จะเรียก “พิพิธภัณฑ์เล่นได้” หรือ “โรงเล่นเรียนรู้” อย่างไรก็ได้ คนริเริ่มอย่าง วีรวัฒน์ กังวานนวกุล มิได้ขัดข้อง เพราะแก่นของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้หาใช่พื้นที่เก็บของสะสมให้นอนตายซากรอคนเข้ามาชม หากแต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความเชื่อว่า ‘การเรียนกับการเล่นเป็นเรื่องเดียวกัน’ ดังนั้น พื้นที่นี้จึงมีชีวิตชีวาด้วยกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะการคิด การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์ ซึ่งใช้การเล่นหรือของเล่นเป็น “เครื่องมือ” นำไปสู่การค้นพบ “ประสบการณ์ใหม่” หรือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
การเลือกวิธีการศึกษาแบบ ‘บ้านเรียน’ หรือ Home School ให้กับลูกชายทั้งสอง สะท้อนถึงความเชื่อในเรื่องเสรีภาพและการทำงานเป็นเครือข่าย ขณะที่งานของเขาจะเน้นการเชื่อมโยงเรื่องของการเรียนรู้ การเล่น การศึกษา ทุนทางสังคม และเครื่องมือชุมชน ให้ถักทอเป็นเนื้อเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การรวบรวมภูมิปัญญาของเล่นพื้นบ้านในชุมชนอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มาถ่ายทอดเป็นความรู้ในการประดิษฐ์ของเล่นเหล่านี้จนฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ หรือเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งจะสร้างโรงประกอบฝัน เป็นเมกเกอร์สเปซให้กับกลุ่มเด็กโตหรือคนวัยหนุ่มสาวที่สนุกกับการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ การแก้ปัญหา และลองผิดลองถูก โดยใช้เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์เท่าที่มีอยู่และหาได้ในชุมชน
ล่าสุด วีรวัฒน์จับมือกับ นัยนา สมควร ครูบรรณารักษ์จาก กศน.อำเภอแม่สรวย คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน ประจำปี 2561 ด้วยผลงานโฮโลแกรม “เล่นตามพ่อ” ซึ่งคิดค้นร่วมกัน โดยมีลูกชาย รามิล กังวานนวกุล ในฐานะนักศึกษา กศน. เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