งานแปลไม่ใช่งานลอก เบื้องหลังงานแปลที่ดีคือการทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะ ‘แปร’ และ ‘แปลง’ สารที่ผู้เขียนภาษาต้นทางมุ่งหวังจะสื่อสารกับผู้อ่านให้เกิดความเข้าใจตรงกันมากที่สุด กล่าวในแง่นี้ ความเชี่ยวชาญชำนาญการใช้ภาษาจึงเป็นพื้นฐานสำคัญและจำเป็น แต่นั่นดูเหมือนยังไม่เพียงพอ เพราะการแปลนั้นหาใช่เพียงแค่การเปลี่ยนจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งเท่านั้น ผู้แปลยังต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงบริบททางวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ ภาษา แม้กระทั่งปรัชญาวิธีคิดและชีวิตทางสังคมของผู้เขียนอีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกมนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยการแปล เพราะความรู้และวิทยาการใหม่ๆ นั้นจะเกิดการแลกเปลี่ยนเคลื่อนย้ายข้ามภูมิศาสตร์กายภาพได้ก็ต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งกันและกันผ่านการสื่อสารข้ามภาษา การแปลจึงเป็นเครื่องมือหรือเทคโนโลยีดั้งเดิมที่มนุษย์ใช้กันมาอย่างยาวนาน
ภัควดี วีระภาสพงษ์ หนึ่งในนักแปลที่มีผลงานให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ เปิดบ้านให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองความคิดที่มีต่อการทำงานแปล กระบวนการแปลที่ต้องมีการแสวงหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม รวมถึงความละเอียดและเอาใจใส่ในการแปลเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ
พร้อมทั้งคุยถึงหนังสือ 3 เล่มที่เธอมีบทบาทเป็นผู้แปลและแปลร่วม ได้แก่ สามัญสำนึก (Common Sense) ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (A Brief History of Neoliberalism) และสมัญญาแห่งดอกกุหลาบ (The Name of the Rose) แบบสรุปสาระสำคัญโดยย่อ ชวนให้ผู้ฟังลองหาหนังสือฉบับเต็มมาอ่าน และนำประเด็นเนื้อหาไปวิจารณ์ขบคิดกันต่อถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกและสภาวะสังคมไทยในขณะนี้