Constructionism สร้างคนให้กล้าคิด ไม่ใช่ผลิตคนให้เชื่อง

4,551 views
15 mins
March 7, 2021

          ในสังคมศตวรรษที่ 21 สิ่งที่สำคัญกว่าความรู้ก็คือทักษะในการเรียนรู้ ทักษะในการทำงาน และทักษะการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้จักคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเราสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทายและหลากหลาย

          แต่ทว่า การเรียนการสอนของไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกระบวนการที่เน้นท่องจำเนื้อหา แบ่งความรู้ออกเป็นสาระวิชา ซึ่งนักการศึกษาหลายฝ่ายต่างก็เห็นพ้องตรงกันว่าส่งผลเชิงลบต่อการคิดสร้างสรรค์ ผู้เรียนขาดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ ระบบการศึกษาไทยจึงเดินมาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่ทางออกอื่นๆ ที่เป็นไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่

          ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) เป็นหนึ่งในแนวทางที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในบริบทแวดล้อมร่วมสมัย มูลนิธิไทยคมและมูลนิธิศึกษาพัฒน์นับเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่เอาจริงเอาจังและเริ่มจุดประกายการเรียนรู้ตามแนวทางดังกล่าวในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี แม้จะยังอยู่ในแวดวงจำกัดและมีลักษณะเป็นต้นแบบหรือกรณีศึกษา แต่ก็ได้รับความสนใจมากขึ้น มีการขยายผลนำไปใช้ในหลายโรงเรียน และยังประยุกต์ใช้กับการพัฒนาบุคลากรในองค์กรภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วย

          แนวคิด Constructionism มีแก่นความเชื่อสำคัญว่า ความรู้ไม่ได้มาจากการสอนของครูหรือผู้สอนเพียงอย่างเดียว แต่มนุษย์ทุกคนมีความสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ได้แก่ (1) การมีอิสระในการเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจหรือถนัด มิใช่การบังคับให้ต้องเรียนเหมือนๆ กัน มีพฤติกรรมแบบเดียวกันหรือบรรลุผลที่เหมือนกัน (2) การมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหมายกับผู้เรียน ด้วยการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติหรือคิดแก้ไขปัญหาต่างๆ เอง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่มีอยู่กับประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ เกิดเป็นองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นด้วยตนเอง (3) การสามารถเข้าถึงสารสนเทศที่สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างสะดวก เช่น หนังสือ สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ผู้รู้หรือปราชญ์ชาวบ้าน และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

          ผู้ทำหน้าที่อำนวยการเรียนรู้ หรือ Facilitator ที่มีประสบการณ์สูง เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อคุณภาพของกระบวนการเรียนรู้ บุคคลดังกล่าวมิได้มีหน้าที่สอนความรู้เหมือนครู แต่เป็นผู้ที่คอยจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการตั้งคำถามจนกลายเป็นโจทย์หรือโครงงานที่ตนสนใจ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือการแสวงหาคำตอบของผู้เรียน แนะนำแหล่งสารสนเทศที่มีคุณภาพและรอบด้านเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาด้วยตนเอง รวมทั้งสนับสนุนผู้เรียนให้มีโอกาสนำเสนอความรู้หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

จุดเริ่มต้น Constructionism ในประเทศไทย

           เมื่อปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยเริ่มปรับตัวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์และสารสนเทศ ได้เกิดวงเสวนาอย่างไม่เป็นทางการว่าด้วยปัญหาการศึกษาและทักษะการใช้เทคโนโลยีกับบุคลิกลักษณะนักเรียนไทยที่ไม่กล้าถาม ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก โดยมีนักวิชาการด้านการศึกษาและบุคลากรจากภาคเอกชนเข้าร่วมหลายท่าน อาทิ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา และ ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา

          สืบเนื่องจากงานเสวนาดังกล่าวได้มีการเชิญนักการศึกษาสายปัญญานิยม ซีมัวร์ แพเพิร์ต (Seymour Papert) จากมหาวิทยาลัย MIT ให้เดินทางมาเยี่ยมชมโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหลายแห่งและร่วมวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาของไทย นับจากนั้นเป็นต้นมาทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) จึงได้เข้ามาเผยแพร่ทดลองใช้ในเมืองไทย

          ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ อดีตครูชำนาญการพิเศษ กศน.ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ผู้เชี่ยวชาญกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism และมีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เล่าให้ฟังว่า

          “สิ่งที่ ซีมัวร์ แพเพิร์ต มองเห็นก็คือโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนสำหรับสอน (School for teaching) ไม่ใช่โรงเรียนสำหรับการเรียนรู้ (School for learning) บางโรงเรียนมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่ทันสมัยครบครัน แต่มันถูกใช้เพื่อการเรียนการสอนตามหลักสูตร เด็กได้เรียนคอมพิวเตอร์แค่สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง เรียกว่าดื่มน้ำแก้วหนึ่งยังไม่ทันดับกระหายก็หมดเวลาแล้ว และการศึกษาของเราเน้นไปที่การทำตาม เน้นไปที่วิธีการแก้ปัญหาที่ครูกำหนด เด็กไม่มีโอกาสที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง        

          เขาบอกว่าทาง MIT ไม่สามารถจะมาชี้ได้ว่าประเทศไทยควรทำอะไร คนไทยต้องคิดเอง สิ่งที่ควรจะทำเราก็ทำอยู่เยอะแยะแล้วและไม่สามารถละทิ้งได้ แต่เรื่องที่ไม่ควรทำคือทำไปแล้วไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออกก็ต้องเลิกเสียบ้าง และต้องเปลี่ยนทัศนะความเชื่อ (mindset) ของนักการศึกษาไทยซึ่งมีความอนุรักษ์นิยมสูงพอสมควรในระดับปฏิบัติการ”

กระบวนการเรียนรู้ที่ต้องการ ‘พี่เลี้ยง’ มากกว่า ‘ครู’

          “การสอน การพูดให้ฟัง การบอกให้เชื่อ ไม่ได้ช่วยให้คนเกิดการเรียนรู้ วิธีการแบบนี้ไม่เคยสนใจว่าคนเราคิดอย่างไร การกล่อมให้คนเชื่ออย่างนั้นอย่างนี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนศักยภาพคนอย่างมหาศาล… แต่ Constructionism มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ ถ้าความรู้ใหม่ที่เรารับมาสอดคล้องกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว มันก็งอกเป็นความรู้ใหม่ได้ สาระเบื้องลึกของแนวคิดนี้ก็คือ คุณจะต้องมีความคิด ความคิดนั้นจะต้องเป็นของคุณ ไม่ใช่เอาความคิดของคนอื่นมา และจะต้องมีเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านความคิดให้เกิดโครงงานที่เป็นรูปธรรม”

          กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำและสร้างความรู้ด้วยตนเองเช่นนี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชั้นเรียนที่ครูเป็นผู้กุมความรู้เอาไว้ผู้เดียว แล้วป้อนความรู้นั้นให้กับนักเรียนทุกคนพร้อมๆ กันในแบบเดียวกัน แต่จำเป็นจะต้องอาศัยผู้ที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การเรียนรู้ ซึ่งเรียกว่าพี่เลี้ยงหรือ Facilitator

          “พี่เลี้ยงจะเป็นคนที่คอยจุดไฟเติมพลังให้คนเกิดความคิดว่าอยากจะทำอะไร ถ้าไม่มีความคิดโครงงานก็ไม่มีความหมาย Facilitator ที่ดีจะหยิบฉวยเครื่องมืออะไรมาใช้ก็ได้ ในโลกยุคไอซีทีเขาก็ควรจะใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เขาจะต้องช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างโลกการเรียนรู้ของตัวเอง คนที่จะสร้างอะไรขึ้นมาได้จะต้องมีโลกของตัวเอง เพื่อจะดื่มด่ำกับสิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำ ในขณะเดียวกันก็เปิดตัวเองออกไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่นอย่างเป็นกัลยาณมิตร” ดร.สุชิน กล่าว

          บ่อยครั้งที่มีการจัดอบรมความรู้หรือจัดกิจกรรมดูงานกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism แต่ผู้อบรมหลายคนกลับประสบความล้มเหลวในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากวงการการศึกษาไทยยังขาด Facilitator ที่ดี ที่จะช่วยเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำกับผู้ที่ทำงานในระดับปฏิบัติได้อย่างเพียงพอ เพราะการอบรมหรือดูงานนั้นเป็นเพียงกระบวนการขั้นแรกๆ เท่านั้น เมื่อจะเข้าสู่การลงมือปฏิบัติจริงยังจำเป็นต้องอาศัยพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง

          “เท่ากับว่าพวกเขาต้องเริ่มจากศูนย์ อบรมดูงานกลับไปก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีพี่เลี้ยงการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นไม่ได้ แล้วถามว่ามีหน่วยงานราชการไหนบ้างที่จะรับเป็น Facilitator …ไม่มี เพราะการพัฒนาพี่เลี้ยงขึ้นมานั้นยากมากๆ เขาต้องมาเป็นผู้ช่วยในการจัดอบรม ช่วยสาธิตงานและจัดกระบวนการ หลังจากจบงานในทุกๆ วันจะต้องมานั่งถกกันต่ออย่างจริงจังอีกอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง ว่าบรรยากาศการเรียนรู้เป็นอย่างไร สังเกตว่าผู้เรียนแต่ละคนเป็นอย่างไร มีอะไรบกพร่องบ้าง และในวันต่อไปควรจะต้องเติมเต็มตรงไหน จึงถือว่าเป็นการเคี่ยวกรำเพื่อพัฒนาตนเองที่เหนื่อยสาหัส”

ประภาคารทางปัญญา จุดประกายจากจุดเล็กๆ

          ในระยะแรกของการเผยแพร่ทฤษฎี Constructionism เริ่มจากนักการศึกษากลุ่มเล็กๆ ในชื่อ ‘โครงการประภาคาร’ (Lighthouse Project) ซึ่งนำร่องโดยการจัดอบรมให้กับบุคลากรของ กศน. เนื่องจากมีการวิเคราะห์แล้วว่าโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มุ่งเน้นเรื่องการเรียนการสอน อาจไม่สามารถบ่มเพาะแนวคิดดังกล่าวให้งอกงามได้เท่าที่ควร  ในขณะที่ กศน. มุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งผู้ที่พลาดโอกาสทางการศึกษาในระบบจำเป็นจะต้องเรียนรู้และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ จึงดูเหมือนจะเหมาะกับการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีนี้

          ภายหลังจากโครงการประภาคาร ต่อมาได้มีการก่อตั้งโรงเรียนแนว Constructionism ขึ้นมาโดยเฉพาะ คือโรงเรียนดรุณสิกขาลัย ซึ่งครูทุกคนในทุกชั้นเรียนใช้ทฤษฎีนี้ในการจัดการเรียนการสอน แม้จะดูเหมือนว่า Constructionism เป็นทฤษฎีที่ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมศตวรรษที่ 21 และเป็นที่รู้จักในเมืองไทยระดับหนึ่ง แต่การนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ก็ยังอยู่ในวงจำกัด แม้แต่องค์กรที่เคยนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้จนประสบผล ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายด้านเพื่อที่จะยังคงรักษากระบวนการเรียนรู้เช่นนั้นไว้ได้ เช่น การสนับสนุนของภาคเอกชน ความเข้าใจของผู้บริหารที่หมุนเวียนมาดำรงตำแหน่งตามวาระ รวมทั้งการทำงานอย่างต่อเนื่องของผู้นำและผู้ประสานงาน

          “ตอนนี้วัฒนธรรมองค์กรมันไม่เปลี่ยน สิ่งแวดล้อมในการทำงานไม่เปลี่ยน ในระดับใหญ่ขึ้นมากระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณมากก็จริง แต่ว่ามีโรงเรียนถึง 30,000 กว่าแห่ง เหมือนคนมีลูกมากก็ได้เงินไปคนละเล็กละน้อย ถ้าจะทำพร้อมกันทุกแห่งก็เป็นไปได้ยาก และยิ่งหากมีการตีความไปอีกว่า โรงเรียนแบบ Constructionism จะต้องมีคอมพิวเตอร์มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ยิ่งไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน มันจึงยังไม่สามารถเป็นการศึกษากระแสหลักของไทย คนที่ทำได้จึงเริ่มต้นทำในระดับที่ไม่ใหญ่โต ถ้าใหญ่ไปแล้วมันจาง เหมือนกาแฟจางไปก็ไม่อร่อย ไม่ได้เป็นเป้าหมายที่คนอยากจะไปถึง” ดร.สุชิน กล่าว

อุปสรรคคือความท้าทาย

          การเผยแพร่และนำเอาทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญามาใช้กับโรงเรียนในประเทศไทยแม้จะเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ หากกล่าวอย่างถึงที่สุดก็ต้องยอมรับว่าแนวทางการเรียนรู้นี้ยังคงเป็นกระแสรองในระบบการศึกษา เหตุผลนั้นเนื่องมาจากอุปสรรคอย่างน้อย 3 ประการ คือ

          1. โครงสร้างระบบการศึกษาไทยเปรียบเสมือนโรงงานผลิตทรัพยากรมนุษย์แบบเหมาโหล สังคมคาดหวังให้ผู้ที่จบการศึกษามีคุณลักษณะที่มีมาตรฐานแบบเดียวกัน คือมีความรู้ที่แม่นยำตามตำราที่เรียนมาเพื่อที่จะสอบเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ซึ่งจะเป็นสะพานไปสู่การมีอาชีพการงานที่มั่นคงในอนาคต

          ในขณะเดียวกันผู้เรียนที่เป็นไปตามมาตรฐานก็เป็นตัวชี้วัดถึงมาตรฐานของสถานศึกษาด้วย หนทางที่ผู้เรียนจะสามารถเลือกเรียนตามความสนใจของตนจึงถูกวางเงื่อนไขให้แคบลงเรื่อยๆ อีกทั้งการวัดประเมินนักเรียนไม่ได้คำนึงถึงพัฒนาการในมิติต่างๆ ของนักเรียนแต่ละคน แนวทางการศึกษาที่เชื่อมั่นในความหลากหลายของมนุษย์จึงเกิดขึ้นได้ยากในโครงสร้างการศึกษาที่ไม่ยืดหยุ่นเช่นนี้

          2. วัฒนธรรมห้องเรียนของไทยอยู่บนความเชื่อที่ว่า ครูเป็นผู้รู้และมีหน้าที่ให้ความรู้ ส่วนนักเรียนเป็นภาชนะว่างเปล่าที่รอคอยการถ่ายเทความรู้ ทำให้ครูกลายเป็นผู้ผูกขาดความรู้แต่เพียงผู้เดียว ครูมีอำนาจในการตัดสินชี้ถูกชี้ผิดผู้เรียนด้วยการให้คะแนน รวมทั้งมีสิทธิขาดในการกำหนดกติกาในห้องเรียนและการลงโทษ

          ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าวเด็กนักเรียนไม่ได้ถูกมองว่าพวกเขามีศักยภาพในการเรียนรู้เท่าเทียมกับผู้ใหญ่ และไม่ได้รับการสนับสนุนให้เกิดเงื่อนไขที่เหมาะสมกับการสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีประสบการณ์ที่มีความหมายซึ่งเชื่อมโยงพวกเขากับองค์ความรู้ต่างๆ

          การปฏิรูปการศึกษาเป็นนโยบายที่ดำเนินการมานับสิบปีจึงยังอยู่ห่างไกลจากผลลัพธ์เป้าหมายที่คาดหวัง ตราบใดที่วัฒนธรรมในห้องเรียนยังยึดติดกับความเชื่อเดิมๆ และครูยังไม่เปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ก็ไม่สามารถเกิดห้องเรียนที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลางได้

          3. โดยทั่วไปแล้วการทำงานของครูในด้านการเรียนการสอน มักมีลักษณะเป็นการทำงานเพียงลำพัง สาระการเรียนรู้ที่ถูกจำแนกออกเป็นรายวิชาทำให้ครูแต่ละคนสามารถดูแลชั้นเรียนของตนเองอย่างอิสระและแยกส่วน

          แต่กระบวนการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานหรือการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติซึ่งบูรณาการความรู้หลายศาสตร์ไว้ด้วยกัน ครูเพียงคนเดียวย่อมไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างทั่วถึง และย่อมจะพบกับข้อจำกัดในการเชื่อมโยงความรู้ที่หลากหลายเกินกว่าประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญที่มีอยู่

          ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม และมีการวางแผนการสอนร่วมกันเพื่อให้นักเรียนสามารถบรรลุถึงเป้าหมายในการทำโครงงานต่างๆ ไปพร้อมกับการได้เรียนรู้เนื้อหาที่สัมพันธ์กับสาระวิชาตามหลักสูตร

          ขณะที่ในด้านการบริหาร โรงเรียนจะต้องมีลักษณะเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่ทั้งผู้บริหารโรงเรียนและครูได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน และร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ

          สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการนำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในการทำงานเช่นกัน ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจะต้องเปิดกว้างและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ฝ่ายงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลจะต้องปรับมุมมองที่มีต่อการอบรมให้ความรู้

          มีการวิเคราะห์ว่าการเรียนรู้ของคนเรานั้นเกิดขึ้นจากการเรียนหรือการอบรมที่เป็นทางการเพียง 10% เท่านั้น ส่วนอีก 20% เป็นการเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และอีก 70% เกิดจากการเรียนรู้ด้วยการมีประสบการณ์หรือการลงมือปฏิบัติจริง         

         ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรโดยการจัดหลักสูตรอบรมความรู้อาจแทบไม่ตอบโจทย์บริบทของธุรกิจในอนาคตซึ่งแข่งขันกันที่ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม องค์กรจึงจำเป็นต้องมองหารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยมีหัวใจอยู่ที่การสร้างทักษะและคุณลักษณะบุคลากรที่สามารถนำพาองค์กรฟันฝ่าความท้าทายใหม่ๆ ที่จะผ่านเข้ามาได้

กรณีตัวอย่าง สร้างแรงบันดาลใจ

          การศึกษาและการเรียนรู้นั้นเป็นกระบวนการที่มองเห็นผลระยะยาว แน่นอนว่าผลลัพธ์ในท้ายที่สุดนั้นมิได้ตกอยู่กับเหล่าผู้ริเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ หากย่อมตกอยู่กับผู้เรียนซึ่งจะเป็นกำลังในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในวันข้างหน้า

          กรณีตัวอย่างต่อไปนี้ คือบทพิสูจน์ถึงการทลายอุปสรรคและข้อจำกัดของการเรียนรู้แบบเดิมๆ เป็นความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลมาจากความทุ่มเทและการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง

โรงเรียนบ้านสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

          โรงเรียนบ้านสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่เปิดสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6  ได้รับฉายาว่า “โรงเรียนแห่งความสุข” และเป็นที่รับรู้ของชาวเชียงใหม่ว่ามีคุณภาพการศึกษาทัดเทียมกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในอำเภอเมือง

          เดิมทีเดียวโรงเรียนบ้านสันกำแพงมีวิธีจัดการเรียนการสอนไม่ต่างจากโรงเรียนทั่วไป กล่าวคือมุ่งเน้นการเรียนตามสาระวิชา จนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิไทยคมและส่งบุคลากรไปอบรมที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดลำปาง นับเป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกที่นำทฤษฎี Constructionism มาประยุกต์ใช้

          โสภาพรรณ ชื่นทองคำ หนึ่งในครูที่ได้เรียนรู้แนวทางดังกล่าวเป็นรุ่นแรกตั้งแต่ปี 2542 ได้เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศเมื่อนำแนวทาง Constructionism มาทดลองจัดกระบวนการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในห้องเรียนชั้น ป. 3/5 ว่า  

           “เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมตลอดเวลา มีทั้งการร้องเพลง เล่นเกม ดูวิดีโอ ลงมือปฏิบัติ ทำโครงงาน และออกไปแหล่งเรียนรู้ อย่างเช่นการเรียนเรื่องการคูณในวิชาคณิตศาสตร์ก็เรียนรู้โดยการเขียนโปรแกรมให้ตัวการ์ตูนขยับ เด็กห้องอื่นๆ ที่เดินผ่านไปผ่านมามักมาเกาะดูที่ริมประตู แล้วกลับไปเล่าให้ผู้ปกครองฟัง ผู้ปกครองก็มาถามผู้อำนวยการว่า ทำไมนักเรียนห้องอื่นๆ ถึงไม่ได้เรียนแบบนี้บ้าง”

          กระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ของโรงเรียนบ้านสันกำแพงประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ

          1. จุดประกายความคิด (Sparkling) ครูใช้กิจกรรม วิธีการ หรือสื่อ กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากรู้ เห็นแนวทางในการแสวงหาความรู้ นำไปสู่ความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาสาระ

          2. สะกิดให้ค้นคว้า (Searching) ใช้กิจกรรม หัวข้อ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ ชวนให้ศึกษาค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง

          3. นำพาสู่การปฏิบัติ (Studying) ฝึกให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นกลุ่มและเป็นรายบุคคลจนเกิดทักษะและสามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง

          4. จัดองค์ความรู้ (Summarizing) มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจจากการเรียนรู้ จนสามารถสรุปเป็นองค์ความรู้ของตนเองได้อย่างเป็นระบบ

          5. นำเสนอควบคู่การประเมิน (Show and Sharing) ฝึกให้นักเรียนนำเสนอความรู้และผลงานของตนเองอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          โรงเรียนบ้านสันกำแพงได้ขยายผลห้องเรียน Constructionism จาก 1 ห้องจนกระทั่งครอบคลุมทุกห้องเรียนและทุกวิชาในปี 2548 โดยมีโจทย์มากมายที่โรงเรียนต้องขบคิดและหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นการจูงใจให้ครูทุกคนเห็นถึงผลดีอันจะเกิดขึ้นกับลูกศิษย์หากครูยอมเหนื่อยที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ความจำเป็นที่ต้องจัดหาครูผู้ช่วยซึ่งทำหน้าที่เป็น Facilitator อีกอย่างน้อยห้องละ 1 คน การหาจุดสมดุลระหว่างการเรียนรู้ที่มุ่งทักษะการคิดและการแก้ไขปัญหา กับเงื่อนไขด้านการวัดประเมินผลการศึกษาและการศึกษาต่อของนักเรียน ฯลฯ ซึ่งอุปสรรคดังกล่าวลุล่วงไปได้ก็ด้วยการเรียนรู้และร่วมกันทำงานอย่างเกื้อกูลของครู ความเปิดกว้างของผู้บริหาร และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน

          โรงเรียนบ้านสันกำแพงมีผลงานและผลิตภัณฑ์จากห้องเรียนปีละกว่า 200 โครงการ และมีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดกระบวนการเรียนการสอนตามแนวทาง Constructionism ให้กับโรงเรียนอื่นๆ อาทิ เครือข่ายสถานศึกษาโรงเรียนในอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา          

          ครูโสภาพรรณ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ชีวิตทุกคนต้องเจอกับปัญหา แต่ครูเชื่อว่าเด็กที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism จะไม่กลัวปัญหา และจะพยายามหาวิธีการแก้ไขจนกระทั่งพบทางออกของปัญหาด้วยตัวเองได้”

โรงเรียนบ้านสามขา จังหวัดลำปาง

          โรงเรียนบ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนประมาณ 60 คน เปิดสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 หากใครได้ไปเยือนจะสามารถสัมผัสได้ทันทีว่าเด็กๆ ที่นั่นมีบุคลิกภาพแตกต่างจากเด็กที่อื่น พวกเขาไม่กลัวคนแปลกหน้า กล้าแสดงออก และกล้าเข้ามาพูดคุยไถ่ถามด้วยอัธยาศัยไมตรีที่เป็นกันเอง

          แต่เดิม โรงเรียนบ้านสามขาขาดแคลนทั้งครูและทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอน มีครูเพียง 2 คน ซึ่งต้องสลับกันทำหน้าที่ผู้อำนวยการ โรงเรียนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Constructionism ของมูลนิธิไทยคมเมื่อปี 2546 เพราะเล็งเห็นว่าจะได้รับการสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์และสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย และนั่นเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้โรงเรียนและชุมชนบ้านสามขาได้เรียนรู้วิธีการคิดแก้ปัญหาและริเริ่มสิ่งใหม่ๆ จนกระทั่งกลายเป็นชุมชนต้นแบบที่ผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาศึกษาดูงาน

          กระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ที่ชุมชนบ้านสามขาได้เรียนรู้ประกอบด้วยการคิด (think) วางแผน (plan) ลงมือปฏิบัติ (do) และการสะท้อนผลการเรียนรู้ (reflection) ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งและไม่อาจละเลย เพราะเป็นกระบวนการคิดเพื่อที่จะคิดต่อ (thinking about thinking) ซึ่งทำให้การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น

          ครูศรีนวล วงศ์ตระกูล วิเคราะห์ถึงองค์ประกอบที่มีผลต่อการเรียนรู้ตามแนวทาง Constructionism ว่า “ครูต้องเปิดใจรับการเรียนรู้และความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ บางครั้งความเชื่อที่สืบต่อกันมาก็เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเรียนรู้ เช่น ในชั้นเรียนถ้ามีเด็กยกมือแล้วบอกว่า ‘ผมคิดว่านี่มันไม่ใช่ มันไม่ถูก’ ครูทั่วๆ ไปก็คงรู้สึกหน้าแตกและคิดว่าเป็นเด็กก็ต้องฟังผู้ใหญ่ หรือผู้ปกครองบางคนมองว่าเด็กที่กล้าแสดงความคิดเห็นเป็นเด็กที่ไม่มีสัมมาคารวะ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ดีแต่ผู้ใหญ่หลายคนกลับไม่เข้าใจ นอกจากนี้จุดสำคัญที่ต้องพึงระวังก็คือ Constructionism สอนเรื่องการคิดเป็นแต่ไม่ได้สอนให้คนเป็นคนดี ดังนั้นครูจึงจำเป็นต้องเติมเต็มเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้กับนักเรียนด้วย”

          โรงเรียนบ้านสามขาใช้แนวคิด Constructionism ในกิจกรรมการเรียนรู้โครงงานเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมการเรียนการสอนในวิชาทั่วไป เนื่องมาจากข้อจำกัดด้านจำนวนครูและผู้ที่ทำหน้าที่เป็น Facilitator แต่ก็ยังเป็นโรงเรียนที่มีผลการประเมินดีเด่นติด 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 อันดับแรกของอำเภอเสมอมา นักเรียนสามารถสอบผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในโรงเรียนประจำจังหวัดแม้ว่าจะไม่มีทุนทรัพย์ที่จะไปเรียนโรงเรียนเหล่านั้นได้จริงก็ตาม และเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังสามารถดำเนินการสอนได้โดยไม่ต้องถูกยุบตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

          “เราจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผสมผสานกัน การเรียนรู้แนวใหม่ทำให้เด็กกล้าคิด รู้จักวิธีการนำเสนอ และทำงานได้อย่างมีความสุข แต่ในขณะเดียวกันครูก็ต้องเน้นวิชาการด้วย หลังจากลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ ครูต้องกลับมาสรุปถึงความเชื่อมโยงกับวิชาต่างๆ ไม่ใช่ว่าพาเด็กไปตะลอนๆ แล้วคะแนนโอเน็ตตกหรือนักเรียนสอบเรียนต่อที่ไหนไม่ได้หรืออ่านเขียนไม่คล่อง แบบนั้นก็ไม่ได้” ครูศรีนวลกล่าว

บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ลําปาง

          เมื่อปี 2540 ประเทศไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งกระทบต่อธุรกิจทั้งรายใหญ่และรายย่อยในวงกว้าง รวมถึงอุตสาหกรรมในเครือปูนซิเมนต์ไทยด้วย เมื่อเครื่องจักรไม่สามารถเดินกำลังการผลิตได้เต็มที่ องค์กรจึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการสร้างแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากการจัดอบรมให้ความรู้ แต่เน้นให้บุคลากรพัฒนากระบวนการคิด สามารถแก้ปัญหาเป็นและมีความริเริ่มสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงการเรียนรู้ที่ตนสนใจ

          เป้าหมายของการพัฒนาบุคลากรเป็นไปตามแนวคิดการสร้างวินัย 5 ประการของปีเตอร์ เซงเก้ (Peter Senge) ประกอบด้วย

          1) Personal mastery อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เห็นตนชัด พัฒนาตนอย่างสม่ำเสมอ

          2) Mental model รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่นได้ด้วยความเข้าใจและใจเป็นสุข

          3) Shared vision สามารถสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกับผู้อื่นได้

          4) Team learning เป็นผู้ที่สามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร

          5) Systems thinking คิดเป็นระบบครบวงจร

          ศูนย์การเรียนรู้ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ลําปาง จัดกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะของค่ายระยะยาว 2 เดือนให้กับบุคลากรจากหลากหลายส่วนงานและหลากหลายตำแหน่ง รุ่นละประมาณ 14 คนมากินอยู่และเรียนรู้ชีวิตร่วมกัน เริ่มต้นด้วยการปฏิบัติธรรมประมาณ 5-7 วัน เพื่อละลายอัตตาของตนลง และปรับโหมดจากการทำงานมาสู่โหมดการเรียนรู้และโหมดการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังมีกระบวนการเรียนรู้กับชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเปิดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้กว้างไกลกว่าห้องอบรมหรือสถานประกอบการ

          กระบวนการที่เป็นหัวใจของการอบรมคือการเรียนรู้แบบ Project-based Learning ซึ่งในขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน บุคลากรจะได้เรียนรู้กระบวนการการคิด (Plan) การลงมือทำ (Do) การทบทวนความคิด (Check) และการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น (Action) หรือเรียกว่าวงจร PDCA

          ธรรมจักร แสงทอง ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้กล่าวว่า “ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถสร้างสรรค์โครงงานได้ตามที่ตนเองสนใจ บางคนทำบ่อเลี้ยงปลาดุกโดยนำน้ำจากระบบปรับอากาศมาใช้ หลายคนอาจจะมองว่านี่ไม่เห็นจะเกี่ยวกับการทำงาน แต่จริงๆ แล้วประเด็นอยู่ที่บุคลากรได้เรียนรู้วิธีคิดและแก้ไขปัญหาในสิ่งที่ตัวเขาสนใจ ซึ่งทักษะการคิดต่างหากเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปใช้พัฒนางานต่อได้ นอกจากนั้นผู้ที่ผ่านการอบรมยังรู้จักการทำงานร่วมกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ลักษณะแบบ team work แต่เป็น team learning

          “เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งได้มีการศึกษาถึงผลกระทบจากการเรียนรู้แนวใหม่ พบว่าต้นทุนการผลิตของบริษัทในเครือลดลงนับพันล้านบาท บางกรณียังก่อเกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถแตกออกไปสร้างเป็นธุรกิจใหม่ ผลลัพธ์เหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจจะอยู่ได้ก็ด้วยการอาศัยคนที่มีศักยภาพในการคิดนวัตกรรม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินไปซื้อเทคโนโลยีใหม่เสมอไป”

          ธรรมจักรวิเคราะห์ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้ประสบความสำเร็จคือผู้บริหารที่มีความเข้าใจและสนับสนุนให้กิจกรรมค่ายสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เมื่อผู้ผ่านการอบรมกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานตามตำแหน่งและหน้าที่ของตน ก็ยังได้รับโอกาสจากผู้บังคับบัญชาในการนำเสนอความคิดเห็นหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้พวกเขาสามารถนำทักษะกระบวนการคิดที่ได้รับจากการอบรมมาใช้ในชีวิตการทำงานได้

          ทุกวันนี้คำว่า ‘Okay, do it’ จึงกลายเป็นแนวคิดหลักในการทำงาน หมายความว่าถ้าหากมีการเสนองานใหม่ๆ ที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อองค์กรหรือผู้อื่น ก็สามารถอนุมัติให้ทำได้โดยยังไม่จำเป็นต้องคิดถึงผลกำไรขาดทุนเป็นตัวตั้ง


ที่มา

– เอกสาร ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) โดยโรงเรียนดรุณสิกขาลัย จัดทำเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปี 2554

– ห้องเรียน Constructionism เว็บไซต์ https://sites.google.com/site/hxngreiynkhruhaemm

– ปรับปรุงใหม่จากการเผยแพร่ครั้งแรก เรียบเรียงจากเนื้อหาเรื่อง “เรียนรู้แบบ Constructionism สร้างคนให้กล้าคิด ไม่ใช่ผลิตคนให้เชื่อง” และสัมภาษณ์ ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ “Constructionism ทฤษฎีการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่21 ท้าทายระบบการศึกษาไทย” ในหนังสือ โหล (2560) หน้า 211-219 และ 234-241

Cover Photo: โรงเรียนบ้านสามขา


เผยแพร่ครั้งแรก ธันวาคม 2560
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ โหล (2560)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก