึงเข้ามาร่วมสนับสนุน
ครั้งที่ 5 เน้นย้ำจุดแข็งเรื่องงานหัตถกรรมของเมืองคอน ทั้งเครื่องเงิน เครื่องถม ย่านลิเภา บาติก ผ้ามัดย้อม ในชื่อธีม ‘คลั่งคราฟต์’ หรือ ‘Craftaholic’
“มีหลายปัจจัยที่ทำให้เรามีงานคราฟต์ที่หลากหลาย ในอดีตนครศรีธรรมราชเป็นเมืองท่าที่สำคัญ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับ จีน อินเดีย ยุโรป ทำให้เกิดการรับรู้ ถ่ายทอด สั่งสม มันเป็นลักษณะของพหุวัฒนธรรม อีกอย่างคือเรามีวัตถุดิบด้วย เรามีพวกเส้นใยต่างๆ ในป่า อย่างกระจูด ย่านลิเภา ใบลาน” ชัชวาลย์ขยายความเมื่อพูดถึงงานฝีมือในนครศรีธรรมราช“มีหลายปัจจัยที่ทำให้เรามีงานคราฟต์ที่หลากหลาย ในอดีตนครศรีธรรมราชเป็นเมืองท่าที่สำคัญ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับ จีน อินเดีย ยุโรป ทำให้เกิดการรับรู้ ถ่ายทอด สั่งสม มันเป็นลักษณะของพหุวัฒนธรรม อีกอย่างคือเรามีวัตถุดิบด้วย เรามีพวกเส้นใยต่างๆ ในป่า อย่างกระจูด ย่านลิเภา ใบลาน” ชัชวาลย์ขยายความเมื่อพูดถึงงานฝีมือในนครศรีธรรมราช
ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานอย่างตั้งใจ คืออดีตย่านเศรษฐกิจที่เงียบเหงาเริ่มเป็นที่รู้จัก คนในพื้นที่เริ่มมองเห็นประโยชน์ของการใช้ผลงานสร้างสรรค์ฟื้นย่าน และยินดีให้ความร่วมมือ
“เราไม่ถนัดที่จะทำในเชิงเศรษฐกิจหรือธุรกิจนัก แต่มันมีตัวชี้วัดตรงที่ว่ามีคนมาเที่ยวนะ นอกเหนือจากคนมาดูงานศิลปะ ก็มีคนในย่านที่ขายของอยู่แล้ว เช่น ขนม อาหารพื้นเมือง พอมีคนมาเที่ยวช่วงที่เราจัดงานเทศกาล เขาก็มาจับจ่ายใช้สอย มีการหมุนเวียนในเชิงเศรษฐกิจ คนก็เริ่มรู้จักพื้นที่ของเขาชุมชนของเขามากขึ้นในมุมมองที่ต่างออกไป”
หากถามว่ากลุ่ม Creative Nakhon คาดหวังจะทำอะไรให้กับเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป ชัชวาลย์ตอบว่า “ในมุมมองของผม มันคือการสร้างพื้นที่ ที่ช่วยเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้เห็นได้รับรู้อีกมุมมองของเมืองในด้านที่สร้างสรรค์ เรื่องการปลุกเศรษฐกิจ ปลุกย่าน ก็เป็นผลที่ตามมา เราอยากชวนผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาแชร์ไอเดีย เขากลับมาอยู่บ้านหลังจากไปเรียนที่ต่างจังหวัด บางคนก็กลับมาทำกิจการที่บ้าน เราคิดว่าน่าสนใจในฐานะที่ว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่ มีไฟที่จะสร้างสรรค์”
ในส่วนของสายผลิต การสืบสานภูมิปัญญาก็คือสิ่งจำเป็น ชัชวาลย์ทิ้งท้ายเอาไว้ “ผมกำลังมองว่าเราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นทายาทที่จะสื่อสารงานช่างศิลป์ ตอนนี้ครูช่างก็จะเป็นคนรุ่นกลางและรุ่นใหญ่ คนรุ่นใหม่หายาก แต่ก็มีอยู่นะ เราก็พยายามที่จะสร้าง อยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่จะมารับช่วงต่อจากคนรุ่นเก่า”