ไม่ใช่พรสวรรค์! เรียนรู้ทักษะสร้างสรรค์ บ่มเพาะนวัตกรน้อย

3,453 views
6 mins
April 19, 2022

          การสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 เพราะในอนาคตประเภทงานที่ต้องอาศัยการทำแบบเดิมซ้ำๆ (Routine Work) จะค่อยๆ หมดไป แล้วถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ในขณะที่งานซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดไปสู่นวัตกรรม จะยังคงมีคุณค่าและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ

          ความเป็น ‘นวัตกร’ (Innovator) เป็นมากกว่าเรื่องความรู้ แต่ยังเป็นเรื่องของทัศนคติหรือความคิดที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคล รวมทั้งนิสัยช่างสังเกต สงสัย มีความพากเพียร และไม่กลัวที่จะล้มเหลว

          โทนี วากเนอร์ (Tony Wagner) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เจ้าของหนังสือขายดี Creating Innovators: The Making of Young People Who will Change the World กล่าวไว้ว่า “เด็กทั่วไปถามคำถามวันละ 100 ข้อ แต่เมื่อถึงอายุ 10 หรือ 12 ปี พวกเขาจะให้ความสำคัญกับการหาคำตอบที่ถูกต้องมากกว่าการครุ่นคิดตั้งคำถาม” หมายความว่า ที่จริงแล้วคุณลักษณะที่สำคัญของนักนวัตกรรม เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด แต่บรรทัดฐานของระบบการศึกษาทั่วไป ซึ่งนิยามนักเรียนที่ประสบความสำเร็จไว้อย่างแคบๆ และเน้นมาตรฐานการทดสอบมากเกินไป เป็นอุปสรรคโดยตรงที่ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม

          ปัจจุบัน มีหลายกรณีศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ เรียนรู้การเป็นนักคิดค้นและสร้างสรรค์  โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้การริเริ่มสิ่งใหม่เป็นไปได้ง่ายและหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอนและพื้นที่เรียนรู้ในโรงเรียน กิจกรรมนอกห้องเรียน และแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์

เมกเกอร์สเปซในโรงเรียนประถมศึกษา ในรัฐออนแทรีโอ

          กระทรวงศึกษาธิการแห่งรัฐออนแทรีโอ ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออนแทรีโอ ก่อตั้งเมกเกอร์สเปซในโรงเรียนระดับประถมศึกษา 20 แห่ง จุดประสงค์ไม่ได้เป็นเรื่องการสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่เน้นเครื่องไม้เครื่องมือไฮเทค แต่สิ่งสำคัญกว่าคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงครู

          โครงการนี้ได้ลงไปสำรวจวิธีการสอนแบบเดิมของครู แนะนำครูให้รู้จักกับแนวคิดและแนวปฏิบัติด้านการสอน ที่เอื้อให้นักเรียนได้ริเริ่มการสร้างสรรค์นวัตกรรม ครูจึงต้องเป็นผู้เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีเป็นอย่างดี เช่น วงจรอิเล็กทรอนิกส์ การพิมพ์สามมิติ โลกเสมือน หุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอ ฯลฯ โดยรัฐให้ทุนสนับสนุนแก่โรงเรียนนำร่องเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ

          ผลวิจัยที่ออกมาภายหลังการดำเนินการโครงการดังกล่าว ครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้งหมดระบุว่า นักเรียนมีส่วนร่วมและมีแรงจูงใจในการเรียนรู้มากขึ้น เมื่อได้เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมแบบเมกเกอร์ นักเรียนที่มีปัญหาในห้องเรียนแบบดั้งเดิมกลับมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนเพิ่มขึ้น

          ทั้งหมดนี้ เป็นผลลัพธ์จากการที่โรงเรียนเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนการสอน โดยให้อิสระแก่นักเรียนในการดำเนินโครงงานจริง ตามความสงสัยหรือความหลงใหลของตนเอง เมกเกอร์สเปซในโรงเรียนเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือปฏิบัติ อันก่อให้ทักษะศตวรรษที่ 21 และสามารถต่อยอดจินตนาการไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ไม่รู้จบ

BEEP Lab: เรียนรู้ทักษะนวัตกรรมผ่านงานสถาปัตยกรรม

          BEEP Lab เป็นห้องทดลองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบสำหรับเด็กและเยาวชน อายุ 5-14 ปี ในสิงคโปร์ ซึ่งใช้กระบวนการที่เรียกว่า ‘Ar (kid) tecture Design Thinking’ หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบโดยมีงานด้านสถาปัตยกรรมเป็นสื่อกลาง เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีความสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ ความมั่นใจในตัวเอง กรอบคิดแบบเติบโต (growth mindset) การร่วมมือกับผู้อื่น รวมทั้งเป็นเยาวชนตื่นรู้ผู้ใส่ใจความเป็นไปของโลก

         ในหลักสูตรดังกล่าว เด็กๆ จะได้เก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมทั่วโลก ทำความรู้จักบทบาทของหน่วยงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย การวางผังเมือง และการออกแบบพื้นที่สาธารณะของสิงคโปร์ ลองกำหนดพื้นที่ในเมืองเพื่อทำโครงการในฝัน แล้วร่วมมือกันออกแบบสถาปัตยกรรมโดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น การเขียนแบบอาคาร ถนน และผังเมืองแบบสามมิติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบช่วยเป็นโค้ช เด็กๆ จะได้บูรณาการศาสตร์หลากหลายสาขา ประกอบด้วย AR-C-HI-TEC-TURE คือ ศิลปะ (Art) ชุมชน (Community) ประวัติศาสตร์ (History) เทคโนโลยี (Technology) และธรรมชาติ (Nature)

