ชาวบ้านก็ทำวิจัยได้!
โดยทั่วไป งานวิจัยมักเป็นเรื่องของนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ มีกรอบความคิดทฤษฎี เครื่องมือการสำรวจวิจัย การประมวลผล รูปแบบวิธีการเขียนและเรียบเรียง การให้เหตุผลที่เป็นระบบระเบียบ มีการอ้างอิงตำรับตำราความรู้หรือข้อมูลจากงานวิจัยอื่นเทียบเคียง สุดท้ายคือการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ
แม้ว่าโครงสร้างหลักๆ ของวิธีวิทยาในการวิจัยจะมิได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ทว่าผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น องค์ความรู้ในการอธิบายพฤติกรรมทางสังคมก็เริ่มมีความหลากหลายและเกิดการบูรณาการข้ามสาขา เพื่อที่จะเข้าถึงและเข้าใกล้ความจริงให้มากที่สุด ทำให้กระบวนการวิจัยที่มี ‘นักวิจัย’ เป็นองค์ประธาน เริ่มเปลี่ยนแปลงไป
“งานวิจัยไทบ้าน” คือรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงวิธีวิทยาในงานสำรวจวิจัย เมื่อ ‘ชาวบ้าน’ ปรากฏตัวเป็นทั้งผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ความรู้ ผู้สร้างความรู้ กระทั่งเป็นผู้เรียนรู้ร่วมกันกับนักวิจัย ผลงานวิจัยที่สำเร็จออกมาจึงสะท้อนให้เห็นลงลึกถึงรากเหง้าปัญหา ไม่ใช่เพียงข้อมูลและงานเขียนที่แห้งแล้งซึ่งสกัดเอาทุกข์สุขของคนออกไปเพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องทางวิชาการ แต่เป็นงานวิชาการที่ประกอบร่างจากวิถีชีวิตผู้คนซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียจากกรณีปัญหาที่นักวิจัยเพียรพยายามค้นคว้าหาคำตอบและวิธีการแก้ไข
ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าถึงที่มาของการวิจัยเพื่อท้องถิ่นและกำเนิดของ “งานวิจัยไทบ้าน” (ไทบ้าน ภาษาอิสานหมายถึง ชาวบ้าน) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมของการวิจัยที่เน้นการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของคนที่เกี่ยวข้อง มุ่งสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและคนในท้องถิ่น เป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไปพร้อมกับการเรียนรู้เรื่องสิทธิชุมชนและความเป็นธรรมทางสังคม
ที่มาภาพประกอบเรื่อง : Nuttawut Jaroenchai เจ้าของผลงาน website www.photo2travel.com /