วงเสวนาเรื่อง “เปิดพรมแดนการเรียนรู้ยุคใหม่ที่ไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียน” นำเสนอ 3 กรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดที่มาและรูปแบบการสร้างพื้นที่เรียนรู้ซึ่งทะลุกรอบก้าวข้ามพื้นที่ห้องเรียน เริ่มจากการมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง การคิดหาทางออกด้วยการลงมือปฏิบัติ ลองผิดลองถูก การสร้างแนวร่วมหรือเครือข่าย การขยายผลแนวคิดและทำให้เกิดความยั่งยืน
‘CoderDojo Thailand’ ชุมชนการเรียนรู้ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัว และมีความสนใจด้านการเขียนโค้ด จึงรวมตัวกันสร้างพื้นที่และกิจกรรมการเรียนรู้ขึ้นมาเองโดยใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องสมุด ร้านกาแฟ และวัด จุดเน้นคือการเป็น ‘พื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ต้องมีครูมาสอน’ ผู้เรียนไม่ได้มีบทบาทเป็นฝ่ายรับความรู้เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังสามารถเป็นสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองและแบ่งปันความรู้ให้คนอื่นได้
‘ธนบุรี มี คลอง’ และ ‘3C Project’ ชุมชนแห่งการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน การรวมตัวของผู้คนในชุมชนที่นำไปสู่การจัดกิจกรรมร่วมกัน ดังเช่น ‘บางมดเฟสติวัล’ งานเปิดบ้านริมคลองที่เชิญชวนคนทั้งในและนอกชุมชนได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่มีความเป็นธรรมชาติและเอื้ออารี ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น ตลาดนัด หรือการขายสินค้าเกษตร
‘Ari Around’ เครือข่ายที่เชื่อมโยงผู้คนในย่านอารีย์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนวัยทำงานสายครีเอทีฟและเทคโนโลยี ให้หันมาใส่ใจต่อความเอื้อเฟื้อต่อกันและอยากทำให้ย่านนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยริเริ่มกิจกรรมที่ทุกคนสามารถร่วมกันลงมือทำไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ การสื่อสารเรื่องราวที่น่าสนใจในย่าน ฯลฯ ทำให้ทุกวันนี้ผู้คนในย่านอารีย์ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดต่างก็มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานกับคนเก่าแก่ที่พักอาศัย