          BEEP Lab ยังทำโครงการความร่วมมือหว่างนักการศึกษาและนักออกแบบ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการและเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านการประยุกต์การคิดเชิงออกแบบกับการสอนเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิดด้วยตนเอง รู้จักค้นคว้าหาเหตุผล และสามารถแก้ปัญหาได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือที่เรียกว่ากระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based learning)

          นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนในสิงคโปร์แล้ว ปัจจุบัน BEEP Lab ยังออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์สำหรับเด็กๆ ประเทศอื่นด้วย ทั้งในจีน ไต้หวัน และมาเลเซีย

Little Inventors: วาดไอเดียการประดิษฐ์อย่างไร้ขีดจำกัด

          Dominic Wilcox ศิลปินผู้มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ตระหนักว่า ความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาเป็นทักษะที่สำคัญในปัจจุบันและอนาคต แต่การศึกษาในปัจจุบันมิได้เปิดโอกาสมากพอให้เด็กๆ ได้สนุกกับการความคิดอย่างอิสระ เขาจึงก่อตั้งองค์กรชื่อว่า ‘Little Inventors’ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กทั่วโลกมีโอกาสพัฒนาและแสดงความคิดสร้างสรรค์ และเกิดทักษะในการแก้ปัญหารอบตัว

          เด็กๆ สามารถนำเสนอภาพวาดไอเดียนวัตกรรมของตนในแพลตฟอร์ม Little Inventors ตัวอย่างไอเดียนวัตกรรมอันน่าสนุกของเด็กๆ เช่น เครื่องผลิตหิมะเพื่อช่วยเหลือหมีขั้วโลก ของเด็กชาวอเมริกันวัย 6 ขวบ สนามเด็กเล่นผลิตกระแสไฟที่สามารถแปลงการเล่นของเด็กๆ ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าของเด็กชาวอิตาลี อายุ 8 ขวบ ผ้าห่มอโรม่าที่สามารถรังสรรค์กลิ่นที่เด็กๆ ชื่นชอบไว้ในผ้าห่ม เช่นกลิ่นขนมปังอบ ของเด็กชาวอังกฤษ วัย 6 ขวบ แว่นตาช่วยอ่านที่จะตรวจจับว่าเด็กกำลังสะกดบางคำไม่ออก แล้วอุปกรณ์จะช่วยอ่านออกเสียงคำคำนั้น ความคิดของเด็ก 7 ขวบ ชาวอังกฤษ ฯลฯ จากนั้นก็รอรับความเห็นเชิงบวกและคำแนะนำจากเมกเกอร์จิตอาสาที่มีกว่า 300 คนทั่วโลก

          นอกจากนี้ Little Inventors ยังจัดกิจกรรมระดมไอเดียในหัวข้อต่างๆ เช่น การอนุรักษ์พลังงาน สิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตในอวกาศ ฯลฯ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้เด็กๆ หันมาใส่ใจปัญหารอบตัว ทั้งที่กำลังเกิดขึ้นในระดับชุมชนและระดับโลก โดยบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา ไอเดียที่ได้รับคัดเลือกจะถูกรวบรวมนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ได้อ่านจะเพลิดเพลินกับความคิดอันไร้ขีดจำกัดของนวัตกรรุ่นเยาว์

          Little Inventors ยังได้ร่วมมือกับ Canadian Space Agency และ NSERC ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ของแคนาดา เพื่อจัดนิทรรศการศิลปะในสถานีอวกาศนานาชาติเป็นครั้งแรก ปัจจุบันมีเด็กๆ ที่ใช้งานแพลตฟอร์ม Little Inventors กว่า 2 ล้านคน จาก 30 ประเทศทั่วโลก

         จากกระบวนการเรียนการสอน กิจกรรมนอกห้องเรียน และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น สามารถสรุปเป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่หรือครู เพื่อบ่มเพาะให้เด็กๆ เรียนรู้และเกิดทักษะการสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้แก่

          1. ส่งเสริมความกระหายใคร่รู้ โดยการตั้งคำถามเชิงบวกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในบ้าน หรืองานอดิเรกที่พวกเขาสนใจ เพื่อจูงใจให้เด็กอยากเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ

          2. กระตุ้นให้ใช้ความคิด ด้วยการถามคำถามปลายเปิด ให้เกิดการคิดเชิงวิพากษ์ซึ่งต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์และประเมินข้อมูล

          3. เติมความคิดสร้างสรรค์และความงอกงามทางจิตใจ ด้วยการชักชวนให้เด็กๆ อ่านวรรณกรรมหรือเดินเล่นสำรวจธรรมชาติ เพื่อให้ประสาทสัมผัสและความคิดได้หล่อหลอมเข้าด้วยกัน

          4. คิดเชิงบวก เมื่อเด็กๆ เผชิญกับปัญหา พ่อแม่ไม่ควรยื่นมือเข้าช่วยมากเกินไป แต่ควรสนับสนุนให้พวกเขาไม่ยอมแพ้แล้วพยายามหาทางแก้ปัญหา

          5. ปลูกฝังให้กล้าเผชิญความเสี่ยง ส่งเสริมให้เด็กกล้าตัดสินใจ มีอิสระในการลงมือทำ และไม่กลัวที่จะลองทำสิ่งที่ยากและท้าทายและมองเห็นบทเรียนอันมีค่าจากความล้มเหลว


ที่มา

How to help kids innovate from an early age [online]

Five Ways To Foster A Hunger For Innovation In Children [online]

5 Ways To Encourage Kids To Grow Up To Be Innovators [online]

Bringing children’s imagination to life: Little Inventors [online]

เว็บไซต์ Little Inventors [online]

เว็บไซต์ BEEP Lab [online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก