จากโครงการอาสาสมัครครูช่วยสอนหนังสือให้เด็กชาวเขาบนดอยสูงของจังหวัดเชียงราย ที่รู้จักกันดีในชื่อโครงการ ‘ครูบ้านนอก’ มาสู่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกๆ ของไทยที่ให้ความสนใจอย่างจริงจังกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาแก้ปัญหาและปรับใช้ในการทำงาน ถึงขั้นเปิดเว็บไซต์ขายของ (ส่วนใหญ่คือสินค้าฝีมือชาวเขา) ชื่อ ‘อีบ้านนอกดอทคอม’ ในเวลาใกล้ๆ กับที่แจ็ค หม่า พึ่งจะเริ่มเข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซ และยังเป็นผู้มาก่อนกาลที่นำเอาหลักการระดมทรัพยากรและเงินทุนจากฝูงชนภายนอกมาประยุกต์ใช้ ในสมัยที่ยังไม่มีใครรู้จักคำเท่ๆ อย่าง crowdsourcing และ crowdfunding เสียด้วยซ้ำ
ไม่เพียงแต่โดดเด่นเป็นผู้นำในกิจกรรมจิตอาสาเรื่องต่างๆ เท่านั้น มูลนิธิฯ ยังสร้างชื่อเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย รวมไปถึงการเกาะติดประเด็นปัญหาเฉพาะที่มีความแหลมคม อย่างเช่น คนไร้สัญชาติ เด็กไร้สัญชาติ สึนามิ ไฟป่า ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแตกแขนงมาจากการลงไปคลุกคลีทำความเข้าใจกับปัญหาและผู้คนอย่างลึกซึ้งถึงในพื้นที่จริงทั้งสิ้น
มาร่วมกันย้อนรับฟังเรื่องราวความเป็นมาของ “มูลนิธิกระจกเงา” ที่ปีนี้เติบโตมีอายุครบ 30 ปีกับ ประไพ เกศรา รองประธานมูลนิธิและผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงาเชียงราย หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญซึ่งร่วมงานกับมูลนิธิมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น บนเส้นทางการสร้างคน สร้างนวัตกรรม สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม